ภิกษุใบลานเปล่า /


ปัญญาย่อมเกิด เพราะการประกอบแล

          ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระบรมศาสดาทรงประทับอยู่ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นกาสี นั้น  พระโปฐิละเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกอยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง  7 พระองค์ และเป็นผู้บอกธรรมแก่ภิกษุถึง 500 รูป

          พระบรมศาสดาทรงทราบความเป็นมาแต่หนหลังแห่งพระโปฐิละนั้นแล้ว  มีพระดำริว่า "ภิกษุนี้ ไม่มีความคิดว่า  'เราจักทำตนให้สลัดพ้นออกจากทุกข์  เราจะทำให้เธอเกิดความสังเวช

          ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระบรมศาสดาจึงมักตรัสกับพระโปฐิละ ในเวลาที่ท่านมาสู่สำนักของพระองค์ว่า "มาเถิด คุณใบลานเปล่า, นั่งเถิด คุณใบลานเปล่า, ไปเถิด คุณใบลานเปล่า,

          ครั้นในเวลาที่พระโปฐิละจะลุกไปจากสำนักของพระบรมศาสดา  พระองค์ก็ตรัสว่า "คุณใบลานเปล่า  ไปแล้ว"

          พระโปฐิละนั้น  ครุ่นคิดว่า "เราย่อมทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถา, บอกธรรมแก่ภิกษุ 500 รูป  ถึง 18 คณะใหญ่, การที่พระบรมศาสดายังตรัสเรียกเราเนืองๆ  ว่า 'คุณใบลานเปล่า พระศาสดาตรัสเรียกเราอย่างนี้ เพราะความไม่มีคุณวิเศษ  มีฌานเป็นต้นแน่แท้"

          ท่านจึงมีความสังเวชเกิดขึ้นแล้ว และคิดว่า" บัดนี้ เราจักเข้าไปสู่ป่าแล้วบำเพ็ญสมณธรรม"  จึงจัดแจงบาตรและจีวรด้วยตนเอง แล้วออกจากสำนักไปในเวลาใกล้รุ่ง  เหล่าภิกษุผู้เรียนธรรมก็พากันสาธยายธรรมอยู่ในสำนักนั้น  โดยไม่มีใครรู้ว่าบัดนี้อาจารย์ออกจากสำนักไปไกลถึงสองพันโยชน์แล้ว

          " พระโปฐิละ เข้าไปหาภิกษุ  30 รูป ผู้อยู่ในอาวาสราวป่าแห่งหนึ่ง ไหว้พระสังฆเถระแล้ว กล่าววิงวอนว่า  "ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของกระผมด้วยเถิด"

          พระสังฆเถระ  กล่าวว่า

          ผู้มีอายุ ท่านเป็นพระธรรมกถึก, สิ่งใดที่พวกเราพึงทราบได้ ก็เพราะอาศัยท่าน, เหตุไฉนท่านจึงพูดอย่างนี้ ?

          พระโปฐิละ ได้ยินคำตอบเช่นนั้นก็กล่าววิงวอนว่า

          ท่านผู้เจริญ  ขอท่านอย่ากล่าวเช่นนี้, ขอท่านจงเป็นที่พึ่งแก่กระผมด้วยเถิด"

          พระเถระเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนเป็นพระอรหันต์ขีณาสพทั้งสิ้น  ต้องการจะขจัดทิฏฐิมานะของพระโปฐิละ  จึงส่งท่านให้ไปยังสำนักของพระอนุเถระ  แม้พระอนุเถระก็กล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน  และก็ส่งไปยังสำนักของพระเถระที่มีพรรษากาลรองๆ ลงไป จนกระทั้งมาถึงสำนักของสามเณรอรหันต์ ผู้มีอายุ 7 ขวบและเป็นผู้ใหม่กว่าสามเณรทั้งหมด  ซึ่งกำลังนั่งเย็บผ้าอยู่ในที่พัก  ตอนกลางวันนั้น

          พระโปฐิละพนมมือเข้าไปหาสามเณรแล้วกล่าวว่า

          "ท่านสัตบุรุษ   ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของกระผมเถิด

          สามเณรอรหันต์อายุ  7 ขวบ  จึงตอบว่า

          ตายจริง ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรนั่น ท่านเป็นผู้สูงวัย  เป็นพหูสูต, เรื่องอะไรๆ พึงเป็นกิจอันผมควรรู้  ผมก็เรียนมาจากสำนักของท่าน

          พระโปฐิละ จึงกล่าววิงวอนว่า

          ท่านสัตบุรุษ  ท่านอย่าทำอย่างนี้  ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผมให้ได้

          สามเณรอรหันต์อายุ  7 ขวบ  จึงกล่าวว่า

          ท่านขอรับ  หากท่านจักเป็นผู้อดทนต่อโอวาทคำสั่งสอนได้  กระผมจักเป็นที่พึ่งให้แก่ท่าน

          พระโปฐิละ กล่าวด้วยความดีใจว่า

          ผมทำได้   ท่านสัตบุรุษ หากท่านกล่าวว่าให้ผมเข้ากองไฟ  ผมก็จักเข้ากองไฟทันที

          ต่อจากนั้น สามเณรจึงออกคำสั่งให้ท่านไปยังสระน้ำแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกล  กล่าวว่า

          "ท่านขอรับ  ท่านนุ่งห่มตามเดิมนั่นแหละ   แล้วจงลงไปสู่สระนี้"

          สามเณรทราบดีว่า  จีวรสองชั้นที่พระโปฐิละนุ่งห่มนั้นมีราคามาก แต่เพราะจะทดลองว่า " พระโปฐิละจะเป็นผู้อดทนต่อโอวาทได้หรือไม่"  จึงกล่าวเช่นนั้น

          พระโปฐิละได้ยินคำสั่งของสามเณรเช่นนั้น  ก็เดินลงไปตามโอวาทของสามเณรแต่โดยดี 

ลำดับนั้น  ในเวลาที่ชายจีวรของพระโปฐิละเปียก สามเณรจึงกล่าวให้หยุดยืนอยู่ในน้ำว่า  "มาเถิดท่านขอรับ"     จากนั้นกล่าวสอนพระโปฐิละด้วยถ้อยคำเพียงครั้งเดียวเท่านั้นว่า

          "ท่านผู้เจริญ ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ 6 ช่อง ในช่องเหล่านั้นมีเหี้ยคลานเข้าไปภายในโดยช่องๆ หนึ่ง  หากบุคคลประสงค์จะจับเหี้ยตัวนั้น  ก็ต้องอุดช่องทั้ง 5  แล้วทลายช่องที่ 6  เพื่อจับเอาเหี้ยตรงช่องที่ 6  ที่มันเข้าไปนี้เอง

           ในบรรดาทวารทั้งหก  ได้แก่  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ  ท่านจงปิดทวารทั้ง 5 แล้ว จึงตั้งกรรมฐานไว้ในทวารที่ 6 คือ ใจ"

          คำสอนนี้ของสามเณรอรหันต์  7 ขวบ   ได้ทำให้พระโปฐิละผู้เป็นพหูสูต เกิดความแจ่มแจ้งขึ้นมาทันที  ดุจการลุกโพลงขึ้นแห่งดวงประทีป ฉะนั้น

          พระโปฐิละนั้นกล่าวว่า " ท่านสัตบุรุษ  คำสอนของท่านมีประมาณเท่านี้พอสำหรับกระผมแล้ว"  จากนั้นก็ลงมือบำเพ็ญภาวนาปรารภสมณะธรรม ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งปัญญา

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ไกลจากที่นั้นถึง 120 โยชน์ ทอดพระเนตรดูพระโปฐิละแล้วดำริว่า

          "ภิกษุนั้นเป็นผู้มีปัญญา (กว้างขวาง) ดุจแผ่นดิน ด้วยประการใด การที่เธอตั้งตนไว้ด้วยประการนั้นจึงสมควร"

          จากนั้นพระพุทธองค์ทรงเปล่งพระรัศมีไป ประหนึ่งตรัสอยู่กับภิกษุนั้นต่อหน้าพระพักตร์ด้วยพระคาถานี้ว่า :-

 

โยคา เว ชายตี ภูริ อโยคา ภูริสงฺขโย

เอตํ เทฺวธา ปถํ ญตฺวา ภวาย วิภวาย จ

ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ.

" ปัญญาย่อมเกิด   เพราะการประกอบแล

 ความสิ้นไปแห่งปัญญา  เพราะการไม่ประกอบ

บัณฑิตรู้ทาง 2 แพร่ง  แห่งความเจริญ  และความเสื่อมนั้นแล้ว

พึงตั้งตนไว้โดยประการที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้."

          ในกาลจบพระธรรมเทศนา  พระโปฐิละเถระตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล..ฯ

 

          พระโปฐิละเถระ. พระสุตตันตปิฎก อรรถกถา  ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 4,  พระไตรปิฎกเล่มที่  43  ข้อที่  208  หน้าที่ 118 -122  (มมก.)

 

ขอคิด

          1.  การเล่าเรียนศึกษามามาก  ก็ยังไม่ทำให้สามารถขจัดอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไปได้  ต่อเมื่อใด  เมื่อลงมือบำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันเท่านั้น  จึงจะได้โอกาสแห่ง      การบรรลุธรรม

          2.  ผู้ที่จะเจริญก้าวหน้าในพระพุทธศาสนาได้  ต้องเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน  ไม่โอ้อวด  ไม่มีมารยา  ประพฤติตนให้เป็นคนที่ถูกตักเตือนได้  จึงจะมีโอกาสได้รับคำแนะนำ   สั่งสอนจากผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่า  และนั่นย่อมเป็นการประหยัดเวลาในการบรรลุธรรม

          3.  การฝึกอบรมตนเองเพื่อเป็นอาจารย์สอนผู้อื่น  เตือนสติผู้อื่น  ต้องใช้เวลามาก  และการเตรียมการมาก  แต่สิ่งที่ยากที่สุดกลับไม่ใช่การสอนคนอื่น  แต่คือ การสอนตัวเอง  เพราะบุคคลที่ดื้อด้านต่อการอบรมสั่งสอนมากที่สุดก็คือ  ตัวเอง  หากไม่ได้กัลยาณมิตรมาคอยแนะนำสั่งสอน  ย่อมยากจะมีกำลังใจสู้กับกิเลส

หมายเลขบันทึก: 288426เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2009 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ในบรรดาทวารทั้งหก ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ท่านจงปิดทวารทั้ง 5 แล้ว จึงตั้งกรรมฐานไว้ในทวารที่ 6 คือ ใจ

ดวงตาเห็นธรรม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท