เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

นักข่าววัฒนธรรมแห่ง "ฐานันดรที่ 4"


ข่าวสารที่นำเสนอออกไปถ้าตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง ความถูกต้อง ควบคู่ไปกับศีลธรรมและจรรยาบรรณ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ การยึดถือ หรือแนวทางการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเป็นไปตามครรลองที่พึงปรารถนา

                                  ทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า  สื่อต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์  สื่อวิทยุหรือโทรทัศน์  หรือแม้กระทั่งสื่อออนไลน์ต่าง ๆ  ล้วนมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของคนเรา  ส่วนจะมีอิทธิพลมากน้อยเพียงใดนั้น  ขึ้นอยู่กับการเลือกรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ  ของแต่ละบุคคล  นักข่าว  ผู้สื่อข่าวหรือสื่อมวลชน  จึงเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญต่อสังคม  ต่อชุมชนและประเทศชาติ  เพราะข้อมูล  ข่าวสารที่นำเสนอออกไปถ้าตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง  ความถูกต้อง  ควบคู่ไปกับศีลธรรมและจรรยาบรรณ  ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ  การยึดถือ  หรือแนวทางการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเป็นไปตามครรลองที่พึงปรารถนา  แต่ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้  ปัญหาสังคม  ความวุ่นวายต่าง ๆ  ย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  อาชีพนักข่าวจึงมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม  ต่อวิชาชีพและประเทศชาติในที่สุด 

                                เส้นทางเดินของอาชีพนักข่าว  เป็นวัฒนธรรมการดำเนินชีวิต  ของบุคคลอีกอาชีพหนึ่ง  อาชีพที่สังคมยกย่องให้เป็น  ฐานันดรที่ 4  และในทุก ๆ  ปีเมื่อถึงวันนักข่าวหรือวันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ  ในประเทศไทย  ตรงกับวันที่ 5  มีนาคม  อันเป็นวันที่ได้มีการสถาปนา  สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยขึ้น  วันนี้เมื่อปี  พ.ศ.2498  ได้มีนักข่าวของไทยกลุ่มหนึ่งจำนวน 15 ท่านได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมนักข่าวขึ้นมา  โดยถือเอาวันที่ 4  มีนาคม  เป็นวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี  และวันรุ่งขึ้นจึงหยุดเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่  ต่อมาในปี  พ.ศ.2542  สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย  ได้เข้าร่วมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  กลายเป็น  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  และยังคงใช้วันที่  5  มีนาคม  เป็นวันนักข่าวจนถึงปัจจุบัน

                                ในรอบปีที่ผ่านมาสำหรับประเทศไทยเป็นช่วงเวลาที่ดูสับสนวุ่นวาย  ยากลำบากในการทำงานของนักข่าว  หรือสื่อมวลชนแต่ละฝ่าย  หลังการปฏิวัติเป็นต้นมา  ความสับสน  ความไม่แน่นอน  อำนาจรัฐที่วอกแวกและไม่เข้าใจในเสรีภาพของสื่ออย่างแท้จริง  อีกทั้งท่าทีที่ต้องเลือกข้างของสื่อมวลชน  สิ่งเหล่านี้กลายเป็นบรรยากาศที่เลวร้าย  น่ากลัว  ยากที่จะตัดสินใจในการทำงานตามอุดมการณ์ของสื่อมวลชนที่ดีได้  ข่าวต่าง ๆ  ที่ออกมายากที่จะแยกแยะได้ว่า  อะไรคือความถูกต้อง  ข่าวไหนจริงข่าวไหนเท็จ  ใครคือสื่อ  ใครคือนักการเมืองที่เข้ามาทำสื่อ  แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  มาจากประชาธิปไตยตามที่คนหลาย ๆ  ฝ่ายหวัง  แต่บรรยากาศที่กล่าวมายังไม่ได้หายไปไหนเลย  แถมอาจจะเพิ่มความร้อนแรงขึ้นอีก  จึงเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนต้องตระหนักให้มากขึ้น  เพราะงานของท่านมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของเจ้าของประเทศซึ่งก็คือประชาชนส่วนใหญ่นั่นเอง

                                ประวัติความเป็นมาของนักข่าวในประเทศไทย  กล่าวได้ว่า  ในสมัยพระบาท

สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 4  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ได้มีหมอ ดี บี บรัดเลย์  ในคณะมิชชันนารีชาวอเมริกัน  บอร์ด  คอมมิชชั่นเนอร์  ฟอร์  ฟอเรนมิชชั่น  เข้ามาในประเทศไทย  และได้เริ่มทำหนังสือพิมพ์ขึ้นเป็นฉบับแรก  เมื่อปี  พ.ศ.2336  ชื่อ  บางกอกรีคอร์ดเดอร์ส  โดยหมอบรัดเล  เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์  ท่านจึงกลายเป็นนักข่าวคนแรกของไทย

                                ในสมัยนั้น  คำว่า  เสรีภาพ  ยังไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนรู้จัก  การเสนอข่าวให้กับประชาชนยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก  เนื่องจากกฎหมายในสมัยนั้นไม่เอื้ออำนวยให้นักข่าว  หรือหนังสือพิมพ์ทำงานได้อย่างอิสระอย่างที่ควรจะเป็น  การที่ชาวต่างชาติในเมืองไทยสมัยนั้น  ได้รับสิทธิพิเศษในการที่ทำผิดแล้ว  ไม่ต้องขึ้นศาลของไทย  ให้ขึ้นศาลของชนชาติตนเอง  ( กฎหมายสิทธิสภาพนอกอาณาเขต )  ทำให้เกิดการกดขี่  ข่มเหง  กลั่นแกล้ง  เกิดความวุ่นวายของคนต่างชาติกับคนไทยมากมาย  หมอบรัดเล  เสนอข่าวต่าง ๆ  เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้  จนเป็นเหตุให้หนังสือพิมพ์ต้องปิดตัวลง

                                ส่วนกิจการหนังสือพิมพ์  แม้ต่อมาหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์จะถูกปิดลง  แต่กิจการหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย  เจริญรุดหน้าเรื่อยมา  ผ่านยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์  มาเป็นระบบประชาธิปไตย  จนเข้าสู่ยุคปัจจุบัน การทำหนังสือพิมพ์  หรือการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวยังคงมีวิวัฒนาการมาโดยลำดับ  จากยุคหนึ่งสู่อีกยุคหนึ่ง  เป็นวัฒนธรรมหรือเส้นทางการดำเนินชีวิตของบุคคลอีกอาชีพหนึ่ง  ที่มีความสำคัญต่อสังคม  ไม่แพ้อาชีพอื่น ๆ  ในสังคมไทยตลอดมา 

                                ปัจจุบันข่าวสารข้อมูลกำลังกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต แต่ความจำเป็นดังกล่าวไม่ใช่เพียงเนื้อหาของข่าวเท่านั้น คนหนังสือพิมพ์ หรือนักข่าวก็มีความสำคัญ ในฐานะคนกลางที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข่าวสารที่เป็นข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน ไปยังผู้อ่านด้วยเช่นกัน จึงเปรียบเทียบได้กับกระจกเงาที่คอยสะท้อนสังคมในทุกๆ  ด้านไม่เฉพาะเจาะจงเพียงด้านเดียวในแวดวงหนังสือพิมพ์ มีผู้เรียกนักหนังสือพิมพ์หรือนักข่าว ว่า "ฐานันดรที่ 4"  ความหมายโดยนัยแล้วคือผู้ที่มีสถานะแตกต่างจากบุคคลธรรมดาทั่วไป หรือผู้ที่มีอภิสิทธิ์ในการขีดเขียนเรื่องราวต่างๆ  ผ่านสื่อมวลชน บุคคลบางกลุ่มให้ความเห็นว่าไม่ควรให้ความสำคัญ  เพราะนักข่าวควรเป็นบุคคลที่อ่อนน้อมถ่อมตน สมถะก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของตนเพื่อประชาชน เพื่อชุมชนและ เพื่อประเทศชาติโดยไม่มีการเรียกร้องอะไร ถ้ายังมี " วันนักข่าว " ก็แปลว่าเรายกตนเหนือคนอื่นถึงขนาดประกาศให้มีวันพิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะ และในอดีตได้เคยกำหนดให้เป็นวันหยุดมาแล้วด้วย เป็นการให้ความสำคัญจนเกินเหตุ แต่บุคคลอีกกลุ่มกับให้ความเห็นที่ต่างไปว่า เหตุที่ให้มีวันนักข่าว และเน้นให้เห็นความสำคัญของวันนี้ ไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อตัวนักข่าวเท่านั้น สิ่งที่ต้องการคือ  ย้ำให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า นักข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์นั้น คือ ผู้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แทนประชาชนในระบอบประชาธิปไตย  เป็นผู้ใช้ปากกาและใช้หน้ากระดาษแสดงความคิดเห็นแทนประชาชน  เป็นผู้สะท้อนให้สังคมได้เห็นความต้องการที่แท้จริงของประชาชน 

                                หน้าที่ของนักข่าวที่ดีจึงไม่ได้เป็นเพียงช่องทางนำเสนอข่าวสาร  ตีความหมายของข่าวสาร  ให้การศึกษาแก่ผู้อ่าน  ชักจูงใจผู้อ่าน  เป็นเวทีของการแสดงความคิดเห็น  ให้สิ่งบันดาลใจ  และให้การบันเทิงแก่ผู้อ่านเท่านั้น  นักข่าวยังมีส่วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อทุกคนต่อสังคมโดยรวมดังได้เห็นกันอยู่ในสังคมปัจจุบัน

                                ในวันนักข่าวหรือวันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ  จึงขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่กลุ่มนักข่าวเมื่อวันที่  12  กรกฎาคม  2514  ที่ว่า    ...ข่าวมีความสำคัญ  การเสนอข่าวก็มีความสำคัญยิ่ง  การเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม  ไม่ใช่หมายถึงข่าวการเมือง  หรือข่าวการเคลื่อนไหวของเหตุการณ์เท่านั้น  แต่หมายถึงข่าวในความรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของคน......  ข้อความดังกล่าวชี้ให้เห็นความสำคัญของนักข่าวในการเสนอข่าว  ฉะนั้นวันนักข่าวปีนี้จึงควรจะเป็นวันที่คนข่าวต้องประกาศจุดยืนในการทำหน้าที่นักข่าวเพื่อปวงชนอย่างมุ่งมั่น  ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง  ความถูกต้อง  ความดีงาม  ตามเส้นทางวัฒนธรรมของคนข่าว  ของประเทศชาติ  ควบคู่ไปกับคุณธรรม  จริยธรรม  และจรรยาบรรณของนักข่าวตลอดไป

 

                                                                                                                                                    โดย...นายวันชัย  กลิ่นหอม

                                                                                                                                                     รองสภาวัฒนธรรม  อำเภอพรานกระต่าย

หมายเลขบันทึก: 286705เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2009 08:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท