เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

โบราณอุบาย...ห้ามตากผ้าตอนกลางคืน เพราะ....


“โบราณอุบาย” อันหมายถึงวิธีอันแยบยลที่มีมาช้านาน ในการตักเตือนหรือขู่ให้กลัว กับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายกับบุคคล ซึ่งมักขึ้นด้วยคำว่า “ห้าม” หรือ “อย่า” โดยมีเจตนาหรือจุดมุ่งหมายแฝงอยู่ในข้อห้ามนั้นๆ

                      โบราณอุบาย เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพชนไทยที่ห่วงใย และต้องการดูแลความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนสุขภาพพลานามัย ความสงบเรียบร้อยของผู้คนในอดีต
                      โบราณอุบายที่ปู่ ย่า ตา ยาย หรือคนโบราณนำมาใช้สอนลูกๆหลานๆ กำหนดอุบายไว้เป็นข้อห้ามคำสอน สำหรับบุคคลทุกวัยและทุกเพศ โดยวัยเด็กมีอุบายแฝงไว้มากกว่าวัยอื่น อีกทั้งมีความเกี่ยวข้องกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากเด็กและเพศหญิงเป็นผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่มากกว่าวัยและเพศอื่น
                      โบราณอุบายที่บรรพบุรุษใช้เพื่อควบคุมความประพฤติคนในสังคม ได้แก่ การอ้างผีสางเทวดา สิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ อันตราย ความไม่เป็นสิริมงคล โดยโบราณอุบายในช่วงวัยเด็กมักจะอ้างผีเพื่อให้เกิดความกลัว สำหรับผู้ใหญ่นั้น โบราณอุบายจะปรับเปลี่ยนไปเป็นการให้มีคุณธรรม ความกตัญญู ความรับผิดชอบ และมีความเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ ส่วนผู้หญิงที่อยู่ในวัยสาวจะมีโบราณอุบายเกี่ยวกับเรื่องเพศ การวางตัวเป็นกุลสตรี เป็นต้น
                      ในภาวะปัจจุบันนี้ โบราณอุบายเป็นเพียงข้อห้ามคำสอนสืบต่อกันมา มีบางเรื่องสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ เช่น อุบายเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม การวางตัว การเป็นกุลสตรี แต่บางเรื่องไม่สามารถนำมาใช้ได้ในภาวะปัจจุบัน เพราะความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ก้าวหน้าไปอย่างมาก ประกอบกับบริบทและปัจจัยต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต 
                       ในสมัยก่อนหรือแม้แต่ในปัจจุบัน เชื่อว่าหลายคนคงเคยถูก ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ พ่อ แม่ สั่งสอนห้ามทำโน่นทำนี่ ด้วยเหตุผลที่อธิบายได้ยาก และบางครั้งดูราวไร้เหตุผล แต่เราลูกๆหลานๆ ก็มักยอมปฏิบัติตาม แม้ในใจอาจะคัดค้านหรือนึกสงสัยอยู่บ้าง แต่ก็น่าแปลกที่ว่าสิ่งที่คนโบราณบอกต่อกันมาเพื่อดูแล ตักเตือน และสั่งสอนลูกๆหลานๆด้วยห่วงใย เหล่านี้ หลายสิ่งหลายอย่างก็ช่วยให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างไม่น่าเชื่อ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เหตุผลก็คือ สิ่งที่ห้ามเหล่านี้ล้วนเป็น โบราณอุบายอันหมายถึงวิธีอันแยบยลที่มีมาช้านาน ในการตักเตือนหรือขู่ให้กลัว กับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายกับบุคคล ซึ่งมักขึ้นด้วยคำว่า ห้ามหรือ อย่าโดยมีเจตนาหรือจุดมุ่งหมายแฝงอยู่ในข้อห้ามนั้นๆ
                    ห้ามตากผ้าข้ามคืน กระสือจะเช็ดปาก  เด็กๆ ไม่ว่าในยุคไหนสมัยไหน ก็มักจะชอบฟัง นิทาน เรื่องเล่า ด้วยเหตุนี้นิทานหรือเรื่องเล่าต่างๆ จึงมักจะแฝงข้อคิดที่ผู้ใหญ่ต้องการสอนเด็กไว้ในเรื่องด้วยเสมอ ไม่ยกเว้นแม้แต่นิทานที่เกี่ยวกับผีที่หลายๆคนชอบ แม้จะกลัว แต่ก็อยากฟัง สำหรับเรื่องผีที่คนฟังกี่ครั้งก็ไม่เบื่อน่าจะได้แก่เรื่อง ผีกระสือ กระสือ เป็นผีชนิดหนึ่งที่ถือว่าเข้าสิงในตัวผู้หญิง ชอบกินของโสโครก (ราชบัณฑิต 2542 : 58) กระสือจะออกหากินเวลากลางคืน มีลักษณะเป็นดวงไฟมีแสงสีเขียวสว่างวาบๆ ลอยไปเฉพาะส่วนหัว ผมยาว กับตับไตไส้พุงเป็นพวง เชื่อกันว่า กระสือชอบกินของสด สกปรก คนโบราณออกอุบายโดยอาศัยความกลัวผีกระสือของเด็กๆ เพื่อไม่ให้ลืมเก็บผ้าที่ตนตากไว้ เพราะผ้าที่ใช้ในสมัยก่อนส่วนใหญ่จะเป็นผ้าที่ทอมาจากฝ้ายแทบทั้งสิ้น กว่าจะทอและตัดเย็บเสร็จแต่ละผืนก็ให้เวลานาน เนื่องจากไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนมาช่วยดังเช่นในปัจจุบัน จึงทำให้ชำรุดเสียหายได้ง่าย ดังนั้น การตากผ้าทิ้งไว้ข้ามคืน ก็จะทำให้ผ้าเปียกฝนหรือน้ำค้าง ส่งผลให้ผ้าเก่าเร็ว ชำรุดเปื่อยง่าย นอกจากนี้อาจสูญหายจากการถูกขโมย หรืออาจมีสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ มาแอบหลบอาศัยอยู่ และจะเป็นอันตรายเมื่อนำไปสวมใส่ ที่สำคัญคือยังแสดงถึงความเกียจคร้านของเจ้าของผ้า ไม่รู้จักเก็บรักษาทรัพย์สิน ดงนั้น โบราณอุบายเรื่องนี้จึงเป็นการสอนให้ลูกผู้หญิงรู้จักเป็นแม่บ้านแม่เรือน คอยดูแลรักษาสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน นั่นเอง 
                              

หมายเลขบันทึก: 288310เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2009 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท