"ครูติดแผ่นดิน" บุคคลที่เป็นยิ่งกว่าครู


ครูติดแผ่นดิน "ทุนมนุษย์" อันทรงคุณค่าของชุมชน

ครูติดแผ่นดินคือใคร ?

        ... เกษตรกรที่มีภาวะผู้นำ ดำรงชีวิตและประกอบอาชีพการเกษตรเป็นอาชีพหลัก โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มี “หลักคิด” ที่ถูกต้อง มี “หลักวิชา” ครบถ้วน (รอบรู้) และมี “หลักปฏิบัติ” ที่ง่ายและประหยัด พึ่งพิงปัจจัยการผลิตในท้องถิ่นเป็นหลัก สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับ “ภูมิสังคม” ของชุมชนท้องถิ่น พร้อมที่จะเสียสละ โดยเฉพาะเวลา เพราะต้องทำหน้าที่เป็น “กลไกหลัก” ในการถ่ายทอดหลักคิด หลักวิชา และหลักปฏิบัติเหล่านั้นไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ...

            จากปี 2551 ที่มีการเปิดตัวครูติดแผ่นดินซึ่งเป็น "ผู้รู้" ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีการคัดเลือก "พืชยุทธศาสตร์จังหวัด" จังหวัดละ 3 ชนิด ... จนมาถึงปีนี้ 2552 ที่ได้มีการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและขยายผลการลดต้นทุนการผลิตข้าว ที่มี "ครูติดแผ่นดินข้าว" เป็น Playmaker ในการดำเนินงานโครงการ  ผมได้มีโอกาสไปพบปะกับครูติดแผ่นดิน 3 จังหวัด คือ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และสุพรรณบุรี 

"ครูวินัย" ครูติดแผ่นดินข้าวจังหวัดฉะเชิงเทรา

 

"ครูจำเริญ"     ครูติดแผ่นดินข้าวฉะเชิงเทรา

 

"ครูสุรชัย"   ครูติดแผ่นดินข้าวสมุทรปราการ

 

ครูติดแผ่นดินข้าวสุพรรณบุรี

                   แม้ว่าในแต่ละเวที ผมจะไม่ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับครูแต่ละท่านมากนัก แต่อาศัยจากการได้ฟังสิ่งที่แต่ละท่านบอกเล่าแล้ว ทำให้ผมพบว่า องค์ความรู้เรื่องการทำนาที่ท่านเล่านี้ได้ถ่ายทอดออกมา ล้วนสะท้อนประสบการณ์ในการใช้ชีวิต มุมมอง ทัศนคติของแต่ละท่าน ...

                   "มุมมองที่เห็นภาพรวมในการทำนา ไม่ได้มองแบบแยกส่วน"
                   "ทัศนคติที่มองการทำนาว่าเป็นวิถีชีวิต ไม่ได้มุ่งสร้างกำไรสูงสุด"
                   "ความเอื้อเฟื้อ ต้องการช่วยเกษตรกรคนอื่นให้มีชีวิตที่ดีขึ้น"
                   "ความเป็นนักวิจัย ใฝ่รู้ ที่มีอยู่ในตนเอง เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่หยุดนิ่ง"
ฯลฯ

                   นับว่า "ครูติดแผ่นดินข้าว" ทุกท่านไม่เฉพาะ 3 จังหวัดที่ผมได้มีโอกาสได้สัมผัส เป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่า เป็น "ต้นทุนมนุษย์" ของแผ่นดินที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองข้าม...

                    การที่เราสามารถนำ "ครูติดแผ่นดิน" แต่ละท่านซึ่งส่วนใหญ่เป็น "บุคคลสาธารณะ" ที่ไม่ค่อยมีเวลาว่างมากนัก ได้มาพบปะพูดคุย และถอดองค์ความรู้จากประสบการณ์จริงในการทำนา เพื่อเผยแพร่สู่วงกว้างนั้น ผมเชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก ดังเช่นทั้ง 3 เวทีที่ผมได้เข้าร่วมเรียนรู้ นั้น "ครูติดแผ่นดินข้าว" แต่ละท่านไม่มีการ "กั๊ก" ความรู้เลย ..เรียกได้ว่า มีเท่าไหร่ก็บอกหมด  

                    สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ผมคิดว่า หากเราต้องการจะพัฒนาสังคม หรือการเกษตร ให้มีความยั่งยืนได้นั้น เราจะต้องพัฒนาโดยให้เกษตรกร หรือคนในสังคมนั้น ๆ พัฒนาโดยตัวของเขาเอง ภาครัฐหรือองค์กรต่าง ๆ เป็นเพียง "คนนอก" ชุมชน ที่จะคอยเป็น"เพื่อน" ในการดำเนินการ

                    "ครูติดแผ่นดิน" จึงเป็น "ทุนมนุษย์" ที่สำคัญในการพัฒนา "ทุนสังคม" ผ่านการเชื่อมร้อยเครือข่ายเกษตรกรและชุมชน โดยมีการมุ่งเน้นที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟู "ทุนธรรมชาติ" ที่อยู่รอบตัวซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรของชุมชน อันจะนำไปสู่การสะสมและสร้าง "ทุนกายภาพ(เงินตรา)" ต่อไป 

หมายเลขบันทึก: 286449เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2009 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท