การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษม 3 แก่ผู้สนใจทุกท่าน


Test-based instruction

สิ่งที่ผมสนใจคือ การพัฒนาผลสัมฤทธิ์การเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามศักยภาพโดยมีมาตรฐานที่คะแนน 50% แม้ว่าคะแนนเฉลี่ยของรายวิชาภาษาอังกฤษจะอยู่ที่ ประมาณ 30% กว่าๆ  ผมคิดว่าการที่เด็กของผมไม่สามารถทำข้อสอบได้ ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการสอนของผมเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมยอมรับได้และหาทางพัฒนาการสอนของตนเองให้ดีขึ้นเสมอ จากคะแนนที่ออกมาต่ำทุกครั้งที่มีการสอบ และได้มีการสอบถามนักเรียนเพื่อเก็บข้อมูลเพื่อเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาวิธีการสอนภาษาอังกฤษ  สำหรับผมการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน กับการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อมุ่งที่ผลสัมฤทธิ์มีแรงจูงใจที่แตกต่างกันทั้งของผู้สอนและผู้เรียน  ผมคิดว่าครูทุกคนในชั้นเรียนยังคงสับสนระหว่างการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และการสอนภาษาอังกฤษเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ที่หลายคนบอกว่า สิ่งนั้นแสดงออกว่าเด็กมีด้านความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ

          จากสิ่งที่ผมเกริ่นมา ทำให้ผมคิดได้ว่า สิ่งที่ผมสอนในชั้นเรียนปกติคือ การสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร เด็กสามารถใช้ทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน ได้ตามศักยภาพและความสนใจของแต่ละคน  แต่เราจะพบว่าเด็กที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีบางครั้งไม่สามารถทำคะแนนสอบได้ดีตามที่เราคาดหวัง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผมก็พยายามหาคำตอบเช่นกันกับเด็กที่ทำข้อสอบได้ดีแต่ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้ 

           เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กของผมทำข้อสอบได้ไม่ดีเท่าที่ควรอาจเป็นเพราะผมไม่ได้ศึกษาตัวข้อสอบที่ใช้วัดเด็กว่า วัดในสิ่งที่ผมสอนเด็กหรือไม่ เรื่องใดที่เราควรเน้นเป็นพิเศษ และเทคนิคในการทำข้อสอบซึ่งจำเป็นมากกับเด็กที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการทำข้อสอบ

           ผมขอนำเสนอแนวคิดในการสอนเด็กของผม โดยใช้หลักการของ Structural Approach และ Test-based Instruction มาใช้ซึ่งผมต้องบอกก่อนว่า มันอาจจะไม่ได้ผล แต่อย่างน้อยผมก็พยายามและจะพยายามต่อไป เพื่อให้เด็กของผมแสดงให้คนอื่นทราบว่า ในแต่ละชั่วโมงที่พวกเขาเรียนภาษาอังกฤษกับผม เขามีความรู้ มีทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษตามศักยภาพ และมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ภาษาอังกฤษระดับชาติ เต็มตามศักยภาพของเขาเช่นกัน แม้อาจจะไม่เทียบเท่ากับเด็กที่มีความพร้อมมากกว่า เหนือสิ่งอื่นใด ผมยังคงต้องแสดงความรับผิดชอบเป็นคนแรก ถ้าเด็กเรียนกับเราแล้วไม่เกิดการเรียนรู้  ทักษะภาษาอังกฤษไม่พัฒนาและต้องสู้ต่อไป

         แนวทางการปฏิบัติโครงการสอนภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้เวลานอกตารางเรียนปกติมีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

         1. สำรวจผลคะแนนของเด็กตนเองว่ามีคะแนนการสอบ มากน้อยเท่าไร  เพราะเราต้องการให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ก้าวกระโดด พัฒนาทีละน้อยแต่เพิ่มขึ้นทุกปี

         2. คนที่ทำงานในโครงการนี้ต้องไม่กดดันตนเองมากเกินไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีเป้าหมาย  ตั้งเป้าหมายในระดับที่เราสามารถไปถึงได้โดยพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ รอบๆ ตัวเรา

         3. การวิเคราะห์ข้อสอบเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ครูทุกคนต้องทำเอง ไม่สามารถไปลอกคนอื่นได้ เพราะข้อสอบเปลี่ยนไปทุกปี แต่หลักการในการวิเคราะห์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง  ให้ครูเลือกข้อสอบภาษาอังกฤษระดับชาติ (NT or O-NET) อย่างน้อย 3 ฉบับเพื่อทำการวิเคราะห์ข้อสอบ จุดมุ่งหมายสำคัญในการวิเคราะห์ข้อสอบคือ เพื่อให้ครูทราบว่าข้อสอบต้องการวัดอะไร เรื่องอะไร เพื่อครูจะได้เตรียมการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสิ่งที่นักเรียนจะต้องได้รับการประเมิน

         4. สร้างตารางวิเคราะห์ข้อสอบ ดังนี้

             4.1 หน้าที่ทางภาษา (Function of language)

                   4.1.1 หน้าที่ทางภาษา (Function of language)  เช่น การถาม-ตอบเกี่ยวกับการเดินทาง (Asking and giving directions) การให้คำแนะนำ (Making suggection)

                   4.1.2 รูปแบบของภาษา (Language exponent) เช่น การถาม-ตอบการเดินทาง  Could you please tell me the way to ......?  It is next to ......

             4.2 ไวยากรณ์ (Grammar)  เช่น present grogressive tense, the comparative and superlative

             4.3 คำศัพท์ (Vocabulary)  เช่น สถานที่ (Places) คำคุณศัพท์ (adjectives) คำบอกความถี่ (Adverb of frequestion) คำบุรพบท (Preposition)

             4.4 ทักษะการอ่าน (Reading Skill) เช่น การอ่านจับใจความสำคัญ ( Reading for main idea) การอ่านเพื่อเอารายละเอียด (Reading for detail) การอ่านเพื่อการถ่ายโอนข้อมูล (Reading for transferring the information)

             4.5 ประเภทของเนื้อหา (Context) เช่น สถานการณ์ (Situation) การ์ตูน (Comic) แผนภูมิ (Chart) บทความ (Article) รูปภาพ (Picture) โฆษณา (Advertisement) จดหมาย (Letter) ย่อหน้า (Paragraph)

        5. เมื่อทำตารางวิเคราะห์ข้อสอบเสร็จแล้ว  ให้ดูว่าสิ่งที่เราสอนเด็กไปสอดคล้องกับสิ่งที่ข้อสอบถามหรือไม่ ถ้ายังไม่ได้สอนให้เตรียมเนื้อหาเพื่อสอนเรื่องนั้น

        6. จัดสร้างข้อสอบก่อนเรียน (Pre-test) จากข้อสอบเก่าๆ เพื่อทดสอบเด็กก่อนเรียน

        7. คัดเลือกข้อสอบเก่าๆ ประมาณ 2-3 ชุด (ต้องไม่มีในข้อสอบก่อนเรียน) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสอน

        8. การสอนโดยใช้ข้อสอบ มีหลักการดังนี้

            8.1 นักเรียนต้องได้รับเอกสารทุกคน และมีปากกา หรือ ปากกาเน้นข้อความเพื่อใช้ในการขีดเส้นใต้และจดบันทึก

            8.2 ครูต้องวิเคราะห์โจทย์ว่า ถามเรื่องอะไร (หน้าที่ทางภาษา หรือประโยคเพื่อใช้ในการพูด, โครงสร้างไวยากรณ์,  การอ่าน  , คำศัพท์) โดยใช้คำสำคัญ (Key word) ในการสอน โดยครูไม่จำเป็นต้องแปลทุกคำ แต่ให้เลือกแปลคำที่เป็นคำสำคัญที่นำไปสู่การหาคำตอบ

             8.3 ครูต้องวิเคราะห์คำตอบว่าแต่ละตัวเลือก เป็นแบบไหน ตรงตามคำถามหรือไม่ (กว้างไป,  แคบไป, ไม่เกี่ยวกับคำถาม) ตรงนี้ครูต้องช่วยเด็กวิเคราะห์ว่า ทำไมจึงเลือกคำตอบนี้ที่ถูก และทำไมจึงไม่เลือกคำตอบนั้นที่ผิด โดยครูให้ความรู้เพิ่มเติมแก่นักเรียน ในทุกข้อคำถามเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้เนื้อหาในเรื่องเดียวกันเพิ่มมากขึ้นไปอีก สิ่งสำคัญคือครูต้องมีคำตอบให้เด็กได้ว่าทำไมจึงถูก และทำไมจึงผิด

             8.4 ครูต้องสอนการใช้ คำถามทั้งถามข้อมูล (Question Word) และการถามเพื่อย้ำ (Yes/No Question) รวมทั้งแนวทางการตอบ เพราะเด็กส่วนใหญ่ที่ตอบคำถามไม่ได้นั้นเพราะว่าไม่รู้ว่าโจทย์นั้นต้องการถามอะไร

        9. สอนเทคนิคในการทำข้อสอบ  เช่น

            9.1 นักเรียนต้องอ่านคำถามและคำตอบให้ครบ แม้ว่าจะมีบางคำที่อ่านไม่เข้าใจ แต่ให้เริ่มตีความจากคำที่เข้าใจก่อน

            9.2 ตัวเลือกที่ถูกมักจะแตกต่างจากตัวอื่น เช่น มี 4  ตัวเลือก จะมี 3 ตัวเลือกที่มีสิ่งคล้ายๆ กันเป็นคำตอบที่ผิด แต่มี 1 ตัวเลือกที่ถูกและแตกต่างจากข้ออื่น

            9.3 มองหาคำศัพท์ในคำถามที่จะสามารถนำไปสู่การหาคำตอบได้ เช่น อาจใช้คำศัพท์กลุ่มความหมายคล้ายคลึงกัน  มีชนิดของคำเหมือนกัน

            9.4 ในข้อสอบการอ่าน สิ่งสำคัญคือ ในคำถามจะมีคำตอบมาให้ เช่น ให้นักเรียนย้อนกลับไปดูในเนื้อเรื่องว่า สิ่งที่คำถามถามนั้นอยู่ตรงไหนในเนื้อเรื่อง คำตอบก็จะอยู่ในบริเวณนั้นแต่อาจใช้คำพูดที่ไม่เหมือนกัน

            9.5 ในการทำข้อสอบการอ่านที่ถามใจความสำคัญ ประโยคแรกของย่อหน้ามักที่จะเป็นใจความสำคัญของเรื่อง ส่วนการตั้งชื่อเรื่อง ไม่ควรกว้างเกินไป   แคบเกินไป   หรือไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง

            9.6 การทำข้อสอบถ้าทำไม่ได้ให้ข้ามไปก่อน แล้วย้อนกลับมาทำใหม่  แต่ถ้าไม่สามารถหาคำตอบได้ ให้เดาอย่างมีเหตุผลโดยพยายามตัดข้อที่ผิดออกให้เหลือเพียง  2 ข้อเพื่อสร้างโอกาสในการเลือกคำตอบถูก 50 %

         10. ครูเขียน (List) สำนวน ประโยคคำถาม ตัวเลือก คำศัพท์ที่พบบ่อยๆ ในข้อสอบ ให้นักเรียนจดจำเพื่อสร้างโอกาสในการแปลความหมายเพราะคำศัพท์และประโยคส่วนใหญ่มักถามซ้ำไปซ้ำมาทุกปี

         11. ให้นักเรียนจับกลุ่มทำการวิเคราะห์ข้อสอบในแต่ละข้อ ตามแนวทางที่ครูสอนและออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนคนอื่นได้เห็นการหาคำตอบที่ถูก ข้อที่ทำผิดสามารถเป็นบทเรียนให้คนอื่นได้เพื่อจะได้ไม่ทำผิดอีก ครูมีหน้าที่ให้คำแนะนำและเสริมความรู้เพิ่มเติม

         12. ให้นักเรียนทำข้อสอบหลังเรียน (Post-test)

         13. ให้นักเรียนทำแบบสอบถามเกี่ยวกับแนวทางการสอนและความพึงพอใจในการเรียน

         14. สิ่งสำคัญที่สุดคือ ขอให้นักเรียนมีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน แม้จะแค่เล็กน้อย เพราะเรากำลังมุ่งเน้นที่พัฒนาการที่ดีขึ้น ไม่ใช่ตั้งเกณฑ์ว่าเด็กจะต้องทำได้กี่ข้อ แต่ขอให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในทุกครั้งที่มีการทำข้อสอบก็เพียงพอแล้ว (สำหรับผม Only) และชื่นชอบรูปแบบการสอนของเราก็ดีใจแล้ว

         15. ทุกอย่างเกิดจากการลองผิดลองถูกในการหาวิธีแก้ปัญหาในชั้นเรียน ยิ่งคิดให้มาก  แก้ปัญหาให้ตรงจุด รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ยอมรับผิดเป็นคนแรกให้ฐานะที่เราเป็นครูสอนเขา เพื่อปรับปรุงแก้ไข  อย่าท้อถอย นี่คืออาชีพของเรา นี่คือลูกศิษย์ของเรา  นี่คืออนาคตของประเทศเรา... และนี่คือ งานที่เราภาคภูมิ อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งที่เป็นครูบ้านนอก.....

          "Impossible is nothing" 

        by NIWAT SUKPINIT

        Srakrachomsoponpittaya School

        Suphanburi

        [email protected]

 

หมายเลขบันทึก: 286356เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2009 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 09:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีมากค่ะรู้สึกมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับการสอนภาษาอังกฤษอีกเยอะ จะลองนำไปใช้กับเด็กดูค่ะ โดยส่วนตัวแล้วก็ชอบสอนในแนวการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารมากกว่า ขอบคุณมากค่ะ

เป็นแนวคิดที่ดีมากเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท