ระบบการทำนาแบบปราณีต


ข้าว....ต้นเดียว

ตามสัญญาที่ได้ให้ไว้ หัวใจฉันฮึกเหิมเหลือเกินที่จะบอกว่า ไม่เสียที ที่เร่ร่อนไปถึงถิ่นฐานใกล้บ้านเกิด จังหวัดสุรินทร์ ณ มูลนิธิพัฒนาอิสาน ( NET ) กับการนำพา คุณกิจของฉันทั้ง 9 ชีวิต ไปร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เรื่อง บทเรียนการปลูกข้าวต้นเดียว แต่เดี๋ยวก่อน มันมีบางอย่างที่คุณต้องทำความเข้าใจกับมัน เหมือนฉัน เพราะคำที่ฉันได้ยิน ตอนได้รับมอบหมายนั้น คือ ไปสรุปบทเรียนการทำนาแบบ S R I ( เอส อาร์ ไอ ) ดูอินเตอร์ดีมั๊ย

กิจกรรมการสรุปบทเรียนนี้ เป็นการนำเกษตรกรที่มีประสบการณ์การทำนาแบบ S R I หลายภาค เช่นภาคเหนือมีเกษตรกรจากสถาบันแมคเคน จ.แพร่ นำทีมโดย Mr.Clous Prinz หรือลุงเคล้า ฝรั่งเยอรมัน ที่มาใช้ชีวิตในภาคเหนือโดยเป็นอาสาสมัครของสถาบัน เป็นเวลากว่า 30 ปี ( อู้กำเมืองชัดถ้อยชัดคำ...ขน๊าด ) สถาบันชุมชนเกษตรยั่งยืน  ตัวแทนจากโครงการวิจัยเกษตรอินทรีย์ Rainbow Farm เชียงใหม่ เชียงราย ส่วนทางภาคอิสาน ก็มีตัวแทนเกษตรกรจากภูมินิเวศน์ยโสธร ภูมินิเวศน์มหาสารคาม ภูมินิเวศน์สุรินทร์และโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพเกษตรกรสุรินทร์ ( คสป. ) มาสรุปองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทดลอง เพราะจะว่าไปแล้วทางภาคเหนือและภาคอิสาน คือจุดเริ่มต้นของการนำรูปแบบ S R I มาใช้แบบนำร่อง ส่วนภาคกลางก็มีฉันนำทีมหลัก น้าเบี้ยว ไทยลา และพี่จันทร  กฤษณะชาญดี  คุณกิจตัวฉกาจของฉัน   ภาคกลางนั้น ถือว่าเป็นของแถม อยากบอกว่า ตามกำหนดการไม่มีรายชื่อภาคกลางหรอก เพราะทางทีมเครือข่ายผู้จัดงาน ไม่คิดว่า ที่ภาคกลางก็มีพื้นที่ที่ทดลองทำนาแบบ S R I อยู่เหมือนกัน งานนี้ ฉันกับตัวแทนเกษตรกรก็ขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนกับเค้าซะเลย โดยไม่ลืมที่จะหอบพันธุ์ข้าวของเราที่ผ่านการทำนาแบบ S R I มาโชว์ด้วย

มารู้จัก S R I ก่อน..........

S R I : System of  Rice Intensification เป็นระบบการปลูกข้าวที่ใช้ กล้าอายุอ่อน 8-12 วัน แล้วนำไปปลูกให้มีระยะห่าง 25-40 เซนติเมตร ทีละต้น ( ย้ำว่า จุดละต้นเดียว ) และอาศัยการจัดการน้ำแห้งสลับเปียก ในช่วงการเจริญเติบโต ซึ่งต่างจากข้าวโดยทั่วไป แต่ผลผลิตที่ได้ มันมากขึ้นกว่าเดิมในขณะที่ใช้เนื้อที่เท่ากัน และคุณภาพของผลผลิตจะดีเอามากๆ หากใช้ในพื้นที่ที่มีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ

สำหรับประเทศไทย ระบบการปลูกข้าว เอส อาร์ ไอ ได้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เมื่อปี 2544 โดยเริ่มจากภาคเหนือ ทั้งที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนและมหาวิทยาลัย เช่น สถาบันแมคเคน สถาบันชุมชนเกษตรยั่งยืน ( ISAC ) โครงการพัฒนาที่สูง UHDP ตลอดจนคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนภาคอิสานก็มีเครือข่ายเกษตรภาคอิสาน โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพเกษตรกรสุรินทร์ และชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน รวมทั้งมูลนิธิข้าวขวัญ ได้มีโอกาสไปดูงานการดำนาต้นเดียวที่ประเทศกัมพูชาด้วยความสนใจว่า วิธีการนี้น่าจะเอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรที่ทำนาแบบพึ่งตนเองได้ดี และเมื่อกลับมา ได้เชิญตัวแทนเกษตรกรจากประเทศกัมพูชาที่มีประสบการณ์ในระบบการปลูกข้าว S R I เข้ามาเผยแพร่ให้เกษตรกรในสุรินทร์เป็นจุดแรก จากนั้นปี 2545 จึงค่อยๆมีการขยายต่อไปทางภาคเหนือด้วยเช่นกัน ในขณะที่ข้าวขวัญ ก็ได้ให้พื้นที่บ้านหนองแจง อ.ดอนเจดีย์ เป็นจุดทดลองทำ ด้วยว่าเป็นพื้นที่ทำนาระบบการปักดำอยู่แล้ว

ทำไม S R I จึงเป็นที่สนใจได้ ก็ด้วยประโยชน์ที่สำคัญ คือ

1.พันธุ์ข้าวที่ใช้ เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ไม่จำเป็นต้องหาพันธุ์ข้าวพิเศษจากบริษัทไหนมาใช้

2.ถือเป้นกระบวนการคัดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพสำหรับเก็บและขยายพันธุ์ไว้ใช้เอง เพราะการทำนาแบบการปักดำ จะเกิดปัญหาข้าวปลอมปนที่น้อยมาก ยิ่งถ้าพันธุ์ข้าวที่ใช้ตกกล้าผ่านการคัดพันธุ์ข้าวกล้องแล้วนั้น ยิ่งมีแนวโน้มของสายพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพโดยแท้

3.ถือว่าเป็นการประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ดี เนื่องจากการใช้ต้นกล้าแค่เพียงต้นเดียว ที่มีอายุน้อยมาก ประมาณ 8-12 วัน จะสังเกตุจากต้นกล้ามีใบอ่อนขึ้นแล้ว 2 ใบ ก็สามารถนไปปักดำ ในระยะห่างประมาณ 25-40 เซนติเมตร ซึ่งจะทำให้รากของต้นข้าวขยายได้ดีข้าวก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี แตกกอได้เยอะ มีความสูงและแข็งแรง

4.ใช้น้ำน้อยมาก คือ ครึ่งหนึ่งของอัตราน้ำที่เคยใช้ในระบบนาปกติ ข้าวไม่ใช่พืชน้ำ ไม่จำเป็นต้องมีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดเวลา แต่มีน้ำแค่พอให้ดินแตกเท่านั้น เพราะฉนั้นเหมาะสำหรับพื้นที่รอน้ำฝน

5.มีปัญหาเรืองการก่อกวนของวัชพืชน้อยมาก และถ้าแม้พบว่ามีหญ้าขึ้น การเอาหญ้าออกก็สามารถทำได้โดยง่าย เพราะต้นข้าวมีระยะห่าง การปนะยุกต์เครื่องมือปราบวัชพืชมาคราดเอาหญ้าออก ก็ถือว่าเป็นการพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจน ถือเป้นการพัฒนาระบบรากข้าวไปในตัว

6.เพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร  โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีนาน้อย ประมาณ 30%-60% ขึ้นไป 

 นับจากปี 2544-2548 จึงมีเกษตรกรกล้าทดลองปลูกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบข้อเด่นข้อด้อยที่เกิดขึ้น จากความแตกต่างทางด้านภูมินิเวศน์ เช่น การจัดการระบบน้ำ คุณภาพของสายพันธุ์ข้าวปลูก และการดูแลรักษาที่มีความแตกต่างกัน แต่ที่น่าสังเกตุอย่างหนึ่งก็คือ การนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันนั้น เกษตรกรแต่ละท่านเค้าก็มีข้อมูลทางตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับระยะการเจริญเติบโต ความสูง การแตกกอ การออกรวง จำนวนเมล็ด ปริมาณผลผลิตที่เกี่ยว และหลังจากนำไปสี ซึ่งเกิดจากกระบวนการเอาใจใส่ติดตามจดบันทึกข้อมูลทุกระยะของการเจริญเติบโต ซึ่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆเหล่านี้ นี่เอง ที่ทำให้ฉันเชื่อว่า นี่แหล่ะ คือการจัดการความรู้ของคุณกิจตัวฉกาจ ที่ไม่พลาดแม้แต่จะลองพิสูจน์สิ่งต่างๆเพื่อการเปรียบเทียบด้วยตัวของพวกเค้าเอง....และทำให้ฉันอุ่นใจว่า นับวัน เรายิ่งมีเพื่อนร่วมแนวทางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ลองพยายามทำความเข้าใจกับ S R I ตามความเชื่อของตนเอง และสรุปออกมาได้อย่างมั่นใจว่า S R I ตัวอักษรภาษาอังกฤษสามตัวนี้ ถ้านำมันมาเรียงชิดติดกัน มันสามารถอ่านออกเสียงภาษาไทยได้ว่า ( ศรี ) ศรี ในความหมายคล้ายคลึงกับความเป็น ศิริ หรือ ศิริมงคล หรือ ความหมายลึกซึ้งคือ สิ่งที่ดี และเราจะทำอะไรก็ตามให้มันเป้นสิ่งที่ดี มันหมายถึงการพยายามทำสิ่งนั้น ด้วยความเอาใจใส่อย่างละเอียดปราณีต และ ประสบการณ์ของเกษตรกรแต่ละท่านที่ทดลองทำนั้น ถึงเค้าจะมีวิธีการตามถนัดของเค้าที่แตกต่างกันไป ฉันก็เชื่อว่ามันล้วนเกิดจากความเอาใจใส่ และความตั้งใจอย่างปราณีต เป็นการจัดการความรู้ด้วยตัวเค้าเองของแท้ และไม่แปลก ที่ยังมีคำศัพท์อีกคำ ที่ใช้เรียกการทำนาระบบ S R I  จะมีคำว่า " การดำนาแบบปราณีต " อยู่ ฉันว่า คำนี้ มันฟังดูสวยแล้วนะ พอมาฟังเกษตรกรทางเหนือ อู้การทำนาแบบนี้ว่า " การดำนา...เส้นเดียว" แล้วคิดดูนะ เมื่อคนเหนือพูด คำที่ได้ยินนั้น มันช่างอ่อนหวานซะเหลือเกิน ดำต้นเดียว ฉันว่ามันคือความมหัศจรรย์แล้วนะ แล้ว ยิ่งเป็นดำเส้นเดียว  ที่ดูบอบบางยิ่งนัก มันก็พิสูจน์กันชัดๆแล้วว่า มันหมายถึงกระบวนการทำนาที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในทุกขั้นตอนเลยทีเดียว ถึงแต่ละภาคจะเรียกชื่อวิธีการทำนาแบบ S R I แตกต่างกันอย่างไร  แต่ยังมีบางสิ่งที่เหลือไว้ให้ยึดมั่นตามฐานคิดแนวเดียวกันคือ ต้องอยู่ภายใต้ระบบเกษตรยั่งยืน นั่นคือปฏิเสธสารเคมีทุกชนิดอันเป็นต้นกำเนิดวงจรอุบาทว์ในทุกรูปแบบ จนเป็นที่มาของการนำมาเล่าสู่กันฟังในครานี้ 

ฉันได้แลกเปลี่ยนในเวที โดยเฉพาะเรื่องความสำคัญที่ข้าวขวัญเน้นย้ำเรื่อง การคัดพันธุ์ข้าวกล้องด้วยสายตาเราเอง หลังจากที่ได้รับพันธุ์ข้าว ผลผลิตของข้าวเส้นเดียวจากทางแพร่ มาสองสายพันธุ์ คือ พันธุ์หอมนิล และมะลิ 105 ฉันกับน้าเบี้ยวไม่รอช้า ดึงข้าวออกมาพันธุ์ละ 10 เมล็ด จัดการแกะเดี๋ยวนั้น และคัดเลือกให้เห็นเป็นตัวอย่างกันเลย ปรากฎว่า จากพันธุ์ข้าวที่ถูกดึงออกมา 20 เม็ดนั้น ได้พันธุ์ข้าวดีๆ ไม่แตก ไม่มีท้องไข่ ไม่เบี้ยว เม็ดสวยแข็งแรง จำนวน 5 เมล็ดเท่านั้น แค่นี้ ที่ประชุมก็ฮือฮากันใหญ่ ในเวทีมีความสนใจมาก เพราะหลายคนไม่คุ้นเคยในวิธีการนี้ จนถึงขั้นมีแผนว่า จะให้ข้าวขวัญช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้นี้ให้ด้วย ฉันถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะแน่นอนว่า การเรียนรู้ย่อมไม่มีวันสิ้นสุด ทุกอย่างมันจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ทุกอย่างไม่มีสูตรตายตัว ขอเพียงเรากล้ายอมรับมัน ไม่ยึดติดว่าตัวเอง เจ๋งแล้ว ดีแล้ว น้าเบี้ยว คุณกิจของฉัน ก็เน้นย้ำให้เห็นว่า "ถ้าเรามีพันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์แข็งแรงนับตั้งแต่กระบวนการแรก ไม่มีอะไรที่ชาวนาจะต้องกลัว"

การเดินทางไกลของฉันกับคุณกิจ ในหนนี้ ทำให้รู้ว่าฉันก้าวขาลงไปพร้อมกับทุกคนแบบเต็มๆ ก็เพราะว่าภาคกลาง มีหนองแจงเท่านั้นที่ยังคงทำนาแบบปักดำอยู่ เวทีความก้าวหน้าของนาต้นเดียวจะมีขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรแต่ละที คาดหวังว่า  เริ่มฤดูกาลผลิตข้าวนาปี เดือนสิงหาคมนี้ พวกเค้าจะจดบันทุกกระบวนการการเจริญเติบโตของข้าวต้นเดียวอย่างละเอียด และแน่นอนว่า คุณกิจของฉัน น้าเบี้ยว ไทยลา และพี่จันทร กฤษณะชาญดี ก็มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการจะอาสาเป็นทัพหน้า ทดลองก่อนคนอื่นๆ เพื่อลบคำสบประมาทของคนที่เฝ้ามอง และฉันเอง จะต้องทำหน้าที่สำคัญในฐานะผู้ประสานงานเครือข่าย ดำนาต้นเดียว...ภาคกลาง ( โก้ซะจริง )

นี่ฉันเพิ่งเริ่มต้นนะเนี่ย......ตื่นเต้น..ตื่นเต้น

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 291เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2005 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มีประโยชน์มากเลยครับ นี่ทำเพื่อคนไทยของจริงนับถือครับ

เรียนคุณข้าวขวัญ

 ผมกำลังหาข้อมูลที่จะนำไป ปฎิษัติจริง บ้านเราทำอะไรช้าๆๆๆ ข้อมูลน้อยมากๆๆๆๆจากภาครัฐไม่รู้ว่าทำอะไรอยู่ ผมอยากให้คุณข้าวขวัญ เล่าการทำนาแบบ SRI หลายๆๆๆๆๆๆๆๆๆ มุมหน่อยครับ   ขอบคุณครับ ราตรีสวัสดิ์

อยากทราบข้อมูลมากกว่านี้ มีที่ไหนแนะนำไหมครับ มีสถานที่ให้ความรู้ไหมครับ ถ้ามีกรุณาตอบหรือส่งให้ก็ได้ครับ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท