บทที่ 2 -- การถ่ายทอดองค์ความรู้จากแม่อายสู่อันดามัน (2 - IV)


2.      องค์ความรู้ในการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ถูกนำมาถ่ายทอด

 

ห้าคูณหก : สูตรคูณความคิดและปฏิบัติการ

เพื่อการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย[1]

ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล[2]

สี่

ห้า หมายถึง คน 5 กลุ่ม

กลุ่ม 1-คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล

คนไม่มีบัตรหรือเอกสารแสดงตนอะไรเลย สังคมไทยถูกแนะนำให้รู้จักคนกลุ่มนี้ว่าหมายถึง คนไร้รัฐ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ถูกบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดในโลก ไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐใดเลย ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก มองผ่านสถานะทางทะเบียนราษฎร คนกลุ่มนี้จึงเป็นคนไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร สถานะบุคคลตามกฎหมายที่ตามมาก็คือคนกลุ่มนี้ถูกถือว่าเป็นคนต่างด้าวและคนเข้าเมืองผิดกฎหมายในรัฐไทย (มาตรา 57 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522) รวมถึงเป็นคนต่างด้าวและเข้าเมืองผิดกฎหมายในทุกรัฐในโลก

แนวทางการพัฒนาสถานะบุคคล ...ต้องขจัดความไร้รัฐ

·      คนกลุ่มนี้จะต้องได้รับการขจัดความไร้รัฐ กฎหมาย (มาตรา 38 แห่ง พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2551) ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล (ตามมติคณะรัฐมนตรี 18 มกราคม 2548) และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน 2548  กำหนดให้กรมการปกครองจะต้องจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ทางปฏิบัติก็คือ คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลจะต้องได้รับการสำรวจและบันทึกในแบบพิมพ์ประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร. 38 ก.) และ ถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ขึ้นต้นด้วยเลข 0)

·              กรณีเด็ก เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กไร้เอกสารพิสูจน์ตน

- เด็กทุกคนที่เกิดที่โรงพยาบาล พ่อ-แม่-ญาติของเด็กจะต้องทวงถามหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) จากสถานพยาบาล และจะต้องนำ ท.ร. 1/1 ไปยื่นต่ออำเภอเพื่อขอแจ้งเกิด ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับการจดทะเบียนการเกิดและได้รับสูติบัตร

- เด็กทุกคนที่เกิดนอกโรงพยาบาล ทั้งที่เกิดที่บ้านหรือนอกบ้าน  ผู้ดูแลควรแจ้งการเกิดของเด็กต่อผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน เพื่อรับใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร. 1 ตอนหน้า) และจะต้องนำท.ร. 1 ตอนหน้าไปยื่นต่ออำเภอเพื่อขอแจ้งเกิด ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับการจดทะเบียนการเกิดและได้รับสูติบัตร

- เด็กที่เกิดจากพ่อ-แม่ไทย รวมถึงเด็กที่เกิดจากพ่อและแม่ซึ่งมีสิทธิอาศัยถาวร จะได้รับสูติบัตรประเภท ท.ร. 1 (กรณีแจ้งเกิดภายใน 15 วัน) ท.ร. 2 (กรณีแจ้งเกิดเกิน 15 วัน)

- เด็กที่เกิดจากพ่อแม่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว จะได้รับสูติบัตรประเภท ท.ร. 3

- เด็กของบุคคลที่ถือบัตรเลข 0 จะได้รับการออกสูติบัตรประเภท ท.ร. 031

- เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นแรงงานสัญชาติพม่า ลาวหรือกัมพูชาที่มีใบอนุญาตทำงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนขอรับใบอนุญาต จะได้รับการออกสูติบัตรประเภท ท.ร. 03

- กรณีเด็กที่แจ้งเกิดเกินกำหนด, เด็กแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาที่ถูกทอดทิ้ง, เด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพากรีทอดทิ้ง เมื่อไปแจ้งการเกิดต่อสำนักทะเบียนอำเภอ จะได้รับการออกใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร. 100) ให้เพื่อใช้เป็นเอกสารการเกิด ในระหว่างที่การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติเพื่อนำไปสู่การออกสูติบัตรที่ตรงกับข้อเท็จจริงของเด็ก

กลุ่ม 2-คนสัญชาติไทยที่ถูกบันทึกเป็นคนต่างด้าว

คนกลุ่มนี้เป็นคนมีสัญชาติไทย อาจโดยหลักสายโลหิตหรือโดยผลของกฎหมายที่บังคับใช้ในแต่ละช่วงเวลา ทว่ากลับถูกบันทึกและกำหนดเลขประจำตัวในเอกสารทะเบียนราษฎรว่าเป็นคนต่างด้าว สาเหตุนั้นอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้ไปแจ้งเกิด ขาดหลักฐานการแจ้งการเกิด ไม่ได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านประเภทคนไทย (ท.ร. 14) เมื่อมีการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัว คนกลุ่มนี้กลับได้รับการบันทึกชื่อและรายการบุคคลในแบบพิมพ์ประวัติ หรือทะเบียนบ้านคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว (ท.ร. 13), หรือทะเบียนประวัติแรงงาน 3 สัญชาติ (ท.ร. 38/1), แบบพิมพ์ประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร. 38 ก.) และถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัว 13 หลัก (อาจขึ้นต้นด้วยเลข 6, 7, 00) หรือถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ขึ้นต้นด้วยเลข 0)

ในชีวิตประจำวัน คนกลุ่มนี้คือคนไร้สัญชาติ ในแง่ข้อกฎหมายและสถานะทางทะเบียนราษฎร-คนกลุ่มนี้คือคนสัญชาติไทย ในระหว่างที่รอการลงรายการสัญชาติไทยใน ท.ร.14 พวกเขาจะเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ถูกถือเป็นคนต่างด้าวและเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้การส่งตัวพวกเขาออกนอกประเทศไทยจะทำไม่ได้ หากพิสูจน์ได้ว่า เขาหรือเธอเป็นคนสัญชาติไทย แต่ก็ไม่แน่ใจว่า มีชาวเขากี่คนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือให้พิสูจน์สัญชาติไทยได้ทันเวลา และถูกส่งตัวออกไปนอกประเทศไทย อย่างไรก็ดี สำหรับบางคนในกลุ่มนี้ อาจมีสิทธิอาศัยชั่วคราวหรือถาวรในรัฐไทย

แนวทางการพัฒนาสถานะบุคคล ...ดำเนินการให้เป็นไทยโดยสมบูรณ์

ยื่นคำร้องเพื่อขอเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้านประเภทคนไทย (ท.ร. 14)

·      โดยยื่นคำร้องตามข้อ 93-97 แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร 2535 เพื่อนำไปสู่การจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนไทย ได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก (ขึ้นต้นด้วยเลข 5)

·      ในกรณีเป็น “บุคคลบนพื้นที่สูง” ให้ยื่นคำร้องตามข้อ 15-16 แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง 2543 เพื่อนำไปสู่การจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนไทย ได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก (ขึ้นต้นด้วยเลข 8)

·      โดยการแสดงตนและยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎร (ท.ร. 14) เพื่อนำไปสู่การจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนไทย ได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก (ขึ้นต้นด้วยเลข 8) ตามมาตรา 23 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551[3]

กลุ่ม 3-ราษฎรไทยที่เป็นคนต่างด้าว เกิดในไทย

คนกลุ่มนี้คือลูกของพ่อแม่ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย เป็น (อดีตเด็ก) ต่างด้าวที่เกิดในรัฐไทย และได้รับการบันทึกชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย อาทิ อาจมีชื่อในแบบพิมพ์ประวัติชนกลุ่มน้อย 17 กลุ่ม, ในท.ร. 38/1 ที่ใช้สำหรับบันทึกชื่อและรายการบุคคลของแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ, ท.ร. 38 ก. ทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน, ทะเบียนบ้านประเภท ท.ร. 13 ในกรณีที่คนต่างด้าวกลุ่มนี้มีสิทธิอาศัยชั่วคราว หรือมีชื่อในทะเบียนบ้านประเภท ท.ร. 14 ในกรณีที่คนต่างด้าวกลุ่มนี้มีสิทธิอาศัยอยู่ถาวร หรือถือใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว นั่นหมายความว่า พวกเขาล้วนมีเลขประจำตัว 13 หลักแล้ว

ในบางกรณี เขาหรือเธอในคนกลุ่มนี้อาจยังมีสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง อาจปรากฏว่ามีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดอีกรัฐหนึ่ง แต่ภายใต้ข้อเท็จจริงของชีวิตประจำวัน สัญชาติอื่นหรือรัฐอื่นที่มิใช่ไทย มันไม่ได้ส่งผลใดๆ กับชีวิตพวกเขาเลย คนกลุ่มนี้จึงมีสถานะทางทะเบียนราษฎรเป็นราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าวที่เกิดในไทย ถูกถือว่ามีสถานะบุคคลเป็นคนต่างด้าว

หากพวกเขายังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐไทยให้มีสิทธิอาศัยถาวรหรือเพียงชั่วคราว แม้พวกเขาจะเกิดในรัฐไทย ก็จะถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยผลของ มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 พระราชบัญญัติ สัญชาติฯ

แนวทางการพัฒนาสถานะบุคคล ...ขอมีสัญชาติไทย

·    สามารถยื่นคำร้องขอสัญชาติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 เมื่อได้รับอนุญาต จะได้รับการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลใน ท.ร. 14 ได้รับบัตรประจำประชาชน (ขึ้นต้นด้วยเลข 8)

·    โดยการยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีเป็นการออกคำสั่งให้สัญชาติเป็นกรณีทั่วไป ซึ่งต้องรอหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีจะกำหนดขึ้นมา (มาตรา 7 ทวิ วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551)

อาจกล่าวได้ว่า ในทางปฏิบัติ ยังมีบุคคลอีก 2 กลุ่ม ที่ยังต้องรอมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้สามารถใช้ช่องทางของมาตรา 7 ทวิ วรรค 2 หรือการขอมีสัญชาติไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้อนุมัติ

·    กลุ่มบุคคลที่ประเทศไทยมีนโยบายกำหนดสถานะบุคคลให้แล้ว (ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548) ได้แก่

หนึ่ง-กรณีลูกของกลุ่มที่อพยพเข้ามาในประเทศและอาศัยติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ และให้สัญชาติไทยแก่ลูกที่เกิดในประเทศไทย

สอง-กรณีเด็กที่เกิดหรืออาศัยในประเทศไทย แต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเรียนอยู่ในสถานศึกษาของประเทศไทยติดต่อกันอย่างน้อย 4 ปี

·    กลุ่มที่ยังไม่มีกฎหมายและนโยบาย ได้แก่ บุคคลที่มีพ่อแม่เป็นคนต่างด้าว เข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเข้ามานับตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2528

กลุ่ม 4-ราษฎรไทยที่เป็นคนต่างด้าว เกิดนอกประเทศไทย

ใครหลายคนที่เกิดนอกรัฐไทย แต่ด้วยเหตุผลของชีวิตหรือแรงผลักดันอื่นๆ ทำให้ต้องข้ามเส้นพรมแดนเข้ามาอาศัยอยู่และอาจมากกว่านั้นด้วย-แผนชีวิตที่ว่าจะลงหลักปักฐานในรัฐไทยหรือได้ลงหลักปักฐานไปแล้ว คนกลุ่มนี้อาจไร้สัญชาติ อาจไร้รัฐ ในบางกรณี เขาหรือเธอในคนกลุ่มนี้อาจยังมีสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง อาจปรากฎว่ามีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดอีกรัฐหนึ่ง แต่ภายใต้ข้อเท็จจริงของชีวิตประจำวัน สัญชาติหรือรัฐอื่นที่มิใช่ไทย มันไม่ได้ส่งผลดีใดๆ กับชีวิตพวกเขาเลย

อย่างไรก็ดี สถานะทางทะเบียนราษฎรเป็นราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าวเกิดนอกไทยของคนกลุ่มนี้มีความแตกต่างภายในกลุ่มเองด้วยเหมือนกัน คืออาจเป็น

หนึ่ง-กลุ่มคนที่เข้ามายังรัฐไทยอย่างถูกกฎหมาย มีสิทธิอาศัยชั่วคราว มีสิทธิขอเพิ่มชื่อเข้าในท.ร. 13

สอง--กลุ่มคนที่เข้าเมืองมาถูกกฎหมายและได้รับสิทธิอาศัยถาวร (มีชื่อในท.ร.14 ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและใบถิ่นที่อยู่)

สาม-เข้าเมืองมาผิดกฎหมาย และได้รับอนุญาตให้มีสิทธิอาศัยชั่วคราว (มีชื่อในแบบพิมพ์ประวัติ หรือท.ร. 13 และถือบัตรผู้ไม่มีสัญชาติไทย)

สี่-เข้าเมืองมาผิดกฎหมาย และยังไม่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิอาศัย โดยอาจได้รับการบันทึกชื่อในแบบพิมพ์ประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร. 38 ก.) และถือบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ขึ้นต้นด้วยเลข 0)

แนวทางการพัฒนาสถานะบุคคล ...ขอหรือแปลงสัญชาติเป็นไทย[4]

·      ขอเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย (มาตรา 17 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 มกราคม 2548)

·              กรณีเป็นผู้หญิง อาจยื่นขอถือสัญชาติไทยตามสามี (มาตรา 9 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508)

·              โดยขอแปลงสัญชาติเป็นไทย (มาตรา 10, 11 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508)

·      ผู้อนุบาลขอแปลงสัญชาติไทยให้คนไร้ความสามารถ (มาตรา 12/ (1) พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2551)

·      ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ของรัฐขอแปลงสัญชาติไทยให้ผู้เยาว์ในความดูแล (มาตรา 12/1 (2) พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2551)

·      ผู้รับบุตรบุญธรรมขอแปลงสัญชาติไทยให้บุตรบุญธรรม (มาตรา 12/1 (3) พระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2551)

กลุ่ม 5-ราษฎรไทยที่เป็นแรงงานต่างด้าว

กรณีของคนที่เกิดนอกไทย และเดินทางเข้ามาในประเทศไทยด้วยต้องการที่จะมาทำงานในประเทศไทย หรือหลายกรณีหนีภัยการประหัตประหารหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเข้ามา และเพื่อที่จะสามารถมีสถานะอย่างใดอย่างหนึ่งในประเทศไทย เขาหรือเธอเลือกที่จะขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว หรือกัมพูชา

แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีสัญชาติไทย อาจไร้รัฐ หรือไม่ไร้รัฐ เพราะอาจมีชื่อของเขาหรือเธอปรากฎในทะเบียนราษฎรของรัฐใดรัฐหนึ่ง เช่นเดียวกันอาจไร้สัญชาติหรือไม่ก็ได้ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือคนกลุ่มนี้ไม่มีสัญชาติไทย มีสถานะบุคคลเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองและมีสิทธิอาศัยชั่วคราว โดยมติคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง (ตามมาตรา 17 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ประกอบมติคณะรัฐมนตรีล่าสุดที่เกี่ยวข้องคือเมื่อวันที่ 2 มีนาคม และ 27 เมษายน 2547 โดยมีมติคณะรัฐมนตรี ผ่อนผันรายปีในปีต่อๆ มา ในบางปี คณะรัฐมนตรีก็มีมติผ่อนผันอนุญาตให้ลูกและผู้ติดตามของแรงงานฯ มีสิทธิอาศัยชั่วคราว) และอยู่ระหว่างรอการส่งกลับ โดยคนกลุ่มนี้จะได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของไทยประเภท ท.ร. 38/1 ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 00

ภายในดินแดนรัฐไทย ในแง่ของสถานะทางทะเบียนราษฎรของรัฐไทย คนกลุ่มนี้จึงไม่ไร้รัฐ ไม่ไร้สถานะทางทะเบียน แต่มีสถานะเป็นราษฎรไทย

แนวทางการพัฒนาสถานะบุคคล

·      ภายใต้ความตกลงระหว่างรัฐไทยกับรัฐพม่า ลาวและกัมพูชา คนกลุ่มนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกับรัฐต้นทาง หากได้รับการยอมรับว่าเป็นคนชาติของรัฐนั้น เขาหรือเธอจะได้รับเอกสารยืนยันความเป็นคนชาติและสามารถมีหนังสือเดินทาง คนกลุ่มนี้จะไม่ไร้สัญชาติ และจะเป็นบุคคลใน 2 ทะเบียนราษฎร คือเป็นราษฎรไทยและราษฎรของรัฐต้นทางซึ่งเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติ (อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกต ว่าลูก รวมถึงผู้ติดตามแรงงาน ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ เนื่องเพราะยังไม่มีนโยบายให้คนสองกลุ่มนี้สามารถพัฒนาสถานะบุคคลได้)

·      ในกรณีที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน หรือถูกปฏิเสธสัญชาติจากรัฐต้นทาง ก็จะมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติ ข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ คนกลุ่มนี้จะยังคงต้องอาศัยในรัฐไทยต่อไปอีก อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์การจัดการประชากรต่างด้าวของรัฐไทย มีความเป็นไปได้ว่าคนกลุ่มนี้อาจสามารถร้องขอสิทธิอาศัยถาวรหรือขอมีสัญชาติไทย หากสภาวะความกลมกลืนกับสังคมไทยของคนกลุ่มนี้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว



[1]บทความวิชาการเพื่อนำเสนอแนวคิดด้านวิธีวิทยาเกี่ยวกับการจัดการประชากรตามกฎหมายไทยสำหรับคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติบนฝั่งทะเลอันดามัน  ฉบับวันที่ 14 เมษายน 2552 โดย(1) ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล (2) วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล  และ (3) พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ผู้สร้างสรรค์และพัฒนาแนวคิดนี้ ก็คือ (1) รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร (2) อาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล (3) อาจารย์ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล (4) อาจารย์ชุติ งามอุรุเลิศ (5) อาจารย์สรินยา กิจปร

คำสำคัญ (Tags): #อันดามัน#แม่อาย
หมายเลขบันทึก: 287011เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2009 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 17:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท