บทที่ 4 -- การสร้างองค์ความรู้ใหม่และพัฒนาองค์ความรู้เก่า (3 - II - c)


“ไทยพลัดถิ่น” ในและจากมณฑลตะนาวศรีกับสิทธิการเป็นพลเมืองไทย โดย ฐิรวุฒิ เสนาคำ

3.      ภาคผนวก

 

3.2  บทความประกอบเวทีสัมมนาวิชาการ

 

ไทยพลัดถิ่นในและจากมณฑลตะนาวศรีกับสิทธิการเป็นพลเมืองไทย

โดย ฐิรวุฒิ  เสนาคำ[1]

บทนำ

คำว่า ไทยพลัดถิ่น ที่ใช้ในปัจจุบัน อาจจะหมายถึงคน 3 กลุ่มหลัก คือ (1) หมายถึงกลุ่มคนไทยที่อพยพจากประเทศไทยไปตั้งชุมชนในต่างแดน เช่น ชุมชนไทยในอเมริกา อังกฤษและออสเตรเลีย เป็นต้น (2) หมายถึงกลุ่มคนไทย/สยามที่ในอดีตสัมพันธ์/เกาะเกี่ยวกับรัฐ-ชุมชน-สังคมไทย/สยาม แต่ถูกกระทำให้กลายเป็นไทยพลัดถิ่นในประเทศเพื่อนบ้านภายหลังการปักปันเขตแดนระหว่างรัฐสยาม/ไทยกับมหาอำนาจจากตะวันตก ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ตัวอย่างกลุ่มไทยพลัดถิ่นประเภทนี้มีอาทิ ชุมชนไทยพลัดถิ่นในมาเลเชีย โดยเฉพาะในรัฐกะลันตัน และไทรบุรี ไทยพลัดถิ่นที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเขตตะนาวศรีของพม่า โดยเฉพาะในเขตอำเภอเกาะสองและมะริด ชุมชนคนไทยภาคเหนือที่ตั้งถิ่นฐานในเขตพม่า ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งชุมชนอยู่ตามเส้นทางการค้าในที่เชื่อมต่อระหว่างเมาะลำเลิงกับภาคเหนือของไทยในอดีต โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำเมยใกล้กับเมืองเมียวดีของพม่าในปัจจุบัน และรวมถึงกลุ่มคนไทยที่ตั้งถิ่นฐานในเขตเกาะกงของกัมพูชาในปัจจุบัน และ (3) หมายถึงกลุ่มคนไทยที่ตกค้างอยู่ในดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านภายหลังการปักปันเขตแดน อพยพเข้าสู่เขตแตนของไทยในปัจจุบัน แต่ถูกปฎิเสธการให้สัญชาติโดยรัฐไทย คนไทยกลุ่มนี้จึงกลายเป็น ไทยพลัดถิ่นในไทย ตัวอย่างของไทยพลัดถิ่นประเภทนี้ที่ปรากฏต่อสาธารณะในปัจจุบัน ก็คือ กลุ่มคนไทยที่อพยพจากฝั่งพม่าเข้ามาในประเทศไทย และกลายเป็น ไทยพลัดถิ่นในไทย ในเขตจังหวัดชุมพร ระนอง ประจวบคีรีขันธ์และตาก และกลุ่มคนไทยที่อพยพจากเกาะกงเข้ามาฝั่งไทยและกลายเป็น ไทยพลัดถิ่นในไทย ในแถบจังหวัดตราด เป็นต้น

แม้ไทยพลัดถิ่นจะหมายถึงคนหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่ในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ไทยพลัดถิ่นที่กล่าวถึงในเอกสารนี้ มุ่งให้หมายถึงเฉพาะกลุ่มไทยพลัดถิ่นในและจากมณฑลตะนาวศรี หรือกลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตมณฑล (จังหวัด) ตะนาวศรีของพม่าในปัจจุบัน และกลุ่มคนไทยที่เดิมอาศัยอยู่ในเขตมณฑลตะนาวศรีของพม่า แต่ปัจจุบันอพยพเข้าสู่สังคมไทยและกลายเป็นไทยพลัดถิ่นในไทย ในเขตจังหวัดชุมพร ระนองและประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ด้วยเหตุผล 2 ประการหลัก คือ (1) ไทยพลัดถิ่นในแต่ละพื้นที่มีอัตลักษณ์ ปัญหา ข้อเรียกร้องและพัฒนาการแตกต่างกัน จึงไม่อาจจะรวมหรือกล่าวถึงโดยรวมได้ และ (2) ผู้เขียนไม่มีข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับไทยพลัดถิ่นกลุ่มอื่นเพียงพอ เพราะมิได้ศึกษา-วิจัย

ไทยพลัดถิ่นในพม่า

ในพม่าไทยพลัดถิ่นถูกเรียกว่าฉ่า” (ไทย) “โยเดียฉ่า” (ไทยอยุธยา) หรือฉ่าปะซู” (ไทยแขก) ที่มิใช่และไม่เป็นพม่า ในเขตพม่าไทยพลัดถิ่นตั้งหลักแหล่งบริเวณเกาะสอง (Kawthaung) ลุ่มแม่น้ำลังเคี๊ยะ (Lenya) ลุ่มแม่น้ำตะนาวศรี (Tennasserim) และลุ่มน้ำกระบุรีหรือปากจั่น และอาศัยอยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชนต่างๆ มากกว่า 100 แห่ง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) ไทยพุทธปักษ์ใต้ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชนหรือหมู่บ้านในและรอบๆ  ตำบลสิงขร ตำบลบกเปี้ยน (Bokpyin) และตำบลมะลิวัลย์หรือมะลิยุน และ (2) ไทยมุสลิม ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณด้านตะวันตกของเกาะสองในชุมชนต่างๆ  เช่น  คลองลามะ เกาะซินตง เจ็ดไม้ แปดไม้ เก้าไม้ สิบไม้ สิบเอ็ดไม้ แหลมแรด หาดยาว บ้านเหนือ ปากคลอง แมะปูเต๊ะ บ้านควน หัวแหลมทราย ช้างพัง และอ่าวจีน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มไทยมุสลิมที่พูดภาษาไทยปักษ์ใต้

ก่อนปี พ.. 2530 กลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตบริเวณเกาะสอง ลุ่มแม่น้ำลังเคี๊ยะ   ตะนาวศรีและลุ่มน้ำกระบุรี มีประมาณ 41, 258 คน แยกเป็นไทยมุสลิมประมาณ 18,280 คน ไทยพุทธ 22, 978 คน (โปรดดู ฐิรวุฒิ เสนาคำ 2550) 

ไทย/สยามอาศัยอยู่ในเขตพม่าในปัจจุบันมายาวนาน โดยเอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีบางชิ้นระบุว่า ตะนาวศรีปรากฏตัวและมีฐานะเป็นอาณาจักรอิสระมาก่อนการเกิดอาณาจักรอยุธยา (Sunait Chutintaranond 2002: 17-18)  เมืองตะนาวศรีก่อตั้งโดยชาวสยาม (Andrew  1962: 279-280; พระบริหารเทพธานี  2541: 325) ในสมัยพระนารายณ์  มะริด-ตะนาวศรีเป็นเมืองที่กษัตริย์สยามตั้งป้อมปราการ คนในมะริดทั้งหมดเป็นทาส ต้องทำงานรับใช้กษัตริย์” (Choisy 1993: 232-237) ประมาณปี พ. . 2228 “…ตะนาวศรีเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์ มีพลเมืองประมาณห้าหกพันครัวซึ่งเป็นชาวสยาม (คณะราชฑูตเปอร์เชีย 2545: 16-18) “เมืองตะนาวศรี เมืองทวายเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเมืองตะนาวศรี ซึ่งอยู่ใต้เมืองทวายลงมาต่อกับเมืองชุมพรไพร่บ้านพลเมืองมีทั้งพวกเม็ง [มอญ] และไทยผู้คนเมืองมะริดที่จริงเคยไปมาหาญาติพี่น้องที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยาเสมอมา” (ดำรงราชานุภาพ 2545: 150 และ 692) เขตตะนาวศรีปี พ.. 2464 มีประชากรประมาณ 1,612,296 คน ประมาณ “19,631 คนพูดภาษาสยาม” (Scott 1999: 115)

กล่าวโดยรวม เอกสารหลักฐานไทยและเทศที่มีอยู่ทำให้เชื่อได้ว่า ไทย/สยามอาศัยอยู่ในเขตมณฑลตะนาวศรีของพม่าในปัจจุบันมาเป็นระยะเวลายาวนาน อย่างน้อยที่สุดก็นับตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ในช่วงปลายการปกครองของอังกฤษเหนือพม่า (ประมาณปี พ.. 2464)  ข้าราชการ/นักวิชาการอังกฤษระบุว่ามีชาวสยามในพม่าประมาณ 19,631 คน (Scott 1999: 115) และเมื่อประมาณกว่าทศวรรษที่ผ่านมา บ. ธรรมบุตร นักวิชาการไทยคนแรกๆ ที่เดินทางเข้าไปศึกษากลุ่มคนไทยในตะนาวศรี-สิงขร ได้บันทึกสิ่งที่เขาพบเห็นไว้ว่า อำเภอตะนาวศรีในช่วงนั้นประกอบด้วย 6 ตำบล ทุกตำบลมีคนไทยอาศัยอยู่ สิงขรเป็นตำบลที่มีคนไทยปักษ์ใต้อาศัยอยู่มากที่สุด หรือเป็นไทยทั้งตำบล คนไทยในเขตเมืองตะนาวศรีและสิงขรมีไม่ต่ำกว่า 30,000 คน (บ. ธรรมบุตร 2544: 122)

การผลิตซ้ำความเป็นไทยในฝั่งพม่า

ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่อาจจะระบุได้แน่ชัดว่า สำนึกความเป็นไทยของไทยพลัดถิ่นเกิดขึ้นเมื่อใด แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กล่าวถึงสำนึกการเป็นคนสยามของสยามในพม่าจากกรณีที่คนสยามในพม่า แต่งเครื่องรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) ตลอดสายน้ำกระบุรี ในคราที่พระองค์เสด็จข้ามแหลมมลายูโดยทางบกไปถึงท่าเรือที่ปากจั่น เมื่อปี พ.ศ. 2423 และจากคำตอบของยาเลสุข (หรือนายสุขจากอำเภอหลังสวน ผู้ข้ามฟากไปเป็นตำรวจในเขตพม่า) ที่ว่า แม้ไทยที่ไปอยู่ในแดนฝรั่งก็ยังเป็นไทย เป็นข้าของพระเจ้าอยู่หัวเหมือนกัน(ดำรงราชานุภาพ 2545: 424-426, เน้นโดยผู้เขียน)

สำนึกความเป็นไทย/สยามสมัยยาเลสุข ถูกสืบทอดและเล่าซ้ำในสมัยของ เจียน ซุยยัง (ก่อนและสงครามโลกครั้งที่ 2)  ความว่า คนฝั่งนั้นร้องเพลง รักเมืองไทย รอที่ไทยจะได้กลับคืน รักเมืองไทย รักในหลวง รูปพระเจ้าอยู่หัวใครมาฝั่งไทยก็เอาไป ติดไว้เทิดทูล ไทยอิสลามก็เอาไปติด สมัย ร. 8 สิ้น เขาร้องเพลง ประเทศไทยสมัย 89 มีเหตุแสนเศร้า วันที่ 19 มิถุนายน มหิดลองค์เจ้าได้สิ้นพระชนม์ เมฆฝนหยาดน้ำตาลงมา เขาผูกพันกับฝั่งนี้ คนฝั่งโน้นเชื่อว่ามะริด ปะลอ ทวาย ตะนาวศรี สิงขรเป็นแผ่นดินไทย...คนไทยจึงอยู่ที่นั่นไม่กลับมา เพราะเขาเชื่อว่า แผ่นดินตรงนั้นจะเปลี่ยนเป็นไทย เมื่อเปลี่ยนรัชกาล เหมือนที่เคยเป็นมา...(เจียน ซุยยัง, สัมภาษณ์) และสืบทอดมาถึงรุ่นผู้ใหญ่และเยาวชนไทยพลัดถิ่นในปัจจุบัน เช่น แผ่นดินตรงนั้นเป็นของไทย แผ่นดินฝั่งนั้นไทยจะต้องเอาคืน พูดกันหลายครั้งเมื่อถูกพม่ารังแกคนไทยฝั่งนั้นไม่เคยคิดจะเป็นพม่า เราไม่เคยเรียนพระตามแบบพม่า เราเป็นไทยอยู่แดนเดิม จะใช้ไทยพลัดถิ่นก็ไม่ได้ เพราะเราอยู่ในแดนเดิมของไทย คนไทยฝั่งนั้นไม่เคยคิดว่าตนเป็นพม่า จะผิดหรือถูกอย่างไรก็ต้องหนีมาไทย มาอยู่ฝั่งไทย เราเป็นคนไทยจะให้เป็นพม่าได้อย่างไร ตะนาวศรี สิงขรไม่ได้เป็นของพม่า เป็นของไทยและเป็นไทยมาโดยตลอด...ปัจจุบันยังมีคนไทยอยู่ในสิงขร ยังเข้ามากันไม่หมด ยังเสียดายแผ่นดินไทย รุ่นผมยังไม่ได้แผ่นดินตรงนั้นเป็นไทย รุ่นลูกรุ่นหลานไม่แน่ แผ่นดินตรงนั้นอาจจะเป็นของไทย (ประทีป ฏิแพทย์, สัมภาษณ์)

ด้วยสำนึกว่าตนเป็นไทย ไทยพลัดถิ่นจึงผลิตซ้ำความเป็นไทยในฝั่งพม่า กล่าวตามข้อเท็จจริงแล้วการผลิตซ้ำความเป็นไทยในฝั่งพม่ามิใช่เรื่องใหม่ ดังเห็นได้จากงานเขียนของ บ. ธรรมบุตร ซึ่งระบุว่า ไทยในตะนาวศรี-สิงขรเป็นเครือญาติกับคนฝั่งไทย ไทยตะนาวศรี-สิงขรเทิดทูล-บูชา-ภักดีต่อพระประมุขของไทย โดยแทบทุกครัวเรือนจะมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชวงศ์ประดับไว้ตามบ้าน ศึกษาเล่าเรียนภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทย ฝากเงินกับธนาคารไทย ใช้เงินไทย และนามสกุลอย่างไทย โดยไทยตะนาวศรี-สิงขรจะใช้นามสกุลเดียวกันกับญาติในฝั่งไทย (บ. ธรรมบุตร  2544: 76) ไทยตะนาวศรี-สิงขรเป็นคนไทยปักษ์ใต้ ใช้ภาษาไทยใต้เป็นภาษาประจำวัน หลายคนเรียนและอ่านหนังสือไทย โดยอาศัยพระภิกษุเปิดสอนในวัด (บ. ธรรมบุตร 2544: 45-55) ไทยตะนาวศรี-สิงขรร้อยละ 95 นับถือศาสนาพุทธ ผู้ชายจะอุปสมบทตามแบบไทย และต้องมาดำเนินการในประเทศไทย ส่วนมากจะมาอุปสมบทที่วัดเกาะหลัก อำเภอเมือง และวัดเขาโบสถ์ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (บ. ธรรมบุตร 2544: 67-69) ตำบลสิงขรเป็นแหล่งคนไทยล้วนๆ เป็นคนปักษ์ใต้ พูดสำเนียงเดียวกันกับไทยปักษ์ใต้ชาวบางสะพาน เพราะเป็นเครือญาติและไปมาค้าขายติดต่อกันมาช้านาน ไทยสิงขรยังคงความเป็นไทยไว้อย่างเหนียวแน่น กุลบุตรไทยในเมืองตะนาวศรี-สิงขรมาบวชเรียนในเมืองไทย คนไทยสิงขรยังรักษาศิลปวัฒนธรรมและประเพณีไทยไว้เป็นอย่างดี แต่ก็รู้จักและเข้าใจความเจริญสมัยใหม่ เพราะได้เข้ามาสัมผัสและพบเห็นในเมืองไทย โดยปกติคนที่นั่นจะต้องมาติดต่อค้าขายและท่องเที่ยวในเมืองไทยอยู่เสมอ คนไทยสิงขรนิยมส่งลูกหลานมาศึกษาเล่าเรียนในเมืองไทย บางคนเข้ามาทำงานในเมืองไทยได้โดยไม่ผิดสังเกต เพราะคนพบเห็นหรือฟังเสียงพูดก็เข้าใจว่าเป็นคนปักษ์ใต้ และคนไทยสิงขรมีความรักและความผูกพันกับแผ่นดินแม่มีความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทย ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยและวัฒนธรรมไทยไว้อย่างเหนียวแน่น วัฒนธรรมไทยเรื่องใดที่สูญหรือเริ่มจะสูญไปจากแผ่นดินไทย ก็ยังอาจหาดูได้ที่นั่น คล้ายจะเป็นตัวแทนของคนไทยย้อยหลังไปประมาณ 50-70 ปีก่อน” (บ. ธรรมบุตร 2544: 105-106)

กลุ่มคนที่ถือตนเป็นไทยในเขตมะลิวัลย์และเกาะสองก็มีลักษณะดุจเดียวกัน คือผลิตซ้ำความเป็นไทยของคนที่ถือตนเป็นไทยในฝั่งพม่าประจักษ์ชัดยิ่งขึ้น เมื่อผู้เขียนเดินทางเข้าไปทำวิจัยภาคสนามฝั่งพม่าวันแรก ณ หมู่บ้านมะลิวัลย์ อำเภอเกาะสอง โดยความเป็นไทยของไทยมะลิวัลย์ปรากฏทั้งที่บ้านและวัด และเริ่มตั้งแต่ป้ายบอกทางเข้าวัด ที่เขียนข้อความภาษาไทยว่า วัด(ไทย)มะลิวัลย์ป้ายวัดขนาดใหญ่ก็เขียนเป็นภาษาไทย วัดไทยมะลิวัลย์ ตัวโตเด่นชัดชัดเจน พร้อมภาษาพม่ากำกับและถอดวงเล็บออกจากคำว่าไทย ป้ายหน้าศาลาการเปรียญมีข้อความภาษาไทยเชิญชวน ยินดีต้อนรับลึกเข้าไปข้างในมีข้อความภาษาไทย “2549 วันเข้าพรรษา 11-7-2006 ในสถานที่แห่งเดียวกันนี้ เราได้พบปฏิทินไทยพระบรมฉายาลักษณ์ ปี พ.ศ. 2546 ที่ยังคงใหม่และสมบูรณ์  พระพุทธรูปที่สร้างถวายโดยพุทธศาสนิกจากฝั่งไทย   ตาลปัตรกฐินสามัคคีทอด ณ วัดไทยมะลิวัลย์ จัดโดยคณะศึกษาและปฏิบัติธรรม ตามพระไตรปิฎกจากกรุงเทพฯ ปฏิทินหลวงปู่ไข่ อินทสโร ป้ายรายนามภาษาไทยของผู้บริจาคที่ดินสร้างวัด ผู้สร้างวัดไทยมะลิวัลย์ และผู้บริจาคให้วัดในกิจการอื่น

บริเวณวัดมีป้ายข้อความเขียนบนแผ่นไม้พื้นสีเขียวและน้ำเงินหลากหลายป้าย เขียนเป็นภาษาไทยและภาษาพม่า ปะติดไว้ตามต้นไม้  เพื่อเชิญชวนทั้งคนไทยและพม่าทำความดี ป้ายข้อความมีอาทิผู้มีปัญญา ย่อมรักษาตนได้ ทำดีไม่ได้ผล เพราะทำตนลุ่มๆ ดอนๆ  เศษแก้วบาดคม เศษคารมบาดใจและรวมถึงการตายที่จารึกความตายด้วยภาษาไทย นอกจากวัตถุที่บ่งบอกความเป็นไทย การบวชของพระในวัดมะลิวัลย์ก็บวชแบบไทย สบงจีวรสีเหลือง พระเณรโกนผม โกนคิ้ว ซึ่งความแตกต่างจากการบวชของพระ-เณรพม่า ที่ห่มสบงจีวรสีแดงเข้ม พระเณรโกนผม แต่ไม่โกนคิ้ว ดังนั้น ในวัดซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ทางวัฒนธรรมนั้น เราจึงได้พบความเป็นไทยทั้งในมิติศาสนาและพระมหากษัตริย์ มิติของภาษา โลกหน้า การบวช การทำบุญและการตายแบบไทยปักษ์ใต้

ไทยพลัดถิ่นสิงขร ยืนยันและจำแนกความแตกต่างระหว่างบ้านคนไทยกับบ้านพม่าว่า  บ้านไหนมีรูปในหลวงคือบ้านคนไทย บ้านพม่าหามีรูปในหลวงไม่ (ประทีป ปฏิแพทย์, สัมภาษณ์) คำกล่าวนี้ได้รับการยืนยันเป็นอย่างดีและชัดเจนในหมู่บ้านมะลิวัลย์ เพราะ ณ ที่แห่งนั้น เราได้พานพบทั้งภาพหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด พระดังผู้มีอิทธิพลสูงล้นต่อคนไทยปักษ์ใต้ พระบรมฉายาลักษณ์ของ สมเด็จพ่อ ร. 5 รูปกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ นาฬิกาเรือนใหญ่ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน และสมเด็จพระราชินี นอกจากพระบรมฉายาลักษณ์และอุปกรณ์เครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์จากฝั่งไทยแล้ว บางบ้านยังมีจานรับคลื่นฟรีทีวี เพื่อติดต่อสื่อสารรายการโทรทัศน์จากฝั่งไทย  บางบ้านมีพัดลม ตู้เย็น เทปบันทึกเสียง โทรทัศน์ ที่ซื้อจากฝั่งไทย เพื่อฟังเพลง ดูข่าว ละคร เกมโชว์จากฝั่งไทย ดูละคร แม้จะอยู่พม่า แต่คนไทยในมะลิวัลย์นิยมส่งลูกทั้งหมดมาเรียนที่ฝั่งไทย  ใช้หยูกยาจากฝั่งไทยอ่านหนังสือและขำแบบไทย ทั้งหนังสือการ์ตูนมหาสนุก ขายหัวเราะ การ์ตูนนิยายเริงรมย์ เช่น ผัวอย่างนี้มีเป็นร้อย, เฮี้ยวสุดๆ รักสุดๆ และ ป่าพิสดาร และรวมถึงอ่านหนังสือ เจริญธรรมภวนา ซึ่งบอกกล่าวเรื่องราวการทำบุญข้ามพรมแดนของคนไทยจากฝั่งไทย เพื่อไปสร้างวัดและพระประธานในวัดมะลิวัลย์

บ้านไทยมะลิวัลย์บางหลังใช้เวลาไทย เร็วกว่าเวลาพม่า 30 นาที ดูเผินๆ เวลาเป็นเรื่องของนาฬิกา แต่เวลาเป็นอะไรอื่นที่มากกว่านาฬิกา เวลาคือมิติของสังคม เป็นจังหวะหรือท่วงทำนองชีวิต การใช้เวลาไทย ย่อมตีความประการหนึ่งได้ว่า คนไทยมะลิวัลย์ ใช้ชีวิตแบบไทย ผูกพันอยู่กับข่าว ทีวี พิธีกรรม หรือวิถีชีวิตแบบไทย มีจินตนาการร่วมกับรัฐและชาติไทย

กล่าวโดยรวม ไทยพลัดถิ่นในพม่าคือ กลุ่มคนที่คิดว่าตนคือคนไทยและผลิตซ้ำความเป็นไทยเรื่อยมา อย่างน้อยที่สุดก็นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

ไทยพลัดถิ่นในไทย

ก่อนการเกิดรัฐ-ชาติหรือรัฐสมัยใหม่ในไทยและพม่า ตะนาวศรี-มะลิวัลย์-ลังเคี๊ยะ-สิงขร-ประจวบ-ชุมพร-ระนอง คือพื้นที่ที่กลุ่มคนไทย/สยาม เคลื่อนย้ายสัมพันธ์ไปมาหาสู่โดยมิได้มีแนวคิดการอพยพข้ามพรมแดนรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง การอพยพข้ามพรมแดนรัฐเพิ่งเกิดขึ้นหลังการปักปันเขตแดนไทย-พม่า และเกิดขึ้นสองครั้งใหญ่ คือ ครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเขตตะนาวศรีเปลี่ยนมือจากการปกครองของอังกฤษสู่พม่า และครั้งที่สองเกิดขึ้นในคราวพม่ากวาดล้างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และขบวนการประชาธิปไตยในพม่า (หรือหลังปี พ.ศ. 2530) กลุ่มผู้อพยพครั้งใหญ่ในครั้งแรกนั้นนำโดยเจียน ซุยยัง และคนกลุ่มนี้ในปัจจุบันมิได้มีตราประทับการเป็นไทยพลัดถิ่นหลงเหลืออยู่ เพราะรัฐไทยในยุคนั้นเปิดให้คนไทยจากฝั่งพม่าทั้งเจียน ซุยยังและพรรคพวกและคนอื่นๆ สามารถเป็นไทย และมีสิทธิการเป็นพลเมืองไทยโดยสมบูรณ์ แต่ผู้อพยพในกลุ่มหลังส่วนใหญ่กลายเป็นไทยพลัดถิ่นในไทยในปัจจุบัน

ปัจจุบัน เรายังไม่อาจจะทราบถึงจำนวนและถิ่นที่อยู่ของไทยพลัดถิ่นได้อย่างแน่ชัดและถูกต้อง  ด้วยเหตุผลประการสำคัญคือ (1) ไม่เคยมีรัฐใดในโลกที่นับจำนวนคนได้อย่างแน่ชัดและถูกต้องแม่นตรง (2) ยังไม่มีการศึกษาและสำรวจไทยพลัดถิ่นอย่างจริงจังและกว้างขวาง และ (3) ไทยพลัดถิ่นจำนวนหนึ่งมิได้เผยตัวว่าเป็นไทยพลัดถิ่น ตัวเลขไทยพลัดถิ่นในไทยปัจจุบันจึงเป็นได้เพียงการประเมิน โดยผู้เขียนประเมินจากการสอบถามไทยพลัดถิ่นจากหลายพื้นที่และผู้ให้ข้อมูล และประเมินว่าไทยพลัดถิ่นในประเทศไทยมีประมาณ 40,000-50,000 คน ทั้งที่อพยพจากฝั่งพม่าและที่เกิดในประเทศไทย

แม้ไม่อาจจะระบุจำนวนได้แน่ชัดและระบุถิ่นที่อยู่ได้ครบทุกที่ แต่ข้อมูลเท่าที่มีพอสรุปแบบแผนการอพยพของไทยพลัดถิ่นกว้างได้ดังนี้คือ (1) กลุ่มไทยพลัดถิ่นในพม่าจากเขตตะนาวศรี-สิงขร ส่วนใหญ่อพยพเข้ามาอาศัย และเป็นไทยพลัดถิ่นในไทยในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอบางสะพานน้อย อำเภอบางสะพานและอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  (2) กลุ่มไทยพลัดถิ่นในพม่าจากลังเคี๊ยะส่วนใหญ่อพยพเข้ามาอาศัย และเป็นไทยพลัดถิ่นในไทยในพื้นที่อำเภอท่าแชะ จังหวัดชุมพร และบางส่วนอพยพไปตั้งหลักแหล่งในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (3) กลุ่มไทยพลัดถิ่นในพม่าจากเขตบกเปี้ยนส่วนใหญ่อพยพเข้ามาอาศัย และเป็นไทยพลัดถิ่นในไทยในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง โดยเฉพาะบริเวณหมู่บ้านที่อยู่ใกล้กับฝั่งแม่น้ำกระบุรีและชายแดนพม่า  และ (4) กลุ่มไทยพลัดถิ่นในพม่าจากเขตมะลิวัลย์และเกาะสองส่วนใหญ่อพยพเข้ามาอาศัย และเป็นไทยพลัดถิ่นในไทยในพื้นที่อำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่นและอำเภอเมือง จังหวัดระนอง

ไทยพลัดถิ่นในไทย ตั้งหลักแหล่งทั้งในเขตเมืองและชนบท และจำแนกได้ 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรก คือ การตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านที่มีญาติของตนอาศัยอยู่ การตั้งหลักแหล่งในกรณีนี้ เห็นได้ชัดจากการตั้งหลักแหล่งของไทยพลัดถิ่นในบ้านไนตะ และอีกหลายหมู่บ้านที่ติดชายแดนในอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ลักษณะที่สองคือ การตั้งถิ่นฐานรวมกลุ่มอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกันของไทยพลัดถิ่น ซึ่งพบในหลายชุมชน ทั้งในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและระนอง และพบทั้งการตั้งถิ่นฐานในเขตชนบทและในเขตเมือง ตัวอย่างการตั้งถิ่นฐานในลักษณะนี้มีอาทิ ชุมชนไทยพลัดถิ่นด่านสิงขร บ้านคลองลอย ชุมชนซอยสิบ และเกาะสินไห (โปรดดูเพิ่มเติมใน ฐิรวุฒิ เสนาคำ 2550)

การไม่ได้เป็นไทยของไทยพลัดถิ่นในไทย

พรมแดนไทย-พม่าจากเหนือจรดใต้ใช้สันเขาและล่องน้ำลึกเป็นเส้นแบ่ง แต่การใช้ปากกาขีดแบ่งได้นำมาซึ่งการตัดแยกเครือข่าย สายใยสัมพันธ์ของกลุ่มคนและชาติพันธุ์เดียวกันออกจากกัน ไม่ว่าคนกลุ่มนั้นจะเป็นฉาน กะเหรี่ยง มอญ อาข่า และสยามปักษ์ใต้ การเจรจาเพื่อใช้ปากกาขีดแบ่งดินแดนระหว่างสยามกับอังกฤษ เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม พ.. 2369 และอีกหลายครั้ง และครั้งสุดท้ายในวันที่ 1 มกราคม 2489 หรือ 2 ปีก่อนที่พม่าจะได้รับอิสรภาพ (GFGBIR 1966: 1-10)

  อย่างไรก็ตาม การขีดแบ่งพรมแดนมิได้ทำให้ไทยหรือสยามในฝั่งพม่ากลายเป็นไทยพลัดถิ่นในพม่าโดยฉับพลันและมิได้ทำให้ไทย หรือสยามที่อพยพจากฝั่งพม่ากลายเป็นไทยพลัดถิ่นในไทยโดยฉับพลันเช่นกัน ทั้งนี้อาจจะด้วยเห็นผลหลายประการ

ประการแรก ผู้นำรัฐไทยในอดีตมิได้คิดเรื่องชาติและความเป็นไทยหรือสยามอย่างที่ผู้นำรัฐไทยในยุคหลังเข้าใจ เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 6 ผู้นำรัฐไทยนิยามชาติเท่ากับผู้ที่ภักดีต่อกษัตริย์สยาม ชาวสยามคือ คนที่พูดภาษาสยาม การนิยามชาติและชาวสยามเช่นนี้ ไทย/สยามที่มาจากฝั่งพม่าในสมัยรัชกาลที่ 6 อย่างยาเลสุขและนายไพบุตรชายยาเลสุขจึงสามารถเป็นไทย สามารถอยู่เมืองไทยและรับราชการไทยในกรุงเทพฯ ได้ดุจเดียวกับคนไทยในฝั่งไทย (โปรดดูเรื่องของยาสุขและนายไพใน ดำรงราชานุภาพ 2545ข) การเข้าใจว่าไทยหรือสยามเท่ากับคนที่พูดภาษาสยาม/ไทยอาจจะสืบเนื่องมาจนถึงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะในยุคนั้นยังปรากฏว่าไทยหรือสยามที่มาจากฝั่งพม่า ยังสามารถเป็นพลเมืองไทยได้โดยสมบูรณ ดังจะเห็นได้ชัดจากรณีของเจียน ซุยยังกับเพื่อนบ้านประมาณ 80 ครอบครัวอพยพจากบกเปี้ยนเข้ามาอาศัยอยู่ในฝั่งไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และทั้งหมดมีบัตรประชาชนไทย (เมื่อรัฐไทยประกาศให้มีการทำบัตรประชาชนในพื้นที่) และมีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยในฝั่งไทย

ประการที่สอง รัฐไทยในอดีตมิได้มีนโยบายควบคุมจำนวนประชากร เพราะประชากรต่อหน่วยพื้นที่บางเบา กล่าวคือ สมัยรัฐกาลที่ 6 รัฐสยามมีประชากรเพียงประมาณ 8 ล้านคน ปี พ.ศ. 2490 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามประชากรสยามเพิ่มขึ้นเพียง 17.4 ล้านคน ซึ่งจอมพล ป. เห็นว่าไม่เพียงพอสำหรับการสร้างมหาอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของไทย (คูซาคาเบ้ 2549: 26) และนั่นอาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เจียน ซุยยังและพรรคพวกสามารถเป็นไทยได้โดยสมบูรณ์

ประการที่สาม รัฐไทยในอดีตมิได้มีเครื่องมืดจำแนกบุคคลอย่างระเอียดถี่ถ้วนและมิได้เข้มงวดเรื่องสัญชาติกับการเป็นพลเมือง เช่น รัฐไทยเพิ่งประกาศใช้พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน  ในปี พ.ศ. 2486 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ฉบับแรกยังไม่ประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร และที่สำคัญยิ่งก็คือ ไม่ได้กำหนดว่าผู้ถือบัตรประชาชนไทยต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย บัตรประจำตัวประชาชนเพิ่งเริ่มมีบทบาทในการกำหนดความเป็นไทยและไม่เป็นไทยของไทยพลัดถิ่นหลังปี 2506 เป็นต้นมา โดยในปี 2505 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ตราและประกาศใช้พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่ที่กำหนดให้ผู้ที่จะมีบัตรประชาชนไทย ต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย

กล่าว ในแง่นี้แล้ว การไม่เป็นไทย การไม่เป็นพลเมืองไทยของไทยพลัดถิ่นจึงเป็นเรื่องใหม่และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคเวลาที่ใกล้กับปัจจุบัน โดยในแง่กฎหมาย การสกัดกั้นมิให้ไทยพลัดถิ่นเป็นไทยเริ่มปรากฏหลังจากที่รัฐไทยออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 และเด่นชัดมากขึ้นหลังการมีประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2519

กระนั้นก็ตาม การไม่สามารถเป็นไทยของไทยพลัดถิ่น ทั้งในแง่กฎหมายและชีวิตประจำวัน เพิ่งปรากฏเด่นชัดน

หมายเลขบันทึก: 287027เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2009 00:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท