เล่าเรื่องการทำวิจัย : ตอนที่ 1


"สิ่งที่มันยาก หรือ ง่ายนั้น มันอยู่ที่จุดอ้างอิง. นั่นคือ ตอนที่เรายังไม่สามารถทำมันได้ เราก็จะรู้สึกว่ามันยากซะเหลือเกิน แต่เมื่อเราสามารถทำมันได้แล้ว ข้ามผ่านมันได้ด้วยตนเองแล้ว เราก็จะรู้สึกว่า มันง่ายนิดเดียว"

       ในการเรียนระดับบัณฑิตศึกษานั้น  การทำวิทยานิพนธ์ ถือว่า เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งจนแทบเรียกได้ว่าเป้าหมายของการเรียนรู้   เพราะว่า เป็นสิ่งที่ผู้เรียนต้องทำการศึกษาค้นคว้า วิจัยทดลองจนค้นพบข้อเท็จจริงด้วยตนเอง   ด้วยการใช้ทั้งหมดของร่างกายและจิตใจของตนที่สั่งสมประสบการณ์มา ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความคิด  ความรู้สึก อารมณ์ของตนเอง และการอยู่ร่วมกัน/ทำงานร่วมกันกับผู้อื่น

       สำหรับตัวเองแล้ว  ตอนเรียน ป.โท ก็ได้ประสบการณ์ส่วนหนึ่งจากการทำวิจัย ที่คิดว่าเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง...สาเหตุที่มีค่า ก็เพราะว่า มันเป็นเรื่องของเรา และเราได้ประสบกับสิ่งนี้ด้วยตัวเราเอง.    ข้อคิดที่ได้จากการทำวิทยานิพนธ์ ตอน ป.โท  ก็คือ

"สิ่งที่ดีที่สุดของเรา คือ สิ่งที่อยู่เฉพาะหน้า คือ สิ่งที่เราสามารถทำมันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในขณะนั้น"

สาเหตุที่คิดข้อนี้ได้เพราะ  ขณะที่พยายามหา หัวข้อวิจัยที่ดีที่สุดนั้น  พบว่ามันยาก และมันเหนื่อยมากเลย ค้นหาจนได้รู้ว่า   "ไม่มีสิ่งที่ดีที่สุด  ตราบใดที่เรายังไม่ลงมือทำเราจะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุด  หากมัวแต่ค้นหา ก็คงจะเหมือนกับการหาหนวดเตา ... ค้นหาแต่ไม่ทำ ก็ไม่มีสิทธิ์จะได้มา.    แต่ถ้าลงมือทำ  แม้ว่ามันจะยังไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด  แต่มันก็ดีที่สุดสำหรับเราในขณะนั้น."

เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือ  เป้าหมายที่ชัดเจน?  
เราจะต้องมีความชัดเจนว่า  จะทำอะไร?  เพื่ออะไร?   แล้วก็วางแผนที่จะศึกษามัน โดยกำหนดกรอบที่จำเป็น  วิเคราะห์องค์ประกอบ และ กระบวนการทำงานคร่าวๆ ก่อน.  แล้วหลังจากนั้น ก็ทำตามแบบแผนการทำวิทยานิพนธ์   ซึ่งในการเรียนการสอนในระบบมหาวิทยาลัยนั้น   อาจารย์ที่ปรึกษา นับว่ามีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เราสามารถที่จะขมวดแนวคิด และได้เรียนรู้อะไรได้มากมาย

จำได้ว่าตอนนั้น ต้องการทำบทเรียนการสอนผ่านเว็บซึ่งต้องการทำทั้งรายวิชาเลย   แต่พอมาปรึกษาอาจารย์  ท่านก็ให้คำแนะนำว่า  ทำหน่วยเดียวก็พอ แต่ทำให้ลึก ให้ชัดเจน   ส่วนทำทั้งวิชานั้นไว้ให้เรียนจบไปแล้ว ก็ให้ไปทำตอนที่ทำงาน   ซึ่งต้องขอขอบคุณอาจารย์มากที่ได้ให้แนวคิดดีๆ ตลอดที่ได้เรียนรู้ และทำวิทยานิพนธ์  นอกจากในตัวงานที่อาจารย์ได้เอาใจใส่ดูแล ให้คำแนะนำแล้ว  การได้แลกเปลี่ยนแนวคิดที่นอกเหนือจากวิทยานิพนธ์  ไม่ว่าจะเป็นธรรมะ ตามแนวคนคอเดียวกัน  เป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับความรู้สึกดีๆ.

ตอนที่กำลังทำวิทยานิพนธ์นั้น มันก็รู้สึกยากนะ   แต่พอผ่านมาได้แล้ว   มันกลับรู้สึกว่า มันง่ายนิดเดียว.
จึงทำให้รู้ว่า

"สิ่งที่มันยาก หรือ ง่ายนั้น  มันอยู่ที่จุดอ้างอิง.  นั่นคือ  ตอนที่เรายังไม่สามารถทำมันได้  เราก็จะรู้สึกว่ามันยากซะเหลือเกิน    แต่เมื่อเราสามารถทำมันได้แล้ว  ข้ามผ่านมันได้ด้วยตนเองแล้ว  เราก็จะรู้สึกว่า  มันง่ายนิดเดียว"

เช่นอย่างตอนนี้  หากมองย้อนไปในการทำงานวิจัย ป.โท  ก็รู้สึกว่า มันไม่ยากอะไรเลย  นั่นเพราะเรารู้แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง  และได้ทำมันบ่อยขึ้น ฝึกฝนบ่อยขึ้นในตอนทำงาน.

แต่ตอนนี้ มาเรียน ป.เอก.   สภาวะที่รู้สึกว่า  ยาก  สภาวะที่รู้สึกเหมือนถูกบีบคั้น  ก็กำลังเข้ามาเหมือนเดิม
และรู้สึกรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมา.   

สมัยก่อนเคยคิดว่า  หากให้คำตอบตนเองว่า มาเรียน ป.เอก แล้วได้อะไรจะไม่เรียนต่อ?  ทั้งๆ ที่ใจจริงก็อยากเรียน  เพราะอยากให้พ่อและแม่ได้ภาคภูมิใจ  เพราะรู้ว่า พ่อและแม่จะดีใจหากลูกได้สำเร็จการศึกษาระดับสูง. 

ตอนนี้ได้รับโอกาสดีได้มาเรียนต่อ.  และก็ตอบตัวเองได้แล้วว่า  ได้อะไร? 
ฉันได้เรียนรู้อะไรๆ เยอะแยะมากมาย.   หากไม่ได้มาเรียนต่อที่นี่  ประสบการณ์ และข้อคิดดีๆ แบบนี้ก็คงจะไม่ได้เรียนรู้  (จะอยู่ในสถานะที่ไหน แบบไหนก็ดี เหมือนกันหมด  แต่มันได้ประสบการณ์ต่างกัน ไม่ได้เรียนต่อก็ได้ประสบการณ์อย่างอื่น ได้เรียนต่อก็ได้ประสบการณ์แบบที่ต้องจากที่อาศัยเดิมๆ การใช้ชีวิตแบบเดิมๆ)

ขอเขียนบันทึกแค่นี้ก่อน...เพื่อทบทวนความทรงจำ

 

หมายเลขบันทึก: 286375เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2009 00:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท