ทนงชี้ค่าบาท 38 เหมาะสม


ทนงชี้ค่าบาท 38 เหมาะสม
     "ทนง พิทยะ" ชี้นำค่าบาทอีกระลอกหลังอ่อนค่าผันผวนตลอดทั้งวัน ระบุ 38 บาทต่อดอลลาร์ เหมาะสมสุด ฟุ้งการอ่อนค่าวานนี้แสดงให้เห็นการปรับตัวเข้าสู่สมดุล  ลั่น "ไม่แข็งค่ากว่านี้อีกแล้ว" นักค้าเงินแนะจับตาปัจจัยกระทบบาทอยู่ที่ตลาดหุ้น หวั่นเงินทุนไหลออกฉุดบาทอ่อนค่า ด้านเงินหยวนแข็งค่าทำสถิติที่ 7.9982 หยวนต่อดอลลาร์
     นายทนง พิทยะ รักษาการ รมว.คลัง กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่เหมาะสมคือ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นการค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 38.17 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ในช่วงเช้าวานนี้ (15 พ.ค.) นับว่าเป็นการปรับฐานเข้าสู่ภาวะดุลยภาพตามพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อว่าค่าเงินบาทไม่น่าจะแข็งค่าขึ้นไปมากกว่าระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์อีกแล้ว   "หลังจากในช่วงปีที่แล้วเงินบาทอ่อนค่ากว่าภูมิภาคนิดหน่อย ขณะนี้ใกล้เข้าสู่จุดที่ใกล้เคียงกับดุลยภาพ และจะปรับตัวขึ้นลงตามภูมิภาค" นายทนงกล่าวและว่า หากเศรษฐกิจ ของประเทศและการท่องเที่ยวชะลอตัวลง อาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ โดยปัจจุบันค่าเงินบาทได้แข็งค่าเท่ากับสกุลเงินในภูมิภาคแล้ว ทำให้เงินลงทุนกระจายไปยังประเทศต่าง ๆ ตามปกติ จึงไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับแรงกดดันค่าเงินในภูมิภาคเอเชียจากดอลลาร์สหรัฐ เพราะในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากมีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยหากเข้ามาระยะสั้นก็จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้
     นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า ค่าเงินบาทวานนี้ค่อนข้างผันผวนในทิศทางที่อ่อนค่าลง โดยเปิดตลาดที่ระดับ 37.83/86 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นสูงสุด 37.81 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าสุดที่ระดับ 38.16 บาท/ดอลลาร์ และปิดที่ระดับ 38.08/12 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตามค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาค
ยกเว้นเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น   ทั้งนี้ ปัจจัยที่เข้ามากระทบต่อเงินบาทเป็นกรณีของตลาดหุ้นไทย รวมถึงตลาดหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาคที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก จึงเกรงว่าจะมีเงินทุนไหลออกอีกระลอกหนึ่ง รวมถึงการเตรียมเงิน  ที่จะไปซื้อหุ้นของบริษัทไทยเบฟเวอร์เรจด้วย  "ค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาครวมถึงเงินอ่อนค่าสวนกับเงินหยวน จากปกติที่ไปในทิศทางเดียวกัน คงเป็นไปตามภาวะของตลาดหุ้นเอเชียที่ปรับตัวลดลงตามตลาดดาวโจนส์ที่ในช่วง 3 วันที่ผ่านมาปรับตัวลดลงไปกว่า 300 จุด" นักค้าเงินกล่าว    อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าลงมากนัก โดยมีแนวรับอยู่ที่ 38.20 บาท เนื่องจากแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ยังอ่อนค่าหลังเฟดมีทิศทางที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป
     บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สัปดาห์นี้ค่าเงินบาทแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 37.5-37.9 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงกับของสัปดาห์ก่อนหน้า โดยปัจจัยที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้ คงจะได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาทิ เงินทุนไหลเข้าเดือนมีนาคม ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเมษายน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน  ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลายท่านเกี่ยวกับทิศทางของนโยบายการเงิน
     วานนี้ ค่าเงินหยวนของจีนซื้อขายกันที่ 7.9982 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการเคลื่อนไหวมาอยู่ระดับต่ำกว่าแนวรับทางจิตวิทยาที่ระดับ 8 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรก  โดยเงินหยวนแข็งค่าขึ้นหลังจากกระทรวงคลังสหรัฐเผยรายงานประจำครึ่งปีเมื่อสัปดาห์ก่อน เกี่ยวกับนโยบายการเงินโลกและไม่ได้ระบุในรายงานว่าจีนบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน หากสหรัฐระบุเช่นนั้นอาจปูทางไปสู่มาตรการลงโทษรัฐบาลจีนเรื่องเงินหยวนเพราะรัฐบาลสหรัฐเห็นว่ามีค่าต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ทำให้จีนได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม    ทั้งนี้ ศูนย์ปริวรรตเงินตราแห่งชาติของจีนประกาศอัตราแลกเปลี่ยนกลางในการซื้อขายเช้าวานนี้ที่ 7.9982 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นราคาเฉลี่ยจากราคาซื้อขายใน 11 ตลาด    ปีที่แล้วจีนปรับขึ้นค่าเงินหยวนร้อยละ 2.1 เป็น 8.11 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากตรึงอัตราแลกเปลี่ยนมานานถึง 11 ปี หวังควบคุมเงินที่ไหลเข้าประเทศมากมาย ดูดซับสภาพคล่องส่วนเกิน และลดการได้ดุลการค้ามหาศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐ  เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหาภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ค่าเงินหยวน       จะปรับแข็งค่าในอัตราที่เร็วขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากแรงกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศที่รุมเร้ามากยิ่งขึ้น   ดังจะเห็นได้จากปรากฎการณ์เงินทุนไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรค่าเงินหยวนและเงินตราของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกรวมทั้งประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลต่อเนื่องกดดันค่าเงินในเอเชียให้ปรับค่าขึ้นตาม  "ค่าเงินหยวนมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นอีกประมาณร้อยละ 3-5 ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้และจะมีผลต่อค่าเงิน       ในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งค่าเงินบาทด้วย โดยค่าเงินบาทจะยังคงแข็งค่าอยู่ต่อไปจนกระทั่งการเคลื่อนย้ายทุนเข้ามาในทวีปเอเชียจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อค่าเงินหยวนปรับตัวขึ้นจนอยู่ในระดับที่ตลาดเห็นว่าเหมาะสม"  อย่างไรก็ดี เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเพื่อเก็งกำไรมีผลกดดันต่อค่าเงินและมีส่วนทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีส่วนสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวเนื่องจากเงินทุนเหล่านี้    จะไหลออกไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป

ผู้จัดการรายวัน (บางส่วน)  16  พ.ค. 49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 28900เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2006 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท