ท่าสักไดอารี่ วิจัยชุมชน (6) : ผังชุมชน


ผังชุมชนเป็นกุศลโลบายในการเรียนรู้ตัวเอง

ผังชุมชน

                จากนั้นวันที่ 7 กันยายน 2548 ที่ท่าสักประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านผมกับนักศึกษาอีก 3-4 คนก็ได้ลงไปร่วมกันทำผังชุมชน วิธีการจัดกระบวนการคิดอันที่หนึ่ง ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถค้นหาหรือพิมพ์แผนที่ของหมู่บ้านได้อย่างง่ายได้ แต่กระบวนการจัดทำผังชุมชน เป็นกุศโลบาย ที่มุ่งเน้นในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะแกนนำและผู้นำในชุมชน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างและภาพกว้างของชุมชนที่ตนเองได้อาศัยอยู่ โดยจำลองชุมชนทั้งชุมชนให้อยู่บนแผนกระดาษสี่เหลี่ยมหนึ่งแผ่น โดยร่วมกันร่างแผนที่ชุมชนคร่าว ๆ แบบไม่ต้องกลัวผิด จากนั้นก็เริ่มกำหนดจุดเพื่อแสดงสถานที่ตั้งของบ้านเรือนและสถานที่สำคัญในชุมชน ลักษณะ ขนาด ของบ้านแต่ละบ้าน โดยใช้สี และรูปทรงของกระดาษที่ทีมนักวิจัยจัดเตรียมมาจากมหาวิทยาลัย

 


                ซึ่งในวันนั้นตอนแรกมีคนที่กล้าเข้ามาร่วมเขียนค่อนข้างน้อย โดยจะมีแต่ผู้นำชุมชนที่เป็นผู้ชายเข้ามาเขียนเป็นหลัก พวกผู้หญิงและชาวชุมชนคนอื่น ๆ ที่ไม่ค่อยมีบทบาทในชุมชนก็จะคอยดูอยู่ห่าง ๆ “พวกอาจารย์กับเด็ก ๆ ทำกับไปเลย” ไม่กล้าที่จะเข้ามาร่วมหรือออกความคิดเห็น  ซึ่งเป็นธรรมชาติของคนในชุมชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็คือใครเคยทำก็ทำกับไปเรื่อย ๆ ใครไม่ทำก็กล้าที่จะทำหรือกลัวจะทำผิด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของนักวิจัยที่จะต้องกระตุ้นให้คนที่อยู่ในที่นั้นเข้ามาร่วมกระบวนให้มากที่สุด โดยการให้เขาเข้ามาติดรูปบ้านของตนเองหรือบ้านของญาติเขาสนิทและคุ้นเคย เมื่อมีบ้านที่ 1 บ้านที่ 2 และ 3 ก็ตามมา ความกล้าก็เริ่มมากขึ้น จนช่วงหลังทีมวิจัยเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ปล่อยให้ชุมชนทุกคนได้เป็นนางเอกและพระเอกในการ วาดและวางชุมชนของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาได้ใช้ชีวิตอยู่ ได้พบเจอ ได้สัมผัสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน 


                “หน้าบ้านเขาอยู่ทางนี้อันนี้เอา หันหน้าทางนี้ ต้องถนนเป็นหลักทางวงเวียนเข้าเป็นหลัก”
                “บ้านหนูอยู่ไหน”
                “น้อย ดม ถัดมาก็เป็นตาปาน แหน่ง จูน  แจว ถัดแจว สมจิต สมจิตอยู่ตรงนี้ อยู่ถัดแจ้วเนี่ย”
                “อันนี้หลังใหญ่หน่อยนะ อะไรน่ะ บ้านตา อยู่ 2 คนกับยาย”
                “อันนี้บ้านตาลไง โรงงานเก่า โรงงานปอ อดีตไม่มีโรงงานที่บ้าน โรงงานเก่า”
                “อันนี้คุ้มหรือว่าไร คุ้มสีแดงหรือ สีชมพูก็ได้ เอาว่าสีแดงจุดกลมๆนี้เป็นคุ้มแล้วกัน”
                “หลังน้อยฉันไม่เอา ตาฉันมองไม่เห็นเอาหลังใหญ่ตาฉันไม่ค่อยดี”
                “อันนี้บ้านนอกเขตทั้งนั้นก็นอกเขตในเขตไม่ได้เอามาเกี่ยวเลย”
                “เปลี่ยนเป็นสีม่วงไม่ได้ยังไม่ได้ย้ายมา”
                “บ้านนี้ย้ายมาตั้งแต่เมื่อไหร่เนี่ย
                “ ย้ายมานานแล้ว”
                “ยังไม่ได้ย้ายไม่สิทธิลง อบต.”
                “เอ่อไม่มีบ้านเลขที่ใส่ไหม”
                “บ้านคนมีกะตังค์บ้านหลังใหญ่หน่อยเนื้อที่มันกว้าง”
                “คนนี้บ้านเลขที่อยู่ในเขต แต่ย้ายมาอยู่นอกเขต”
                “อันนี้บ้านใคร”
                “อันนี้สายประปา สีชมพูใช่ไหม ใกล้เขตโดนไล่ที่”
                “เทศบาลตรงไหนครับ”
                “อุ้ย ลืมใส่โรงสี โรงสีชมพู หรือสีเหลืองดี”
                “บ้านแกต้องอยู่ข้างหลัง โรงสีต้องอยู่ข้างหน้า”
                “เป็นนักศึกษาก็ดีไปอย่างนะ คิดอะไรก็แปะ”
3 หลังนั้นขยับอีกนิดหนึ่งก็ได้”
                “แล้วเรียนปีไหนกันเนี้ยหนูอายุเท่าไหร่เนี้ยอ่อนกว่าลูกชายคนโตอีก”
                “บ้านใครน่ะ มันเทศบาลหรือบ้าน”

 

                เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก เราเริ่มต้นทำผังชุมชนในเวลาประมาณ 11.00 น. ผ่านไปชั่วโมงเศษ ก็เริ่มเห็นไปรูปเป็นร่างท่าสักขึ้นมามากแล้ว แต่เวลาเที่ยง เป็นเวลาของคนไทยที่พักทานข้าวกัน แต่เป็นเรื่องประหลาดมากที่ทุกคนยังสนุกและโต้เถียงกันในเรื่องของการทำผังชุมชนอย่างออกรสออกชาด “บ้านนี้เป็นคนที่อยู่ในเขตแต่มาซื้อบ้านอยู่นอกเขต ยังไม่มีบ้านเลขที่” จนกระทั่งบ้านหลังสุดท้ายได้ติดลงบนผังชุมชน ทุกคนก็มีรอยยิ้มออกจากมุมปาก “ไม่น่าเชื่อว่าเวลาชั่วโมงกว่า เราจะทำออกมาได้ถึงขนาดนี้” ซึ่งผังชุมชนอันนี้นักศึกษาก็ได้มอบให้ชุมชนไปแล้วและได้ทราบข่าวว่ามีทีมวิจัยทางสาธารสุขทางราชภัฏได้เข้าไปทำงานในท่าสักอีกโครงการหนึ่ง และได้ใช้ผังชุมชนต่อยอดจากที่เราทำไว้ “เห็นมั๊ยผลประโยชน์เกิดขึ้นกับหลายฝ่ายจริงๆ”

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

ฉันมิใช่ "ครูดี" แต่ฉันเป็นคนมีหัวใจที่ทำเพื่อ "ศิษย์"

 

หมายเลขบันทึก: 28653เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2006 00:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท