"โรค" น่าเป็นห่วง ของนิสิตนักศึกษาไทย


ความรู้ ที่ได้จุดประกาย และ ส่งต่อ ดุจดังแสงสว่าง ที่จะจุด ในที่มืด หรือที่สลัว ให้มีความชัดเจน แจ่มแจ้ง กว้างขวางขึ้น เพื่อการพัฒนา ความรู้ สอดประสาน เชื่อมโยง ต่อไป อย่างยั่งยืน

ปฐมฤกษ์ บันทึกนี้ ได้เริ่มต้นถ่ายทอดลงสู่ Blog ของตัวเอง สักที จากที่เปิดไว้ตั้งแต่ พฤศจิกายน 2551 ด้วยประสบการณ์ ที่น้อยนิด แต่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ที่จะพยายามเข้ามามีส่วนร่วม ในการ สร้างสรรค์ ความรู้และประสบการณ์ส่วนตัว ที่ได้รับจากสังคม มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ความรู้ ที่ได้จุดประกาย และ ส่งต่อ ดุจดังแสงสว่าง ที่จะจุด ในที่มืด หรือที่สลัว ให้มีความชัดเจน แจ่มแจ้ง กว้างขวางขึ้น เพื่อการพัฒนา ความรู้ สอดประสาน เชื่อมโยง ต่อไป อย่างยั่งยืน

 

 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2552 ได้มีโอกาส เข้าร่วม การประชุมวิชาการ ระดับชาติ “๒๕๕๒ ปีแห่งคุณภาพการอุดมศึกษาไทย” ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา จัดขึ้นที่ อาคารอิมแพ็ค คอนเวนเจอร์ เมืองทองธานี มีหัวข้อประเด็นการประชุมวิชาการ เกี่ยวกับอุดมศึกษา ที่น่าสนใจ ติดตาม อยู่มากทีเดียว แต่ไม่สามารถจะเข้าไปฟังได้ทุก Section ประเด็น ที่จะหยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง ในครั้งนี้ เป็น เพียง Section หนึ่งของการจัดประชุมที่ตัวเองได้เข้าไปนั่งฟัง ในช่วงเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง คือ “วิกฤตนักศึกษาไทย: ความรุนแรงและทางออก” โดย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ท่านได้นำเสนอ Wording ภาวะอาการของโรค ที่นิสิตนักศึกษาเป็นหนัก 3 โรค

 

 คือ “หัวใจตีบตัน”        “สำลักเสรีภาพ”   และ     “ศักดิ์ศรีบกพร่อง”

ความรักตีบตัน           เมื่อไม่มีความรักจากที่บ้าน เด็กก็จะเข้าหายาเสพติดได้ง่าย

โรคศักดิ์ศรีบกพร่อง    เมื่อผลการเรียนไม่ดี ไม่ได้รับการยอมรับก็ไปหาศักดิ์ศรีนอกโรงเรียน

โรคสำลักเสรีภาพ       มีแหล่งอบายมุขอยู่ทั่วไปที่ง่ายต่อการเข้าถึงของเด็ก

ซึ่งเป็นบทสรุปจากการสำรวจ วิกฤตทางสังคมที่กระทบต่อนิสิตนักศึกษาปี 2550 มีระดับความรุนแรงของปัญหาอยู่ในระดับ น้อย ถึง ปานกลาง 5 ด้าน สถานการณ์ของนิสิตนักศึกษา คือ

 

 1. การแต่งกายที่ไม่เหมาะสม

 2. การเสพสุรา บุหรี่ ยาเสพติด

3. การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร

4. การเล่นการพนัน

5. การใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย

 

แม้สถานการณ์ระดับความรุนแรงของปัญหาอยู่ที่น้อย ถึงปานกลาง ด้วยจิตวิญาณของความเป็นครู ในสถาบันอุดมศึกษา ก็มองว่าเป็น 5 ด้าน ที่ จะบั่นทอน ทำร้าย ลูกศิษย์ ของเรา ตลอดชีวิต ในระยะยาว ระยะเวลาในการใช้ชีวิตในสถาบันอุดมศึกษา ในระยะ 4-5 ปี จะสามารถ บ่มเพราะ ฉุดดึง “ลูกศิษย์” ที่มีนัย ทั้ง “ลูก” และ “ศิษย์” ว่า “ลูกไม้ ไม่น่าจะหล่นไกลต้น” และ “ ศิษย์ ไม่น่าจะเดินออกนอกเส้นทางครู” อย่างไรก็ตาม ความพยายามของ บุคลากรทางอุดมศึกษา คงจะได้ตระหนัก ถึง “วิกฤตทางสังคม” ที่เกิดขึ้น ด้วยวิธีการการสร้าง “นิสิตเข้มแข็ง” ให้อยู่รอดในทุกบริบทของสังคมได้ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 285830เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2009 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2013 07:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

จากข้อมูลที่ได้อ่านจากคุณตะวันลับฟ้า เกี่ยวกับวิกฤติของนักศึกษาไทย ทำให้พวกเรา ที่มีหัวใจความเป็นครู หยุดคิดไม่ได้ว่า ในเมื่อโลกของเรามันเปลี่ยนไป กระแสวัฒนธรรมข้ามชาติมันคืบคลานเข้ามา ประกอบกับนักศึกษาของเราอยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่เพื่อนมีความสำคัญ สิ่งต่างๆที่ยั่วยุหรือสื่อต่างๆที่เข้ามาทุกรูปแบบ และอีกหลายๆอย่าง ทีเข้ามา เราต้องสะท้อนกลับว่าภาวะอาการของโรค ที่นิสิตนักศึกษาเป็นหนัก 3 โรค “หัวใจตีบตัน” “สำลักเสรีภาพ” และ “ศักดิ์ศรีบกพร่อง” เราจะช่วยเหลือได้อย่างไร ในฐานะสถาบันที่เขาศึกษาอยู่ หรือ ในฐานะเพื่อน หรือ อาจารย์ที่ปรึกษา หรือผู้ปกครอง หรือแม้แต่กระทั่งสังคม ที่จะต้องร่วมรับผิดชอบ ให้พวกเขามีศักดิ์ศรี มีเสรีภาพในการแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ และสร้างเกราะของหัวใจให้เข้มแข็ง เราในฐานะครูคงต้องช่วยประคับประคองเขา ไม่ให้เดินออกจากทาง ไม่ให้พลาดจากทางที่เขาต้องเดิน เพื่อให้เขาผ่านวิกฤติของสังคมนี้ไปได้ด้วยดี

สิทธิศักดิ์ (ม.เกษมครับ)

ในฐานะที่ผมเป็นนักศึกษาคนหนึ่ง ผมมีความเห็นว่าในปัจจุบันคนที่เรียกตัวเองว่า "ครู" นั้นมีอยู่มากมายในสังคมไทย แต่คนที่มีจิตวิญญาณของ "ความเป็นครูที่แท้จริง" นั้นมีน้อยมาก อันที่จริงคำว่าครูไม่จำเป็นต้องมาจากการสอบ การเรียนวิชาชีพครู หรือข้าราชการครู หากแต่ครูนั้นมาจากจิตใจที่เมตตา กรุณาต่อลูกศิษย์ต่างหาก ครูที่แท้จริงต้องพร้อมที่จะ "ให้ทุกอย่างเท่าที่ครูให้ได้" ไม่ใช่ใช้ความเป็นครูบังหน้าแล้วข่มเหงรังแกศิษย์เพื่อประโยชน์ส่วนตนเหมือนหลายคนที่ทำอยู่ทุกวันนี้

อันที่จริงแล้วชาวนา พ่อค้า ชาวสวน หรืขอทานก็เป็นครูได้ หากเขาเหล่านั้นมีจิตใจดี มีเมตตาและพร้อมที่จะสอนความรู้ที่ตนมีถ่ายทอดให้กับผู้อื่น "ประสบการณ์ของเขานั่นแหละคือบทเรียนที่มีค่ามากที่สุด"___________ "ครู"

ในปัจจุบัน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย เข้ามาใกล้ชิดนิสิตนักศึกษามากขึ้น ทั้งยังเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ดังตัวอย่างข่าวที่นำเสนอในปัจจุบัน จริงอยู่การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ในตัวบุคคล ต้องเริ่มจากวัยเด็ก และควรมีการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในระยะเวลา 4-5 ปีที่นิสิตนักศึกษาอยู่ในรั้วสถาบันอุดมศึกษานั้น เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ที่พวกเขากำลังก้าวผ่านช่วงวัยรุ่นสู่การเป็นผู้ใหญ่ ในฐานะของสถาบันอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ผู้สอน อาจารย์ที่ปรึกษา หรือหน่วยงานที่ดูแลด้านกิจการนิสิตนักศึกษา ควรต้องร่วมมือกันในการดูแล กล่อมเกลา นิสิตนักศึกษา โดยการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมในการเรียนการสอน และจัดหากิจกรรมที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งไม่ให้นิสิตนักศึกษาหลงเดินผิดทาง รวมถึงการหาวิธีแก้ไขและให้โอกาสเมื่อพวกเขาพลั้งพลาด เพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างสง่างาม และเป็นบุคคลที่พึงประสงค์ของประเทศชาติต่อไป

ขอเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการศึกษาทุกท่านค่ะ :)

เห็นด้วย กับคุณสิทธิศักดิ์ ค่ะ เคยได้ ดูภาพยนตร์ไทย มีคุณภาพ เรื่อง "หัวใจเดียวกัน" ที่สะท้อน ความเป็น "ครูของคนไทย" น่าจะช่วยสนับสนุน ข้อคิดได้ว่า ไม่ว่าจะเป็น ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ หรือแม้แต่ นักการภารโรง แม่ครัว .... ที่ทำงานในโรงเรียน ทุกท่าน มีความเป็น "ครู" เพียง แค่ พวกท่านมีจิตใจ ที่งดงาม พร้อมถ่ายทอด ภูมิปัญญา ความรู้ .. แก่นักเรียน โดยไม่หวังผลตอบแทน ... นอกจากความภาคภูมิใจ ที่ได้เป็นผู้ให้ ... เพียงเท่านี้ ... เราก็เรียก "ครูในดวงใจ" ได้อย่างภาคภูมิ ค่ะ

สวัสดีค่ะ ได้อ่านบทความของคุณตะวันลับฟ้าแล้วรู้สึกสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของผู้เขียน ว่ารู้สึกถึงความหดหู่ใจเกี่ยวกับวิกฤตของนักศึกษาไทยในปัจจุบัน แต่ในฐานะที่ตัวเองอยู่ในแวดวงการศึกษามีความเห็นว่าทุกคน ทุกภาคส่วนต้องเป็นแรงช่วยผลักดัน และลบล้างค่านิยมหรือแนวทางที่นักเรียนนักศึกษาได้กระทำหรือยึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง

วัยรุ่นในปัจจุบันมีความคิดที่เป็นอิสระมากเกินไป ดังนั้นสถาบันครอบครัวยังเป็นหลักในการจะสนับสนุนและควบคุมดูแลการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้ เพราะโดยส่วนตัวคิดว่า การแสดงออกถึงพฤติกรรมที่คุณตะวันลับฟ้าได้กล่าวถึง เป็นผลมาจากความผิดปกติของครอบครัววัยรุ่นแต่ละคนค่ะ..ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่จะต้องเลิกปัดความรับผิดชอบหรือโยนความผิดให้กับลูกหลาน ...โดยควรถือตนเองเป็นจุดเริ่มต้นให้การมอบอนาคตให้กับคนที่ตนเองรัก...

ในขณะที่กระทรวงศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาได้กำหนดให้ปี 2552 เป็นปีแห่งคุณภาพอุดมศึกษาไทย โดยเน้นที่คุณภาพของบัณฑิตเป็นอันดับแรกนั้น จะส่งผลดีต่อคุณภาพของนักศึกษาและบัณฑิตในสังคมไทยอย่างยั่งยืนค่ะ

 ขอร่วมแสดงความเป็นห่วงด้วยค่ะ..ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องควรหากิจกรรมทางสังคมแบบ "จิตอาสา" ให้นักศึกษามีส่วนร่วม ซึ่งจะช่วยกล่อมเกลาจิตสำนึกและความรับผิดชอบ สู่ทางที่ดีงาม ดังเช่นที่สถานศึกษาหลายแห่งทำสำเร็จมาแล้วในระดับมัธยมและประถมศึกษาค่ะ...

เห็นด้วย กับ คุณนงนารถ นะคะ

โครงการ "จิตอาสา" ที่เคยได้ร่วมทำงานด้านนี้อยู่บ้าง สามารถ สัมผัสได้ถึง "คุณค่า" แห่ง "ความเป็นผู้ให้" อย่างไม่มีเงื่อนไข

ทำให้เกิดความ"ภาคภูมิใจ" ของผู้ให้

สร้างสรรค์ "กำลังใจ" แก่ผู้รับ

ได้อย่างอัศจรรย์ใจ ค่ะ

เห็นด้วยมากๆ ค่ะ ที่ครูอาจารย์ ต้องช่วยกันดูแลรักษา รวมถึงเฝ้าระวัง "โรค" ที่น่าห่วงของนิสิตนักศึกษานี้ ด้วยความเมตตากรุณา และหวังดีอย่างจริงใจ ซึ่งจริงๆ แล้ว การเป็นเด็กในยุคนี้ แท้จริงแสนลำบากและน่าเห็นใจ เพราะไม่ว่าจะปรับตัวเก่งขนาดไหนก็อาจตกอยู่ในวังวนของความสับสนได้ จากที่โลกนี้หมุนเร็วและเล็กลง มีข้อมูล/สิ่งยั่วยุมากมาย ที่อาจชวนให้หลงผิด โดยเฉพาะในวัยที่อยากรู้อยากลอง และหากเราในฐานะครูอาจารย์ที่อยากจะเข้าไปดูแลช่วยเหลือศิษย์ ก็อย่าลืมที่จะเข้าใจเค้าด้วยนะคะ และจริงๆ แล้ว ลำพังครูอาจารย์อาจจะทำอะไรไม่ได้มากนัก คงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย เช่น ครอบครัว ชุมชน สังคม ที่จะต้องช่วยกันอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นอนาคตของชาติ อาจกลับมาเป็นผู้ทำลายสังคมของเราก็ได้

ปัจจุบันนี้น่าเป็นห่วงนิสิตนักศึกษานะคะ ตามที่คุณตะวันลับฟ้าได้กล่าวถึงวิกฤติทางสังคมที่กระทบต่อนิสิตนักศึกษาของเรา ใน 5 ด้าน ซึ่งพบว่าทั้ง 5 ด้านนี้เราก็ยังพบว่าเป็นปัญหาของนิสิตนักศึกษาอยู่ และน่าเป็นห่วงลูกหลานของเราที่จะต้องเข้าไปพบเจอกับสิ่งเหล่านี้ในสถานศึกษา จากที่เคยพบมาบางคนเป็นเด็กเรียบร้อยมาก แต่พอเปลี่ยนสถานที่เรียน นิสัยก็เปลี่ยนตามไปด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไปอยู่ในสถานศึกษาที่มีสิ่งแวดล้อมไม่ดีเหล่านี้อยู่ ก็น่าหนักใจสำหรับครูอาจารย์ที่จะต้องคอยดูแลลูกศิษย์ของเราไม่ให้เข้าไปตกอยู่ในอบายมุขเหล่านี้ แต่เราก็คงจะดูแลพวกเขาตลอด 24 ชัวโมงไม่ได้ ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ก็คงจะต้องช่วยกวดขันกับบุตรหลานของตนเอง และหันมาเอาใจใส่ให้มากขึ้น เพราะถ้าเด็กได้รับความอบอุ่นจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพียงพอ เด็กก็คงจะไม่ติดเพื่อน จนทำให้ต้องพลั้งพลาดทำสิ่งต่าง ๆ ไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น คงถึงเวลาแล้วนะคะ ที่ทุกคนต้องหันมาเอาใจใส่ดูแลคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยรุ่น เพื่อไม่ให้เขาเดินหลงทางไปไกลจนสุดที่จะกู่กลับมาได้ค่ะ

จิตวิญญาณของความเป็นครูสำคัญจริงๆ ค่ะ  แต่ความเป็นจริงแล้วในสถาบันอุดมศึกษานั้น จะมีครู (อาจารย์) สักกี่คนที่ทุ่มเทเสียสละ ใส่ใจ คอยแนะนำ ตักเตือนนักศึกษาบ้างคะ... ส่วนใหญ่จะมองว่านักศึกษาโตแล้ว ใส่ใจเพียงแต่ในชั้นเรียน  ออกนอกชั้นเรียนแล้วก็หมดภาระของครู ... คิดแล้วก็น่าเป็นห่วงค่ะ ...อุดมศึกษาคงต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ให้มากขึ้น  ชวนลูกศิษย์พูดคุย  ชวนลูกศิษย์ช่วยงานกันบ้างนะคะ  ทำให้ลูกศิษย์คิดว่าเขาสำคัญ  ทำให้เขาตระหนักถึงคุณค่าของการเป็นนักศึกษา ...

บางคนอยู่บ้านขาดความอบอุ่น  พ่อแม่ก็ไม่มีเวลาให้ ต่างคนต่างทำงาน  บางครั้งสิ่งหลอกล่อจากสภาพแวดล้อมภายนอกมันมากมายเกินห้ามใจ ...สภาพแวดล้อมในสถาบันจึงเหมือนเป็นที่พึ่งทางใจ  ที่จะดึงคุณธรรมจริยธรรมในตัวนิสิตนักศึกษากลับคืนมาได้   ได้เพื่อนดีก็ดีไป  ได้ครูดีก็ดีไป ... ฝ่ายกิจการนิสิตนักศึกษาคงต้องทำงานหนักหน่อย  สถาบันอาจทำโครงการสำรวจพฤติกรรมนิสิตนักศึกษา แบบโครงการ Child Watch ของสถาบันรามจิตติ ที่ อ.ดร. อมรวิทย์ นาครทรรพ ได้นำเสนอไว้ในการประชุมเพื่อหาทางออกของวิกฤตปัญหาก็ดีนะคะ  สถาบันจะได้รับรู้สภาพปัญหาและความรุนแรงของปัญหาภายในสถาบันตน และคิดหาทางป้องกัน/แก้ไขได้ตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท