จดหมายรักจากKM.ชุมชนบุรีรัมย์


ตอน..น้ำกิน น้ำใช้ น้ำใจ น้ำตา จะแก้ปัญหากันอย่างไร?

จดหมายรักจากKM.ชุมชนบุรีรัมย์
ตอน..น้ำกิน น้ำใช้ น้ำใจ น้ำตา จะแก้ปัญหากันอย่างไร?


โดย สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
      สังคมเกษตรบ้านเรา  เริ่มนับฤดูกาลเพาะปลูกจากวันประกอบพิธีพืชมงคล  ทุกคนตั้งใจติดตามข่าวว่าปีนี้พระโคจะเลือกธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร หรือมังสาหารชนิดไหน หลังจากนั้นพระครูพราหมณ์จะเสี่ยงทายจากการเลือกผ้านุ่งของพระยาแรกนา อาหารหญ้าหรือสุราที่พระโคเลือกชิม แล้วถอดรหัสเป็นคำทำนายว่าปีนี้ฟ้าฝนพืชพรรณธัญญาหาร การบ้านการเมืองจะเป็นอย่างไร
       ในพระราชพิธีแต่ละปีจะมีการเบิกตัวเกษตรกรเข้ารับพระราชทานรางวัลแก่คณะบุคคล องค์กร และเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาต่างๆ ปี2534 ผมเคยเข้าร่วมพิธีที่ท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จมาเป็นประธานและพระราชทานรางวัล นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณสูงสุด นำมาซึ่งความปลาบปลื้มให้สำนึกย้ำคิดย้ำทำหน้าที่เกษตรกรไปชั่วชีวิต
       ปีนี้โหรทำนายว่าฝนจะน้อย แสดงว่าความแห้งแล้งจะมาตอแยพวกเราอีกตามเคย พวกอยู่ที่ราบสูงอีสาน ทำมาหากินการเกษตรแบบอาศัยน้ำฝน ไม่มีระบบชลประทานเหมือนเช่นในภาคกลาง ช่วงนี้ถึงจะมีฟ้าฝนโปรยปรายมาบ้าง แต่ก็แถมลมกระโชกอย่างรุนแรง ทำเอาหลังคาบ้านเปิดเปิงเรือนชานพังเค้เก้ ยังดีหน่อยที่ไปแจ้งองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) จะได้รับการชดเชยให้บางส่วน อาศัยน้ำจิตน้ำใจบ้านเพื่อนเรือนใกล้เคียงมาช่วยกันคนละไม้ละมือ  เสียเหล้าไหไก่ต้มระดมแขกลงแรงช่วยกันสร้างบ้านใหม่ตามประสายาก ทั้งๆที่เขาเหล่านี้ไม่ได้เรียนรู้เรื่องนโยบายสาธารณะอะไรหรอก สังคมเครือญาติเป็นรากฐานที่นำไปสู่จิตสาธารณะ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กัน ถือเป็นวัฒนธรรมอีสานที่ยังไม่เสื่อมมนต์ขลัง  
       การทำบุญทำทานคืองานบริการสังคมที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ละปีพี่น้องที่ไปทำงานเมืองกรุงจะระดมทุนลงมาช่วยหมู่บ้านด้วยการทอดผ้าป่า อย่างน้อยเจอกันที่บ้านเก่าอย่างชื่นมื่นปีละครั้งก็นับว่าไม่เลวใช่ไหมครับ ถึงจะไม่ได้จัดให้มีระบบเคลื่อนไหวเหมือน จ.ส.100 หรือมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง เรื่องผ้าป่าเป็นวัฒนธรรมแห่งยุคสมัยไปแล้ว มิติทางสังคมชนบทไม่ได้วางระบบเป็นขั้นเป็นตอน แค่รู้ข่าวใครบ้านพัง พวกผู้เฒ่าผู้แก่นั่งจับเข่าคุยกันไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แผนฟื้นฟูช่วยเหลือก็จะเรียงร่ายส่ายออกมาจากความคิดคำนึงแล้วละครับ นี่คือจุดแข็งของนโยบายสาธารณะฉบับตัวจริงเสียงจริง
       ในฐานะหน่อเนื้อเชื้อไขคนที่ราบสูง ที่ต้องเผชิญกับความแห้งแล้งมากขึ้น  ทุดครั้งที่เจอกันก็จะ ถามข่าวคราวว่าฝนตกไหม แรงไหม วัวควายมีหญ้ากินไหม ผักปลาเป็นยังไงบ้าง ระบบสารสนเทศระดับชุมชนก็จะเต็มไปด้วยเรื่องเหล่านี้
ดร.แสวง รวยสูงเนิน  ตระเวนเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ แวะมากินข้าวเย็นแล้วนั่งลงปรึกษาหารือกันจนดึกดื่น  ตื่นมาผมก็มีการบ้านที่จะทำร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้โครงการจัดการน้ำหลากหลายวัตถุประสงค์(MULTIPLE WATER USE SYSTEM) โครงการนี้นอกจากระดมกึ๋นชุมชนแล้ว ยังถามต่อว่าจะจัดการกับน้ำอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร
       พูดถึงเรื่องน้ำ ผมมีประสบการณ์ตรงอย่างสุดจิตสุดใจมาตลอดชีวิต  ผมอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งดินทราย สภาพดินทรายนั้นไม่สามารถที่จะขุดสระกักเก็บน้ำผิวดินได้อยู่แล้ว ฝนตกมามหาศาลก็ซึมหายลงไปต่อหน้าต่อตาเหมือนธรณีสูบ เว้นแต่จะหาแผ่นพาลสติกมาปูซึ่งก็เกินกำลังทรัพย์ที่จะทำได้ ที่ซ้ำร้ายขุดบ่อน้ำตื้นก็ไม่มีน้ำอีก เจาะบ่อบาดาลโยกที่ใช้เครื่องตอกแบบชาวบ้านก็ไม่สามารถเจาะทะลุชั้นหินได้ เรียกว่าดิ้นรนจนเหงื่อหยดติ๋งๆก็ยังไม่ได้น้ำ  ต้องเอาควายเทียมเกวียนไปขนน้ำในบ่อหมู่บ้านที่ห่างออกไป5ก.ม. ถ้าเดินไปอาบกลับมาตัวก็เหนียวหนับเหมือนเดิม ผมอยู่ในสภาพจนใจจนน้ำอยู่หลายสิบปี  
        อยู่มาวันหนึ่งจึงฮึดสู้ นัดชาวบ้านฝีมือดีที่เก่งเรื่องขุดมันในป่ามา10 คน คุยกันว่าเราจะขุดบ่อน้ำให้ถึงที่สุด ค้นหาน้ำให้เจอ  โดยมีโจทย์ค้างคาใจที่ความลึก9เมตร ตอกหัวเจาะบาดาลมาถึงระยะนี้จะชนหินใต้ดิน เราไม่มีเทคโนโลยีมากพอที่จะเจาะหินที่ว่านี้ได้ จึงอยากจะดูให้รู้ชัดๆว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่ 
รายการขุดบ่อแห่งความหวังนี้ เราใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านทุกอย่างเท่าที่จะหาได้  ในช่วงแรกๆก็จะใช้คันโยงดินช่วยผ่อนแรง  ขุดปากบ่อให้กว้างเพื่อให้มีอากาศหายใจ ปากบ่อกว้างเท่าไหร่ก็หมายความว่าเราจะต้องโยงดินขึ้นมามากเท่านั้น  มนุษย์ 10 คนหมุนเวียนกันขุดดินโยงดินกัน 5 วัน เราขุดลงลึกไปชนแผ่นหินใต้ดิน เสียมที่ใช้ขุดดินชนกับแผ่นหินเสียงหนักๆจึกๆ มนุษย์บ่อปีนขึ้นมาเหงื่อโชกมันเลื่อมทั้งตัว
        หลังจากดื่มน้ำหายเหนื่อยหอบแล้วก็ล้อมประเมินแสถานการณ์  ฝ่ายโยงดินบอกว่าหัวไหล่ร้าวระบม นอกจากปวดเหมื่อยธรรมดาบางคนก็ทำท่าจะเป็นไข้อีกด้วย ฝ่ายที่หมุนเวียนขุดดินก็บอกว่าอากาศน้อยร้อนหายใจลำบาก บุกไปจนเจอแผ่นหินแล้วเราจะเอาอะไรไปขุดต่อ เครื่องเจาะเครื่องทุนแรงไม่มี  เสียมที่ขุดดินก็ทื่อมือก็ปวดร้าว จะเอายังดี จะทำยังไงต่อ  นั่งมองตากันอยู่หลายนาทีสุดท้ายก็ตกลงว่าพัก2วัน ในสองวันที่พักให้กลับไปคิดเป็นการบ้านแล้วนัดเจอกันอีกครั้งหนึ่งว่าจะสู้หรือจะยกธงขาว!
        ในเช้าวันที่เรานัดมาพบที่ปากบ่อแห่งความเหนื่อยยากนี้  ผมให้แม่บ้านเตรียมหัวหมูเป็ดไก่เหล้าไหหมากพลูครบเรื่องเครื่องเซ่นแม่พระธรณี  เตรียมสื่อเตรียมหมอน มียานวด ยาชูกำลัง40ดีกรีอีก2ลัง แถมยังชวนหมอนวดเส้นฝีมือดีในหมู่บ้านมาสมทบด้วย ผมแอบดูตั้งแต่ทีมงานปั่นจักรยานเข้ามากันแบบหงอยๆ  ไม่มั่นใจว่าจะสู้หรือจะถอย ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ทักทายเสียงใสว่าวันนี้เราจะทำพิธีเซ่นเจ้าที่เจ้าทาง  ชวนกันไปนั่งล้อมวงให้ผู้อาวุโสในกลุ่มทำพิธีขอขมาฟ้าดิน บอกกล่าวว่าลูกช้างขอน้ำใช้หน่อยเถอะ เมื่อเซ่นเจ้าที่เจ้าทางครบพิธีการแล้ว พวกเราก็นั่งล้อมวงบริหารเครื่องเซ่นกันอย่างอิ่มหนำสำราญ เมื่อท้องอิ่มทั่วถ้วนแล้วผมก็บอกว่าวันนี้เรากลับบ้านเถอะ หลายคนร้องฮ้า!พร้อมกัน จะกลับทำไมมาแล้วก็ต้องขุดต่อเถอะ เมื่อมติมีอย่างนั้นการขุดบ่อมหาโหดก็เริ่มขึ้น  คราวนี้ผมขอลงไปเอง พิจารณาแล้วมันเป็นหินทรายไม่ใช่หินแกรนิต ให้ส่งชะเลงลงมาค่อยๆเจาะหลุมเล็กๆขนาดกระป๋องนม  ถึงมันจะแข็งแต่ก็เห็นว่าพอจะเจาะลงไปได้ทีละครึ่งเซ็นต์  จึงขึ้นมาอธิบายว่ายังไม่ถึงกับจนแต้มหรอก  เอาชะแลงเจาะให้เป็นหลุมเล็กก่อนอย่างเพิ่งขยายเนื้อที่ขุดทั้งหลุม
           หลังจากนั้นนักขุดก็เปลี่ยนหน้าลงหลุมในระดับลึก10เมตร พวกที่คอยโยงดินใช้รอกขนดินขึ้นมาที่ละถัง ทุกครั้งที่นักขุดขึ้นจากหลุมจะมีฝ่ายบริการจูงมาดื่มน้ำล้างหน้าล้างตา ทายานวดบีบเส้นเคล้นกล้ามเนื้อ ถามถึงสภาพข้างล่างว่าเป็นอย่างไร คำตอบก็คือยิ่งลึกก็ยิ่งหายใจลำบากอากาศร้อนอึดอัด แต่ละคนจะทนได้ไม่เกิน 10 นาที
และแล้วก็ได้ยินเสียงสวรรค์..ช่วงบ่ายมีเสียงตะโกนขึ้นมาว่าหินทะลุแล้ว  ทุกคนดีใจกันใหญ่คิดว่าเราจะเจอตาน้ำใต้ดินกันเสียที  ผมถามว่ามีน้ำไหม เสียงแหบโหยบอกว่าไม่มีน้ำไม่มีอะไรเลยนอกจากดินขาวๆ  จึงเรียกขึ้นมาวิเคราะห์สถานการณ์  ตอนนี้ภูมิปัญญาระดับไหนก็มึนตึ๊บไปหมด ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ระดับที่ขุดก็ลึกมาก แผ่นหินก็ทะลุแล้ว  จะยังไงต่อไปอีกละ ..เจ้าที่เจ้าทางเอ๋ย..เซ่นก็เซ่นแล้ว นั่งกอดเข่าทำตาปริบๆหงอยๆ คิดไม่ออกพักผ่อนกันดีกว่า
         หลังจากหายเครียดหายท้อ ผมขอลงไปดูข้าวล่างอีกครั้งหนึ่ง  สังเกตว่าสีดินเปลี่ยนไป เป็นดินขาวๆเหนียวๆจึงสัณนิฐานว่ามันอาจจะใกล้น้ำแล้วก็ได้  ขึ้นมาปรึกษากันว่าเราก็ลุยมาได้ขนาดนี้แล้ว ถ้าจะถอยก็จะนอนไม่หลับ เพราะคิดว่ามันยังไม่ถึงที่สุด บางคนถามว่าที่สุดมันเป็นอย่างไร ผมบอกไม่รู้ถ้าไม่ขุดต่อก็บอกไม่ได้ คำตอบมันอยู่ในหลุมข้างๆ  ทุกคนทำหน้างงๆบ่นอุบอิบคำว่าที่สุด..ที่สุด..สุดๆไปเลย  มันเป็นยังไงนะ อะไรรออยู่ในชั้นดินข้างล่างนั่น  ตรงนี้ภูมิปัญญาบริเวณปากบ่อตอบไม่ได้ มึนตึ๊บครับผม!
        เลิกหรือลุย! เดินทางมาถึงจุดตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเลิกก็หมดหวัง แต่ถ้าลุยมันยังต่อความหวัง  สุดท้ายรวมน้ำใจมากลั่นเป็นพลังใจที่จะสู้กับสงครามความแห้งแล้งต่อไปอีก  วันรุ่งขึ้นทุกคนก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ต่อไป บ่ายแก่ๆมีข่าวดีว่าพบชั้นดินที่เปียกชื้นมากขึ้นๆ  ผมลงไปดูเห็นดินสีขาวในชั้นกรวดทรายเล็กๆมีน้ำซึมมานิดหน่อย นิดหน่อยที่ว่านี้เรียกกำลังใจพวกเรามากองโต ความหวังพุ่งขึ้นเต็มบ่อแล้วช่วงนั้น  ทุกคนมีกำลังใจช่วยกันขุดจนตะวันตกดิน ลึกลงไปได้กว่าเดิมประมาณ1.50 เมตร  ต่างก็ขึ้นมารวมพลกินข้าวปลาอาหารเย็นร่วมกัน  แม่ครัวต้มไก่ใส่ยอดมะขายอ่อนเป็นอาหารโด๊ปกำลังใจและกำลังกาย สรุปในชั้นนี้ได้ว่าอย่างน้อยเราก็ได้น้ำแล้วละ  ส่วนจะมาน้อยเท่าไหร่รอฟังผลวันพรุ่งนี้
        วันแห่งฟ้าสดใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังว่าเราจะได้น้ำในบริเวณบ้านเสียที ไม่ต้องเดินไม่ต้องไปบรรทุกน้ำมาจากที่อื่น  ผมใช้เชือกโยงขวดลงไปวันปริมาณน้ำและเอาน้ำขึ้นมาตรวจ พบว่าเราได้น้ำซึมจากก้นบ่อในทั้งคืนได้ระดับน้ำสูง1เมตร คุณภาพน้ำจืดสนิทเอามาต้มดื่มได้สบายๆ อีสานเรานี่นะครับเรื่องหาน้ำเจอก็เรื่องหนึ่ง เรื่องคุณภาพของน้ำก็สำคัญมากเช่นกัน เพราะบางบ่อน้ำจะกร่อย กระด้าง มีสนิมเหล็ก หรือไม่ก็เค็ม แต่ของเราจืดสนิทแสดงว่าเจ้าที่เจ้าทางที่เราติดสินบนไว้  ได้มอบน้ำที่มีคุณภาพดีให้แก่เรา
        เพื่อรักษาสภาพบ่อน้ำประวัติศาสตร์แห่งนี้  ผมได้ลงปลอกท่อซีเมนต์ ทาผาปิด ติดตั้งเครื่องโยกน้ำบาดาล แล้วก็ใช้นั้นอุปโภคบิโภคอย่างประหยัด พอเหลือเลี้ยงไก่และเจือจานให้วัวควายดื่มได้ด้วย ผมได้นำน้ำบาลดาลนี้ไปเพาะกล้าไม้  ทำให้กิจกรรมปลูกป่าเกิดขึ้นอย่างที่วาดฝันไว้ จากผืนดินที่แห้งแล้งโล่งโจ้งไม่มีต้นไม้  เริ่มมีสีเขียว มีแปลงต้นไม้โตเร็ว ไม้พื้นเมืองสอดแทรก ไปเห็นต้นอะไรก็กล้าที่จะปลูกมากขึ้นเพราะมีน้ำช่วยในระยะแรก ปลูกไม้ทุกอย่างที่ขวางหน้า มีความรู้บ้างไม่มีบ้างก็ว่ากันไปแก้ไขกันไปเรียนรู้ไปพร้อมๆกับไส้เดือนและแมลงต่างๆ  13 ปีผ่านไปหน้าตาที่ดินก็มีสีเขียวมีชีวิตชีวา ฝ่ายประเมินเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ แจ้งว่าเราได้รับพระราชทานรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาปลูกสร้างสวนป่า จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ท้องสนามหลวง ดังที่กล่าวแล้วในตอนต้น
        ถัดจากที่อดออมใช้น้ำบ่อขุดบ่อแรก ต่อมาผมขุดเพิ่มเติมอีก 2-3 บ่อ จนกระทั่ง10 ปีผ่านไป กรมทรัพยากรธรณีวิทยากรุณามาเจาะบ่อบาดน้ำลึกให้ ผมนั่งเฝ้าทั้งวันทั้งคืน เพื่อรอดูชั้นดินชั้นหินที่เจ้าหน้าที่เขาเอามาตรวจทุกๆระดับ1เมตร ยังเอาขวดเก็บตัวอย่างดินไว้เป็นที่ระลึก เริ่มเข้าใจแล้วว่าเทคโนโลยีสามารถตอบคำถามได้ว่าแต่ละชั้นดินเรามีสภาพเป็นอย่างไร ตรงกันข้ามกับตอนที่เราขุดบ่อด้วยมือ ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าข้างล่างจะสภาพดินหินทรายอย่างไร
        4วันบ่อดาลน้ำลึกแห่งแรกก็เรียบร้อย เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าเจ้าหน้าที่ได้ติดเครื่องปั่นน้ำแบบใช้น้ำมัน เป็นเครื่องขนาดใหญ่ที่ใช้กับโรงสีข้าวสมัยก่อน จะติดเครื่องแต่ละทีหมุนเพลาที่หนักอย่างต่อเนื่องจนซี่โครงบาน แต่พอเครื่องติดก็หายเหนื่อยเพราะน้ำที่พุ่งขึ้นมานั้นมันช่างใสเย็นชุ่มฉ่ำเหลือเกิน  ด้วยความเหนื่อยยากกับน้ำมานาน ผมลงทุนก่อสร้างแท็งเก็บน้ำสูง 10 เมตร มีปริมาณถังเก็บน้ำได้3,000 ลิตร ต่อท่อเชื่อมโยงไปใช้ในบ้านในครัวในแปลงผักและคอกสัตว์เลี้ยงอย่างทั่วถึง  ยังก่อสร้างสระบนดินขนาด 8x18 เมตรไว้อีกหนึ่งแห่ง ไว้เก็บน้ำล้นจากถังบาดาลและน้ำฝนจากอาคาร สรุปว่าชั้นนี้มีน้ำใช้สะดวกสบายพอควรแล้วละครับ
        ต่อมามีไฟฟ้าแรงสูงผ่านเข้าไปในหมู่บ้าน  ส่วนที่อยู่ผมอยู่ลึกเข้าไป1 ก.ม. จึงได้แต่มองเสาไฟสายไฟเหมือนหมาเห่าเครื่องบิน อดรนทนอยู่ 2 ปี จึงไปหาเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปรึกษาแล้วได้คำตอบว่าถ้าจะใช้ไฟฟ้าต้องออกเงินเองประมาณ300,000บาท  เงินจำนวนนี้อาจจะไม่มากสำหรับคนอื่น แต่กับผมในตอนนั้นไม่มีรายได้อะไรอยู่ไปปีๆอย่างจำกัดจำเขี่ย แต่ก็ต้องจำใจตัดไม้ยูคาลิปตัสขายตันละ550บาท ป่าไม้เตียนโล่งไป250 ไร่ เพื่อแลกกับเสาไฟฟ้า สายไฟ หม้อแปลง มิเตอร์ และยังตามมาด้วยมอเตอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆอีกเป็นพรวน
        มีน้ำใช้ไฟสว่างคราวนั้นผมต้องอยู่อย่างพอเพียงมาจนถึงบัดนี้  เพราะเกษตรกรนั้นไม่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำที่แน่นอน งานเกษตรกรรมเป็นงานเย็น ช้าๆเรื่อยๆค่อยเป็นค่อยไป เหมือนอัตราการเติบโตของต้นไม้ สูงขึ้น ใหญ่ขึ้น พออายุถึงก็ออกดอก ติดผล แผ่กิ่งก้านสาขากว้างขึ้น มากขึ้น ในระยะยาวก็จะตอบแทนเราอย่างคุ้มค่าเช่นกัน ผมปลูกต้นยางนา ต้นอาคาเซีย ไม้ยูคา ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้ไผ่ ฯลฯ ไว้นับหมื่นต้น ในอนาคตลูกหลานก็จะตัดไปขายได้ต้นละเป็นหมื่น  ทำให้ไม่ห่วงว่าเขาจะอัตคัดขาดแคลนเหมือสมัยเรา ที่สำคัญเราได้ป่าไม้คืนมา ความชุ่มชื่น น้ำหมอก น้ำค้าง นกหนู ค่อยๆทยอยมาอยู่เป็นเพื่อนเรา  นกเขามาขันคูให้ฟังเช้า-บ่ายโดยไม่ต้องเลี้ยงมาหลายปีแล้ว
        น้ำเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  โดยเฉพาะเกษตรกรถ้าไม่มีน้ำก็แทบจนมุม เนื่องจากผมตกทุกข์ได้ยากกับปัญหาน้ำมายาวนาน  เมื่อมีน้ำก็สนุกกับการทดลองทุกรูปแบบ มีทั้งน้ำหยดน้ำฝอยน้ำสปริงเกอร์ ออกแบบไว้ให้ทั้งพืชและสัตว์  เมื่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาชวนคิดชวนทำต่อยอดเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำระดับชุมชน  ผมก็งัดผลงานที่ทำไว้รอบบ้านรอบสวนมาดู พบว่ามีการจัดการน้ำประมาณ30รายการ และตั้งใจว่าจะค้นหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาดำเนินการอีกหลายเรื่อง  ในชั้นนี้ขอเสนอรูปแบบที่ดำเนินการในชีวิตประจำวัน 30กว่ารายการมาเป็นร่องรอยเบื้องต้น

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 28712เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2006 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • เข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้ครับครูบา
  • กว่าจะได้น้ำแสนสาหัศเหลือเกินนะครับ
  • รบกวนครูบาไปที่แผงควบคุมเลือกบริหารบล๊อกในชุมชน
  • มีบล๊อกของผมเชิญไว้ครับ
ตามท่าน ขจิต ฝอยทอง มาหาความรู้ครับ  ผมได้รับฟังท่านครูบา ตอนที่ไปพูดที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม งานประชุมเดียวกับฟัง ท่านไพบูลย์ ดีใจที่ท่านครูบาเขียนเล่า ความรู้ลง ใน Gotoknow แล้วจะแวะมาอีกครับ
  • ตามมาเรียนท่านครูบาว่าเหลือแต่น้ำเต้าครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท