จัดลำดับความคิด...อะไรสำคัญสำหรับชีวิต


ในความเป็นครูมองว่าเราควรจะสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับศิษย์ เพื่อเขาจะได้ไว้วางใจ และสามารถเข้ามาขอคำปรึกษา ขอคำแนะนำ ขอความช่วยเหลือ เป็นที่พึ่งทางจิตใจให้กับเขาได้

          เมื่อเทอมที่แล้ว ปีการศึกษา 2548 ภาคเรียนที่ 2 ขณะที่นั่งคุมสอบนักศึกษาชั้น ปวช.1  ทุกอย่างในห้องเงียบสงบ เมื่อนักศึกษาทำข้อสอบเสร็จต่างทะยอยกันกลับบ้าน มีนักศึกษาคนหนึ่งนั่งคอยเพื่อนที่กำลังทำข้อสอบอยู่ ฉันหันไปมองรอบ ๆ ห้อง มีแค่เขาสองคนเท่านั้น เพื่อนนักศึกษาของเขานั่งทำข้อสอบด้วยความตั้งใจ เรื่อย ๆ เงียบ ๆ ช้า ๆ ในขณะที่เวลาสอบใกล้จะหมด สายตาฉันสังเกตเห็นเด็กนักศึกษาที่คอยเพื่อนมีอาการลุกลี้ลุกลนชอบกล เหมือนจะกล้าแต่ไม่กล้า สังเกตเห็นพฤติกรรมเช่นนี้อยู่สักพักใหญ่ ๆ  สงสัยจะอึดอัดเลยตัดสินใจพูดออกมา “อาจารย์ครับ...ในฐานนะที่อาจารย์เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ในสายตาอาจารย์มองผมอย่างไรครับ?”...

          ฉันอึ้งไปครู่หนึ่ง...เพราะไม่รู้จุดประสงค์ของนักศึกษา เด็กคนนี้มีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวสีขาว มีสิวบนใบหน้าเล็กน้อย จากการสังเกตอาจจะใช้เครื่องสำอางบนใบหน้าบ้าง เพราะระยะเวลาที่สอนเขา 19 สัปดาห์ที่ผ่านมา หน้าเขาจะมีสิวมากกว่านี้ แต่ระยะหลัง ๆ หน้าขาวผ่องขึ้นสิวเริ่มหายไป ในขณะที่เพื่อนอีกคนของเขาเนื้อตัวมอมแมม หน้าตาผิวพรรณค่อนข้างดำ ผมรุงรัง ตัวเล็ก ไม่ได้ดูสะอาดเหมือนกับเขา ด้วยความสงสัยในคำถามของนักศึกษาเลยตัดสินใจถาม “เธอมีอะไรหรือเปล่าจ๊ะ...ทำไมถึงตั้งคำถามถามครูเช่นนี้” เพื่อนนักศึกษาที่ทำข้อสอบเงยหน้าขึ้นมาดู คงจะสงสัยในคำถามของเพื่อน  “อาจารย์ครับ...ผู้หญิงเค้าชอบผู้ชายแบบไหนครับ” อือ...ฉันใช้ความคิดอยู่ครูหนึ่ง “ครูคงตอบแทนผู้หญิงทั้งหมดไม่ได้หรอก” เขาก็ยังไม่หยุดถาม “อาจารย์ครับ...ผู้หญิงเค้าชอบผู้ชายสูงหรือเตี้ยครับ” เอาล่ะสิยังคิดว่าจะแก้สถานการณ์อย่างไรดี “อือ...ถ้าเป็นครูน่ะคงจะชอบผู้ชายสูง แต่ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนจะคิดเหมือนครูน่ะ บางคนเขาก็ชอบผู้ชายอย่างเพื่อนเธอน่ะ...เธอลองมองเพื่อนเธอซิเห็นใหมว่าในความเป็นเด็กนักศึกษาเค้าดูเป็นธรรมชาติของความเป็นเด็ก ดูเป็นตัวของตัวเองดีไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมากมายนัก เช้ามาโรงเรียน เย็นกลับบ้าน ชีวิตออกจะมีความสุขดีน่ะ” เพื่อนที่นั่งทำข้อสอบเงยหน้ามายิ้มให้ แต่เขาก็ยังถามต่อ อาจารย์ครับ...ผู้หญิงชอบผู้ชายมีรถใหมครับ แล้วถ้าผมจะไปรับเขาที่บ้านระหว่างเอารถกระบะ กับรถเก๋ง อาจารย์ว่าเค้าชอบแบบไหนครับ” ฉันหยุดนิ่งคิดอยู่ครูหนึ่งก่อนจะตัดสินใจพูด “อย่ามองแค่วัตถุภายนอกซิ...ผู้หญิงบางคนอาจไม่ชอบวัตถุสิ่งของที่เธอว่ามาก็ได้ ส่วนเรื่องหน้าตาครูว่ามันไม่สำคัญเท่ากับจิตใจหรอก...แสดงว่ากำลังมีความรักใช่มั๊ย”...”ไม่เชิงครับอาจารย์…กำลังดู ๆ อยู่ครับ”

          ในความเป็นครูคงพูดอะไรได้ไม่ดีไปกว่าการเตือนศิษย์ “ครูไม่ได้ว่าอะไรน่ะ...ถ้าเธอจะมีความรัก เพราะความรักอาจจะทำให้เธอตั้งใจเรียนมากขึ้นกว่าเดิมก็ได้...แต่ถ้าจะรักที่สำคัญอย่าทิ้งการเรียนเด็ดขาด อย่าทำให้ความหวังของใครหลาย ๆ คน ต้องพัง เธอเป็นผู้ชายมีโอกาสจะเลือกอีกเยอะเพราะอนาคตของเธอยังอีกยาวไกล และในทางกลับกันเธอก็อย่าทำให้ผู้หญิงเค้าเสียการเรียนเด็ดขาด ครูว่าเรียนให้จบหางานทำให้ได้ค่อยคิดเรื่องนี้จะดีมั๊ย เพราะเดี๊ยวเธอจบออกไปอาจจะเจออะไรที่ดีกว่านี้อีกเยอะแยะ” เขาก็ยังไม่หยุด “โฮ่!! อาจารย์มันก็มีบ้างเรื่องอย่างนี้ ผมยังวัยรุ่นอยู่เลยครับ” ตายล่ะซิหาว่าครูแก่!! คราวนี้ ฉันจะทำอย่างไรดี “อืม!! หลังจากได้รักแล้วรู้สึกตัวเองเปลี่ยนไปในทางที่ดีหรือเปล่าล่ะ...หรือว่าไง..หล่อขึ้นดูดีขึ้น... แต่การเรียนแย่ลงหรือเปล่า…เธอตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าจุดประสงค์ของการมาเรียนเพื่ออะไร?” เด็กนักศึกษาอึ้งไปครู่หนึ่ง “อาจารย์ครับ...ผมว่ามันก็ดีน่ะครับ ดีขึ้น” ... “จ๊ะ...ถ้ามันดีมันก็เป็นสิ่งที่สวยงามมาก...แต่ให้จำไว้อย่างหนึ่งว่าเธอยังเด็ก...อนาคตยังอีกไกล อย่าหมกมุ่นกับเรื่องนี้ให้มากเกินไป ครูเป็นห่วงน่ะ...กลับไปนอนคิดสักคืน มีอะไรก็มาปรึกษาครูได้ครูยินดีเสมอ”

          ฉันไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตอบเด็กไปถูกหรือผิด แต่พยายามตอบให้เขาได้กลับไปคิด แต่สิ่งที่สะท้อนกลับมา นักศึกษากลุ่มนี้เป็นผู้ชายล้วนทั้งห้อง โอกาสที่จะปรึกษากับเพื่อนผู้หญิงในเรื่องความรักคงไม่มีโอกาสสักเท่าไร เขาคงต้องการถามในฐานะที่ครูเป็นผู้หญิงอาจแค่ต้องการรับรู้ความรู้สึกของผู้หญิงที่มีต่อผู้ชาย ครั้นจะไปถามแม่ก็คงไม่กล้าเลยตัดสินใจถามคนที่เขาคิดว่าน่าจะปรึกษาได้  ดังนั้น ในความเป็นครูมองว่าเราควรจะสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับศิษย์ เพื่อเขาจะได้ไว้วางใจ และสามารถเข้ามาขอคำปรึกษา ขอคำแนะนำ ขอความช่วยเหลือ เป็นที่พึ่งทางจิตใจให้กับเขาได้ และมันเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่น้อยไปกว่าการจัดการเรียนการสอนของครูในชั้นเรียน หากแค่ครูสร้างสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างตัวครูและนักเรียน การจัดการเรียนการสอนก็จะดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างไม่อยากเย็น

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29042เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2006 20:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

อยู่กับอะไร หากได้ทำความเข้าใจกับสิ่งนั้นให้ชัดแจ้ง และชัดเจน อาจารย์ก็จะไม่เพลี้ยงพล้ำต่อการเดินไปบนลวดชีวิต

    เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดของครูครับ
  • เป็นครูลำบากไหมครับ
  • บางครั้ง ต้องให้คำปรึกษาทุกอย่าง
  • ผมถูกถามว่า ครูคะ พ่อซ้อมแม่ ครูจะช่วยแม่ไหมคะ
  • ขอเป็นกำลังใจให้นะครับคุณครู

ภาพอาจไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง อินเตอร์เนต เวบไซต์ ห้องสนทนาออนไลน์ เป้นเพียงเทคโนโลยี เป็นเพียงเครื่องมืออำนวยความสะดวก หลายสิ่งที่ตามมา ในการสนทนาก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นเรื่องเท็จหรือเรื่องปั้นแต่งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ประการใดประการหนึ่ง ส่วนจะดีหรือไม่ดี อันตรายไม่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับผู้ใช้เป็นสำคัญ

  • ขจิต งงคุณเมล็ดถั่วเขียว

คงหมายถึงข่าวตามหนังสือพิมพ์

เป็นห่วงข่าวเรื่องเด็กขโมยรถที่บ้านขับไปถึงเชียงใหม่หาเพื่อนที่แชต ผ่านเนต แล้วประสบอุบัติเหตุ แล้วก็ข่าวแชต ของครูสาวที่อุบลด้วย

  •  เข้าใจแล้วครับ
  • ขอบคุณมากครับ






คุณ "เมล็ดถั่วเขียว"

"vij" ขอบคุณในความห่วงใยและความหวังดีของคุณ "เมล็ดถั่วเขียว" มาก ๆ
มองว่าภาพการ์ตูนมันเป็นสีสรรของ คห. และเป็นความจริงใจของผู้ส่งด้วยที่ตั้งใจส่งมาให้ด้วยความจริงใจ อย่าคิดมากค่ะมันคงไม่มีอะไรมากเกินไปกว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การให้กำลังใจเพื่อนร่วมโลก ความจริงใจค่ะสำคัญที่สุด

คุณ "ขจิต"

"vij" ยังยืนยันว่าชอบภาพการ์ตูนของคุณ "ขจิต" อยู่น่ะค่ะ อย่างไรซ๊ะก็ส่งมาอีกเรื่อย ๆ มันดูมีชีวิตชีวาดีค่ะ...อย่างที่บอกไปทุก ๆ ครั้ง แต่หากคุณ "ขจิต" ไม่มาพร้อมภาพการ์ตูน มันคงไม่ใช่คุณ "ขจิต" ตัวจริงมั้งค่ะ...ส่งมาอีกเรื่อย ๆ ค่ะภาพการ์ตูนยังไงก็ดูน่ารักดีค่ะ

ผมควรจะเริ่มตรงไหนดี ..........

สมัยผมยังเด็ก - มีผู้ใหญ่ methaphor ให้ผมฟังว่า ที่ท่านห้ามโน้นห้ามนี่ เพราะท่านเคยเดินผ่านเส้นทางนี้-แล้วเกิดเหยียบตะปูขึ้นมา จึงสอนไม่ให้ผมเดินไปทางนั้น ..แปลว่า.. ก. ผมไม่ควรเดินไปทางนั้น จะได้ไม่ต้องเหยียบตะปู หรือ ข. ผมพลาดประสบการณ์ในการเหยียบตะปูเพื่อสอนเด็กในรุ่นต่อไป

ผมคิดว่าคำแนะนำใดๆ ก็ตาม ที่เรามอบให้กับผู้อื่นควรเปิดช่องทางให้เขาเลือกได้-ตามตัวตนของเขา .. หลายสิ่งหลายอย่าง ควรปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตนเองในวิถีทางที่เหมาะสม การให้คำแนะนำโดยปิดปลายคำตอบไว้ ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่สมควรนัก เพราะอาจจะทำให้เขาพลาดประสบการณ์หลายๆอย่างไป (แม้จะแฝงมาด้วยความเจ็บปวดก็ตาม) เพราะบางครั้ง .. ความเจ็บปวดจากความผิดพลาด หากไม่เลวร้ายจนเกินไป ก็เป็นรสชาติและความทรงจำที่ดีของชีวิต -

บางครั้งคนฉลาดก็เรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่น .. แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่สามารถเรียนรู้-จากความผิดพลาดของตนเอง - จะเป็นคนโง่ .. เสมอไป

สังคมแห่งโลกยุคไร้ระเบียบ ก็เป็นเช่นนี้ - มิใช่หรือ ..

ขอชื่นชมคุณครูวิจิตรา  ในการตอบคำถามนักศึกษาได้ดีมาก  เป็นไปได้ไหมที่คุณครูจะตั้งคลีนิกแก้ปัญหาวัยรุ่น เชื่อว่ามีนักศึกษาจำนวนมากที่มีปัญหา  แต่ขาดผู้ที่มีความสามารถในการให้คำปรึกษา
  • ขอบอาจารย์วิจิตรามากครับ
  • อยากให้คุณ "เมล็ดถั่วเขียว"เข้าไป khajit's blog
  • แล้วคุณ "เมล็ดถั่วเขียว"จะรู้จักผมครับ
  • แต่ผมหาข้อมูลคุณ"เมล็ดถั่วเขียว" ไม่พบครับ เป็นใครเอย...
  • ผมเป็นคุณครูครับคุณ"เมล็ดถั่วเขียว"

คุณ "พงศกร"

ขอบคุณค่ะคุณ "พงศกร" ...แน่นอนที่สุดค่ะการให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงได้มีการลองถูกลองผิดถือเป็นสิ่งที่ดีเพื่อเขาจะได้รู้ได้เห็นจากประสบการณ์ตรง

แต่ "vij" มองว่าการให้เด็กได้ลองถูกลองผิดจากประสบการณ์ตรงนั้นเราควรจะดูถึงพฤติกรรมเสี่ยงด้วย เพราะการสอนให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงนั้นพบว่าจะทำให้เกิดอันตรายได้ในบางพฤติกรรม และยังมองถึงการสูญเสียเวลาของเด็กเองด้วย ในความเป็นครูหากเราเคยประสบพบเจอกับปัญหาเหล่านี้มาก่อนแล้ว การเตือนสติเพื่อไม่ให้เขาได้หยุดคิดสักนิดคงจะเป็นการดีกว่าที่จะปล่อยให้เขาหลงทาง แต่ไม่ได้บอกว่าอย่าทำ ทำได้แต่ให้คิดใช้สติพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะทำ

 

คุณ "โสภณ"

ขอบคุณค่ะสำหรับคำชื่นชม...มองว่าคลีนิคแก้ปัญหาวัยรุ่นเป็นแนวความคิดที่ดีมากสำหรับสถานศึกษา แต่หากยังขาดซึ่งบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องนี้ ซึ่งหากผู้ให้คำปรึกษาไม่มีจรรยาบรรณในการให้คำปรึกษาที่ดีพอ อาจจะกลายเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้มารับคำปรึกษา

  • ประเด็นคำถามของคุณ โสภณน่าสนใจ ปัญหาคือในโรงเรียนมีคุณครูแนะแนว แต่บางครั้งเรายังขาดครูแนะแนวที่จบทางด้านจิตวิทยา แถมคุณครูแนะแนวถูกใช้ไปทำงานอื่นๆที่ไม่ใช่งานที่จะให้คำปรึกษานักเรียน
  • ผมเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับระบบดูแลนักเรียนในสถานศึกษา บางครั้งสงสารนักเรียนมากครับที่ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร คุณครูก็น่าสงสารที่ต้องทำงานทุกอย่าง
  • ขอบคุณคุณโสภณ คุณพงศกร และคุณครูวิจิตราที่ทำให้ผมระลึกถึงสมัยสอนในระดับมัธยมศึกษา

 

เท่าที่อ่านมาทำให้มองเห็น "อะไรบางอย่าง" ในตัวอาจารย์วิจิตรา"  นั่นคือ ....อาจารย์น่าที่จะเป็นคนที่นักศึกษาสามารถเอ่ยปากถามคำถามส่วนตัวอะไรหลาย ๆ อย่างได้ ผิดกับอาจารย์หลาย ๆ ท่านที่นักศึกษาไม่กล้าแม้แต่จะถามคำถามในวิชาเรียนเลยด้วยซ้ำ  เพราะฉะนั้นอย่าหวังว่าจะมาปรึกษาเรื่องส่วนตัวเลย   ดังนั้นหนูขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์วิจตรานะค่ะ  เพราะขนาดหนูเอง ยังไม่สามารถทำได้แบบอาจารย์เลยค่ะ หนูทำงานเป็นอาจารย์ได้ซัก 2 ปีกว่าแล้วค่ะ  อายุอาจไม่ค่อยแตกต่างจากนักศึกษามากนัก  แต่นักศึกษาก็ไม่กล้าที่จะเข้ามาปรึกษาหนูเลย  เหอ ๆ   เพราะฉะนั้นหนูถึงบอกว่า  อาจารย์มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่น่าชื่นชมนะค่ะ  ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ

http://gotoknow.org/panarat

 

"น้องนิว"

ขอบคุณสำหรับคำชื่นชมและกำลังใจ...ยินดีน้อมรับด้วยความชื่นใจค่ะ อาชีพครูคือ "เรือจ้าง" อย่างไรซ๊ะก็คงต้องพายเรือส่งศิษย์ให้ถึงฝั่งฝัน แต่หากระหว่างทางต้องเจออุปสรรคก็ต้องช่วยแก้ไขให้บรรเทาเบาบางลงและคงต้องแจวเรือส่งศิษย์ให้ถึงฝั่งฝันด้วยรอยยิ้มให้จงได้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท