เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

โบราณเค้าว่า..อย่าปลูกกอไผ่ไว้ริมที่....


                       อย่าปลูกกอไผ่ไว้ริมที่ ลูกหลานจะทะเลาะกัน   สภาพสังคมในอดีต การมีที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นเรือกสวนไร่นายังไม่มีการปักหลักเขตหรือล้อมรั้วเพื่อแสดงกรรมสิทธิ์อย่างชัดเจนแต่อย่างใด แต่จะใช้ลักษณะทางธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง แนวต้นไม้
ใหญ่ ฯลฯ เป็นสิ่งแสดงเขตที่ดินแทนหลักเขต แม้แต่ในปัจจุบันบางพื้นที่ในหมู่บ้านตามต่างจังหวัดก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ ซึ่งหากลองถามเจ้าของที่ดินว่า มีที่ดินถึงตรงไหน อาจได้รับคำตอบจากเจ้าของว่าถึงตรงต้นตะเคียนใหญ่สุดหนองน้ำด้านหลังนู้น ทั้งหมดก็ประมาณ ๒๐ กว่าไร่ ก็อาจเป็นได้
                         ด้วยเหตุข้างต้น จึงมีภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดต่อกันมา ว่า อย่าปลูกกอไผ่ไว้ริมที่ ลูกหลานจะทะเลาะกัน ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าอธิบายให้ฟังว่า ที่ห้ามไม่ให้ปลูกกอไผ่ไว้ริมที่ก็เพราะว่า กอไผ่แรกปลูกก็จะเป็นเพียงแค่ต้น สองต้น อยู่ริมพื้นที่เท่านั้น แต่เมื่อต้นไผ่เติบโตงอกงามมีหน่อขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็จะขยายกอใหญ่โตออกไป ทำให้รุกล้ำไปในที่ของคนอื่นเกิดปัญหาโต้แย้งกันเรื่องแนวเขตที่ดิน ในสมัยแรกๆที่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายหรือผู้ใหญ่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะยังไม่แยกโฉนดแบ่งปันที่ให้ลูกหลาน และยังมีความเป็นญาติพี่น้องใกล้ชิดกันอยู่ แต่พอถึงรุ่นหลานในช่วงหลังๆที่ห่างออกไป ก็อาจจะตกลงกันไม่ได้ เกิดปัญหาเรื่องแนวเขตซึ่งหากผู้ใหญ่ไม่ห้ามไว้เช่นนี้ก็อาจจะเกิดปัญหาตามมาได้ เนื่องจากไม้ไผ่เป็นไม้ที่คนทั่วไปนิยม เพราะมีประโยชน์มากมายอเนกประสงค์ ทั้งใช้หน่อเป็นอาหาร ใช้ลำต้นในการจักสาน ทำเครื่องใช้ในครัวเรือน ฯลฯ
                         ดังนั้น คนสมัยก่อนจึงได้ออกโบราณอุบาย อย่าปลูกกอไผ่ไว้ริมที่ ลูกหลานจะทะเลาะกัน เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจคนรุ่นหลังไว้ โดยพูดเป็นอุบายทำให้คนในสังคมเกิดความกลัว และตระหนัก เพื่อที่จะสอนให้ละเว้นไม่ประพฤติปฏิบัติ ในสิ่งที่จะก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งทั้งในครอบครัวตนเอง และเพื่อนบ้าน และมีผลให้สังคมสงบเรียบร้อย

                     จะก้าวขึ้นหรือลงบันได ให้ก้าวทีละขั้น อย่าก้าวทีเดียวสามขั้น จะทำมาหากินไม่ได้ ประเทศไทยเป็นชุมชนเกษตรกรรมมาแต่โบราณ ดังนั้น บ้านเรือนส่วนใหญ่จึงสะท้อนถึงความผูกพันระหว่างผู้คนกับธรรมชาติ สภาพแวดล้อม และวิถีความเป็นอยู่ได้อย่างเด่นชัด โดยนิยมปลูกบ้านอยู่ตามพื้นที่ลุ่ม มีแหล่งน้ำสมบูรณ์เอื้อต่อการทำอาชีพเกษตร และบ้านเรือนไทยในแทบทุกภาคจะนิยมยกพื้นสูงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฤดูน้ำหลาก หากเป็นฤดูอื่นก็จะใช้ใต้ถุนบ้านเป็นที่สำหรับเก็บอุปกรณ์การเกษตร หรือให้เด็กๆได้วิ่งเล่น และเป็นที่พักผ่อนเย็นสบายในช่วงกลางวัน นอกจากนี้ผู้อยู่อาศัยบนเรือนไทยยังสามารถประกอบกิจกรรมในครัวเรือนได้ทุกสิ่งทุกอย่างจนสำเร็จบนตัวเรือน โดยไม่ต้องลงมายังพื้นดินก็ได้ อีกทั้งยังถือว่าเรือนไทยเป็นเรือนที่ให้ความปลอดภัยสูง นั้นคือ เจ้าของเรือนสามารถชักหรือดึงบันไดขึ้นมาเก็บไว้บนบ้านในเวลากลางคืนด้วย บันไดบ้านในสมัยก่อนจะอยู่นอกบ้าน นิยมใช้ไม้แผ่นทำเป็นขั้นสำหรับขึ้นลง โดยส่วนใหญ่มีลักษณะด้านล่างโปร่งโล่ง และมีราวจับเพียงด้านเดียว หรืออาจไม่มีเลย เพราะฉะนั้นจึงค่อนข้างต้องใช้ความระมัดระวังในการขึ้นลง และหากมีอายุการใช้งานมานาน ไม้ก็อาจจะถูกเดินจนเรียบและลื่น หรือมีบางส่วนผุไปตามกาลเวลาได้
                     ดังนั้น การที่ คนโบราณสอนไว้ว่า การก้าวขึ้นหรือลงบันได้นั้น ควรขึ้นลงทีละขั้น อย่าก้าวทีเดียว สามขั้น จะทำมาหากินไม่ดี ก็เพื่อป้องกันอันตราย และเตือนว่า หากจะทำอะไรไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำมา หากิน หรือการทำงานอื่นใดก็ตาม ให้ค่อยเป็นค่อยไป อย่าทำอะไรให้เกินความสามารถ และอย่าข้าม ขั้นตอน เหมือนกับการก้าวขึ้นบันไดหรือก้าวลงบันได ก็ให้ก้าวทีละขั้น มิฉะนั้นอาจพลัดตกขาแข้งหัก หรือ หัวแตกเกิดอันตรายกับตนเอง และที่สำคัญเป็นการสอนให้รู้จักคิดรู้จักไตร่ตรองว่า การทำอะไรควรทำเป็น ขั้นเป็นตอน ไม่ควรทำอะไรข้ามขั้นตอน 
                 ห้ามก้มมองลอดขาตัวเอง  ความเชื่อ ไม่ให้ก้มมองลอดขาตัวเอง เพราะเชื่อว่าจะทำให้เห็นผีเจตนา การก้มมองลอดขาทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด อาจหกล้มศีรษะกระแทกพื้นเป็นอันตรายได้ หรืออาจเจ็บหลังและเอวได้ เพราะต้องก้มมาก 
                 ห้ามกวาดบ้านเวลากลางคืน ความเชื่อ ไม่ให้กวาดบ้านเวลากลางคืน เพราะเชื่อว่าจะเป็นอัปมงคล   เจตนา เวลากลางคืนจะมืดมองเห็นไม่ชัด ทำให้กวาดบ้านไม่สะอาด และอาจจะกวาดข้าวของที่มีขนาดเล็กหรือของมีค่าหล่นหายไป
                
ห้ามกินกล้วยแฝด   ความเชื่อ ไม่ให้ผู้หญิงกินกล้วยแฝด เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีลูกแฝด   เจตนา ให้รู้จักประมาณในการกิน โดยเฉพาะกล้วย หากกินมากเกินไปอาจทำให้ท้องอืด หรือคนมีครรภ์กินกล้วยมากเกินไป ลูกในท้องจะตัวใหญ่ทำให้คลอดลำบาก
                
ห้ามขอดตุ่มข้าวสาร   ความเชื่อ จะทำให้กลายเป็นคนตกยากในอนาคต  เจตนา เกรงว่าจะรบกวนผู้อื่น เนื่องจากการตักข้าวสารที่ใกล้จะหมดแล้วทำให้ภาชนะที่ใช้ตักครูดกับตุ่มที่ใช้ใส่ข้าวสาร ทำให้เกิดเสียงดังน่ารำคาญ
               
ห้ามขึ้นบ้านใหม่วันเสาร์ เผาผีวันศุกร์ โกนจุกวันอังคาร แต่งงานวันพุธ   ความเชื่อ กระทำแล้วจะประสบแต่สิ่งไม่ดีในชีวิต
เจตนา เพื่อให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกาลเทศะที่เคยประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสบายใจ โดยมีความเชื่อว่าวันเสาร์เป็นวันที่ไม่สมควรทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ เพราะดาวเสาร์เป็นเทพเจ้าแห่งความทุกข์ ฉะนั้นจึงไม่สมควรจัดพิธีการใดในวันเสาร์ วันศุกร์เป็นวันที่โบราณห้ามทำการเผาศพ เพราะถือกันว่า ปลงศพวันศุกร์ให้ทุกข์กับคนเป็น ทางโหราศาสตร์นั้น ดาวศุกร์จัดไว้ให้เทพยดาแห่งความสมบูรณ์พูนสุข จึงไม่สมควรกระทำพิธีให้เกิดความเศร้าโศก วันอังคารเป็นวันที่ชาวบ้านจะไม่ประกอบพิธีโกนจุก เพราะเหตุที่ว่าดาวอังคารเป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม เหี้ยมโหด เชื่อว่าถ้าประกอบพิธีมงคลอาจทำให้มีอุปสรรคนานาประการ วันพุธห้ามประกอบพิธีสมรส เพราะดาวพุธเป็นเทพเจ้าที่ปรวนแปร หาความแน่นอนมิได้ จึงไม่ควรจัดพิธีมงคลสมเพราะต้องการความมั่นคงยั่งยืน รวมความแล้วมีวัตถุประสงค์ต้องการให้เป็นขวัญกำลังใจ และเป็นมงคลต่อชีวิตของผู้ปฏิบัติตาม
                
ห้ามคนมีครรภ์เข้าโบสถ์ตอนทำพิธีบวชพระ  ความเชื่อ จะทำให้คลอดลูกยาก  เจตนา คนมีครรภ์จะนั่งนานไม่ได้เพราะปวดเมื่อยได้ง่าย ในช่วงที่ทำพิธีต้องใช้เวลานานและต้องการความสงบ คนมีครรภ์อาจจะเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย
                
ห้ามถอดแหวนหรือกำไลจากมือผู้อื่น   ความเชื่อ จะแย่งคนรักของคนที่ถูกถอดแหวนหรือกำไลไป   เจตนา ให้มีมารบาทที่ดี ไม่ก้าวก่ายสิทธิ์ของผู้อื่น และเพื่อรักษามิตรภาพให้ยั่งยืน การถอดของมีค่าที่เจ้าของไม่อนุญาตเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม
                 
เวลานึ่งข้าวเหนียวห้ามกระแทกหวด แม่โพสพจะเจ็บ  .....ในยุคโบราณ เครื่องใช้ในครัวเรือนมักใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นมาทำ เช่น ทำจากไม้ไผ่ ใยฝ้าย ดินเหนียวซึ่งปั้นและเผาด้วยอุณหภูมิต่ำเป็นต้น เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีที่ซับซ้อน ทำให้เครื่องใช้เหล่านี้ขาดความคงทน ชำรุดเสียหายได้ง่าย ส่วนใหญ่ต้องทำใช้เองเพราะหาซื้อได้ยาก ด้วยเหตุนี้ คนโบราณจึงมีโบราณอุบายไว้
เพื่อให้เกิดความสำรวมระวังในการใช้สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน ดังเช่น
เวลานึ่งข้าวเหนียวห้ามกระแทกหวด แม่โพสพจะเจ็บ
              .....การที่คนโบราณสอนว่า เวลานึ่งจะไม่กระแทกหวดให้แน่นนั้น เพราะต้องการให้ไอน้ำผ่านแทรกเข้าไปในหวด ตามช่องว่างระหว่างเมล็ดข้าว ทำให้ข้าวเหนียวสุกทั่วกันทั้งหวด หากมีการกระแทกหวดข้าวเหนียวจะอัดตัวกันแน่น ทำให้ไอน้ำไม่สามารถ
ผ่านเข้าไปได้ ก็จะทำให้ข้าวเหนียวสุกไม่ทั่วถึง ส่วนบนและตรงกลางจะดิบ ส่วนล่างจะแฉะ รับประทานไม่ได้ การบอกเป็นอุบายว่าแม่โพสพจะเจ็บ ทำให้ผู้หุงข้าวซึ่งนับถือ และรู้คุณแม่โพสพเป็นอย่างดี เกิดความระมัดระวังไม่กระแทกหวดข้าวเหนียว เพราะจะทำให้หุงสุกไม่ทั่ว และเครื่องใช้ในครัวเรือนไม่เสียหาย

หมายเลขบันทึก: 288343เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2009 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท