สังเวชนียสถาน (11)


สารนาถ (Sarnath) เป็นสถานที่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงพระปฐมเทศนาครั้งแรก ปัจจุบันอยู่ใกล้เมืองพาราณสี (Varanasi) เมืองนี้อยู่ริมแม่น้ำคงคา ทัวร์มักจะจัดให้ไปชมแม่น้ำคงคาตอนเช้า ไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่นั่น จึงต้องตื่นแต่เช้า ผู้เขียนจำแม่น้ำคงคาได้ดี เพราะมีประสบการณ์เจ็บปวดที่นั่น

พระมหาเจดีย์ธัมเมกขสถูปคณะของเราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2549 วันที่หนึ่งขึ้นเครื่องบินไปพุทธคยา หรือเมืองกาย่า (Gaya) ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง พักที่โรงแรมตัจ ดูรบาร์

วันที่สองเดินทางไปเมืองราชคฤห์ (Rajgir) ขึ้นเขาคิชฌกูฏ กราบนมัสการวัดพระเวฬิวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา แวะชมตโปทาราม มหาวิทยาลัยนาลันทาเก่า สถานที่อาบน้ำร้อนหรือสปา แวะชมบ้านท่านนางสุชาดา และแม่น้ำเนรัญชราที่พระสัมมาสัมโพธิสัตว์ลอยถอดทองคำอธิษฐาน

วันที่สามนมัสการสถานที่สำคัญ 7 แห่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข หรือความสุขจากการบรรลุธรรม เวลา 12.30 น.เดินทางสู่เมืองพาราณสี ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด เช่น รถติด รถเสีย ฯลฯ จะถึงพาราณสีประมาณ 20.00 น.

การเดินทางในอินเดียคล้ายการเดินทางในวัฏฏสงสาร(การเวียนว่ายตายเกิด)ที่ว่า ไม่มีอะไรแน่นอน

ครั้งหนึ่งคณะแสวงบุญชาวไทยคณะหนึ่งไปเจอรถติด 25 ชั่วโมง ท่านผู้อ่านคงจะสงสัยว่า เป็นไปได้อย่างไร กรุงเทพฯ (ยุคก่อนมีรถไฟฟ้าและรถใต้ดิน)มีรถติดมากที่สุดประมาณ 6 ชั่วโมงเศษ

ทว่า... ถนนในอินเดียส่วนใหญ่เป็นถนน 2 เลน สิบล้อยี่ห้อ “ตาต้า (Tata ชื่อนี้แปลว่า พ่อ)” วิ่งกันเต็มไปหมด ถ้ามีรถเสียหรือชนกันจะทำให้เกิดรถติดได้คราวละนานๆ

ถ้าเป็นทางผ่านเมืองเล็กๆ ที่มีข่าวปล้นจี้กัน รถส่วนใหญ่จะพยายามเดินทางกลางวัน เพื่อป้องกันอันตราย ทำให้รถบนถนนตอนกลางวันแน่นยิ่งขึ้นไปอีก

ถ้าเป็นเมืองใหญ่... วันดีคืนดีอาจจะมีการประท้วง หยุดงาน หรือเหตุวิวาทกันทางศาสนา ทำให้รถติดยิ่งขึ้นไปอีก

ผู้เขียนมีประสบการณ์เดินทางรถไฟจากแถบเมืองอัครา (Agra) ไปเมืองนิวเดลี (New Delhi) รถไฟมีกำหนดการณ์ออกประมาณ 4 โมงเย็น แต่ติดเหตุการณ์ประท้วง กว่าจะได้ออกรถจริงๆ รออยู่ประมาณ 12 ชั่วโมง ได้ออกประมาณตี 2 เศษ

รถไฟอินเดียมีรางกว้างประมาณ 1.6 เมตร แล่นได้เร็วและนิ่งกว่ารถไฟไทยมากมาย รถนอนติดแอร์มีทั้งแบบ 2 ชั้น และ 3 ชั้น แถวหนึ่งนอนในแนวตั้งฉากกับรางรถไฟ อีกแถวหนึ่งนอนขนานกับทางรถไฟ

รถนอนอินเดียมีห้องส้วมและอ่างล้างหน้า สะอาดใช้ได้ในมาตรฐานของผู้เขียน แต่ต้องระวังอย่าลงจากรถโดยไม่จำเป็น

ตอนที่ผู้เขียนติดประท้วง รอรถไฟออกตั้งแต่ประมาณ 4 โมงเย็นถึงตี 2 รวม12 ชั่วโมง เช้าขึ้นมาหิวมาก ใกล้เวลาเพล เกรงว่า ทั้งพระทั้งฆราวาสที่สมาทานศีลแปดจะอดเพล จึงเดินลงจากรถไปหาซื้อของกิน

พอรถออกได้เดินขึ้นไปอีกโบกี้(ตู้รถ)หนึ่ง ปรากฏว่า เดินกลับมาโบกี้เดิมไม่ได้ เพราะรถไฟอินเดียเขากั้นตู้ ไม่ให้เดินถึงกัน

ต้องรอให้รถจอดตามสถานี จึงค่อยๆ วิ่งไปหาตู้รถเดิม อาศัยวิ่งอย่างนี้ในระหว่างการจอด 2 ครั้งจึงจะกลับไปตู้เดิมได้ นี่คงเป็นเศษกรรมที่แกล้งคนอื่นไว้ เช่น ทำให้คนหลงทาง กักขังคนหรือสัตว์มาก่อน ฯลฯ

การเดินทางบนรถไฟอินเดียต้องระวังกระเป๋าเดินทางหาย ผู้ที่มีประสบการณ์แนะนำให้หาโซ่กับกุญแจคล้องไว้กับเสา หรือเก้าอี้รถไฟ ไม่อย่างนั้น...ตื่นขึ้นมาอาจไม่พบกระเป๋าได้

การเดินทางในอินเดียควรเตรียมอาหารแห้ง ผลไม้ และน้ำติดตัวไว้เสมอ เวลาหิวขึ้นมาจะได้รีบฉวยโอกาสทำบุญมีการถวายภัตตาหารสงฆ์ แจกจ่ายให้คณะที่ไปด้วยกัน จะได้เป็นอุปนิสัยต่อการอบรมเจริญเมตตา รับรองว่า ดีกว่าโมโหหิวแน่นอน

ผู้เขียนขอเล่าความไม่ดีของตัวเองให้ท่านผู้อ่านฟังเรื่องหนึ่ง ตอนนั้นเด็ดเดี่ยวมาก สมาทานศีลแปดไปอินเดีย-เนปาล การเตรียมตัวเดินทางภาคเช้าไม่ค่อยดีเท่าไหร่

คำว่า “เตรียมตัวดี” ของผู้เขียนนี้ไม่ใช่อะไรอื่น ทว่า... หมายถึงกินให้อิ่มเต็มที่ก่อนเที่ยงตามประสาคนมักมาก(ในอาหาร) เนื่องจากเครื่องบินไปอินเดียมักจะออกบ่าย

ถึงเวลาเสิร์ฟอาหารนี่... ถ้าเดินทางไปกับสายการบินอื่นก็พอทน เพราะอาหารไม่โดดเด่นเท่าไหร่ แต่นี่เป็นการบินไทยที่มีอาหารไทย ถูกใจผู้เขียนมากที่สุด

พอสายการบินไทยแจกอาหารเท่านั้นเอง กลิ่นหอมเหลือเกิน ยิ่งคนรอบข้างกินไปคุยไป ไอ้นั่นก็อร่อย ไอ้นี่ก็อร่อย

ผู้เขียนเลยออกลูกลังเล จะถอนสมาทานศีลแปดก็กลัวถูกพระอาจารย์ที่ไปด้วยติเตียนว่า เห็นแก่กิน ความจริงผู้เขียนก็เป็นคนเห็นแก่กินจริงๆ และกินจุด้วย

คิดไปคิดมา ความกลัวที่จะถูกติเตียนชนะความอยาก ทว่า... เกิดเป็นความหงุดหงิดขึ้นมาแทน

ความหงุดหงิดแบบนี้พระท่านสงเคราะห์เป็นความโกรธชนิดไม่มีเหตุผล เพราะคนอื่นไม่มีใครตั้งใจแกล้งให้ผู้เขียนเดือดร้อนเลยแม้แต่ท่านเดียว นอกจากนั้นคนที่เดินทางไปประมาณครึ่งลำเครื่องบินเป็นคณะแสวงบุญชาวไทย น่าจะยินดีด้วย มุทิตาด้วยที่ท่านเหล่านี้ได้รับผลของบุญคือ ได้รับอาหารประณีตจากการบินไทย

นี่ก็เป็นตัวอย่างของผู้เขียนที่ยังเป็นคนมักมากในเรื่องกินอยู่ และไม่รู้จักคิดอะไรให้บุญให้กุศลเกิดขึ้นมาแทน

ทีนี้ถ้าเราเตรียมตัวไปดีหน่อย กินให้เต็มที่ก่อนเที่ยง บ่ายกินน้ำเต็มที่ เพียงเท่านี้ก็จะเดินทางได้อย่างสบาย ไม่โมโหหิว ถ้าอิ่มเต็มที่แล้ว... ความอยากอาหารย่อมจะลดน้อยถอยลงเป็นธรรมดา ของกินเก็บไว้ดีๆ นำไปทำบุญทำทานต่อได้อีก

การเดินทางในอินเดียก็เช่นเดียวกัน ถ้าเตรียมตัวดี... มีน้ำ ผลไม้ ของแห้งไปพร้อม เมื่อมีรถติดหรือไม่ได้กินอาหารตามเวลาก็สบายใจได้ รีบแจกน้ำและอาหารทำบุญทันที ที่เหลืออีกส่วนหนึ่งก็ดื่มกินได้ตามสบาย

การได้เดินทางร่วมกับคนดีๆ เช่นนี้หาได้ยากในสังสารวัฏ เพราะทุกท่านที่ไปล้วนแล้วแต่ปรารถนาพระนิพพานทั้งนั้น เผื่อไปพบกันในชาติอื่นๆ อีกจะได้อนุเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ครั้งหนึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีเสด็จไปสิงคโปร์ คนไทยที่นั่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรรมกรก่อสร้างนำเงินไปถวาย

หนังสือพิมพ์สิงคโปร์ทูลถามพระองค์ว่า ทำไมคนจน(ในมาตรฐานสิงคโปร์)จึงนำเงินมาถวายพระองค์(ที่รวยกว่า) พระองค์ตรัสว่า คนไทยชอบทำบุญกับคนที่เคารพรัก ชาติหน้าจะได้พบกัน อนุเคราะห์กันอีก... สาธุ สาธุ สาธุ

เรื่องนี้ผู้เขียนได้เห็นมากับตา ได้ยินมากับหูเลย ครั้งหนึ่งไปนมัสการสังเวชนียสถาน... มีคนที่ไปด้วยท่านหนึ่งกล่าวกับสหายธรรมที่ไปด้วยกัน ขอให้ได้เป็นญาติกัน

การตั้งความปรารถนาเช่นนี้ดี ทว่า... ถ้าจะให้ดียิ่งไปกว่านั้นยิ่งดี ผู้เขียนขอเสนอให้อ่านเรื่องมงคลสูตร 38 ประการ แล้วตั้งความปรารถนาไปตามนั้นทุกข้อจะดีที่สุด

เริ่มจากขอให้เราได้พ้นจากคนพาล ขอคนพาลไม่พึงเบียดเบียน ข่มเหง ครอบงำเราได้ทุกเมื่อ(ข้อ 1 อะเสวนา จะ พาลานัง) ขอเราพึงได้คบบัณฑิตมีการฟังพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น (ข้อ 2 ปัณฑิตานัญจะ เสวนา) ขอเราพึงได้บูชาบุคคลผู้ควรบูชา มีพระรัตนตรัย ผู้ใหญ่ในตระกูล เป็นต้น (ข้อ 3 ปูชา จะ ปูชนียานัง)...

ถ้าทรงจำมงคลสูตรได้จะดีที่สุด เวลาตั้งความปรารถนาจะได้ตั้งทีเดียว 38 ข้อ ถ้าจำไม่ได้ก็ไม่ต้องตกใจครับ สมัยนี้มีหนังสือสวดมนต์บาลี-แปลมากมาย

การไปสังเวชนียสถานควรนำหนังสือสวดมนต์ไปด้วย ถ้าเป็นไปได้... ควรนำเล่มที่มีธัมมจักกัปปวัตตนสูตรไปด้วย เพราะนิยมสาธยายพระสูตรนี้ที่พระมหาธัมเมกขสถูป

ผู้เขียนขอเรียนเสนอให้ท่องบทขอขมาพระรัตนตรัยไว้ด้วย จะเป็นบาลีหรือไทยก็ได้ ขอให้เข้าใจความหมาย ได้ทั้ง 2 ภาษายิ่งดี เวลาไปนมัสการพระธาตุเจดีย์ที่ไหนจะได้กราบขอขมา 4 ทิศ 8 ทิศโดยรอบให้ครบทุกด้าน โทษที่อาจล่วงเกินพระรัตนตรัยไปจะได้เบาบางลง บุญจะได้งอกงามขึ้น

เรื่องทำผิดพลาดแล้วยอมรับโทษโดยความเป็นโทษ แสดงอาบัติ(สำหรับพระ) หรือขอขมา ตั้งใจสำรวมระวังต่อไปนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เป็นความเจริญในพระธัมมวินัยนี้

เวลาไปพระเจดีย์... ขอแนะนำให้นำถุงพลาสติกหรือถุงผ้าไปด้วย นำไปเก็บขยะออกมาจากลานพระเจดีย์ นี่เป็นศีลข้ออปจายนะ(อ่อนน้อม) และศีลข้อเวยยาวัจจะ(ช่วยเหลือการงาน) เป็นบุญที่ควรทำเป็นประจำ

การทำความสะอาดพระเจดีย์หรือของสงฆ์มีอานิสงส์พิเศษ เป็นอุปนิสัยให้บรรลุธรรมได้เร็ว และทำให้คนที่พบเห็นพระเจดีย์สะอาดสะอ้านเลื่อมใส พลอยเป็นอุปนิสัยให้ผู้อื่นบรรลุธรรมไปด้วย

ขอกลับมาสู่การเดินทาง... จากพุทธคยาไปพาราณสีใช้เวลาจาก 12.30-20.00 น. หรือประมาณ 7 ชั่วโมงครึ่งถ้าไม่มีอุปสรรคระหว่างทาง

เราพักที่วัดไทยสารนาถในเมืองพาราณสี วัดนี้อยู่ใกล้กับธัมเมกขสถูป หรือพระมหาเจดีย์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คิดเป็นระยะเวลาเดินช้าๆ ไปประมาณ 5-8 นาที

สารนาถ (Sarnath) เป็นสถานที่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงพระปฐมเทศนาครั้งแรก ปัจจุบันอยู่ใกล้เมืองพาราณสี (Varanasi) เมืองนี้อยู่ริมแม่น้ำคงคา

ทัวร์มักจะจัดให้ไปชมแม่น้ำคงคาตอนเช้า ไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่นั่น จึงต้องตื่นแต่เช้า ผู้เขียนจำแม่น้ำคงคาได้ดี เพราะมีประสบการณ์เจ็บปวดที่นั่น

ธรรมดาผู้เขียนชอบดื่มน้ำตอนเช้า ตำราท่านว่าช่วยให้ร่างกายได้รับน้ำเต็มที่ตลอดวัน และช่วยให้ถ่ายคล่อง วันนั้นผู้เขียนดื่มน้ำมาก ไม่รู้จักประมาณตนว่า จะต้องเดินทางไปลงเรือ ล่องแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์

ทีนี้พอไปถึงท่าน้ำ ลงเรือล่องแม่น้ำคงคา... เกิดปวดปัสสาวะขึ้นมา ปรากฏว่า ไม่มีห้องน้ำเลย ไม่ทราบจะทำอย่างไรดี วันนั้นทนแล้วทนอีก กลั้นไว้ๆ จนอะไรๆ มันเต็มอั้น... ทนไม่ไหวจริงๆ จึงขอเรียนปรึกษาอาจารย์สำรวย หัวหน้าทัวร์

หัวหน้าทัวร์ส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าอินเดีย เรื่องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ต้องห่วง ท่านบอกว่า มี 2 วิธี วิธีแรกให้นุ่งผ้าขาวม้า ลงไปเกาะริมเรือ ให้ตัวแช่น้ำครึ่งหนึ่ง แล้วปล่อยมันออกมา วิธีที่สองเอาผ้าขาวม้าบัง ปล่อยมันบนเรือเลย

ผู้เขียนเลือกวิธีที่สอง คนที่ไปด้วยใจบุญ มอบขวดน้ำขนาด 1 ลิตรให้ พอได้ผ้าขาวม้าบังก็ระบายออกมาทันที ได้น้ำรวมแล้วเกินครึ่งลิตร นับเป็นการปวดที่สาหัสที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตผู้เขียน ขอขอบคุณผ้าขาวม้าไทย และขออภัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดา ฟ้าดินอินเดียมา ณ ที่นี้

ครั้งหนึ่งผู้เขียนไปกับทัวร์ อาจารย์หัวหน้าทัวร์(อดีตหลวงพ่อ)ท่านพาไปหอพักคนไทย(ส่วนใหญ่เป็นพระ) มหาวิทยาลัยฮินดูบันเรส เมืองพาราณสี

ผู้เขียนขออนุญาตท่านพักที่วัด เพราะเห็นหนังสือธรรมบทเล่มใหม่ของท่านอาจารย์ประณีต ก้องสมุทรที่วัด กะว่าจะหลีกเร้น อ่านไปพิจารณาไป สลับกับการเข้าไปกราบนมัสการพระมหาเจดีย์ธัมเมกขสถูป และทำบุญที่พระมหาธาตุเจดีย์(พระคันธกุฎี)ของสมาคมมหาโพธิ์ลังกาที่อยู่ใกล้ๆ กัน ซึ่งมีพระบรมสารีริกธาตุ

พระภิกษุที่ดูแลพระมหาธาตุเจดีย์(พระคันธกุฎี)ของสมาคมมหาโพธิ์ลังกาเก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุไว้ในห้องใต้ดิน เพื่อป้องกันการลักขโมย หรือการปล้นจี้

ถ้าต้องการขอชมจะต้องบริจาคอย่างน้อยประมาณ 10,000 บาท และแจ้งต่อท่านล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน

ผู้เขียนมีประสบการณ์ชมพระธาตุในการไปทัวร์อินเดีย-เนปาลครั้งแรกอย่างใกล้ชิด จำได้ว่า พระธาตุครั้งนั้นมีน้อยกว่าพระธาตุที่ดูจากภาพยนต์เรื่อง “ตามรอยพระพุทธเจ้า”

บรรยากาศที่สารนาถวันนั้น... สงบ ร่มเย็น เงียบ ทำให้มีเวลาเข้าไปทำความสะอาดบริเวณพระธัมเมกขสถูปทั้งรอบเช้าและรอบเย็น

เมื่อรวมกิจกรรมที่ทำในวันนั้น... มีการอ่านหนังสือธัมมะ พิจารณาข้อธรรม สาธยายพระสูตร และการถวายประทีป(แสงสว่าง)จากไฟฉายชนิดพิเศษที่เตรียมไป 2 ชุดในช่วงที่เขาบูรณะซ่อมแซมพระมหาเจดีย์ธัมเมกขสถูป ช่วงนั้นไม่มีแสงไฟจากสปอตไลท์ ทำให้บริเวณโดยรอบมืดสนิท

ไฟฉายนี้ด้านหนึ่งมีหลอดนีออน(ฟลูออเรสเซนต์)ไว้สำหรับตั้งถวายเวลานั่งสวดมนต์สาธยาย หรือเวลาอยู่ใกล้พระมหาเจดีย์ อีกด้านหนึ่งมีหลอดไฟส่องไปได้ไกล เวลาอยู่ไกลพระมหาเจดีย์จะยืนส่องถวาย บรรยากาศอย่างนี้นึกครั้งใดก็โสมนัสมาจนทุกวันนี้

ขอท่านผู้อ่านทุกท่านโปรดได้รับส่วนแห่งบุญทั้งหมดนี้ ขอความสุขความสวัสดีพึงมีแด่ท่านผู้อ่านทุกท่านเทอญ...

แหล่งข้อมูล:

  • ขอขอบคุณ > ท่านพระอาจารย์เทพพนม วัดท่ามะโอ ลำปาง, คุณนงนุช, คุณอัจฉริยา เกตุทัต (ปุ๊ย), พี่จี๊ด (ทพญ.รัตนาวดี บุปผาเจริญสุข), พี่จ๋อง(ภก.บุญญาพร ยิ่งเสรี).
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙.
  • เชิญอ่านบ้านสุขภาพที่นี่ > http://gotoknow.org/blog/health2you
หมายเลขบันทึก: 28607เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2006 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • สาธุ สาธุ
  • น่าไปมากครับที่สารนาท คงต้องบอกว่าคบบัณฑิตจึงได้อ่านเรื่องดีๆจากคุณหมออยู่เสมอนะครับ
  • ขอบคุณมากครับคุณหมอ

เรียนอาจารย์หมอวัลลภ

  • เรื่องนี้น่าจะเป็น series ที่ยาวที่สุด (ไม่นับของท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ครับ)
  • ตอนนี้อ่านสนุกที่สุดเลย มีอารมณ์ขันแทรกอยู่ในเรื่องเล่า โดยเฉพาะตอนปวดฉี่นี่จะทำอย่างไรดี ก็ได้คำตอบจากที่นี้
  • รูปภาพสวยมากครับ ผมชอบภาพพระมหาเจดีย์ธัมเมกขสถูปครับ และภาพบรรยากาศของเมืองพาราณสี
  • ขอขอบคุณที่เขียนเรื่องดีๆ ครับ
  • ขอขอบคุณอาจารย์ขจิต อาจารย์สมลักษณ์ และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • ขอขอบคุณภาพทัชมาฮาลจากอาจารย์ขจิต... สิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ ในโลกส่วนใหญ่ "เปื้อนเลือด น้ำตาล หยาดเหงื่อ" มาไม่มากก็น้อย
  • เท่าที่ทราบ....
    1).__ทัชมาฮาลนี่
    ฆ่าหัวหน้าช่าง ตัดมือ ควักลูกตาช่าง เพื่อจะไม่ให้ไปสร้างที่อื่นได้อีก
    2).__อนันทาเจดีย์ในพุกาม ดูเหมือนจะตัดมือ ควักลูกตาช่างคล้ายกัน...
  • ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของทุกท่าน ขอท่านอาจารย์ และท่านผู้อ่านทุกท่านพึงมีความสุข ความเจริญในกุศลธรรมทุกๆ ประการ ขอความปรารถนาที่ดีงามของทุกท่านพึงสำเร็จได้โดยเร็วพลันเทอญ...
  • สาธุ
  • มหาวิทยาลัยนาลันทาเก่า  ในสารคดีตามรอยพระพุทธเจ้าบอกว่ามีเนื้อที่ถึง 14 ตารางกิโลเมตร นับว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่โตน่าดู
  • มาเทียบกับของเรา มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ๆ ได้แก่ เกษตร ขอนแก่น สุรนารี ผมเองก็ไม่รู้ว่าของเราแต่ละแห่งขนาดเท่าไร แต่เทศบาลหาดใหญ่ 21 ตารางกิโลเมตร ผมคิดว่าบางที มหาวิทยาลัยนาลันทาเก่า อาจจะมีขนาดพอๆ กับเทศบาลปัตตานี หรือเทศบาลยะลา เลยทีเดียว
  • ขอบคุณคุณหมอที่นำเรื่องดีๆ มาเล่าสู่กันฟังครับ สาธุ
  • ขอขอบคุณอาจารย์เปมิช ท่านผู้ให้ข้อคิดเห็น และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • มหาวิทยาลัยนาลันทาเก่าน่าจะมีลักษณะคล้ายกับเมืองมหาวิทยาลัย เช่น ออกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร(อังกฤษ) ฯลฯ
  • พระภิกษุรูปหนึ่งบอกว่า เนื้อที่จริงๆ กว้างมากกว่าที่คิด ทว่า... การขุดสำรวจจะทำให้เสี่ยงต่อข้อพิพาทกับชาวบ้าน
  • เรื่องนาลันทาเก่าก็สะท้อนอนิจจลักษณะ(ความไม่เที่ยง)เหมือนกัน... สถาบันที่กล่าวกันว่า ต้องเผาหอสมุดนานถึง 3 เดือน เมื่อมีเหตุมีปัจจัยให้ถูกทำลายก็เสื่อมไปตามธรรมดาของโลก(โลกนี่... บาลีแปลว่า แตกดับ ทำลาย)
  • ขอขอบคุณ และขอความสุข ความเจริญพึงมีแด่ท่านผู้อ่านทุกท่านตลอดกาลนานเทอญ...

สิ่งก่อสร้างที่เข้าข่ายของคุณหมอเท่าที่นึกออก

  • เส้นทางรถไฟสายมรณะ
  • กำแพงเมืองจีน

หอสมุดที่ไฟไหม้นานถึงสามเดือนอีกที่ ได้ยินว่าอยู่ที่เมือง Alexandria มั๊งครับ

ผมยังจินตนาการไม่ออกเลยครับว่าจะใหญ่ขนาดไหน

น่าเสียดายแหล่งความรู้นะครับ กว่าที่มนุษย์จะสั่งสมความรู้ได้ขนาดนั้น ใช้เวลาไปตั้งเท่าไหร่ แลบางทีอาจจะไม่มีฉบับสำเนาเหลือเอาไว้ให้เราได้ศึกษา

เขาว่ากันว่า

  • ตำรา Calculus นั้น Newton เขียนเอาไว้ 7 เล่ม แต่ไฟไหม้ไป 6 เล่ม ที่เราเรียนกันหูตูบนั้นเพียงแค่เล่มเดียวของท่าน Sir เอง (ถ้ายังอยู่ครบทุกเล่มไม่รู้จะใช้เวลาเรีนนกันนานเท่าไร)
  • ตำราแพทย์แผนจีนที่ถ่ายทอดกันมา (จากหมอฮูโต๋) แต่โบราณนั้น โจโฉเผาทิ้งไปมากเหลืออยู่เพียงแค่เล่มเดียว ที่ไฟเผาไปไม่หมด

จริงเท็จประการใดเชิญ Discuss กันได้ตามอัธยาศัยครับ

  • เทศบาลนครภูเก็ต มีพื้นที่รับผิดชอบรวม 12 ตารางกิโลเมตร หรือ 19,500 ไร่ (ที่มา :http://www.phuketcity.go.th/ )
  • เทศบาลนครยะลา ตั้งอยู่ที่ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่บริเวณตอนเหนือของจังหวัดยะลา มีพื้นที่ 19 ตารางกิโลเมตร (ที่มา : http://www.yalacity.go.th/informed_general.php )
  • เวปเทศบาลฯ ปัตตานีวันนี้เปิดไม่ได้ครับ

 

 

สิ่งก่อสร้างที่เข้าข่ายของคุณหมอเท่าที่นึกออก

  • เส้นทางรถไฟสายมรณะ
  • กำแพงเมืองจีน

หอสมุดที่ไฟไหม้นานถึงสามเดือนอีกที่ ได้ยินว่าอยู่ที่เมือง Alexandria มั๊งครับ

ผมยังจินตนาการไม่ออกเลยครับว่าจะใหญ่ขนาดไหน

น่าเสียดายแหล่งความรู้นะครับ กว่าที่มนุษย์จะสั่งสมความรู้ได้ขนาดนั้น ใช้เวลาไปตั้งเท่าไหร่ แลบางทีอาจจะไม่มีฉบับสำเนาเหลือเอาไว้ให้เราได้ศึกษา

เขาว่ากันว่า

  • ตำรา Calculus นั้น Newton เขียนเอาไว้ 7 เล่ม แต่ไฟไหม้ไป 6 เล่ม ที่เราเรียนกันหูตูบนั้นเพียงแค่เล่มเดียวของท่าน Sir เอง (ถ้ายังอยู่ครบทุกเล่มไม่รู้จะใช้เวลาเรีนนกันนานเท่าไร)
  • ตำราแพทย์แผนจีนที่ถ่ายทอดกันมา (จากหมอฮูโต๋) แต่โบราณนั้น โจโฉเผาทิ้งไปมากเหลืออยู่เพียงแค่เล่มเดียว ที่ไฟเผาไปไม่หมด

จริงเท็จประการใดเชิญ Discuss กันได้ตามอัธยาศัยครับ

  • เทศบาลนครภูเก็ต มีพื้นที่รับผิดชอบรวม 12 ตารางกิโลเมตร หรือ 19,500 ไร่ (ที่มา :http://www.phuketcity.go.th/ )
  • เทศบาลนครยะลา ตั้งอยู่ที่ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่บริเวณตอนเหนือของจังหวัดยะลา มีพื้นที่ 19 ตารางกิโลเมตร (ที่มา : http://www.yalacity.go.th/informed_general.php )
  • เวปเทศบาลฯ ปัตตานีวันนี้เปิดไม่ได้ครับ

 

 

  • ไม่ทราบว่า Series เรื่อง สังเวชนียสถาน มีทั้งหมดกี่ตอนครับ
  • หมด Series นี้แล้วคุณหมอมีผลงานอะไร Stock ไว้อีกบ้างครับ
  • ถ้ายังไม่มี ก็ขอ request เรื่อง มงคลชีวิต ครับ
  • ขอบคุณครับ
  • ขอขอบคุณอาจารย์เปมิช ท่านผู้ให้ข้อคิดเห็น และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • 1). เรื่องสังเวชนียสถานมีกี่ตอน... ผมเองก็ยังไม่ทราบเหมือนกันครับ
    2). เรื่องนี้เป็นผลมาจากรุ่นพี่วัดท่ามะโอท่านไปอินเดียกับพระอาจารย์ พระอาจารย์ท่านกรุณามอบรูปดิจิตอลให้
    3). ผมเลยได้ข้อคิดว่า น่าจะลองเขียนเรื่องนี้ดู...
    4). ตอนนี้คิดว่า น่าจะหาทางสแกนรูปอินเดีย-เนปาลเก่าๆ ที่ผมมี (ถ่ายในปี 2542) และลองหาภาพดูงานโรงพยาบาลท่าขี้เหล็กพม่า (ปี 2542) ถ้าหาพบ... น่าจะสแกนจากสไลด์เป็นดิจิตอลว่า พอจะทำอะไรได้หรือไม่
  • เรื่องที่เก็บไว้รอเขียนคือ เรื่องพม่าที่ไปปี 2548 เขียนได้แค่ 3 ตอนแล้วหยุดไปเลย
  • เรื่อง "มงคลชีวิต" ที่อาจารย์เสนอน่าสนใจมากครับ ทราบจากท่านพระณพลว่า ประเทศศรีลังกาสนใจ "มงคลสูตร" มาก และใช้เป็นแบบแผนในการพัฒนาประเทศ
  • การเขียนเรื่องเป็นชุดบทความ (series) มีส่วนทำให้ผมเข้าใจเรื่อง "เมฆความรู้" ที่ท่านอาจารย์จันทวรรณเขียนไว้ กว่าจะเข้าใจใช้เวลาประมาณ 5 เดือน...
    1).___ ถ้าเราทำคำหลักไว้ทุกบทความ
    2).___ ด้านล่างของบล็อกจะแสดงขนาดของคำหลักที่มีจำนวนตั้งแต่ 2 ขึ้นไป และขนาดของคำหลัก(ก้อนเมฆความรู้)จะใหญ่ขึ้นตามจำนวนบันทึก)
  • ขอขอบคุณทุกท่านใน Gotoknow ที่ให้โอกาสนักเรียนใหม่(หมายถึงตัวผมเอง)ได้เข้ามาเล่าเรียนที่นี่...
  • รออ่านเรื่องมงคลชีวิตและเรื่องเกี่ยวกับพม่าต่อครับ
  • ผมได้เรียนรู้จาก gotoknow ทั้งจากพี่ๆเพื่อนๆและคุณหมอมากกว่าการอ่านหนังสือบางเล่มครับ
  • ขอขอบคุณอาจารย์ขจิต ท่านผู้ให้ข้อคิดเห็น และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • ยินดีด้วยครับ Gotoknow เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) คล้ายกับเป็นมหาวิทยาลัย หรือสิกขาลัยออนไลน์
  • ความรู้นี่... ลปรร....แล้วคล้ายกับการต่อไฟแสงสว่าง ดูเหมือนประทีป(แสงสว่าง)เดิม + ประทีป(แสงสว่าง)ใหม่ยิ่งสว่างมากขึ้น
  • การให้ความรู้จัดเป็นวิทยาทาน หรือธรรมทาน เป็นบุญสายทานก็จริง ทว่า... เป็นทานประเภทที่เป็นอุปนิสัยของการมีสติปัญญาต่อไป
  • ขออนุโมทนากับท่านผู้อ่านทุกท่าน ขอท่านผู้อ่านทุกท่านพึงมีสติปัญญาดี อย่างน้อย... ก็มาร่วมแสวงบุญไปสังเวชนียสถานกันหลายตอนแล้วครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท