บทที่ 4 -- การสร้างองค์ความรู้ใหม่และพัฒนาองค์ความรู้เก่า (1)


1.      ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของกิจกรรม

 

จากแม่อาย...ถึงอันดามัน

ตอน ถึงเวลาเริ่มนับหนึ่ง กับ กฎหมายว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น

โดย ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว[1]

 

จากแม่อาย....

เกือบ7 ปี ที่แล้ว ชาวแม่อาย 1,243 คน ต้องเผชิญกับ “โศกนาฏกรรม” ครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อถูกอำเภอแม่อายถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร (ท.ร.14) ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2545 โดยให้เหตุผลว่า คนเหล่านี้เป็นคนต่างด้าว และมีการทุจริตในการออกบัตรประจำตัวประชาชน ต้องเปลี่ยนสถานะจาก คนสัญชาติไทยสู่ คนต่างด้าว และสิ่งที่ตามมาจากนั้นคือความยากลำบากต่างๆ ที่ประเดประดังเข้ามาสู่เงื่อนไขของแต่ละชีวิต

8 กันยายน พ.ศ.2548  เสียงเพลงชาติไทยและเพลงสรรเสริญพระบารมี ดังกระหึ่มก้อง เมื่อศาลปกครองสุงสุดได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศอำเภอแม่อาย นั่นคือให้เพิ่มชื่อของทั้งหมดกลับเข้าสู่ ท.ร.14 คือเป็นผู้มีสัญชาติไทยจนกว่าอำเภอแม่อายจะสามารถพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น แต่หนทางกลับคืนสู่ความเป็นไทยนั้นก็ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่คิดและควรจะเป็น เพราะทางอำเภอได้ผลักภาระการพิสูจน์สัญชาติไปให้ชาวบ้านที่ต้องทุกข์จากการเสียสิทธิในสัญชาติไทยไปแล้วกว่า 3 ปี ต้องทุกข์เพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงปัญหาอื่นๆโดยเฉพาะการทวงถามถึงสิทธิที่หล่นหายไป ที่ยังต้องใช้ระยะเวลาและต้องออกแรงกันอีกครั้ง ไปจนถึงกระบวนการเยียวยาต่างๆที่เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่ากัน

ปี 2551การต่อสู้ครั้งใหม่ของชาวบ้านแม่อายจึงได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ในรูปแบบห้องเรียนการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย[2]เพื่อหว่านกล้าเมล็ดพันธุ์แห่งความเข้มแข็งให้กับเยาวชนที่เป็นผู้มีปัญหา ไปสู่ผู้รู้ปัญหา และใช้สองมือน้อยๆนั้นพยุงตนเองและคนรอบข้างสู่ทางออก

และเพื่อสร้างต้นแบบในการแก้ไขปัญหาที่ใช้ชุมชนแม่อายเป็นต้นแบบ เรียกสั้นๆว่า ห้าคูณหก (5 x 6) โดย ห้า นั้นหมายถึง การจำแนกประชากรที่มีปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทยออกเป็น 5 กลุ่ม โดยใช้กฎหมายการทะเบียนราษฎร ทั้งนี้เพื่อที่จะคูณ หก อันหมายถึง 6 แนวคิดในการจัดการปัญหาให้คลี่คลาย กล่าวคือ คิดวิธีการที่จะทำให้ “คนที่มีปัญหาสถานะบุคคล” เป็น “คนไม่มีปัญหาสถานะบุคคล” หรือ วิธีการที่ทำให้ “คนไร้รัฐ” เป็น “คนมีรัฐ” หรือวิธีการที่ทำให้ “คนไร้สัญชาติ” เป็น “คนมีสัญชาติ” หรือวิธีการที่ทำให้ “คนที่ผิดกฎหมายคนเข้าเมือง” เป็น “คนที่ถูกกฎหมายคนเข้าเมือง” [3]

 

...ถึงอันดามัน

          ห่างลงไปร่วม 1,500 กิโลเมตร การพลิกฟื้นชุมชน และจิตใจของผู้คนในแถบอันดามัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากพิบัติภัยครั้งยิ่งใหญ่ในนาม สึนามิ เดินหน้ามาอย่างต่อเนื่องนั้น ร่อยรอยหนึ่งที่ปรากฎขึ้นและยังรอการเยียวยาแก้ไขคือ การปรากฏตัวขึ้นของ คนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ  ซึ่งพบว่ามีทั้ง คนสัญชาติไทยที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร  คนเชื้อสายไทยจากประเทศพม่าคนเล(มอแกน มอเกล็น อุลักลาโว้ย) คนกะเหรี่ยง  คนต่างด้าว(พม่า ลาว มอญ)  ไปจนถึงคนที่สืบค้นรากเหง้าตัวเองไม่ได้  ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้มีมาก่อนเหตุการณ์คลื่นสึนามิ เพียงแต่เหตุการณ์นี้ได้ทำให้พวกเขาถูกมองเห็น

อย่างไรก็ตามความพยายามในการแก้ไขปัญหา คนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติในพื้นที่อันดามันนั้น ก็มีมาโดยตลอด ทั้งจากนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งมีเพิ่มมากขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิ ไปจนถึงเจ้าของปัญหาเอง และเครือข่ายของผู้ประสบปัญหาเอง แต่ปัญหาก็ยังไม่คลี่คลายไปเท่าที่ควร

ในขณะเดียวกันคณะทำงาน[4]ซึ่งได้รับรู้สภาพปัญหาพื้นที่อันดามันจากการลงพื้นที่และการทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ จึงเห็นว่า ต้นแบบ ที่ถักทอขึ้นที่แม่อายนั้น ควรเดินทางมา สู่อันดามัน เพื่อเป็นบททดสอบของต้นแบบและพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อไป ก่อเกิด โครงการขยายองค์ความรู้แม่อายสู่อันดามันเพื่อการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่อันดามัน

อันประกอบไปด้วยกิจกรรม หนึ่ง- การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ : การจำแนกบุคคลที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล  สอง-การติดตามความคืบหน้ากรณีศึกษาตัวอย่างจากโครงการวิจัยเพื่อสำรวจสถานการณ์และศึกษาความเป็นไปได้ในการขจัดปัญหาการจดทะเบียนการเกิดและปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ สาม-การเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตรกับเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ภาคใต้ (อันดามัน) สี่-เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการปัญหา (Forum for Cases Solution)”  และสุดท้าย-- การจัดทำหนังสือ (Pocket Book)”  และ การจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน (Manual)”

 

ถึงเวลาเริ่มนับหนึ่ง กับ กฎหมายว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น

 

คนที่มีความสำนึกว่าตนเองเป็นคนไทย เช่น คนไทยพลัดถิ่น จะมีความรู้สึกเจ็บปวดใจมาก เมื่อถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนจากการไม่มีสถานะบุคคลในประเทศไทย เพราะรู้สึกเหมือนลูกที่พ่อแม่ไม่ยอมรับ และต้องตกระกำลำบากไร้ที่พึ่ง   สถานการณ์ด้านข้อเท็จจริง ข้อ 5 เกี่ยวกับสถานะและสิทธิของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ที่สังคมควรรับรู้ [5]

 

คนไทยพลัดถิ่น หรือ คนไทยถิ่นพลัด หรือที่ทางราชการเรียกว่า ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย คือกลุ่มคนเชื้อสายไทยที่ติดไปกับดินแดนที่เสียให้กับอังกฤษ ได้แก่ พื้นที่เมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี หรือกลุ่มคนไทยที่เข้าไปทำมาหากินในพม่าและได้หลบหนีกลับเข้ามาในประเทศไทยในช่วงเวลาต่างๆนับตั้งแต่ยุคการปราบปรามชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลพม่า เรื่อยมาจนปัจจุบัน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดตาก ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา ในปัจจุบัน

การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของคนไทยพลัดถิ่นที่ผ่านมา คือให้แปลงสัญชาติไทยแก่ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย ที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติไว้แล้ว จำนวน 7,849 คน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดตาก ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง เป็นกรณีพิเศษ ตามมติครม. 27 พฤษภาคม 2540

แม้ว่าจะมีคนไทยพลัดถิ่นในหลายพื้นที่ยินยอมในแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ก็ได้รับการปฏิเสธอย่างแข็งขันจาก โครงการการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์เนื่องจาก การแปลงสัญชาตินั้นเท่ากับเป็นการยอมรับว่าตนมีสัญชาติพม่าหรือไม่มีสัญชาติไทยมาก่อน และยังถูกจำกัดสิทธิหลายประการ นอกจากนี้ยังมีคนไทยพลัดถิ่นจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาอาศัยและได้สร้างครอบครัวมีลูกหลานมากมายในประเทศไทยภายหลังจากการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติ จนมีการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความมีสัญชาติไทยแต่บรรพบุรุษ โดยการขอ คืนสัญชาติไทย

ดังนั้นจึงเกิดเป็นแนวคิดในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการจัดการปัญหาสถานะบุคคลสำหรับคนไทยพลัดถิ่นโดยพัฒนาจากองค์ความรู้เก่าที่หลายๆ ฝ่ายได้ทำการศึกษาวิจัยมาตลอด ประกอบกับยุทธศาสตร์จัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2548 เองก็ให้ความสำคัญกับคนเชื้อสายไทยกลุ่มนี้ รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่เห็นควรมีการยกร่างพระราชบัญญัติเพื่อคืนสัญชาติให้แก่คนไทยพลัดถิ่น

โครงการขยายองค์ความรู้แม่อายสู่อันดามันฯ ภายใต้กิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการปัญหา (Forum for Cases Solution)” จึงกำหนดจัดเวทีสัมมนาทางวิชาการเพื่อการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันจากหลายๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาควิชาการ ภาคการเมือง ภาคราชการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาคสื่อมวลชน เป็นต้น เพื่อเป็นจุดเริ่มอันจะนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาของ “คนไทยถิ่นพลัด” ต่อไป



[1] ผู้ประสานงานสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch for Research and Development Institute of Thailand) หรือ SWIT

[2] ห้องเรียนในการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ภายใต้โครงการต่อยอดคลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิของบุคคล) อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ จัดการโครงการ โดย อาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล และ อาจารย์สิทธิพร ภู่นริศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ และ สนับสนุนโครงการ โดย ยูนิเซฟ ประเทศไทย

[3] อ่าน  “ห้าคูณหก : สูตรคูณความคิดและปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย” ตอนที่หนึ่ง ห้าคือใคร? โดย นางสาวดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล วันที่ 26ธันวาคม พ.ศ.2551 http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=435&d_id=434

[4] คณะทำงาน(เป็นหนึ่งในทีมงานในการจัดห้องเรียนแม่อาย)ได้แก่ นางสาวบงกช นภาอัมพร นางสาวอัจฉรา สุทธิสุนทรินทร์  นางสาวกิติวรญา รัตนมณี  ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ  ได้แก่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางสาวดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ  นางสาววรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยพายัพ  นางสาวสรินยา กิจประยูร มูลนิธิดวงใจพ่อ และนายชุติ งามอุรุเลิศสำนักงานกฎหมายธรรมสติ  สนับสนุนงบประมาณ  โดย มูลนิธิเอเชีย

[5] ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยเพื่อสำรวจสถานการณ์และศึกษาความเป็นไปได้ในการขจัดปัญหาการจดทะเบียนการเกิดและปัญหาสถานะบุคคลของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ  ภายใต้การกำกับดูแลโดย มูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก (FACE) และสนับสนุนการวิจัยโดย องค์การแพลน ประเทศไทย (PLAN)

หมายเลขบันทึก: 287019เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2009 00:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท