บทที่ 2 -- การถ่ายทอดองค์ความรู้จากแม่อายสู่อันดามัน (2 - I-III)


2.      องค์ความรู้ในการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ถูกนำมาถ่ายทอด

 

ห้าคูณหก : สูตรคูณความคิดและปฏิบัติการ

เพื่อการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย[1]

ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล[2]

หนึ่ง

ความแตกต่าง ..ที่อันดามัน

ณ ผืนทะเลและผืนดินที่เป็นทั้งบ้านและชีวิตของไทยถิ่นพลัด และยิปซีทะเล ..มองด้วยสายตา-หลายชีวิตตรงหน้ารวมถึงที่ยังไม่รู้จักและอาจไม่มีโอกาสรู้จัก ย่อมไม่เพียงที่จะบอกถึงความแตกต่างของพวกเขากับคนอื่นๆ-ผู้มีสัญชาติไทย ชวนให้นึกถึงบางประโยคของใครบางคนที่ว่า “..คุณรู้หรือเปล่า-คนที่หนึ่งสมอง-หนึ่งหัวใจ-สองแขนขาที่ร่วมสปีชีย์เซเปียนเหมือนกับพวกเรา ถูกสิ่งสมมติที่เรียกว่ากฎหมายแบ่งประเภทออกจากกัน” ..ฉันเข้าใจประโยคที่เจือด้วยน้ำเสียงชวนถกเถียงนั้น มันไม่ใช่คำถาม

สอง

ความรู้,หนทาง,เครื่องมือหลากหลายที่อยู่ตรงหน้า ..กฎหมายก็คือหนึ่งในนั้น

ในสังคมไทยที่ประกาศตนว่าเป็นนิติรัฐหรือรัฐที่เคารพและยึดมั่นในการคุ้มครองและประกันสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล โดยรัฐและเจ้าหน้าที่แห่งรัฐมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกในรัฐสามารถพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ อย่างมีคุณภาพและไปให้ไกลเท่าที่จะไปถึงการมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ กฎหมายจึงเสมือนกับไม้บรรทัด มันถูกใช้ชี้วัดในนามของมาตรฐาน ทั้งตัวมันเองก็ยังต้องถูกทบทวนเพื่อปรับปรุงให้เป็นมาตรฐานที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย แล้วหนึ่งสมองกับสองมือของเราจะทำอะไรได้บ้าง เมื่อต้องลงมือแก้ไขปัญหา กับความรู้,หนทาง,เครื่องมือหลากหลายที่อยู่ตรงหน้า ..ถามกลับ-แล้วคุณจะหยิบกฎหมายมาใช้หรือเปล่า?

สาม

เด็กๆ เป็นร้อยที่งานวันเด็ก: จุดเริ่มต้นของการพัฒนาแนวคิด.. ห้าคูณหก

บ่อยครั้งที่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร หรืออาจารย์แหวว ต้องเอ่ยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึง ห้าคูณหก ว่า ห้า นั้นหมายถึง การจำแนกประชากรที่มีปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทยออกเป็น 5 กลุ่ม โดยใช้กฎหมายการทะเบียนราษฎร ทั้งนี้เพื่อที่จะคูณด้วย หก อันหมายถึง 6 วิธีคิด(ใหม่) หรือขั้นตอนในการจัดการแก้ไขปัญหาสถานะของบุคคล กล่าวคือ มันเป็นแนวทางหรือขั้นตอนที่จะตรวจสอบเพื่อพัฒนาสถานะของบุคคล ว่าต้องใช้ช่องทางใดที่อาจช่วยเหลือให้ “คนที่มีปัญหาสถานะบุคคล” สามารถพัฒนาสถานะเป็น “คนไม่มีปัญหาสถานะบุคคล” หรือ “คนไร้รัฐ” เป็น “คนมีรัฐ” ฯลฯ  ..มันถูกเรียกให้สั้นเพื่อง่ายต่อการจดจำว่า ห้าคูณหก (5 x 6)

นั่นคือคำอธิบายที่ชัดขึ้น แต่หากจะย้อนไล่ทวนถึงจุดเริ่มต้น ต้องบอกว่ามันเริ่มต้นจากการทำงานของอาจารย์แหววและอาจารย์เอ๋ (อาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ) ที่พยายามออกแบบห้องเรียนสำหรับเด็กๆ ที่มีปัญหาสถานะบุคคล ..ใช่-ลองนึกภาพเด็กตัวเล็กตัวน้อย รวมถึงเด็กตัวโตตัวโข่ง-ร่วมร้อย ที่กำลังจะมาร่วมงานวันเด็ก พวกเขาเป็นเด็กที่ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ แน่นอน-งานวันเด็กที่แม่อายไม่ใช่มีแค่เกมส์ให้เด็กเล่น แต่งานวันเด็กของอ.เอ๋ ยังช่วยให้เด็กๆ แต่ละคนได้รู้จัก ทำความเข้าใจถึงปัญหาสถานะบุคคลของตัวเอง และจะได้ลงมือแก้ไขด้วยมือเล็กๆ ของตัวเอง

วิธีการก็คือต้องแบ่งลักษณะปัญหาของเด็กออกเป็นกลุ่มๆ แล้วแยกออกไปเป็นแต่ละห้องเรียน ในแต่ละห้องเรียน นอกจากเด็กๆ ที่มีปัญหาเหมือนๆ กัน ก็จะมีครูพี่เลี้ยง มันเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้จักกันและกัน ทำความเข้าใจปัญหาและแนวทางแก้ไข ..เรื่องแบบนี้-ฟังแล้วอาจจะดูเป็นเรื่องเกินตัว! สำหรับหนูๆ เด็กๆ  แต่ขอบอกว่า-ห้องเรียนแต่ละห้องนั้น-สนุกมาก ..แล้วมันก็เป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้โจทย์ใหม่ๆ วิธีคิดใหม่ๆ ของคนทำงานด้วยเช่นกัน

ในช่วงปีแรกๆ แต่ละห้องเรียน-ยังไม่นิ่ง ชื่อห้องเรียนยังคงมีการปรับเปลี่ยน มาต้นปี 2551 นี้เอง ที่งานวันเด็ก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย-ที่-พวกเราได้เห็น 5 ห้องเรียนซึ่งเป็นครั้งแรกของการทดสอบแนวคิด 5 x 6



[1]บทความวิชาการเพื่อนำเสนอแนวคิดด้านวิธีวิทยาเกี่ยวกับการจัดการประชากรตามกฎหมายไทยสำหรับคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติบนฝั่งทะเลอันดามัน  ฉบับวันที่ 14 เมษายน 2552 โดย(1) ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล (2) วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล  และ (3) พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ผู้สร้างสรรค์และพัฒนาแนวคิดนี้ ก็คือ (1) รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร (2) อาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล (3) อาจารย์ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล (4) อาจารย์ชุติ งามอุรุเลิศ (5) อาจารย์สรินยา กิจประยูร (6) อาจารย์กานต์ เสริมชัยวงศ์ (7) อาจารย์สิทธิพร ภู่นริศ (8) อาจารย์ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง (9) อาจารย์ธนาสิทธิ์ สุวรรณประทีป (10) อาจารย์อัจฉรา สุทธิสุนทรินทร์ (11) อาจารย์กิติวรญา รัตนมณี (12) อาจารย์อดิศร เกิดมงคล (13) อาจารย์วีรวัฒน์ ตันปิชาติ (14) อาจารย์วีนัส สีสุข (15) อาจารย์อุดมเขต ราษฎร์นุ้ย (16) อาจารย์บงกช นภาอัมพร (17) อาจารย์บุญ อินหลู่ พงษ์มา (18) อาจารย์ใสแดง แก้วธรรม (19) อาจารย์สุ ดวงใจ

[2] ขอบคุณกิติวรญา รัตนมณี อดิศร เกิดมงคลและอัจฉรา  โดยเฉพาะกานต์ เสริมชัยวงศ์ ที่ช่วยอ่านและท้วงติงงานนี้อย่างละเอียด

คำสำคัญ (Tags): #อันดามัน#แม่อาย
หมายเลขบันทึก: 287008เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2009 00:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท