เวชสารสนเทศ: ความสับสนของชื่อสาขา


คราวที่แล้วเล่าถึงที่มาและพัฒนาการของสาขาเวชสารสนเทศไปแล้ว จริงๆ ตั้งใจไว้ว่าคราวนี้จะอธิบายถึงสาขานี้อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน แต่ก่อนจะอธิบายความหมายของสาขานี้ ขอเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำศัพท์ที่ใช้เรียกชื่อสาขากันก่อนดีกว่าครับ ผมได้เล่าไปบางส่วนแล้วในคราวที่แล้ว แต่เกรงว่าอาจจะยังสับสนกันอยู่บ้าง เพราะผมเขียนตามความเข้าใจของตัวเองโดยไม่ได้ค้นคว้าล่วงหน้า แล้วก็ไม่ได้พยายามเรียบเรียงให้เข้าใจง่ายนัก คราวนี้ผมกางตำรามาอธิบายเลย คงจะเข้าใจได้ง่ายขึ้นบ้าง

Edward H. Shortliffe ซึ่งถือเป็นปรมาจารย์ท่านหนึ่งในสาขาวิชาเวชสารสนเทศ ร่วมกับ Marsden S. Blois [1] ได้บรรยายถึงที่มาของสาขาเวชสารสนเทศ จาก medical computer science หรือ medical computing และ information science จนกระทั่งพัฒนามาถึงสาขาเวชสารสนเทศอย่างที่เรารู้จักกัน รวมทั้งได้บรรยายพัฒนาการของคำที่ใช้เรียกชื่อสาขา จาก medical information science (ซึ่งเป็นคำที่เคยใช้กันในสหรัฐอเมริกา ก่อนทศวรรษ 1990) ซึ่งในภายหลังก็ได้หันมาใช้คำว่า medical informatics ตามทางยุโรปซึ่งใช้คำนี้มาก่อนแล้ว เพราะคำว่า medical information science ทำให้สับสนกับสาขาบรรณารักษศาสตร์ทางการแพทย์ (medical library science) ในขณะเดียวกันก็มีพัฒนาการของสาขาชีวสารสนเทศ (bioinformatics) ซึ่งว่าด้วยการบริหารจัดการข้อมูลทางชีววิทยา (เช่น เอาคอมพิวเตอร์มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลยีนและพันธุกรรม รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ทางชีววิทยา เช่น โครงสร้างโปรตีน เป็นต้น) ซึ่งบางคนก็ถือว่าbioinformatics เป็นสาขาพี่สาขาน้องของ medical informatics ในขณะที่บางคนก็มองว่า bioinformatics ถือเป็นสาขาย่อยอันหนึ่งของสาขาใหญ่ที่เรียกว่า medical informatics

อย่างไรก็ดี คำว่า medical informatics ซึ่งตัวคำศัพท์ทำให้เข้าใจว่าเน้นที่การแพทย์ จึงทำให้เกิดความสับสนว่ารวมถึงสาขา bioinformatics ด้วยหรือไม่ เพื่อป้องกันความสับสน ผู้รู้ในวงการจึงเสนอให้ใช้คำว่า biomedical informatics (ชีวเวชสารสนเทศ) แทน เพื่อให้ชัดเจนว่ารวมทั้ง bio และ medical ในขณะที่บางคนก็ใช้คำอื่น เช่น health informatics หรือ health care informatics (สารสนเทศทางสุขภาพ หรือสารสนเทศทางการรักษาพยาบาล) เนื่องจากรู้สึกว่าคำว่า medical จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเน้นเฉพาะงานทางเวชกรรม (คือที่เกี่ยวข้องกับแพทย์) แต่ไม่รวมวิชาชีพอื่นๆ ทางการแพทย์ เช่น พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกรรม สาธารณสุขศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ เป็นต้น

แต่คำว่า health informatics ก็ไม่ได้แก้ปัญหาในเรื่องชื่อสาขาได้ทุกข้อ เพราะคำว่า health แม้จะไม่ได้แบ่งแยกบุคลากรทางการแพทย์จากหลากหลายสาขา แต่ก็ทำให้เรามองเฉพาะการใช้ informatics เพื่องานทางสุขภาพและสาธารณสุข ในขณะที่งานทางชีววิทยาที่เกี่ยวข้อง (คืองานของสาขา bioinformatics) อาจไม่รวมอยู่ในความหมายของคำว่า health อย่างที่เราเข้าใจกัน

เนื่องจากความสับสนในการเรียกชื่อสาขานี้ ในปัจจุบัน จึงยังไม่มีข้อสรุปว่า คำว่า biomedical informatics และคำว่า health informatics คำใดจะได้รับการยอมรับมากกว่ากัน สมาคมเวชสารสนเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (American Medical Informatics Association - AMIA) ในปัจจุบันจึงใช้คำว่า biomedical and health informatics (เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติกับคำใดคำหนึ่ง) แทน [2] แต่ Edward Shortliffe เสนอให้ใช้คำว่า biomedical informatics เท่านั้น [1] ซึ่งเขาเชื่อว่าน่าจะรวมถึงสาขาย่อยที่เกี่ยวข้องได้ครบถ้วนแล้ว

ในเมืองไทยเรา ใช้คำว่า เวชสารสนเทศเป็นหลัก ตรงกับรากศัพท์ว่า medical informatics (ซึ่งเป็นคำที่ผู้รู้ในต่างประเทศพยายามหลีกเลี่ยงเพราะสร้างความสับสน) หากจะใช้ให้ตรงกับชื่อสาขาภาษาอังกฤษที่เป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน อาจจะต้องใช้ว่า ชีวเวชสารสนเทศ (biomedical informatics), สารสนเทศทางสุขภาพ (health informatics) หรือ สารสนเทศทางชีวการแพทย์และสุขภาพ (biomedical and health informatics) ซึ่งทั้งสามคำเป็นคำที่พวกเรายังไม่คุ้นเคย และบางคำก็ค่อนข้างเยิ่นเย้อ อาจจะไม่เหมาะสำหรับการเรียกชื่อหน่วยงานหรือชื่อสาขา ประกอบกับในปัจจุบันพวกเราคุ้นเคยกับคำว่า เวชสารสนเทศ อยู่แล้ว ในความเห็นส่วนตัว ผมจึงมองว่าเราน่าจะยังคงใช้คำว่า เวชสารสนเทศ อยู่ (เพราะสาขาของเราในเมืองไทยยังขาดความสนใจอีกมาก หากจะเปลี่ยนชื่อสาขาให้เป็นคำที่ไม่คุ้นเคย ก็จะทำให้การสร้างความเข้าใจของผู้อื่นนอกสาขายากขึ้น) แต่หากเราจะแปลคำว่า เวชสารสนเทศ (ในบริบทของการเป็นชื่อสาขาวิชา) เป็นภาษาอังกฤษ ผมเสนอให้เราหลีกเลี่ยงคำว่า medical informatics (ซึ่งเป็นคำที่สร้างความสับสน 2 กรณี คือ ระหว่างงานทางคลินิกกับงานทางชีววิทยา และระหว่างงานทางเวชกรรมกับงานทางวิชาชีพอื่นๆ ทางการแพทย์) และใช้คำว่า biomedical informatics หรือ biomedical and health informatics แทนครับ

สำหรับการใช้คำว่า medical informatics ในบริบทของงานทางคลินิกเท่านั้น (ไม่รวมงานทางชีววิทยา หรืองานทางสาธารณสุขที่ไม่ใช่งานทางคลินิก กล่าวคือ ในความหมายที่ไม่ใช่สาขาหลัก biomedical and health informatics โดยรวม แต่เป็นเพียง subset ที่เกี่ยวข้องกับ clinical settings เท่านั้น) ในต่างประเทศนิยมใช้คำว่า clinical informatics แทน [3] ซึ่งคำภาษาไทยผมเสนอให้เราใช้คำว่า เวชสารสนเทศคลินิก ซึ่งก็สอดคล้องกับคำว่า clinical informatics และป้องกันความสับสนกับการเรียกชื่อสาขาหลัก (เวชสารสนเทศ) ได้เช่นเดียวกันครับ

เมื่อเสนอหลักการและเหตุผลในการเรียกชื่อสาขานี้ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษแล้ว ในคราวต่อไปผมจะเล่าให้ฟังว่าสาขาวิชาเวชสารสนเทศ (biomedical and health informatics) เกี่ยวข้องกับงานด้านใดบ้าง และมีสาขาย่อยอะไรบ้าง อย่างที่เคยสัญญาไว้ครับ

 

References

1. Shortliffe EH, Blois MS. The computer meets medicine and biology: emergence of a discipline. In: Shortliffe EH, editor. Biomedical informatics: computer applications in health care and biomedicine. 3rd Ed. New York: Springer Science+Business Media; c2006. p. 3-45.

2. http://www.amia.org/files/shared/What_is_Informatics__Fact_Sheet_03_24_09_0.pdf

3. Hersh W. A stimulus to define informatics and health information technology. BMC Med Inform Decis Mak. 2009 May 15;9:24.

หมายเลขบันทึก: 288895เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2009 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมากเลยครับ ไม่ค่อยมีคนเรียนมาเขียนบ่อยๆๆนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท