บทที่ 2 -- การถ่ายทอดองค์ความรู้จากแม่อายสู่อันดามัน (2 - V-VII)


2.      องค์ความรู้ในการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ถูกนำมาถ่ายทอด

 

ห้าคูณหก : สูตรคูณความคิดและปฏิบัติการ

เพื่อการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย[1]

ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล[2]

ห้า

หกหมายถึง 6 ขั้นตอนการจัดการปัญหาสถานะบุคคลของแต่ละคน

 

พฤษภาคม  2551[3] ในตัวอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

 ..สังคายนากฎหมายถูกใช้เป็นหัวข้อการคุยและแลกเปลี่ยนระหว่างอาจารย์แหวว ลูกศิษย์และคนทำงานด้านสถานะบุคคล มันเป็นการทดสอบแนวคิดใหม่ถึงขั้นตอนการจัดการปัญหาสถานะบุคคล[4] ..คล้ายๆ กับการเดินไปตามขั้นบันได เพราะมันเป็น 6 ขั้นตอนที่ต้องเดิน (หรือทำ) เพื่อไปให้ถึงการจัดการปัญหาสถานะบุคคลของแต่ละคน และระหว่างการเดินไปตามทั้ง 6 ขั้นตอน คำที่ต้องท่องให้ขึ้นใจหรือคีย์เวิร์ดที่สำคัญก็คือ “ตรวจสอบ” และ “บันทึก”

หก

ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหนของ ห้าเอามาคูณด้วย หกแต่ละตัว

คูณด้วยหก-ตัวแรก: ตรวจสอบข้อเท็จจริงของบุคคล

 “การรู้จักตัวเอง” คือจุดเริ่มต้นง่ายๆ ของการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล ..คำถามที่เจ้าของปัญหา รวมถึงคนที่คิดจะยื่นมือให้ความช่วยเหลือต้องตอบให้ได้ก็คือ เจ้าของปัญหาเป็นใคร? และข้อมูลส่วนบุคคลที่รอบด้าน - ทั้งในแง่ของพื้นที่และเวลา (ที่ไหนและเมื่อไร?) นับตั้งแต่เกิด หรือเข้าเมืองมายังรัฐไทย คนในครอบครัว เอกสารทุกฉบับ พยานบุคคลและพยานหลักฐานทุกชิ้น - มีอะไรบ้าง?

ความสามารถในการไล่เรียงประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล การกลั่นกรอง - ตรวจสอบความถูกต้อง ความเชื่อมโยง ความสมเหตุสมผล การบันทึกออกมาเป็นตัวหนังสือ ..พูดได้ว่า - เป็นทั้งทักษะ ความรู้และประสบการณ์ที่ต้องฝึกฝน

คูณด้วยหก-ตัวที่สอง: ตรวจสอบข้อกฎหมายและนโยบาย

อีกเรื่องที่คนทำงานด้านสถานะบุคคลตระหนักดีก็คือ สถานะบุคคลของแต่ละคนจะเป็นอย่างไรนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคลแล้ว อีกด้านหนึ่งก็คือมันจะเป็นไปตามกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง (กฎหมายและนโยบายด้านสัญชาติ การทะเบียนราษฎร คนเข้าเมือง รวมไปถึงรัฐธรรมนูญ) และบังคับอยู่ใช้ในแต่ละช่วงเวลาที่บุคคลเกิดและ/หรือปรากฏตัวในรัฐไทย

ความถูกต้องและแม่นยำในข้อกฎหมายและนโยบายจึงเป็นท่าบังคับที่สำคัญ

คูณด้วยหก-ตัวที่สาม-ตรวจสอบการกำหนดและพัฒนาสถานะ, ตัวที่สี่-การเสียสถานะ และตัวที่ห้า-การกลับคืนสถานะ

ผลของการคูณด้วยหกตัวที่สามถึงห้า กล่าวได้ว่า มันก็คือผลจากการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่าเจ้าของปัญหาคนๆ หนึ่ง ภายใต้ข้อเท็จจริงของเขา ภายใต้กฎหมาย นโยบายที่เกี่ยวข้องในแต่ละช่วงเวลา เขาจะได้รับการกำหนดสถานะบุคคลเป็นอย่างไร? ..เจ้าของปัญหาอาจจะมีสถานะบุคคลเป็น-คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยชอบด้วยกฎหมาย/ไม่ชอบด้วยกฎหมาย, คนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยอยู่ถาวร/ชั่วคราว โดยผลของกฎหมาย/นโยบาย หรือผู้มีสัญชาติไทย

คำตอบต่อไปก็คือ ต่อสถานะบุคคลที่เจ้าของปัญหาเป็นอยู่-เขาหรือเธอจะสามารถพัฒนาสถานะให้ดีขึ้นไปกว่าเดิมได้อย่างไร, และหากต่อไปเจ้าของปัญหาต้องเสียสถานะบุคคลที่มีอยู่ เขาหรือเธอจะขยับไปมีสถานะบุคคลแบบไหน แล้วจะมีโอกาสได้สถานะบุคคลนั้นกลับคืนหรือไม่ อย่างไร โดยวิธีใด ภายใต้กฎหมายและนโยบายอะไร และที่สำคัญภายใต้ข้อเท็จจริงของบุคคลลักษณะใด พยานหลักฐานอะไรบ้างที่ต้องมี

พูดได้อีกอย่างว่า-มันคือการประมวลผล บนฐานความรู้และประสบการณ์ ..และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะชี้ให้ชัดขึ้นว่า-ชีวิตหนึ่งๆ ที่ไร้รัฐไร้สัญชาติในรัฐไทยแห่งนี้จะมีโอกาส และใช้ระยะเวลาอีกมากน้อยแค่ไหนที่จะเป็นบุคคลไม่ไร้สถานะทางทะเบียน, ไม่ไร้รัฐ รวมถึงไม่ไร้สัญชาติ

นอกจากนี้ มันยังเป็นขั้นตอนที่สะท้อนกลับไปด้วยว่า-ข้อเท็จจริงส่วนบุคคลที่เก็บมา ข้อกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของปัญหานั้น ครบถ้วนแล้วหรือไม่

คูณด้วยหก-ตัวที่หก: ตรวจสอบขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

เมื่อข้อเท็จจริงของเจ้าของปัญหา เป็นไปตามองค์ประกอบของสถานะบุคคลที่ข้อกฎหมายและนโยบายกำหนดไว้ แต่กฎหมายและนโยบายนั้นๆ กลับไม่ถูกบังคับใช้แก่เจ้าของปัญหา หรือนำกฎหมายและนโยบายอื่นๆ มาบังคับใช้แก่เจ้าของปัญหา เจ้าของปัญหาจึงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในสถานะบุคคลได้อย่างถูกต้อง ตรงกับข้อเท็จจริงของตนเอง ในทางกฎหมายมันหมายถึงการละเมิดสิทธิแบบหนึ่ง

..ถ้ามองด้วยมุมมองเดิมๆ ที่คนทั่วไปคุ้นชิน กระบวนการยุติธรรมย่อมหมายถึงการไปศาล ซึ่งแน่นอนว่า-ไม่ว่าจะคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีปกครอง -การไปศาล มักเป็นหนทางสุดท้ายเสมอ-ที่ใครสักคนจะตัดสินใจเลือกเดิน (กรณีคดีจอบิ และคดีแม่อาย) เว้นเสียแต่ว่าเป็นกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ เจ้าของปัญหาถูกฟ้องเป็นจำเลยเสียเอง

มองจากมุมมองใหม่ที่อาจารย์แหวว พยายามเสนอ ท้าทายเพื่อเป็นทางเลือก ก็คือ กระบวนการยุติธรรมนอกห้องพิจารณาคดีหรือนอกศาล ด้วยเพราะการโต้แย้งเพื่อยืนยันในสิทธิตามกฎหมายที่คนๆ หนึ่งมีนั้น สามารถทำได้ในหลากหลายรูปแบบ ..การโต้แย้งโดยตรงต่อหน่วยงานที่กระทำละเมิด การสื่อสารสาธารณะออกไปถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น[5] ฯลฯ ไปจนถึงการนำข้อพิพาทไปฟ้องร้องต่อศาล ล้วนแล้วแต่เป็นความพยายามที่คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมไทย อย่างกรณีคนไร้รัฐไร้สัญชาติก็สามารถลงมือทำได้ ..มันเป็นเรื่องของการยืนยันในสิทธิที่แต่ละคนมี ซึ่งได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย และหากจะมองให้พ้นไปจากแต่ละปัจเจกบุคคล-มันยังอาจหมายถึงการลงมือผลักดัน-สร้างให้เกิดบรรทัดฐานเดียว

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรมในหรือนอกห้องพิจารณาคดี ..สาระแห่งสิทธิ รวมไปถึงวิธีพิจารณาความเป็นเรื่องที่ต้องหนักแน่นและแม่นยำ ..มันเป็นทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้ ค้นคว้าและสั่งสม

เจ็ด

5 x 6 = สูตรที่ยังต้องการการทดสอบและถอดบทเรียน

ไม่มีใครเถียง-ประเด็นสถานะบุคคลนั้นไม่ง่าย ทั้งยังอาจทำให้ใครหลายคนสะเทือนใจ ด้วยผลของสถานะบุคคลตามกฎหมายที่แตกต่าง ช่างส่งผลกระทบทั้งกว้างและลึกทั้งภายนอกร่างกายและภายในใจของแต่ละคน ..มันเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำใจให้ยอมรับว่า-เพียงแค่ก้าวข้ามเส้นสมมติที่เรียกว่าพรมแดน สถานะบุคคลของแต่ละคนก็กลายเป็นความแตกต่างอย่าง สิ้นเชิง (หรือเกือบๆ) เพียงเพราะข้อเท็จจริงของแต่ละคนที่ถูกกำกับโดยกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องนั้นแตกต่างกัน

ท่ามกลางปัญหาที่ดำรงอยู่ ทั้งยังปรับตัวไปตามวันเวลาของโลกที่ไม่รู้จักหยุดนิ่ง กับปลายทางที่ออกจะโรแมนซ์แบบห้วนๆ ที่ว่า “อยากเห็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติคนสุดท้าย ไปจนถึงการมี 2 สัญชาติ หรือ 2 รัฐ” อีกด้านหนึ่ง คงต้องสะท้อนด้วยเช่นกันว่า ไม่มากก็น้อย-มันยังหมายถึงปรากฏการณ์หนึ่งที่นำไปสู่อีกปรากฏการณ์อื่นๆ ที่มากกว่าหนึ่ง

กล่าวได้ว่ามันเป็นอีกเรื่องราวที่จุดการเริ่มต้นใหม่ๆ ทั้งในเชิงความรู้และความหวังให้ทั้งกับคนทำงานและเจ้าของปัญหาเอง

ทุกเรื่องราวต้องการทั้งความรู้และจินตนาการเป็นแรงขับเคลื่อน มันจะช่วยนำเราไปสู่โจทย์ใหม่ๆ เพื่อการแก้ไขปัญหา ทั้งโดยตัวของมันเองก็ยังต้องการการทดสอบ การถอดบทเรียน เพื่อการปรับปรุงเป็นโจทย์ใหม่ๆ ต่อไป จนกว่าปัญหาจะจบ ..ถ้าเป้าหมายเรายังเหมือนกันกับความแตกต่างที่เราต่างมี นี่-คือคำถาม-เราพร้อมที่จะเรียนรู้จักสูตร 5 x 6 นี้ไปด้วยกันหรือเปล่า?



[1]บทความวิชาการเพื่อนำเสนอแนวคิดด้านวิธีวิทยาเกี่ยวกับการจัดการประชากรตามกฎหมายไทยสำหรับคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติบนฝั่งทะเลอันดามัน  ฉบับวันที่ 14 เมษายน 2552 โดย(1) ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล (2) วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล  และ (3) พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ผู้สร้างสรรค์และพัฒนาแนวคิดนี้ ก็คือ (1) รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร (2) อาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล (3) อาจารย์ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล (4) อาจารย์ชุติ งามอุรุเลิศ (5) อาจารย์สรินยา กิจประยูร (6) อาจารย์กานต์ เสริมชัยวงศ์ (7) อาจารย์สิทธิพร ภู่นริศ (8) อาจารย์ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง (9) อาจารย์ธนาสิทธิ์ สุวรรณประทีป (10) อาจารย์อัจฉรา สุทธิสุนทรินทร์ (11) อาจารย์กิติวรญา รัตนมณี (12) อาจารย์อดิศร เกิดมงคล (13) อาจารย์วีรวัฒน์ ตันปิชาติ (14) อาจารย์วีนัส สีสุข (15) อาจารย์อุดมเขต ราษฎร์นุ้ย (16) อาจารย์บงกช นภาอัมพร (17) อาจารย์บุญ อินหลู่ พงษ์มา (18) อาจารย์ใสแดง แก้วธรรม (19) อาจารย์สุ ดวงใจ

[2] ขอบคุณกิติวรญา รัตนมณี อดิศร เกิดมงคลและอัจฉรา  โดยเฉพาะกานต์ เสริมชัยวงศ์ ที่ช่วยอ่านและท้วงติงงานนี้อย่างละเอียด

[3] โครงการสังคายนากฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการจัดการประชากร ครั้งที่ 1  ระหว่างวันที่ 3-4 พฤษภาคม 2551 ณ โรงแรมริมกก รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรแพลน ประเทศไทย

[4] ผู้ถูกวางตัวให้เป็นผู้รับผิดชอบการทดสอบแนวคิดเรื่อง หกได้แก่ 6 ตัวแรก-สรินยา กิจประยูร, 6 ตัวที่สอง-กานต์ เสริมชัยวงศ์, 6 ตัวที่สาม-รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร , 6 ตัวที่สี่และห้า-ชุติ งามอุรุเลิศ และ 6 ตัวสุดท้าย-ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล

[5] หนังสือจากโครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch) ขอให้โรงพยาบาลสบเมยชี้แจงและความเห็นทางกฎหมายเพื่อหารือกรณีปฎิเสธสิทธิในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของมึดา นาวานาถ http://statelesswatch.files.wordpress.com/2008/12/2551-12-26-legalopiniononr2health-muedacase_final.pdf, หนังสือขอให้เขตจตุจักรชี้แจงและความเห็นทางกฎหมายเพื่อหารือกรณีปฏิเสธสิทธิการเลือกตั้งของฟองจันทร์ สุขเสน่ห์ http://statelesswatch.files.wordpress.com/2009/01/2552-2-8-stw-fongchan-e0b89be0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b899e0b881e0b881e0b895.pdf

คำสำคัญ (Tags): #อันดามัน#แม่อาย
หมายเลขบันทึก: 287012เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2009 00:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท