บทที่ 6 -- บทสรุปและข้อเสนอแนะ


มองออกไปเบื้องหน้า.. เส้นทางสู่การมีสถานะบุคคลบนผืนแผ่นดินไทยของคนไร้รัฐไร้สัญชาติยังทอดยาวไกล กลับจากการเดินทางไกล..สู่อันดามัน แล้วก็ถึงเวลาย้อนทบทวนเรื่องราวบันทึก ก่อนที่ “การเดินทาง” ครั้งใหม่จะเกิดขึ้น

 

คนนำทาง ที่ชื่อว่า ‘C-C-L’ ..??

C-C-L ย่อมาจาก Classroom – Clinic – Law Consultation นั่นก็คือ การเสริมสร้างความรู้ (Classroom) การให้ความช่วยเหลือ (Clinic) และ การให้คำปรึกษา (Law Consultation) เป็นกลไกที่จะทำให้การเดินบนเส้นทาง 5x6 ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เนื่องจากการให้ความรู้เรื่องของ 5x6 การให้ความช่วยเหลือตามกระบวนการของ 6 และสุดท้ายหากกระบวนการดังกล่าวไม่ได้ผลเพราะการไม่ปฏิบัติตามของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ การให้คำปรึกษาที่อาจจะนำไปสู่การฟ้องคดีย่อมจะต้องมีขึ้น..

กลไกที่เป็นไปตามเหตุและผลของกฎหมายที่สมควรจะเกิดขึ้นในอันดามันอย่างเช่นที่มีแล้วในแม่อาย[1] หากแต่ต้องปรับสูตรในการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จึงจะช่วยให้การทำงานของกลไกประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากเจ้าของปัญหาในอันดามัน

และที่สำคัญเจ้าของปัญหาและคนทำงานต้องเห็นความสำคัญในการนำ CCL มาใช้เป็นมือไม้อันหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ นั่นจึงจะทำให้เกิดการนำไปใช้ที่เป็นจริงมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 

การสร้าง สะพาน เชื่อมคน (ทำงาน)..

กลับจากอันดามัน เราพบคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนไม่น้อยที่ทำงานในประเด็นเดียวกัน เพื่อคนกลุ่มเดียวกัน หรือในพื้นที่เดียวกัน แต่ไม่เคยร่วมมือกันทำงานเลย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ดังนั้นการเชื่อมเครือข่ายการทำงานจากทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราพยายามทำให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติในอันดามันที่ยั่งยืน

งานสร้างเครือข่ายนี้จะเชื่อมให้คนทำงานทุกคนได้เดินร่วมทางไปด้วยกัน งานนี้จึงเป็นงานที่ต้องอาศัยทั้งแรงกาย แรงใจ และที่สำคัญคือการยอมรับและเชื่อใจซึ่งกันและกัน ซึ่งล้วนแต่ต้องอาศัยระยะเวลา ที่สำคัญการพัฒนาเครือข่ายอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็นและยากยิ่งกว่าการสร้างแล้วจบไป

เราจึงต้องการกลไกที่จะมาทำหน้าที่เป็น สะพาน เชื่อมเพื่อทำให้งานเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติดำเนินไปได้อย่างมั่นคงผ่านการประสานความร่วมมือกันจากทุกๆ ฝ่าย เช่นนี้จึงจะเป็นการใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีให้คุ้มค่าที่สุด ดังที่ ครูหยุย หรือ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์[2] ได้กล่าวให้ข้อคิดอย่างน่าฟังว่า..

บางครั้งเราต้องยอมอดทนกับคนบางคน เพื่อให้เขาทำประโยชน์ให้กับคนอื่น เพราะทุกคนล้วนมีประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น แต่เราต้องมีคนกลางที่ต้องประสานให้ทุกคนยอมรับและทำงานด้วยกันได้ เราอาจทำงานใหญ่ในความคิดได้ แต่ไม่อาจทำงานใหญ่ในเชิงปริมาณได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ต้องมีเครือข่ายการทำงานร่วมกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน

 

เส้นทางสายใหม่เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ คนไทยพลัดถิ่น

เราพบว่าเส้นทางสู่การมีสถานะบุคคลด้วยต้นแบบ 5x6 นั้นไม่อาจจะตอบโจทย์ได้สำหรับทุกกลุ่มปัญหาในอันดามัน โดย คนไทยพลัดถิ่น เป็นอีกกลุ่มที่ต้องการสูตรในการแก้ไขปัญหาในรูปแบบเฉพาะ ซึ่งกฎหมายและนโยบายของไทยในปัจจุบันยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้

การยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการคืนสัญชาติเพื่อคนกลุ่มนี้จึงเป็นอีกคำถามหนึ่งที่ต้องการการแสวงหาคำตอบ หากเรามีจิตใจมนุษย์นิยมและเคารพศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของคนไทยด้วยกันเอง ซึ่งความเป็นไปได้ในครั้งนี้ถูกยืนยันอย่างหนักแน่นในเวทีสัมมนาวิชาการเพื่อการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติสำหรับคนไทยพลัดถิ่น โดย นายวีนัส สีสุข อดีตเลขานุการ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  และที่ปรึกษากิจกรรมเวทีสัมมนาฯ ว่า..

ถ้าถามว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานะของคนไทยพลัดถิ่นตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีอยู่เหมาะสมแล้วหรือไม่ คำตอบที่มีก็คือเหมาะสมภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยสัญชาติและยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  แต่ถ้าถามว่าการให้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติแก่คนไทยพลัดถิ่นเหมาะสมหรือไม่ คำตอบที่ได้คงต้องแตกต่างจากคำตอบแรก เหตุผลเพราะการแปลงสัญชาติตามหลักสากลจะใช้กับคนสัญชาติอื่น (เชื้อชาติอื่น) 

แต่คนพลัดถิ่นที่กำลังกล่าวถึงนี้เป็นคนที่มีเชื้อสายไทย มีบรรพบุรุษเป็นคนไทย แต่มีอุบัติเหตุทาง ด้านความมั่นคงของชาติทำให้เขาต้องกลายเป็นคนที่อยู่ในดินแดนของประเทศอื่นก่อนที่จะอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศแม่ซึ่งเคยเป็นบ้านเกิดเมืองนอน

 แม้กระทั่งคนสัญชาติไทยที่สละสัญชาติไทย ด้วยความประสงค์ของตนเองหรือเสียสัญชาติไทยเนื่องจากบุพการีดำเนินการให้ หากมีความต้องการกลับมาเป็นคนไทย กฎหมายก็ให้โอกาสคนเหล่านั้นสามารถขอกลับคืนสัญชาติไทยได้ ดังนั้น การที่จะมีมาตราหนึ่งในกฎหมายว่าด้วยสัญชาติเพื่อคืนสัญชาติไทยให้แก่คนพลัดถิ่นเชื้อสายไทยที่มีความประสงค์จะขอมีสัญชาติไทย ย่อมเป็นเรื่องที่สังคมไทยยอมรับได้ อธิบายได้และเป็นเหตุเป็นผล

ความเป็นไปได้ของการยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังต้องดำเนินการเพื่อคำตอบที่ชัดเจนต่อไป และจะสิ้นสุดอย่างไร

 

จากแม่อาย...สู่อันดามัน เส้นทางที่ต้องไปต่อ ..??

 ถนนหลายสายถูกสร้างขึ้นเพื่อมุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกันคือ การได้รับการยอมรับและการมีตัวตนอย่างถูกต้องในสายตาของกฎหมาย แต่เส้นทางเหล่านั้น บ้างก็คดเคี้ยว ยาวไกล และยากลำบากเกินกว่าจะมีแรงเดินไปได้สุดทาง บ้างก็ดูสวยงามแต่สร้างขึ้นอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมสุดท้ายก็ต้องทรุดพังลงไปก่อนที่จะถึงฝั่งฝัน การเลือกเส้นทางเพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายจึงไม่ง่ายนัก..

 5x6 เป็นหนทางหนึ่งที่จะนำพาคนไร้รัฐไร้สัญชาติไปสู่การมีสถานะบุคคลที่ถูกต้อง โดยสร้างขึ้นจากฐานที่มั่นคงของกฎหมายและนโยบายของรัฐไทย ก่อเกิดจากฐานความรู้อันมาจากการสั่งสมประสบการณ์อันยาวนานของคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

แน่นอนว่า..หนทางนี้ไม่สวยงาม ไม่สะดวกสบาย ดังนั้น คนที่จะเลือกเดินบนเส้นทางนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องมี คือ ความพยายาม และ ความเชื่อมั่นในกฎหมาย อันเป็นบททดสอบสำคัญเพื่อนำพาไปสู่จุดหมายได้จนสุดทาง..

ชีวิตจริงของคนไร้รัฐไร้สัญชาติแห่งอันดามันทั้ง 6 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของ 5 กลุ่มคน ที่ต้องผ่านกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะบุคคล 6 ขั้นตอน ในหนังสือเล่มนี้ จะกลายเป็นตำนานเรื่องยาวของนักเดินทางผู้แสวงหาการมีตัวตนที่ถูกต้องบนแผ่นดินไทย ที่จะบอกเล่าเรื่องราวระหว่างทางเพื่อเป็น “ต้นแบบ” ให้ผู้คนได้รับรู้และเดินตามต่อไป

เมื่อองค์ความรู้ได้ถักทอขึ้น... โดยพวกเราได้ตั้งต้นที่ภาคเหนือ แล้วออกเดินทางมายังภาคใต้ ด้วยเชื่อมั่นและความหวังว่าองค์ความรู้นี้จะทำให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติหมดไปจากประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหนก็ตาม..

วันนี้.. คงเป็นคราวของ อันดามัน แล้ววันหน้าล่ะ..??



[1] คลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิบุคคล) อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ปัจจุบันกลายเป็นทั้ง ห้องเรียน ที่ให้ความรู้ชาวบ้านตามกระบวนการของ 5x6 เป็น คลินิก ที่คอยรักษาโรคไร้รัฐไร้สัญชาติยามที่ความรู้เพียงอย่างเดียวเอาไม่อยู่ และเป็น ที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย โดยอาจจะเป็นการส่งต่อคดีที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามของเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

[2] อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานคณะอนุกรรมการติดตามการให้สถานะบุคคลแก่เด็ก คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เข้าร่วมในกิจกรรมการสร้างและพัฒนาเครือข่ายการทำงานของโครงการฯ ด้วย

หมายเลขบันทึก: 287032เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2009 01:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สำเร็จเสียทีแล้วนะครับ ผมยินดีด้วย อย่าลืมพาไปเลี้ยงฉลองนะครับ

พี่เตือนนี่เขียนหนังสือน่าอ่านจริง ๆ

มีอะไรก็แนะนำน้อง ๆ บ้างนะครับพี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท