การตลาดผลไม้ไทยที่ยั่งยืนและบูรณาการกรณีกล้วยหอมทองละแม 1


การจัดการความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กล้วยหอมทองละแม

รายงานฉบับนี้ เป็นการสรุปผลจากประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆกับกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด ในช่วง  ตั้งแต่ปี พศ.2536 - 2544 เป็นเวลา 8 ปี   ทั้งบทบาทของ สมาชิกกลุ่ม และกรรมการบริหารงานกลุ่ม    และเมื่อได้รับมอบหมายจากกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้ภาคธุรกิจ  โครงการจัดการความรู้จังหวัดชุมพร  ให้ทำการศึกษาธุรกิจต่างๆภายในจังหวัดหลายๆด้าน ก็ให้ความสำคัญกับการส่งกล้วยหอมทอง ไปสู่ประเทศญี่ปุ่นของกลุ่มเกษตรทำสวนทุ่งคาวัด   ดังนั้นจึงมอบหมายให้ผมซึ่งเป็นผู้ร่วมในเวที และพอมีประสพการณ์ในเรื่องนี้   ได้เล่าให้กลุ่มฟัง แต่การเล่าให้ลึกซึ้ง ทำให้มองเห็นภาพชัดเจนนั้น คงต้องใช้เวลานาน จึงรับภาระจากอาจารย์ใหญ่ผู้เป็นวิทยากรหลัก คือคุณไอศูรย์ ภาษะยวรรณ ให้กลับมาเขียนให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้     หลังจากกลับมาขบคิดอยู่พักหนึ่ง นั่งอ่านสาระที่ทางคุณลิขิต ซึ่งเป็นเลขากลุ่มมอบให้มา   การที่ให้ข้อมูลด้านเดียว คือด้านการผลิตนั้นคงจะไม่ใช่สิ่งที่ค้างคาอยู่ในหัวใจของผมแน่  เพราะหากเขียนเรื่องกิจกรรมกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด ผมจะเสียเวลาเขียนอยู่ทำใม เพราะสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพรย่อมจะต้องทำรายละเอียดอยู่แล้ว  และที่สำคัญการสื่อความรู้วิธีการผลิตด้านเกษตรด้านเดียว  ในขณะนี้เราจะหาดูจากที่ใหนก็ได้ เพราะมี คนนำเสนอสู่สาธารณะจากทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ จะเป็นช่องทีวี จะเป็นเอกสารแจกจากสถาบันหรือหน่วยงานราชการ  แต่ข้อมูลด้านการตลาดที่ชัดเจนและแน่นอนมีให้เห็นน้อยมาก  ทำให้คนที่อยู่ในฐานการผลิตภาคเกษตรอยู่ในสภาพของคนที่มืดมนหมุนวนอยู่อย่างไม่รู้จบ  ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆเชื่อมโยงอย่างมากมายเมื่อผลผลิตล้นตลาด เพราะว่าเราถูกกลไกของกลุ่มธุรกิจครอบคลุมทุกบทบาท และควบคุมให้เป็นเช่นนั้นตลอดเวลา    การนำเสนอในครั้งนี้จึงต้องใช้หัวข้อเรื่องที่มุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญของกระบวนการตลาด ที่มีความลงตัว สมบูรณ์แบบ ภายใต้พลวัตรของกระบวนการเรียนรู้ แบบมีส่วนร่วม     และขอใช้ตลาดนัดความรู้ของ GotoKnow.org เป็นที่นำเสนอ       และขอใช้เวทีตรงนี้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และขอรับการเสนอแนะจากอาจารย์ใหญ่ โครงการจัดการความรู้จังหวัดชุมพร คือคุณไอศูรย์ ภาษะยวรรณ  การพาดพิงถึงตัวบุคคลเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นภาพชัดเจน อาจจะไม่เหมาะสมก็ต้องกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย  

             การแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ( ลปรร.)   เป็นสะพานเชื่อมโยงความคิดสู่การเกิดองค์กร   

            การเกิดกิจกรรมใดๆ ต้องมีคนอยู่สักหนึ่งคน เป็นคนคิด และนำความคิดไปพูดคุยกับคนไกล้ชิด และเมื่อคนที่ได้รับฟังเกิดความเห็นพ้องต้องกัน สิ่งที่คิดอยู่ในจิตใจก็จะเริ่มมีความเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรม

              ยามาโมโต้ หนุ่มใหญ่ไฟแรงชาวญี่ปุ่น วัย 40ปี    ผู้ผ่านการทำงานสร้างกลุ่มผู้บริโภคและสหกรณ์ผู้บริโภคตั้งแต่วัยหนุ่มและสุดท้ายได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสหกรณ์ผู้บริโภค โตโต้ จำกัด   จากการเรียนรู้ แนวคิด หลักการ วิธีการ ประกอบกับการที่ได้คลุกคลีกับการจัดการให้สมาชิกผู้บริโภค ได้รับประโยชน์สูงสุด ในการเลือกบริโภคอาหาร ที่มีคุณภาพเพื่อการมีสุขภาพที่ดี                           

 

          ความคิดที่ถูกเรียบเรียงไว้อย่างเป็นระบบ  และต้องการเห็นผลสำเร็จที่เกิดขึ้น  ทำให้ยามาโมโต้  นำความรู้ที่มีอยู่ ไปปรึกษาหารือเพื่อนสนิท  และเมื่อเห็นพ้องต้องกัน ก็ร่วมกันก่อตั้งบริษัท เอเซีย คาล์จุรัล เอ็นเตอร์ ไพรส์ จำกัด เป็นบริษัทผู้ประสานงานในการนำเข้าสินค้าประเภทอาหาร ให้แก่ผู้บริโภค(ปัจจุบัน แปซิฟิคเทรดแจแปน)  แต่ด้วยเหตุผลที่คนญี่ปุ่น เน้นบริโภค เฉพาะผลไม้ที่ผลิตได้ในประเทศของตน ผลไม้จากต่างประเทศ ที่ไม่จำเป็น   เอาไว้เป็นอันดับหลัง  ไม่ยอมเสียดุลยทางการค้า ว่างั้นเถอะ ดังนั้นสินค้าบริโภคที่นำเข้าญี่ปุ่น  ก็คงเป็นประเภทที่ ผลิตในประเทศไม่ได้  และจำเป็นต้องบริโภคจริงๆ   กาแฟ และถั่วเหลือง เป็นสินค้าที่มีการจัดหาแหล่งผลิตและนำเข้าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน  แต่มีผู้ทำธุรกิจนำเข้าสินค้าเหล่านั้นอยู่ก่อนแล้วหลายราย  จำเป็นที่จะต้องแสวงหาสินค้าประเภทอื่น

     

         วิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น  ต้องตื่นแต่เช้าและเร่งรีบ    ส่วนใหญ่ทำงานในภาคธุรกิจ   ความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ และแน่นอนว่า ความเครียดจะมีผลก่อให้เกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร   เมื่อได้รับรู้ว่ากล้วยเป็นผลไม้ที่ให้ประโยชน์และช่วยดูแลระบบทางเดินอาหารได้เป็นอย่างดี  กล้วยจึงเป็นผลไม้ที่น่าสนใจ   

          แต่กล้วยมีมากมายหลายชนิด  และในประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถปลูกกล้วยได้  ต้องอาศัยการนำเข้าจากภายนอกประเทศเพียงอย่างเดียว  กล้วยหอมทอง เป็นกล้วยที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สามารถใช้ทำธุรกิจได้   ไม่ว่า ขนาดของผลที่พอเหมาะไม่เล็กไม่ใหญ่  ผิวเปลือกเป็นสีทอง สวยสดดูแล้วสะอาดตาน่าจับต้อง    รสชาดที่หวานหอมนุ่มนวล  ขั้ววิ่นเหนียว เก็บไว้ได้นาน  และที่สำคัญ ราคาไม่แพง บริโภคได้กับคนทุกระดับชั้น

           การตลาดแบบองค์รวม  เป็นกิจกรรมด้านการตลาดที่ผนวกองค์กร เกี่ยวข้อง  เข้าสู่ระบบเดียวกัน

       และวงจรของการตลาด  ต้องมี องค์กรสำคัญ อย่างน้อย 3 องค์กร   ได้แก่

                  1. กลุ่มผู้บริโภค และสหกรณ์ผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น (มีองค์กรอยู่แล้ว) 

                   2. ผู้ประสานงาน คือบริษัทเอเซีย คาล์จุรัล เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด  (ก่อตั้งขึ้นแล้ว) ปัจจุบันชื่อ บริษัทแปซิฟิคเทรดแจแปน  

                   3. องค์กรในชุมชน ที่มีกล้วยหอมทอง  ( ยังไม่เกิด)

                ที่ญี่ปุ่น  บริษัทเอเซีย คาล์จุรัล เอ็นเตอร์ไพรส์  ได้ร่วมมือกับสหกรณ์ผู้บริโภคโยโดงาว่า  เพื่อจัดหากล้วยหอมทองไปบริการแก่สมาชิกผู้บริโภค  จากการวิเคราะห์สถานการณ์หลายๆด้าน ก็ให้น้ำหนักกับ กล้วยกล้วยหอมทองจากประเทศไทย  

               ต้นปี 2534  ยามาโมโต้ เดินทางเช้าสู่ประเทศไทย ได้พบปะกับท่านพันเอกสุรินทร์ ชลประเสริฐ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานชุมนุมร้านสหกรณ์ แห่งประเทศไทย หลังจากพูดคุยแลกเปลี่ยนกันจนเป็นที่เข้าใจ ก็ได้ร่วมกัน ก่อตั้ง บริษัทแพนแปซิฟิคฟู้ด ประเทศไทยขึ้น  โดยมีอดีตวัยรุ่นที่ ยามาโมโต้ ให้ความรักใคร่เอ็นดู  ช่วยเหลือให้มาศึกษาต่อในเมืองไทย   จนกระทั่งจบปริญญาโท จากสถาบันมีชื่อเสียง  หนุ่มคนนั้น ชื่อว่า จุลโคยาม่า หรือที่เพื่อนคนไทย เรียกชื่อเล่นว่าหมู     จุลโคยาม่าได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการบริษัท

 

             การส่งเสริมการปลูกกล้วยหอมทองปลอดสารพิษ เพื่อส่งออกไปยังสหกรณ์ผู้บริโภคที่ญี่ปุ่น เริ่มต้นขึ้นที่สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด จังหวัดเพชรบุรี  โดยมีสหกรณ์ผู้บริโภคโตโต้ที่โตเกียว เป็นผู้รับซื้อ   การจัดการด้านการผลิต และการจัดกระบวนการบรรจุกล่อง  ได้มีการพัฒนาจนกระทั่งการส่งออกกล้วยหอมทอง  ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ  และในที่สุดสหกรณ์ท่ายางสามารถใช้ศักยภาพ ดำเนินการส่งออกได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ประสานงาน       ซึ่งถือว่าเป็นสหกรณ์ระดับอำเภอแห่งแรก  ที่ส่งออกกล้วยหอมทองไปสู่ประเทศญี่ปุ่นประสพผลสำเร็จก็ว่าได้      ทั้งคุณยามา โมโต้ และคุณจุล โคยาม่าได้รับความรู้และประสบการณ์เรื่องกล้วยหอมทองในครั้งนั้นอย่างมากมาย       ความคิดของยามาโมโต้ต้องการที่จะหาพื้นที่ใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะต่อการปลูกกล้วย และสามารถขยายพื้นที่การปลูก ให้กว้างขวาง จะอย่างไรก็แล้วแต่  ในความรู้ลึกลึกๆ   กล้วยหอมทองที่จะเกิดขึ้นเปรียบเสมือนการสร้างเด็กทารกขึ้นมาสักคนหนึ่ง แล้วช่วยกันสร้างสรรปั้นแต่งให้ทารกนั้นเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีคุณภาพ เป็นที่รักที่หวงแหนของบิดามารดา เป็นที่รักใคร่ เป็นที่พึงปราถนาของบุคคลทั่วไป อยากจะได้ไกล้ชิด     ครอบครัวที่จะสร้างใหม่  ต้องเป็นครอบครัว แห่งความรักและความอบอุ่น ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต้องทำความรู้จักกันให้ดี ในทุกๆด้าน ก่อนที่จะมีการแต่งงานกัน เมื่อมีแต่งงานกันแล้ว คู่ผัวตัวเมียต้องร่วมกันวางแผนครอบครัวไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะการมีบุตรด้วยกัน    การที่จะมีบุตรด้วยกันต้องถือเอาความพร้อม ของทั้งสองฝ่าย    เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ก็ช่วยกันทะนุถนอมบุตรในครรภ์อย่างเข้าใจต่อกันจนกว่าบุตรจะคลอดออกมา เมื่อบุตรคลอดออกมาแล้ว ก็ร่วมกันเลี้ยงดูอย่างเข้าอกเข้าใจ  จนกระทั่งบุตรเติบโตลืมตาอ้าปากได้  กลายเป็นคนดีเป็นที่รู้จักของสังคม และพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย  ก็ช่วยกันทะนุถนอม ให้บุตรสุดที่รัก ประพฤติตนเป็นต้นแบบที่ดี ของผู้อื่นต่อไป และสุดท้ายก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมแห่งความสุขที่พึงปราถนา       การก่อกำเนิดกล้วยหอมทอง จะต้องสร้างตำนานรักของคนสองฝ่ายคือผู้ผลิตกับผู้บริโภค      และนั่นคือความท้าทายที่เกิดขึ้นในความรู้สึกของยามาโมโต้         จากการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ซึ่งแน่นอนว่าในประเทศไทย สามารถปลูกกล้วยหอมทองได้ หลายแห่ง      แต่การที่จะเลือกพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด  เข้าไปขายความคิดแล้วทำได้สำเร็จง่ายๆนั้น ผู้ผ่านประสพการณ์อย่างยามาโมโต้ย่อมรู้อยู่แก่ใจ  เพราะหากเกิดความผิดพลาด จะทำให้เสียทั้งเวลา  และงบประมาณโดยใช่เหตุ    หลังจากใช้เวลาขบคิดกันพอสมควร   บัณทิตหนุ่ม จุลโคยาม่า  จากการที่เข้ามาศึกษาอยู่ในเมืองไทย   พูดภาษาไทยเก่ง และรู้จักคนไทยเป็นอย่างดี และที่สำคัญคือ เขาพบรักกับสาวไทย  และแฟนสาวของเขาทำงานด้านสังคมสงเคราะห์  เกี่ยวพันกับมูลนิธิดวงประธีป  หลังจากที่คุณจุลได้พูดคุยขอความคิดเห็น    ก็ได้รับการแนะนำจากแฟนสาวว่า  น่าจะลงไปดูที่อำเภอละแม  เพราะมูลนิธิดวงประทีป ได้ดำเนินงานโครงการ ณิวัฒนาสู่ชีวิตใหม่   และสถานที่ตั้งโครงการ อยู่ที่บ้านทับใหม่  หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งคาวัด อำเภอละแม จังหวัดชุมพร   คุณยามาโมโต้ ให้ความสนใจทันที       

เพียงไม่กี่วัน  ก็ได้ชักชวนโคยาม่าเดินทางสู่ละแม ข้อมูลอันดับแรกคือลักษณะพื้นที่ ลักษณะประชากรและการประกอบอาชีพ  ผู้ผ่านงานพัฒนาด้านสังคมและชุมชน ย่อมรู้จัก ว่าข้อมูลควรจะอยู่ที่ใด    

             ที่บ้านของ ครูไพบูลย์ ขวัญราช ครูโรงเรียนสหกรณ์พัฒนา ซึ่งครูไพบูลย์รับหน้าที่เป็นเลขานุการสภาตำบลอีกตำแหน่งหนึ่ง 

ได้ต้อนรับการเข้ามาของชาวญี่ปุ่น       คุณ จุลทำหน้าที่เป็นล่าม ซักถามแลกเปลี่ยนกันจนเป็นที่พอใจ  ยามาโมโต้เน้นให้ฟังถึงเหตุผลที่เข้ามาในครั้งนั้นว่าเข้ามาเพื่อส่งเสริมให้ปลูกกล้วยหอมทองส่งไปขายยังประเทศญี่ปุ่น  ให้ช่วยนำเสนอต่อสภาผู้นำชุมชนด้วย แล้วจะมารับฟังคำตอบในวันหลัง   อีกไม่กี่วันต่อมา ครูไพบูลย์ได้นำเสนอแนวคิดนี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาตำบล ครูไพบูลย์เล่าว่าที่ประชุมได้มีการพูดคุยกันหลากหลายความคิด  สรุปแล้วไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร   ครูไพบูลย์ยังได้นำความคิดไปเสนอที่ประชุมครูในโรงเรียน ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก               อีกด้านหนึ่งคุณยามาโมโต้หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับฟังจากครูไพบูลย์   ก็ตัดสินใจวางแผนการทำงานทันที จะให้คุณจุลลงไปสืบค้นข้อมูล   ก็คงไม่ได้แน่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคนที่มีความสามารถที่จะทำหน้าที่นี้     การสร้างองค์กร ผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นมานาน    ประสพการณ์สอนให้รู้ว่า  ผู้ที่จะทำหน้าที่ในลักษณะนี้ได้ดี  ต้องเป็นคนที่มีใจรักการพัฒนาชุมชน  เป็นชีวิตจิตใจ  

               สองสามวันต่อมา เด็กหนุ่มอิสาน นามว่า  เสน่ห์ โสดาวิจิตร  เดินตามหลังโคยาม่า เข้าพบยามาโมโต้   ด้วยใบเบิกทาง บัญทิตเกียรตินิยมใหม่สดๆ  ประกอบกับเป็นคนบ้านเดียวกับคนรักของจุล โคยาม่า และเป็นเพื่อนรุ่นน้อง  ที่รู้จัก กับจุล โคยาม่า เป็นอย่างดี  จนรู้จิตใจกัน   ด้วยเหตุผลดังกล่าว เสน่ห์ โสดาวิจิตร จึงได้รับการต้อนรับเข้าร่วมงานกับบริษัทแพนแปซิฟิค และได้รับการแต่ง ตั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาคุณภาพสินค้าการเกษตร ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้จัดการคือคุณจุล โคยาม่า     

 

                  กระเป๋าเดินทางหนึ่งใบ  พร้อมสัมภาระที่จำเป็น เสน่ห์ ได้เดินทาง ถึงละแม และเข้าสู่สำนักงานโครงการ ณิวัฒนาสู่ชีวิตใหม่  เมื่อแนะนำตัวแก่อาจารย์สมศักดิ์ เอี่ยมสะอาด อาจารย์ใหญ่ โรงเรียนประชาสงวน ผู้ทำหน้าที่ดูแลมูลนิธิวัฒนาอีกตำแหน่ง  ในขณะนั้น  เมื่อได้รับทราบเหตุผล การเดินทางเข้ามาสู่ละแม จากปากของคุณเสน่ห์  ด้วยความมีน้ำใจ อาจารย์สมศักดิ์ เอี่ยมสะอาด จึงได้แนะนำให้รู้จักกับคณะกรรมการสภาตำบล และแกนนำชุมชน  โดยเฉพาะครูไพบูลย์ ขวัญราช  ด้วยความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายและอัทธยาศัยไมตรี ที่ได้รับการหล่อหลอมให้เป็นนักพัฒนาชุมชน ทำให้เสน่ห์รู้จักชาวบ้าน และเข้าถึง ชุมชนได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลเรื่องความสนใจซื้อกล้วยของคนญี่ปุ่น กับการปลูกกล้วยหอมทองถูกนำเสนอสู่ผู้นำชุมชน และสภาตำบลทุ่งคาวัด ซึ่งมีกำนันอ้วน ดำปาน เป็นประธาน และมีกรรมการหลายท่าน โดยเฉพาะ โกศล โกมินทร์ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ อย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานกลุ่มในภายหลัง

                   ข้อมูลต่างๆถูกบันทึกลงในสมุดเล็กๆในกระเป๋าของเสน่ห์  หลังจากเรียบเรียง เรียบร้อย เป็นตัวตน  แล้วก็ส่งไปยังจุลโคยาม่า เมื่อโคยาม่าตรวจสอบเสร็จเรียบร้อย ก็แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นส่งให้ยามาโมโต้รับทราบ  เมื่อได้ข้อมูลจนเป็นที่พอใจ  ยามาโมโต้จึงได้ประสานไปยังตัวแทนผู้บริโภคที่ประเทศญี่ปุ่น นัดวันเวลามาพบกันที่เมืองไทย เพื่อเริ่มต้นกระบวนการส่งเสริมให้มีการปลูกกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก                   

 

      กลางปี พ.ศ.2536   ที่ศูนย์หมู่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งคาวัด  ประมาณ 10 โมงเช้า หากใครผ่านไป ก็จะเห็นการประชุมที่พิเศษไปกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา  เพราะปกติจะมีเพียงประธานสภาตำบล และคณะ   แต่ครั้งนั้น มี ชาวญี่ปุ่น 3-4 คน นั่ง เรียงกันไกล้ๆประธาน

 ผู้เขียนซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลไชยา ได้ขับรถมอร์เตอร์ไซด์ไปดูสวนและได้เข้าไปร่วมรับฟังการประชุมด้วยโดยที่มิได้มีใครนัดหมาย  วันนั้นจึงถือได้ว่าเป็นวันเริ่มต้นปฏิบัติการเรียนรู้เรื่อง

การตลาดกล้วยหอมทองละแม เพื่อการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น   

 

         การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 1

การนำเสนอข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจต่อที่ประชุม  ประกอบด้วย 2 ส่วน มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

1. องค์กรผู้บริโภค   เล่าเรื่อง  -การเกิดสหกรณ์หรือกลุ่มผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น กิจกรรมต่างๆของสหกรณ์

                                  ในการส่งเสริมการบริโภคให้แก่สมาชิก

                                 - ความต้องการและเหตุผลที่ต้องการบริโภคกล้วยหอมทอง และความต้องการผลผลิตปลอด

                                    สารพิษ

2. บริษัทผู้ประสานงาน  เล่าเรื่องกล้วยหอมทองที่ได้ศึกษามา ทั้ง แหล่งกล้วย พันธ์กล้วย และสรุปสาระสำคัญจาก

                              ข้อมูลที่ได้ศึกษาล่วงหน้า เกียวกับพื้นที่  และความเป็นไปได้ในการปลูกกล้วยหอมทอง ที่

                               ละแม  และ ทบทวนการส่งออกกล้วยหอมทองไปประเทศญี่ปุ่นของสหกรณ์ท่ายาง เพชรบุรี

 3. องค์กรชุมชน  - แนะนำกรรมการ แนะนำผู้เข้าร่วมประชุม พูดคุยกันถึงเรื่องกล้วยหอมทองในพื้นที่อำเภอละแมจากประสบการณ์ของแต่ละคน    สรุป ได้ว่า  ทุกคนรู้จักกล้วยหอมทอง  เคยนำมาปลูก แต่มีกล้วยมากมายหลายหลากพันธ์   การใช้ประโยชน์ ในการบริโภค และปลูก เพื่อจำหน่าย จะเป็นกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ และกล้วยเล็บมือ มากกว่า 

                     สุดท้ายตามประสาที่ประชุมทั่วไป คือเมื่อพูดถึงกิจกรรมใดก็ต้องพูดถึงงบประมาณ จึงมีผู้ถามญี่ปุ่นว่า  เงินที่จะใช้ในการดำเนินงาน  ญี่ปุ่น จะให้เงินค่าอะไร เท่าใหร่ ในการทำกิจกรรมกลุ่ม  หลังจากได้รับคำถาม ยามาโมโต้ อึ้งอยู่พักหนึ่ง สีหน้าเริ่มแดง อาจจะเป็นความรู้สึกภายในของคนญี่ปุ่นที่ได้รับการปลูกฝังมาว่า จะทำอะไรต้องทำด้วยตัวเอง ช่วยตัวเอง และยืนอยู่บนขาของตัวเอง เมื่อได้รับฟังคำถามเช่นนั้น ก็ต้องครุ่นคิด  และในที่สุดก็ตัดบทออกมาว่า เงินไม่มี ไม่มีวัสดุอะไรให้ ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ  

                และการประชุมวันนั้นก็จบลงไปด้วยความไม่แน่ใจ  แต่จากการพูดคุยกับ โกศล โกมินทร์ ว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้กลุ่มเกิดขึ้น  เขาบอกว่า คำสุดท้ายที่ยามาโมโต้พูด ศักดิ์ศรีของความเป็นคนไทยถูกกระแทกอย่างรุนแรงจากชาวต่างชาติ   ทำให้เขากลับไปนอนขบคิด และแล้ว บุคคลที่มีความรู้สึกเช่นเดียวกับเขา  2 -3 คน   ได้พบปะพูดคุยกัน และสุดท้าย ก็ตัดสินใจแน่วแน่ว่าต้องทำ  การเสาะหาแนวร่วมจึงเริ่มขึ้น และแล้วการประชุมครั้งพิเศษ ก็เริ่มขึ้น  และเป็นการประชุมของกลุ่มผู้สนใจและตัดสินใจปลูก  เสน่ห์แจ้งไปให้ยามาโมโต้ทราบ เขาจึงเดินทาง  ลงมาร่วมประชุมอีกครั้งด้วยรอยยิ้ม สภาตำบลพิจารณาอนุมัติเงิน 10,000 บาท เป็นทุนในการไปศึกษาดูงานที่ท่ายางเพชรบุรี  เกษตรตำบลทุ่งคาวัด ขณะนั้น นามว่าสะเทื้อน แจ้งจุล และจรูญ คุณวุฒิ ก็ไม่รอช้าที่จะประสานงานจัดหางบประมาณสนับสนุนการดำเนินงาน และจากการประสานของเกษตรอำเภอละแม ก็ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท         สรุปในที่ประชุมครั้งแรก  มีมติ ตกลงจะร่วมปลูกกล้วยหอมทองเพื่อส่งออกไปขายยังประเทศญี่ปุ่น 

 

  เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการความรู้  ในวันแรก ประกอบด้วย

1. การเล่าเรื่อง     ความเป็นมาของสหกรณ์ผู้บริโภค ความต้องการกล้วย และทำใมจึงต้องบริโภคกล้วยปลอด

หมายเลขบันทึก: 288959เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2009 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • นี่คือเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อถูกนำมาจัดการความรู้จะเกิดประโยชน์เป็นกรณีศึกษาที่ดีให้กับกลุ่มเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องอีกมาก
  • ผมอ่านเนื้อหาตอนแรกทั้งหมดโดยละเอียดและวิเคราะห์ออกมาเป็น Mind Map แปลงเป็นไฟล์ PDF อยู่ที่นี่ครับ
    http://gotoknow.org/file/aisune/LamaeBanana.pdf
  • ขอให้พี่โอภาสสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้ ผมจะช่วย Edit และนำไปเผยแพร่ต่อครับ

 

 

สวัสดีครับ

  • ผมเข้ามาติดตามอ่านบทความ ที่พี่โอภาสเข้ามาปรับปรุงใหม่
  • ขอให้เขียน & แก้ไขให้สมบูรณ์ อย่างต่อเนื่องนะครับ ผมจะเริ่มมา Capture เอาไป Edit และเรียบเรียงใหม่ หลังจากเราปิดตลาดนัดความรู้วันที่ 27 ส.ค. 52
  • ประมาณว่า 2 สัปดาห์แรกของเดือน ก.ย.52 ผมจะเร่งปิดต้นฉบับหนังสือ KM : โรงเรียนนักจัดการความรู้ชุมพร 2552
  • ดังนั้น บทความ KM เรื่องกล้วยหอมทองละแม ควรจะดำเนินเรื่องไปจนจบในวาระนี้ ไม่ควรเกินวันที่ 5 ก.ย. 52 นะครับ

     ขอบคุณครับ
อ.ไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท