YOGA ภาค 1


โยคะ (YOGA) หมายถึง การสร้างความสมดุลของร่างกาย-จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยรวมให้เป็นหนึ่งเดียว

       วันนี้จะมาชวนทุกคนออกกำลังกายกันค่ะ การออกกำลังกายนั้นมีให้เลือกหลากหลายวิธี  เลือกวิธีที่เหมาะกับเราก็จะมีประโยชน์มากที่สุดค่ะ  เนื่องจากทำงานที่ศูนย์มะเร็งอุดรธานี OPDรังสีรักษา ค่ะ เราจัดโครงการออกกำลังกายคลายความเครียดกันที่หน้าห้องตรวจระหว่างรอแพทย์ไปใส่แร่ค่ะ ใช้เวลาแค่ 30 - 40 นาทีเท่านั้นค่ะ แรกเริ่มเลยเราจัเลือกการรำไทเก๊ก ต่อมาเมื่อได้มีโอกาสฝึกโยคะจึงนำโยคะมาสอนผู้ป่วยและญาติด้วยค่ะ ก่อนอื่นมารู้จักโยคะกันก่อนดีมั้ยคะ 

 

 

กำเนิดโยคะ [ Origins of YOGA ]

โยคะ เกิดขึ้นที่อินเดียเมื่อประมาณ 4 - 5 พันปีที่ผ่านมา เดิมจะเป็นการฝึกเฉพาะโยคี และชนชั้นวรรณะพราหมณ์ เพื่อเอาชนะความเจ็บป่วย ต่อมาโยคะ ได้พัฒนาผ่านลัทธิฮินดู มายุคพุทธศาสนา ถึงยุคลัทธิเซนในประเทศจีน โดยแท้จริงแล้ว โยคะไม่ได้เป็นศาสตร์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็น ศาสตร์สากลที่ศาสนาต่าง ๆ สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติเพื่อบรรลุ เป้าหมายสูงสุดแห่งศาสนานั้น ๆ โยคะจึงเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะ หะฐะโยคะ (Hatha Yoga ) ซึ่งจัดว่าเป็น Modern Yoga ที่พัฒนามาจากการรวมแบบโยคะดั้งเดิม กับวิธี ปฏิบัติของพระพุทธศาสนา

 

ความหมายของโยคะ [ Meaning Of YOGA ]

โยคะ (YOGA) หมายถึง การสร้างความสมดุลของร่างกาย-จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยรวมให้เป็นหนึ่งเดียว หะฐะโยคะ (HATHA YOGA) เป็น 1 ในสาขาโยคะทั้งหมด หะฐะโยคะ จะใช้ศิลปการบริหาร ร่างกาย ภายใต้การควบคุมของจิตใจ เกิดความสมดุลของพลังด้านบวกและด้านลบ โยคะจึงช่วย บรรเทาและบำบัดโรคได้ หะฐะโยคะ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนเห็นความสำคัญของ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี

 

ประโยชน์ของโยคะ [ Benefits of YOGA ]

 

1.     เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ปรับระดับความดันเลือดให้เป็นปกติ บำบัดโรคที่เกี่ยวกับเลือดไม่ดี โรคภูมิแพ้ ลมหมักหมม ผิวพรรณที่ไม่ผ่องใส สมองไม่ปลอดโปร่ง มึนศีรษะง่าย

2.     ด้านกายภาพบำบัด
- กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเอ็น มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้การเดินคล่องขึ้น การทรงตัวดีขึ้น
- กระดูกสันหลังถูกปรับให้เข้าสภาพปกติ ป้องกันอาการปวดหลัง ปวดต้นคอ หรือ ปวดศีรษะ และปรับรูปร่างให้สมดุล กระดูกไม่งอ ไหล่ไม่เอียง
- ท่าบริหารโยคะบางท่าถูกดัดแปลงใช้กับคนชรา และคนพิการเพื่อสามารถฝึกบนเตียง หรือบนรถเข็นได้

3.     กระตุ้นสมองให้มีความจำดีขึ้น
- การผ่อนคลายลึก ๆ หลังการฝึก ทำให้เกิดคลื่นอัลฟา มีผลต่อการผ่อนคลายต่อสมอง
- คลายความเครียด แก้โรคนอนไม่หลับ

4.     นวดอวัยวะภายในให้แข็งแรงขึ้น เช่น หัวใจ มดลูก กระเพาะอาหาร     

    ตับ ไต เป็นต้น ทำให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น เลือดไปที่ไตล้างไตให้สะอาดขึ้น

    ระบบการหายใจจะโล่งขึ้น ทำให้การเผาผลาญ       แคลอรีในร่างกาย 

    เพิ่มขึ้น ได้พลังงานเสริมความแข็งแรง

5.     ใบหน้าดูอ่อนเยาว์
- ร่างกายมีสัดส่วนดีขึ้น สวยงามขึ้น
- ช่วยควบคุมน้ำหนักได้อย่างดี

6.     ด้านจิตบำบัด
- จิตสงบและมีสมาธิมากขึ้น
- ลดความวิตกกังวลและอาการที่ตื่นกลัว
- นักกีฬา นักเต้นรำ นักแสดง อาจใช้โยคะเพื่อกำจัดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และเพิ่มสมาธิก่อนการแข็งขัน ก่อนการแสดง
- นายแพทย์ ดีน ออร์นิช ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจจากแคลิฟอร์เนีย ได้ผสมผสานโยคะแบบใหม่ในการรักษาผู้ป่วย โรคหัวใจ
- โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง และศูนย์วิจัยในแคลิฟอร์เนีย สอนโยคะให้ผู้ป่วยในระยะสุดท้าย เพื่อให้รู้สึกสงบ

7.     เพศสัมพันธ์บกพร่อง สามารถบรรเทา หรือแก้ไขได้ด้วยท่าโยคะหลาย ๆ ท่า

 

การเตรียมพร้อมก่อนการฝึกโยคะ [ Preparing for Yoga Practice ]

 

1.     อย่ากินอาหารอิ่มเกินไป ควรฝึกก่อนหรือหลังอาหารอย่างน้อย 1 -2 ชม.

2.     ไม่อ่อนเพลียมาก, หิวมาก, เป็นไข้, หนาวมาก, ร้อนมาก, หรือมีอาการเมาค้างอยู่ และควรขับถ่าย ให้เรียบร้อยก่อนการฝึก

3.     สตรีมีครรภ์ และสตรีที่อยู่ในช่วงมีรอบเดือน ( เฉพาะวันมามาก ) ห้ามฝึก หมายเหตุ สตรีมีครรภ์ ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป สามารถฝึกโยคะสำหรับผู้มีครรภ์ได้ ภายใต้ความควบคุมของครูฝึกที่มี ประสบการณ์ และควรได้รับการอนุญาตจากสูตินารีแพทย์

4.     ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดมาแล้ว 3 - 6 เดือน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มฝึก

5.     แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสบาย ๆ เช่น เสื้อยึด กางเกงขายาว หรือขาสั้น สำหรับชุดออกกำลังกาย ต้องไม่ รัดแน่น เกินไป

6.     ไม่สวมแว่นตา นาฬิกา เครื่องประดับที่รกรุงรัง

7.     สถานที่ฝึกควรเงียบสงบ (ควรปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดขณะฝึก) สะอาด และไร้ฝุ่นละออง เพื่อป้องกันการแพ้ฝุ่น

8.     เลือกเวลาฝึกตามสะดวกแต่เวลาที่ดีคือ ช่วงเช้าก่อนเวลาทานอาหาร ถ้าฝึกช่วงบ่ายควรหาที่ ไม่ร้อนเกินไป

 

 

 

คำเตือนก่อนการฝึกโยคะ

 

1.     อุ่นร่างกาย ( warm-up ) ก่อนการฝึกทุกครั้ง เช่น ท่าวอร์มแขน ท่าไหว้พระอาทิตย์เบื้องต้น ท่าวอร์มหลัง และอื่น ๆ

2.     ศึกษาท่าบริหารแต่ละท่าให้เข้าใจดีก่อนฝึก

3.     เริ่มฝึกช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป อย่าเร่ง หรือฝืนทำ ห้ามแข่งขัน

4.     ฟังสัญญาณเตือนจากร่างกายระหว่างฝึก ถ้ารู้สึกเจ็บอย่าฝืนทำ ให้หยุดสักครู่ด้วย ท่าผ่อนคลาย ท่าหงาย จนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น

5.     อย่าฝึกท่า "ท่าห้าม" ของแต่ละบุคคล(ที่มีปัญหาจากโรคประจำตัว หรือมีปัญหาด้านกระดูก)

6.     ถ้าไม่เข้าใจการฝึกดีพอ และอยากมีครูแนะนำ ควรหาครูฝึกที่ได้มาตรฐาน และผ่านการอบรม เป็นครูโยคะมาแล้ว

             ติดตามอ่านภาคสองด้วยนะคะ  ภาคสองจะนำเสนอการฝึกโยคะในท่าต่างๆ ที่คัดเลือกมาแล้วว่าฝึกได้ไม่ยากและมีประโยชน์  เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งและบุคคลทั่วไปด้วยค่ะ โดยเฉพาะสาวๆค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #yoga#โยคะ
หมายเลขบันทึก: 288400เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2009 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจมากเลยครับ แต่ยังไม่เก่ง จะชำนาญการทำกายภาพโดยการนวดมากกว่าครับ ดีใจได้อ่านประวัติโยคะด้วยครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ขจิต

ยินดีมากค่ะ ลองฝึกโยคะดูมั้ยคะ

การนวดเหรอคะ ก็เป็นอีกวิธีที่ตอนนี้นำมาช่วยลด pain ในผู้ป่วยมะเร็งเช่นกันค่ะ

สรุปว่าไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบไหน เลือกที่เหมาะกับเราก้อดีทั้งนั้นอ่ะค่ะ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท