ผชช.ว.ตาก (9): นิเทศงานวัณโรคโครงการTUC


วัณโรคเป็นโรคที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขท่านปัจจุบันให้ความสำคัญมาก ทางตากเราได้มีการดำเนินการอย่างเข้มข้นมาหลายปีแล้วเนื่องจากเป็นพื้นที่ชายแดน มีความเสี่ยงด้านต่างๆสูงและได้รับการสนับสนุนจาก 2 โครงการใหญ่คือGFTBและTUC

       เมื่อวาน (18 สิงหาคม 2552) ผมกับคณะวางแผนไว้จะออกนิเทศติดตามงานวัณโรคของโครงการความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านวัณโรค (TUC= Thai-United State Coorperation) ที่เข้ามาทำในพื้นที่ตากเกือบ 5 ปีแล้ว และงบประมาณสนับสนุนก็ลดลงเรื่อยๆ สไตล์เอ็นจีโอหรือเงินช่วยเหลือทั่วๆไป คณะนิเทศ 6 คน ติดภารกิจถูกเรียกประชุมต่างจังหวัดไป 3 คน ก็เหลือแค่ 3 คนคือผม คุณประพันธ์ และคุณเทวิกา การนิเทศงานวัณโรคของเราในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาใช้แนวคิดการตามรอย (Tracing) ที่ทาง พรพ.หรือปัจจุบันคือ สรพ. ใช้ในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล โดยการนำของคุณหมอวิทยา จากโรงพยาบาลแม่สอด

       ช่วงเช้า ออกนิเทศที่อำเภอสามเงา มีการนำเสนอข้อมูลและซักภถามพูดคุยกันก่อน แล้วแบ่งกันลงติดตามในจุดต่างๆทั้งที่คลินิกวัณโรค สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ห้องแล็บ ห้องยา และคลินิกผู้ป่วยเอดส์ โดยพี่ปีพันธ์กับน้องแอนรับหน้าที่ดูในส่วนนี้ เน้นการขึ้นทะเบียนที่ครบ การรักษาติดตามผู้ป่วย การตรวจคัดกรองวัณโรคในผู้ป่วยเอดส์และการตรวจเอดส์ในผู้ป่วยวัณโรค ส่วนผมออกไปติดตามที่สถานีอนามัย 2 แห่งคือสถานีอนามัยท่าไผ่ และสถานีอนามัยบ้านใหม่สามัคคี ติดตามไปดูว่าข้อมูลผู้ป่วยวัณโรคไปถึงสถานีอนามัยหรือไม่อย่างไร และสถานีอนามัยได้ลงไปติดตามผู้ป่วยในการกินยาด้วยหรือไม่ ผมไปกับพี่พงษ์สุข ผู้ประสานงานวัณโรคของ สสอ.สามเงา และอานนท์ พนักงานวัณโรคชุมชนผลปรากฎว่า ข้อมูลผู้ป่วยวัณโรคไม่ได้ไปถึงสถานีอนามัยอย่างเป็นทางการ โดยทางโรงพยาบาลดำเนินการเองหมดด้วยการเยี่ยมบ้านของพนักงานวัณโรคชุมชน

       ช่วงบ่ายมาที่ บ้านตาก ลักษณะการนิเทศคล้ายๆกัน ผมลงไปที่สถานีอนามัยยางโองน้ำ พบว่า มีการส่งข้อมูลการรักษาให้สถานีอนามัยอย่างดีมาก มีแฟ้มครอบครัวที่มีประวัติผู้ป่วยวัณโรค มีแฟ้มชุมชนที่แสดงถึงแผนที่บ้านของผู้ป่วย คุณกฤช สอนกอง ผหัวหน้าอนามัยได้พาผมกับพี่ประสิทธ์ ผู้ประสานงานวัณโรคของ สสอ. บ้านตาก ไปแวะเยี่ยมผู้ป่วยรายหนึ่ง พบว่ามีการเยียมติดตามการกินยาของผู้ป่วยอย่างสมำเสมอโดยเจ้าหน้าที่อนามัยและพนักงานวัณโรคชุมชน หลังจากนั้นผมไปต่อที่สถานีอนามัยแม่บอน ก็พบว่าในแฟ้มครอบครัวมีการเยี่ยมติดตามผู้ป่วยแต่สมบูรณ์ไม่เท่าแห่งแรก

       จากการนิเทศงานของสองออำเภอพบว่า ของบ้านตากมีระบบการประสานงานส่งต่อข้อมูลถึงกันระหว่างโรงพยาบาล สถานีอนามัยและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอที่ดีมาก แต่ผลการดำเนินงานพบว่าอัตราการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ที่มีเสมหะบวก ยังทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด (ร้อยละ 70 ของความชุกของผู้ป่วยวัณโรคของประเทศ 62 ต่อแสนประชากร) และอัตราการรักษาสำเร็จ คาดการณ์แล้วเมื่อจบปีงบประมาณน่าจะอยู่ที่ไม่ถึง 85 % ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย ในขณะที่ของอำเภอสามเงา ระบบการประสานงานส่งต่อข้อมูลติดตามผู้ป่วยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ผลการค้นหาเกินเป้าหมายและผลการรักษาสำเร็จน่าจะได้เกือบ 90 %

         เวลาประเมินงานทางด้านสาธารณสุข จะบอกว่าดูแต่ผลลัพธ์อย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องดูวิธีการด้วย จะดูแต่กระบวนการอย่างเดียวโดยไม่ดูผลลัพธ์ก็ไม่ได้ ต้องดูควบคู่กันไป ไม่ใช่ว่าทำครบ ทำเยอะจะได้ผลดีเสมอไป และก็ไม่ใช่ได้ผลลัพธ์ดีทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ก็อาจจะเกิดจากการฟลุ๊กหรือโชคดีก็ได้

         การนิเทศแบบตามรอย ทำให้ไม่สามารถหมกเม็ดผู้ป่วยได้ ถ้ามีการจ่ายยาวัณโรคก็ไปดูว่าขึ้นทะเบียนหรือเปล่า หรือถ้ามีการตรวจเสมหะให้ผลบวกก็ไปดูว่าขึ้นทะเบียนหรือเปล่า จึงเป็นข้อมูลที่แท้จริงมาก เพราะถ้าคิดจะพลิกแพลงให้ได้ผลการรักษาสำเร็จสูงๆ ก็ทำได้โดยการลดอัตราตายของผู้ป่วย โดยการดูแลดีๆ แก้ไขสาเหตุที่จะทำให้ตาย กับอีกทางหนึ่งคือ ถ้าผู้ป่วยอาการไม่ดีแม้เป็นวัณโรคก็ยังไม่ต้องขึ้นทะเบียน ต่อเมื่อแน่ใจว่าไม่ตายแน่จึงขึ้นทะเบียน แต่ถ้าไม่แน่ใจหรืออาการไม่ดีก็รักษาไปก่อนแต่ไม่ขึ้นทะเบียน ถ้าผู้ป่วยเสียชีวิตก็ไม่เสียสถิติเพราะอัตราความสำเร็จจะลดลงเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตหรือผู้ป่วยขาดยา

         ดังนั้น การเร่งพัฒนาระบบเพื่อให้อัตราการรักษาสำเร็จสูงเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเร่งรัดมากไปคนทำงานอาจเอาตัวรอดโดยพลิกแพลงข้อมูลได้ ซึ่งที่ตากเราไม่ทำเพราะเราต้องการข้อมูลจริง แม้จะได้ความสำเร็จไม่ตามเป้า เราก็จะหาโอกาสในการพัฒนาต่อไป  

หมายเลขบันทึก: 289176เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2009 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน คุณหมอพิเชษฐ์

ผมเสนอแนวคิด พลิกแผลง การเลือกผู้ป่วยบางราย ใช้สมุนไพร ควบคู่ไปกับ การทานยาวัณโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่ติดเชื้อ เอดส์ และ เสี่ยงมีอาการข้างเคียงจากยาวัณโรค

โดยเลือกสมุนไพร

1 ที่มีผล ดี ต่อตับ

2 มีผลงานวิจัย ช่วยต้านเชื้อเอดส์ ได้ อย่างน้อย ในระดับ เซล

3 เป็นสมุนไพร ในท้องถิ่น ราคาไม่แพง หาได้ง่าย

สุดท้าย เก็บข้อมูล key success factor

เชื่อว่า ผป. บางราย ได้ประโยชน์คุ้มค่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท