แนวนโยบายพื้นฐานด้านการศึกษา ของประเทศสังคมนิยม


การศึกษา
แนวนโยบายพื้นฐานด้านการศึกษา ของประเทศสังคมนิยม 
ประเทศสังคมนิยมในอดีตถือได้ว่าเป็นกลุ่มประเทศใหญ่และเป็นอีกกระแสหนึ่งของโลก
ที่เติบโตมากับประเทศทุนนิยม นับตั้งแต่ประเทศสังคมนิยมผู้นำ คือประเทศรัสเซียได้แปรเปลี่ยนเป็นทุนนิยมและหันมาเดินตามแนวทางประเทศทุนนิยมตะวันตกทำให้ประเทศสังคมนิยมต่างๆ ต้องปรับตัวตาม หลายประเทศในยุโรปตะวันออก เช่น เชคโกสโลวาเกีย โปแลนด์ ฮังการี ล้มเลิกแนวคิดพื้นฐานของสังคมนิยม คือลัทธิมาร์ก-เลนินไปเลยและหันมาใช้แนวทางทุนนิยมเต็มที่ ในขณะที่บางประเทศก็ยังไม่ยอมปรับเปลี่ยนแนวทางสังคมนิยมอย่างเช่น เกาหลีเหนือ คิวบา เป็นต้น ในขณะที่บางประเทศได้ปรับทิศทางของสังคมนิยมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกคือคงการเมืองแบบสังคมนิยม ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคหลักในการปกครองประเทศอยู่ แต่ในทางเศรษฐกิจและสังคมยืดหยุ่นให้ใช้แนวทางทุนนิยมเสรีขึ้น ใช้วิธีปรับบางส่วน รักษาของเดิมบางส่วน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาและก้าวหน้าไปได้มากทีเดียวโดยเฉพาะกรณีของประเทศจีนและเวียดนาม ในที่นี้เราจึงจะศึกษาแนวนโยบายพื้นฐานของประเทศสังคมนิยมคือประเทศจีนและเวียดนามเป็นหลัก เพื่อดูว่าประเทศเหล่านี้มีแนวคิด แนวทางและแนวนโยบายหลักอย่างใด
แนวคิดพื้นฐาน : คุณลักษณะของผู้เรียนที่พึงประสงค์
ประเทศสังคมนิยมทั้งสองคือจีนและเวียดนาม โดยพื้นฐานทางประวัติศาสตร์อาจจะมีความขัดแย้งกันอยู่บ้าง แต่ตามแนวทางของสังคมนิยมยุคใหม่แล้วมีลักษณะร่วมกันบางประการ ในส่วนการสร้างคนสร้างผู้เรียนที่พึงปรารถนา ซึ่งอาจลำดับเป็นข้อๆ ที่สำคัญคือ
1. เรียนรู้เป้าหมาย ทิศทางในการพัฒนาประเทศเหมือนกันและพ้องกัน
2. สามารถทำงานในเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้ดี
3. สามารถติดต่อสื่อสาร ตามให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่ได้
4. พัฒนาความสามารถเฉพาะทางให้โดดเด่น
5. รักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมเฉพาะของประเทศไว้
6. มีความตระหนัก สำนึก รู้เท่าทันอิทธิพลของนานาชาติ
คุณลักษณะข้อแรก เป็นลักษณะที่สืบเนื่องมาโดยตลอดของประเทศสังคมนิยมที่จะปลูกฝังให้ประชาชนของประเทศคิดและมอง ไปในทิศทางเดียวกันเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยภายในสังคม ในระยะแรกเพื่อปกครองโดยระบบคอมมิวนิสต์ ก็จะเน้นอุดมการณ์มาร์กซิสชัดเจนและให้ทุกคนมองไปในทางเดียวกัน ใครไม่เห็นด้วยก็จะต้องเงียบไว้ไม่แสดงออก มาถึงยุคใหม่ ยุคเปลี่ยนแปลงในลักษณะเปิดรับแนวทางของทุนนิยมเป้าหมายของการศึกษาก็ให้ประชาชนได้รู้ทิศทางของการพัฒนาในแนวโน้มที่ยึดแนวทางการเมืองสังคมนิยม แต่เศรษฐกิจสังคมเปิดกว้างขึ้น การศึกษาก็จะสอนให้เข้าใจแนวทางดังกล่าวพร้อมกันไปทั้งประเทศ ทั้งการศึกษาในโรงเรียนและนอกโรงเรียน
ข้อที่สอง สร้างความสามารถในการตอบสนองต่อเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้ดี ข้อนี้เป็นความต้องการเร่งด่วนของระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งของเวียดนามและจีน (Hawkins, 1983: 144; Hac, 1997 : 31-32) ที่ต้องการให้ประชาชนโดยเฉพาะนักเรียนรุ่นใหม่มีทักษะสำหรับการพัฒนาตามเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การสื่อสาร การก่อสร้าง ไฟฟ้า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นทักษะใหม่ๆ ที่ประเทศสังคมนิยมเพื่อเปิดรับสำหรับการพัฒนาประเทศในยุคใหม่ ยุคที่บริษัทต่างประเทศไปลงทุนในประเทศเหล่านี้
ข้อที่สาม ความสามารถในการติดต่อสื่อสารตามให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่ได้ ข้อนี้เป็นทั้งความต้องการและเป็นทั้งจุดเด่นของประเทศสังคมนิยม เมื่อเปิดประเทศรับการเปลี่ยนสมัยใหม่ทำให้มีความต้องการที่จะติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศเพื่อเรียนรู้ความก้าวหน้าและการพัฒนาของประเทศเหล่านี้ นอกจากนั้นยังต้องการตามให้ทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้นรัฐจึงสนับสนุนให้คนของตนเองและโดยเฉพาะนักเรียนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ภาษาต่างประเทศที่เป็นทางด้านตะวันตกอันได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส รวมถึงคอมพิวเตอร์ และส่งเสริมให้ติดต่อ แลกเปลี่ยน และมีเครือข่ายกับนานาชาติได้กว้างขวางขึ้น (ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2540)
ข้อที่สี่ พัฒนาความสามารถเฉพาะทางให้โดดเด่น จุดนี้เป็นลักษณะพิเศษของประเทศสังคมนิยมโดยทั่วไปที่จะส่งเสริมความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับความชำนาญเฉพาะด้านของแต่ละคนโดยตั้งโรงเรียนหรือสถานศึกษาพิเศษขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้เติบโตเต็มที่ตามศักยภาพ และสังคมเองก็จะได้ประโยชน์จากการเติบโตนี้ ประเทศจีนจะมีวงเยาวชนและส่งเสริมเด็กเก่งให้ก้าวหน้าเต็มที่ ในประเทศเวียดนามส่งเสริมคณิตศาสตร์และสาขาอื่นๆ อย่างเต็มที่เช่นกัน
ข้อที่ห้า คงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมเฉพาะของประเทศไว้ทั้งประเทศจีนและเวียดนามล้วนแต่เป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ และวัฒนธรรม เฉพาะของตนเองเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในด้านของคุณธรรม จริยธรรม จึงมีความพยายามอย่างมากที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนรู้จักวัฒนธรรมของประเทศ รักษาคุณธรรมจริยธรรมของสังคมไว้ ดังจะเห็นได้จากการมีความพยายามในด้านนี้อย่างมากทั้งของประเทศจีนและประเทศเวียดนาม
ข้อที่หก การสร้างความตระหนัก สำนึกรู้เท่าทันอิทธิพลของนานาชาติ ข้อนี้เป็นความสืบเนื่องที่มีมาแต่เดิมที่ประเทศสังคมนิยมนั้นมองเห็นสังคมนิยมของตะวันตกที่เข้ามามีอิทธิพลครอบงำและข่มขู่ประเทศทางเอเชียอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้จะเปิดประเทศรับแนวคิด ค่านิยมและแนวทางเศรษฐกิจของตะวันตกของทุนนิยม แต่ประเทศเหล่านี้ก็ยังปลูกฝังให้ประชาชนของประเทศเฝ้าระวังติดตามและดูแลอิทธิพลของต่างประเทศและนานาชาติที่จะมีอิทธิพลครอบงำประเทศต่างๆ อยู่อย่างเต็มที่ภาพรวมเหล่านี้เป็นจุดเด่นที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนในประเทศสังคมนิยมทั้งสอง
ซึ่งได้สร้างและพัฒนาขึ้นในระบบการศึกษาและสังคมในประเทศของตนเอง ที่เห็นได้ชัดเจนคือ
ความเปลี่ยนแปลงของประเทศสังคมนิยมเหล่านี้มีความเคลื่อนไหว มีพลวัติ (Dynamic)
อยู่ตลอดเวลา
แนวทางหลัก
จากแนวคิดดังกล่าวทำให้เรามองเห็นแนวทางการดำเนินงานของกลุ่มประเทศเหล่านี้บางประการคือ (Hawkins, 1983; Introduction to Education in China, 1996; Hac, 1991, ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2540)
1. รัฐบาลกำหนดเป้าหมาย ทิศทาง เป็นระบบและเป็นขั้นตอน
2. ส่งเสริมให้แต่ละภูมิภาค มณฑล จังหวัดดำเนินงานได้เองตามความพร้อมความสามารถ
3. รวมพลังจากทุกแหล่งเข้ามาจัดการศึกษา
4. จัดการศึกษาให้สนองตอบและใช้ประโยชน์ได้
5. กำหนดคุณภาพหลายระดับตามความต้องการของตลาด
6. ยืดหยุ่นให้มีวิธีการและทางเลือกที่หลากหลาย
แนวทางการดำเนินงานดังกล่าวสะท้อนภาพการบริหารและการจัดการทางการศึกษาของประเทศสังคมนิยมได้อย่างชัดเจน
ในข้อแรก คือ รัฐบาลกำหนดเป้าหมาย ทิศทางของสังคมของประเทศจะกำหนดเป็นขั้นตอนไว้อย่างชัดเจน ลักษณะนี้เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมนิยมที่จะกำหนดแผนงานภาพรวมโดยส่วนกลาง แต่ในแนวทางใหม่นี้จะปรับให้รายละเอียดนั้นได้มีการพัฒนาแนวคิดและจัดทำกันในระดับท้องถิ่นได้ แค่ทิศทางหลักก็ยังกำหนดโดยส่วนกลางอยู่ทั้งของจีนและเวียดนามจะสะท้อนภาพเหล่านี้อย่างชัดเจน
ส่วนข้อที่สอง เมื่อกำหนดภาพรวมและทิศทางแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการแบ่งงานให้มณฑล จังหวัดหรือท้องถิ่นดำเนินการเฉพาะของตนเองได้ตามความสามารถและความแตกต่างของแต่ละแห่ง ตัวอย่างของจีนนั้นจะเห็นชัดเจนที่แต่ละมณฑลมีแผนและมีแนวทางการดำเนินของตนเองได้โดยเฉพาะ และมีลักษณะการแข่งขันกันในแต่ละมณฑล แม้แต่ในแต่ละเมือง แต่ละสถาบันก็ยังมีแนวทางการดำเนินงานของตนเองได้ เช่นเดียวกับเวียดนามที่ให้อิสระกับจังหวัดและแต่ละสถาบันดำเนินการได้เองในระดับหนึ่ง
ข้อที่สาม ระดมพลังจากทุกแหล่ง ทั้งจากเอกชน ทั้งจากห้างร้าน บริษัท องค์กรเอกชนต่าง ๆ โดยเฉพาะในการจัดการศึกษาทางสายอาชีพและการฝึกอบรมเพื่อให้ปฏิบัติและให้ทำงานได้ในหน้าที่ โดยเฉพาะการฝึกอบรมในระหว่างการปฏิบัติงานจะระดมบริษัท องค์กร ห้างร้านต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในการจัดการฝึกอบรมอย่างเต็มที่ในขณะเดียวกันส่วนของการลงทุนของตนเอง ในสาขาที่ตนเองคิดว่าจะทำประโยชน์ได้ได้
ข้อที่สี่ กำหนดแนวทางการจัดการศึกษาให้สนองตอบและใช้ประโยชน์ได้ โดยภาพรวมการจัดการศึกษาของกลุ่มประเทศสังคมนิยมนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่ามุ่งเน้นการศึกษา เพื่อให้ได้ประโยชน์ได้ทำงานได้ ไม่ใช่การจัดการศึกษาเพื่อประโยชน์ของการศึกษาแต่เน้นให้ใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ ในแนวทางนี้จึงให้ความสำคัญต่ออุดมการณ์และแนวทางทฤษฎีน้อยลงไปเมื่อเทียบกับในอดีต
ข้อที่ห้า กำหนดคุณภาพหลายระดับตามความต้องการของตลาดเป็นหลักในกลุ่มประเทศเหล่านี้จะถือได้ว่าการให้ ความสำคัญกับนโยบายในด้านคุณภาพนั้นมีไม่มากนัก รัฐจะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานหลักแต่การกำหนดคุณภาพส่วนใหญ่จะเป็นไปตามความต้องการของตลาดเป็นหลักสำคัญ ถ้าสถาบันการศึกษาหรือการฝึกอบรมใดมีคุณภาพสูงจบแล้วไปทำงานได้ดีคน ก็จะนิยมตามไปด้วย
ข้อที่หก มีแนวทางเลือกและวิธีการที่หลากหลายมากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องของอุดมศึกษา อาชีวศึกษาและเรื่องของการฝึกอบรมจะมีรูปแบบเฉพาะทางและรูปแบบผสมผสานระหว่างแนวทางของสังคมนิยมกับแนวทาง ของตะวันตกสมัยใหม่ ในเรื่องอาชีวศึกษาก็มีรูปแบบใหม่ๆ การจัดอาชีวศึกษาหลายๆ รูปแบบ ในเรื่องของการฝึกอบรมก็เช่นเดียวกันมีรูปแบบที่หลากหลายเช่นกัน
แนวปฏิบัติในกฎหมายและเอกสารหลัก
แนวปฏิบัติโดยเฉพาะในเรื่องของนโยบายพื้นฐานที่ปรากฎในกฎหมายและเอกสารหลักของจีนและเวียดนามนั้นจะเห็นได้ชัดเจนจากตารางเปรียบเทียบข้างล่างนี้
ตารางที่ 3 แนวนโยบายพื้นฐานทางการศึกษาตามที่ปรากฏในกฎหมายและเอกสารหลัก
ประเทศจีน  
ประเทศเวียดนาม  
1. ขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน  
1. ยกระดับสติปัญญาของประชาชน  
2. มุ่งพัฒนาคุณภาพของประชากร  
2. ยกระดับสติปัญญาของประชาชน  
3. ส่งเสริมการศึกษาให้พัฒนาสอดคล้องกับ
การพัฒนาทางเศรษฐกิจ
3. สรรหา ส่งเสริม และใช้ประโยชน์จากกลุ่มอัจฉริยะ  
4. เน้นการปรับปรุงคุณภาพ  
4. ขยายขอบข่ายของการศึกษาให้ครอบคลุมในทุกวิธีการ 
ของการศึกษา 
5. ปรับปรุงการบริหารโรงเรียน  
5. ระดมความร่วมมืองจากทุกฝ่าย  
6. ส่งเสริมความร่วมมือของชุมชน  
6. พัฒนาคุณภาพให้สูงขึ้น  
7. กระจายอำนาจไปตามมณฑลท้องถิ่น  
7. เร่งพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงาน  
8. ประเมินประสิทธิภาพการทำงาน
8. พัฒนาคนให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมและการ
พัฒนา
   
9. สร้างงานให้ประชาชน  
ที่มา : Teng, 1995 และคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2540 ก  Communist Party of Vietnam, 1996 
จากตาราง จะเห็นได้ว่าแนวนโยบายพื้นฐานที่ปรากฏในกฎหมายและเอกสารหลักของ
ประเทศสังคมนิยม 2 ประเทศนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ
1) เน้นการขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อยกระดับสติปัญญาของประชาชน
2) เน้นการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
3) เน้นการศึกษาให้คนทำงานได้ สร้างงานได้
4) เน้นการกระจายอำนาจและให้โอกาสคนกลุ่มต่างๆ
5) ระดมพลังจากทุกฝ่ายเข้ามาช่วยการศึกษา
6) เร่งพัฒนาคุณภาพในการศึกษา
7) เน้นประสิทธิภาพในการบริหารโรงเรียน แนวทางดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความจำเป็นที่ชัดเจนของประเทศสังคมนิยมที่จะหันเหแนวทางการพัฒนามาสู่ทุนนิยมของตะวันตกเป็นหลัก

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29121เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2006 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 

              เนื้อหาดี  มีสาระ  หวังว่า คุณครูอรรณพ  มรหาสาระมาใหอ่านอีกในเร็ววัน

แนวนโยบายพื้นฐานด้านการศึกษา ของประเทศสังคมนิยม จะเห็นได้ว่าแนวนโยบายพื้นฐานที่ปรากฏในกฎหมายและเอกสารหลักของประเทศสังคมนิยม 2 ประเทศ( จีนและเวียดนาม )นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน  อ่านแล้วได้เนื้อหาสาระมากมายจริง ๆ คะ

http://gotoknow.org/todsaporn

เนื้อหาสาระมากดี น่าสนใจ ควรใส่ภาพประกอบด้วย หมั่นอัพเดต หมั่นบันทึก
  วันนี้มาเยี่ยมชมบล็อก  รอดูเรื่องใหม่อยู่นะคะคุณพี่
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท