วิทยุชุมชน


สถานีวิทยุชุมชนจำนวนมากก่อให้เกิดการรบกวนโดยไม่ตั้งใจ

จากที่ผมได้เคยพูดถึงวิทยุชุมชนในบันทึกสารบัญ http://gotoknow.org/archive/2006/05/09/00/06/06/e27605 ของผมเอง

และได้มีโอกาส ร่วมแสดงความเห็นในบันทึก เรื่องวิทยุชุมชนhttp://gotoknow.org/archive/2006/01/14/17/38/28/e12242 ของคุณหมอพิเชฐ

เลยขอนำมาเขียนในที่นี้อีกครั้ง เพราะจากประสบการณ์พบว่าสถานีวิทยุชุมชนจำนวนมากก่อให้เกิดการรบกวนโดยไม่ตั้งใจ ส่วนหนึ่งเกิดจาก

  • เจ้าของสถานีไม่มีความรู้ทางเทคนิคเพียงพอ รวมถึงไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ทางเทคนิค
  • คนขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องก็ขายอย่างเดียว ไม่ได้ให้คำแนะนำที่สำคัญและจำเป็น
  • คนขายจำนวนหนึ่งก็ไม่มีความรู้ทางด้านนี้เพียงพอ
  • การลดต้นทุนในการก่อตั้งสถานี เช่น ไม่มี Filter ทางด้าน Output ของเครื่องส่ง ไม่มีการทำระบบสายดิน(ground) ที่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรม รวมถึงการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้มาตรฐาน
  • ทางสถานีการต้องการพื้นที่ครอบคลุมมากๆ เพื่อผลทางการขายโฆษณา จึงใช้กำลังส่งสูงเกินกำหนด
  • ประเด็นสำคัญที่สุดคือ เครื่องส่งวิทยุและเครื่องขยายกำลังส่งที่ใช้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน ทางวิศวกรรม

ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถปฏิบัติงาน ตรวจสอบสถานีได้อย่างเต็มที่ ด้วยเกรงว่าจะเกิดปัญหามวลชน เพราะเมื่อเข้าทำการตรวจสอบหรือทำการจับกุมผู้กระทำผิด ก็จะมีกระบวนการกดดันต่างๆ นานา เช่น มี mob มาปิดล้อมบ้าง อ้างรัฐธรรมนูญมาตราโน้นมาตรานี้บ้าง ให้ผู้มีอำนาจมาขอร้องบ้างข่มขู่บ้าง อันสร้างความลำบากใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเป็นอันมาก

ในขณะเดียวกันสัญญาณที่ส่งออกมาจากสถานีวิทยุที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ ก็ก่อให้เกิดการรบกวนไปทั่วทั้งหน้าปัดวิทยุแทบทุกจังหวัด ส่งผลให้เกิดความเบื่อหน่ายในการฟังวิทยุแก่ประชาชนโดยทั่วไป

ดังนั้นคำแนะนำคือ

  1. ใช้กำลังส่งต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้
  2. ให้เจ้าของสถานีปรึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มีการสอนทางด้านโทรคมนาคมในบริเวณใกล้เคียง เพื่อนำเครื่องมือวัดมาตรวจสอบสถานีหลังติดตั้งเสร็จก่อนทำการออกอากาศอย่างเป็นทางการ เช่น Spectrum Analyzer, VSWR meter, Field Strength meter และเครื่องมืออื่นๆ ที่จำเป็น
  3. ปรึกษาสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์

วิทยุชมชนควรมีพื้นที่ครอบคลุมภายในชุมชนที่สถานีวิทยุตั้งอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ครอบคลุมทั้ง ตำบล อำเภอหรือจังหวัด ชุมชนควรจะหมายถึงหมู่บ้านเพียงหมู่บ้านเดียว ดังนั้นรัศมีในการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนจึงไม่ควรเกิน 1 กิโลเมตร ไม่ใช่ 30 กิโลเมตร

เนื้อหาของรายการของสถานีวิทยุชุมชน ควรจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในชุมชนนั้นๆ โดยแท้จริง (People Oriented) เช่น

  • เรื่องปากเรื่องท้อง ถ้าชุมชนนั้นมีการทำนากันมากก็พูดถึงศัตรูของข้าวและการใช้ตัวเบียนตัวห้ำมากำจัดศัตรูข้าว ถ้าในชุมชนเลี้ยงหมูกันมากก็พูดถึงการนำสิ่งปฏิกูลมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อลดกลิ่นรบกวนและเป็นแหล่งพลังงาน
  • พูดถึงเหตุการณ์ในชุมชน เช่น ลูกชายบ้านนั้นจะบวชวันนั้นวันนี้ ลูกสาวบ้านนี้จะออกเรือนวันโน้น เผื่อใครในชุมชนพอจะมีเวลาว่างจะได้ช่วยกันมาทำกับข้าวเลี้ยงแขก ใครมีมะพร้าวเอามะพร้าวมา ใครมีกล้วยเอากล้วยมา ใครไม่มีอะไรก็มาแต่ตัวมาช่วยออกแรง ถ้าทำกับข้าวไม่เป็นก็ช่วยล้างจานชามล้างหม้อล้างไห
  • เรื่องสุขภาพ เช่น ช่วงนี้หน้าฝนให้ช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุง ช่วงนี้น้ำท่วมให้ระวังโรคฉี่หนู ควรจะปฏิบัติตัวกันอย่างไรให้ปลอดภัยจากโรคที่มาตามฤดูกาล
  • เรื่องอะไรก็ได้ที่ชาวบ้านในชุมชนฟังแล้วได้ประโยชน์ ส่วนเวลาที่เหลือก็ค่อยเปิดเพลง คือให้เนื้อหาสาระเป็นอาหารหลัก และเพลงเป็นของว่างหรือขนมหวาน ซึ่งในปัจจุบันดูเหมือนเพลงจะเป็นอาหารหลัก เนื้อหาที่เป็นประโยชน์แทบไม่มีเลย ชื่อบอกว่าเป็นวิทยุชุมชนแต่คนในชุมชนได้อะไรบ้าง นอกจากสัญญาณรบกวน
  • เมื่อมาเทียบกับชีวิตคนเรา ถ้ากินแต่ของว่างหรือขนมหวานมากๆ โดยเฉพาะขนมกรอบถุง ละ 5 บาท 10 บาท 20 บาท ก็จะป่วยได้ง่าย ฟันผุเอย โรคอ้วนเอย เบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือด ฯลฯ แล้วตามมาด้วย อัมพฤกอัมพาต เจ้าชายเจ้าหญิงนิทรา ทำเอาญาติๆ เดือดร้อนกันอีกไม่รู้จบ กรณีวิทยุ(และทีวี)ก็เช่นกัน ถ้าคนมัวแต่ฟังเพลง 24 ชั่วโมง ดูละครแม่ผัวลูกสะใภ้เอย ละครที่มีนางเอกกับตัวอิจฉามาด่ากันแว๊ดๆๆๆ ละครพ่อแง่แม่งอนเอย โดยไม่รับเอาเรื่องราวที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะรายการธรรมะ (รวมถึงรายการสาระของศาสนๆ อื่นๆ ด้วย) เอาไว้บ้าง ต่อไปสังคมคงล่มสลาย

ขอยกความเห็นที่ได้เคยเขียนไว้ในบันทึกของคุณหมอพิเชฐ มารวมไว้ด้วยกัน ณ ที่นี้เพื่อความสมบูรณ์ ของ Topic วิทยุชุมชน

  • ทราบ (จากหนังสือพิมพ์) ว่าที่อินเดียมีวิทยุชุมชนแห่งหนึ่งลงทุนไม่ถึงพันบาท (อาจไม่ถึง 500 บาทด้วยซ้ำ) นับเป็นวิทยุชุมชนอย่างแท้จริง
  • บางคนสนใจจะทำวิทยุเพื่อชุมชน แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณ เพราะมองสถานีวิทยุเป็นอะไรที่อลังการมีเครื่องไม้เครื่องมือเยอะแยะ ถ้าหากเราจะเริ่มแบบอินเดียคือสถานีวิทยุแบบพอเพียงแล้วผมคิดว่าแค่หมื่น หรืออย่างมากสองหมื่นก็พอครับ
  • กฎหมายมี Limit เรื่องกำลังส่งและความสูงของเสาอากาศ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้อง maximize สถานีจนถึงสุดขีด limit ก็ได้นี่ครับ เหมือนเราซื้อรถมาที่หน้าปัดบอกว่าสามารถเร่งได้ถึง 240 กม/ชม เราก็ไม่จำเป็นต้องเหยียบจนสุดทุกครั้งที่ขับ ใช้ความเร็วพอประมาณก็จะถึงที่หมายโดยปลอดภัย
  • เราดูพื้นที่ Coverage Area ที่ต้องการว่าจะเอาแค่ไหน แล้วก็มาออกแบบระบบ (กำลังส่ง+เสาอากาศ+Location)
  • เอาเท่าที่จำเป็นครับ เช่นรัศมีรอบๆ สัก 1 หรือ 2 กม.ก็พอ ถึงจะเรียกว่าวิทยุชุมชน ไม่ใช่ว่าอยู่เชียงใหม่จะส่งมาให้ถึงหาดใหญ่เลยนี่ไม่ใช่วิทยุชุมชนแล้วครับ แถมคนอื่นๆ ก็ไม่มีโอกาสได้ใช้ความถี่กันพอดี ชุมชนควรจะหมายถึงหมายถึงหมู่บ้าน ไม่ใช่อำเภอหรือจังหวัด
  • โรงพยาบาลอยู่ที่สูงบางทีเสาอากาศก็อาจไม่จำเป็นต้องถึง 30 เมตรก็ได้ครับ
  • กำลังส่งก็อาจจะไม่จำเป็นต้อง ถึง 30 วัตต์ การใช้กำลังส่งต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ (QRP) เป็นการช่วยชาติประหยัดพลังงาน และช่วยชะลอ Global Warming ได้ครับ
  • หากเราเล่นกันจนถึงขีดสุดแล้ว (ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเลยขีดจำกัด) ก็จะเกิดการรบกวนกันวุ่นวาย ทุกวันนี้คุณพ่อผมจะฟังพระธรรมเทศนาทางวิทยุก็ฟังไม่ได้แล้ว เพราะมีการรบกวน(จากวิทยุที่อ้างว่าเป็นวิทยุชุมชน)มากมายเหลือเกิน
  • ลองจินตนาการว่าเราอยู่แฟลต แล้วทุกห้องในแฟลตของเราเปิดเพลงกันสุดโวลุ่มสิครับ ทางซ้ายเพลงฝรั่ง ทางขวาหมอลำ ข้างบน Jazz ข้างล่าง Hip Hop ในขณะที่เราอยากฟัง Moon Light Sonata ของ Beethoven วิทยุชุมชนก็เหมือนกันครับ เพียงแต่เวลาฟังต้องเปิดวิทยุ พอเปิดวิทยุปุ๊บเราจะพบการรบกวนอย่างที่ผมยกตัวอย่างข้างบน
  • คลื่นวิทยุเป็นทรัพยากรที่มีค่าและมีอยู่อย่างจำกัดครับ (เช่น 88 - 108 MHz.) เท่านั้น ถ้าเราใช้กำลังส่งสูงเกินไป ก็จะไปรบกวนสถานีอื่นๆ รวมถึงผู้ฟังที่ไม่อยากฟังเรา
  • การใช้กำลังส่งต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ (QRP) จะส่งเสริมการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ (Frequency) Re-Use ทำให้ใช้ทรัพยากรกันได้อย่างคุ้มค่าและได้ใช้กันถ้วนหน้าครับ
  • และอย่าลืมเรื่องความปลอดภัยนะครับ สายล่อฟ้าและสายดินควรทำให้ได้มาตรฐานทางวิศวกรรม รวมถึงเรื่องระบบ Ground ของเรื่องส่งและอุปกรณ์ประกอบ สามารถช่วยลดการรบกวนได้ครับ
  • ทุกท่านที่สนใจเรื่องวิทยุเชิญแลกเปลี่ยนกันได้ครับ
  • http://www.geocities.com/hs9xp/
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 28848เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2006 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอบคุณที่นำบทความมาให้อ่านค่ะ    มดน้อยเองก็เป็นดีเจคลื่นวิทยุชุมชน   เป็นคลื่นลูกทุ่ง 24 ชั่วโมง  เปิดแต่เพลงลูกทุ่ง    วัตถุประสงค์คือ  ต้องการอนุรักษ์ความเป็นไทยผ่านทางเพลงลูกทุ่ง  นอกจากนี้ก็ยังมีการนำหนังตะลุง  หรือ กลอนมโนห์รามาเปิดอยู่เหมือนกันค่ะ    รายการธรรมมะก็มีในช่วงเช้าด้วยค่ะ ตอนนี้ที่สถานีก็กำลังปรับปรุงหลายอย่าง ๆ   โดยเฉพาะเรื่องของสาระน่ารู้ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับคุณผู้ฟัง  ตอนน้ก็เพิ่มเข้าไปทุกช่วงรายการแล้ว

หวังว่าคงจะได้คำแนะนำดีอีกนะคะ  จะติดตามอ่านค่ะ

  • น่าสนใจมากทำได้จะเป็นประโยชน์แก่ชุมชน

ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านครับ

  • สถานีควรมีตารางออกอากาศ ที่แน่นอนครับ เพราะในมุมมองของคนฟัง เราไม่สามารถเฝ้าวิทยุได้ตลอด 24 ชั่วโมง เราอาจมีรายการที่เราชอบอยู่บ้างที่สถานีนี้เวลานี้ บางเวลาก็หมุนไปฟังสถานีโน้น ผู้ฟังจึงควรทราบว่าเวลาไหนมีอะไรให้ฟังบ้าง
  • ควรจะมีการสื่อสาร 2 ทางเพื่อรับฟัง Feedback จากผู้ฟัง เช่น ผู้ฟังอยากฟังอะไรบ้าง หรืออาจจะรายงานผลการรับฟังว่าวันนี้รับฟังไม่ชัดเลยเกิดจากอะไร
  • พูดถึงการรายงานผลการรับฟัง สถานีควรจะมีบัตรตอบรับการรายงานของผู้ฟังที่เรียกว่า QSL Card คล้ายๆ กับเป็นของที่ระลึกที่เขาอุตส่าห์รายงานเข้ามา และมีผู้ฟังกลุ่มหนึ่งที่สะสม QSL Card เป็นงานอดิเรก (เหมือนบางคนที่สะสมแสตมป์)
  • ไม่รู้ว่าสถานีวิทยุชุมชนบ้านเรามีสถานีไหนบ้างที่มีการจัดทำ QSL Card เป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งผมเดาเอาว่ายังไม่มีใครทำก่อนก็จะสามารถคุยได้ว่าเป็นคนทำคนแรก (ในกลุ่มวิทยุชุมชน) แม้กระทั่งวิทยุเพื่อการพานิชในบ้านเราเองก็ไม่ค่อยมี แต่สถานีวิทยุในต่างประเทศจะมี QSL Card สำหรับผู้ฟังที่รายงานผลการรับฟังมาให้กับทางสถานี
  • พูดถึงเรื่องการรบกวนอีกนิด วิธีลดการรบกวนอีกวิธีคือใช้สายอากาศแบบมีทิศทาง ซึ่งไม่ค่อยมีใครใช้กันในบ้านเรา ถ้าเรามีกลุ่ม (ชุมชน) ที่มีที่อยู่จำเพาะว่าอยู่ตรงไหน เราก็สามารถใช้สายอากาศแบบทิศทางหันไปทางกลุ่มผู้ฟังของเรา คล้ายๆ กับเวลาเราหาของในความมืด ถ้าเรารู้ว่าของอยู่ตรงไหนเราก็เอาไฟฉายส่องไปตรงนั้น (นึกออกไหมครับ) ถ้ามีคนอื่นๆ นอนอยู่ในห้องเดียวกัน แต่อยู่ห่างจากของที่เรากำลังหา คนที่นอนอยู่ก็จะได้ไม่แสบตา แต่ถ้าเราเปิดไฟกลางห้องคนอื่นๆ อาจแสบตาได้ ซึ่งนี่ถือเป็นการรบกวนอย่างหนึ่ง
  • สายอากาศแบบทิศทางนี้เห็นมีใช้กันในสถานีวิทยุคลื่นสั้น และสถานีถ่ายทอดย่านความถี่ไมโครเวฟ

ขอบคุณที่มาร่วมคุยกันครับ

รบกวนขอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ QSL CARD ได้ไหมค่ะ   อ่านแล้วสนใจมากเพราะคิดว่าน่าจะเป็นอีกทางนึงให้ที่สถานี ฯ ได้ติดตามผลการรับฟังจากผู้ฟัง   นอกเหนือไปจากที่ผู้ฟังโทรศัพท์มาแนะนำงานเพลง  เล่นเกมส์ ตอบคำถามชิงรางวัล

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ครับจะค้นมาให้ครับ

QSL Card เป็นของสะสม อย่างนึงของนักฟังวิทยุเลยครับ ผมเองเคยได้จากต่างประเทศมาบ้าง แต่พอน้ำท่วมก็เลยหายไปหมด

 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ QSL card ที่....

วิทยุชุมชนไม่ใช่วิทยุสมัครเล่นอย่ามั่ว

บ้าแล้ว  แนะนำให้ส่งแค่หมู่บ้านเดียว1กม. สงสัยไม่ใช่คนบ้านนอกแน่น นั่นมันไมค์ลอยแล้ว ใครมันจะบ้าไปนั่งจัดรายการ ใช้เสียงตามสายจะไม่ดีกว่าหรือท่าน

บันทึกที่เกี่ยวข้อง

วิทยุชุมชน
http://gotoknow.org/archive/2006/05/11/00/17/23/e27991

ดีใจครับที่คุณทำรายการเกี่ยวกับสุขภาพ  โดยส่วนใหญ่ครอบครัวผมอยู่บ้านตากครับผมทำงานวิทยุมี5ปีกับวิทยุหลักแล้วชุมชนอีก3ปี มีอะไรให้ช่วยบอกได้ครับช่วยเด็มที่เรื่องวิทยุครับ   041148285  ติดต่อได้ตลอดครับตอนนี้ผมอยู่กรุงเทพสามารถช่วยเรื่องต่างๆเกี่ยงกับงานของคุณได้    ไม่คิดค่าใช่จ่ายครับ  สำนึกรักบ้านเกิดครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท