บทที่ 1 -- บทนำ


โครงการขยายองค์ความรู้จากแม่อายสู่อันดามัน (การจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ) จึงเกิดขึ้น ด้วยความเชื่อที่ว่า หลักสูตร 5x6 นี้ ก็จะสามารถนำไปใช้กับคนในพื้นที่อันดามันได้เช่นเดียวกัน

1.      ความเป็นมาของโครงการ

 

ความพยายามในการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่อันดามันเกิดขึ้นมาโดยตลอดด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน จากกลุ่มคนหลายๆ กลุ่ม อาทิ นักวิชาการที่พยายามศึกษาวิจัยหาองค์ความรู้ที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา, องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ที่ทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้านผู้ประสบปัญหา, องค์กรระหว่างประเทศที่เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือ หรือแม้แต่ข้าราชการที่ทำงานทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น แต่กลับพบว่าความพยายามเหล่านี้ไม่บรรลุผลเท่าที่ควร สืบเนื่องมาจาก 1) วิธีการจัดการปัญหาที่ยังไม่มีประสิทธิภาพตามสมควรและไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับที่ใช้ในการจัดการปัญหาดังกล่าว 2) ขาดยุทธศาสตร์ในการทำงานเครือข่ายที่จะพัฒนาไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน 3) การขาดองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ เช่น การพิสูจน์สัญชาติคนเชื้อสายไทยดั้งเดิมหรือคนทะเล, การคืนสัญชาติให้แก่คนไทยพลัดถิ่น และการจัดการแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน 4) การขาดความรู้ ความเข้าใจ และการมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องของหน่วยงานรัฐในระดับพื้นที่บางแห่ง ฯลฯ

แต่ก็ยังมีความพยายาม ต้นแบบ[1] หนึ่งที่มีประสิทธิภาพและน่าจะสามารถนำองค์ความรู้นี้มาถ่ายทอดเพื่อใช้ในการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่อันดามันได้ นั่นก็คือ หลักสูตรในการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า สูตร 5x6” ภายใต้ กิจกรรมห้องเรียนในการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ ที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ดังนั้น โครงการขยายองค์ความรู้จากแม่อายสู่อันดามัน (การจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ) จึงเกิดขึ้น ด้วยความเชื่อที่ว่า หลักสูตร 5x6 นี้ ก็จะสามารถนำไปใช้กับคนในพื้นที่อันดามันได้เช่นเดียวกัน

2.      วัตถุประสงค์ของโครงการ

 

2.1 เพื่อขยายและปรับใช้องค์ความรู้ในการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งมีการสร้างองค์ความรู้ (หลักสูตร) ที่เป็นต้นแบบซึ่งใช้ในพื้นที่ภาคเหนือ (แม่อาย) มาปรับใช้ในพื้นที่ภาคใต้ (อันดามัน) โดยนำข้อเท็จจริงของกรณีศึกษาตัวอย่างที่ได้จากโครงการวิจัยเพื่อสำรวจสถานการณ์และศึกษาความเป็นไปได้ในการขจัดปัญหาการจดทะเบียนการเกิดและปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ที่ได้จัดทำเมื่อปี พ.ศ.2549 มาจัดกลุ่มและปรับใช้กับหลักสูตรการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลฯ ดังกล่าว

2.2 เพื่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายการทำงานที่ยั่งยืนบนฝั่งอันดามัน โดยการเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตรกับเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ภาคใต้ (อันดามัน)

2.3 เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่และพัฒนาองค์ความรู้เก่าให้เหมาะกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ (อันดามัน) โดยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อระดมองค์ความรู้จากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาการคืนสัญชาติให้แก่คนไทยพลัดถิ่น

2.4 เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจถึงปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่อันดามันแก่สังคมภายนอก และเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ใน สถานการณ์ด้านข้อเท็จจริง และ การจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ในพื้นที่อันดามันไปยังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดทำหนังสือ (Pocket Book), คู่มือปฏิบัติงาน (Manual) และหนังสือรวบรวมกฎหมายนโยบาย

 

3.      กิจกรรมในการดำเนินงาน

 

3.1 การอบรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ การจำแนกบุคคลที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล และ การได้สัญชาติไทยตามมาตรา 23 พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551” (กิจกรรมตามวัตถุประสงค์ที่ 1) โดยมีผู้รับผิดชอบกิจกรรม คือ นางสาวบงกช นภาอัมพร

3.2 การติดตามความคืบหน้ากรณีศึกษาสึนามิ เพื่อที่จะนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาปรับใช้กับหลักสูตรการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลในพื้นที่ภาคเหนือ (แม่อาย) (กิจกรรมตามวัตถุประสงค์ที่ 1) โดยมีผู้รับผิดชอบกิจกรรม คือ นางสาวบงกช นภาอัมพร

3.3 การเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตรกับเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ภาคใต้ (อันดามัน) (กิจกรรมตามวัตถุประสงค์ที่ 2) โดยมีผู้รับผิดชอบกิจกรรม คือ นางสาวอัจฉรา สุทธิสุนทรินทร์

3.4 การจัดเวทีสัมมนาวิชาการ “การสร้างและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการแก้ไขปัญหาความไร้สัญชาติของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น” (กิจกรรมตามวัตถุประสงค์ที่ 3) โดยมีผู้รับผิดชอบกิจกรรม คือ นางสาวกิติวรญา รัตนมณี

3.5 การจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย (กิจกรรมตามวัตถุประสงค์ที่ 4) โดยมีผู้รับผิดชอบกิจกรรม คือ นายวีระ อยู่รัมภ์, นางสาวปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว และนางสาวบงกช นภาอัมพร

 

4.      ประโยชน์ของโครงการ

 

5.1 เกิดการขยายผลขององค์ความรู้ต้นแบบในการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งใช้ในพื้นที่ภาคเหนือ (แม่อาย) มาสู่พื้นที่ภาคใต้ (อันดามัน)

5.2  เกิดเครือข่ายในการทำงานที่ยั่งยืนบนฝั่งอันดามัน

5.3  เกิดองค์ความรู้ใหม่และการพัฒนาองค์ความรู้เก่าที่เหมาะกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ (อันดามัน)

5.4 สังคมเกิดความรู้และความเข้าใจถึงสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริง และ การจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ในพื้นที่อันดามันมากยิ่งขึ้น

 

5.      ระยะเวลาในการดำเนินงาน

 

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 – มีนาคม 2552

 

6.      เนื้อหาของรายงาน

 

บทที่ 1 – บทนำ

บทที่ 2 – การถ่ายทอดองค์ความรู้จากแม่อายสู่อันดามัน

บทที่ 3 – การสร้างและการพัฒนาเครือข่ายการทำงานที่ยั่งยืน เพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติในอันดามัน

บทที่ 4 – การสร้างองค์ความรู้ใหม่และพัฒนาองค์ความรู้เก่า เพื่อแก้ปัญหาให้แก่ คนไทยพลัดถิ่น

บทที่ 5 – การเผยแพร่องค์ความรู้ในพื้นที่อันดามันในรูปแบบของหนังสือ

บทที่ 6 – บทสรุปและข้อเสนอแนะ

 



[1] ห้องเรียนในการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ภายใต้โครงการต่อยอดคลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิของบุคคล) อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ จัดการโครงการ โดย อาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล และ อาจารย์สิทธิพร ภู่นริศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ และ สนับสนุนโครงการ โดย ยูนิเซฟ ประเทศไทย

คำสำคัญ (Tags): #อันดามัน#แม่อาย
หมายเลขบันทึก: 287006เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2009 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท