การศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาคุณภาพอุดมศึกษาไทย


คุณภาพอุดมศึกษาไทย

บทนำ

สำหรับการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้น ถือว่าเป็นการจัดการศึกษาในระดับที่สำคัญ เนื่องจากเป็นการศึกษาที่เตรียมบุคคลเข้าสู่อาชีพ โดยนิสิตนักศึกษาที่จบการศึกษาในระดับนี้แล้วจะเข้าสู่การประกอบอาชีพ  ดังนั้น การจบการศึกษาแล้วมีอาชีพหรือมีงานทำจึงเป็นเป้าหมายของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง นักศึกษา และรัฐบาล ซึ่งการที่นิสิตนักศึกษาที่จบการศึกษาแล้วมีอาชีพทันที จะต้องเป็นนักศึกษาที่มีคุณลักษณะตามที่เจ้าของสถานที่ประกอบการยอมรับ ซึ่งโดยทั่วๆ ไปเราเรียกว่า นักศึกษาที่มีคุณภาพ ทำให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะให้นิสิตนักศึกษาของตนมีคุณภาพ ซึ่งเราเรียกว่า การบริหาร ในการบริหารสถาบันให้มีคุณภาพจึงเป็นหัวใจสำคัญ ยิ่งในยุคปัจจุบันนั้นเป็นยุคการแข่งขันจึงมีความจำเป็นที่ต้องเน้นคุณภาพของบัณฑิตเพื่อการแข่งขัน คงไม่ใช่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้นแต่รวมถึงต่างประเทศด้วยเช่นกัน   ( เทื้อน  ทองแก้ว , 2549 )

สภาพโดยทั่วไปและปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของอุดมศึกษาไทย

 

            คุณภาพอุดมศึกษาไทยในปัจจุบันได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้มีการพัฒนาความรู้ระดับสูงเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมในอนาคต การศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นยังรวมถึงการให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง เพื่อให้ผลผลิตของอุดมศึกษาซึ่งเป็นบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปนั้น มีความสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาควบคู่ไปกับความรู้ทางวิชาการ แม้ว่าการพัฒนาคุณภาพของการอุดมศึกษาไทยมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันก็ยังพบว่าคุณภาพอุดมศึกษายังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควรในหลายประเด็น สาเหตุหลักมีหลายประการ ( มติชนออนไลน์ , 2548 ) ประกอบด้วย

 

1. สถาบันอุดมศึกษาปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการเรียนการสอนและการวิจัย เปิดหลักสูตรตามความพอใจ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ขาดการวางแผนพัฒนาสถาบันในระยะยาว รวมถึงคณะกรรมการบริหารสถาบัน/สภาสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนหลายแห่งไม่มีการบริหารจัดการที่ดี

 

2. มหาวิทยาลัยไทยโดยภาพรวมยังมีจุดอ่อนเรื่องการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ซึ่งจะสังเกตได้ว่ามหาวิทยาลัยที่ติดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกล้วนเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยทั้งสิ้น

 

3. ทิศทางการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาในภาพรวมไม่ชัดเจน เกิดความซ้ำซ้อนในเรื่องการให้บริการ บุคลากรที่จะเข้ามาในมหาวิทยาลัย เช่น ผู้บริหาร ส่วนหนึ่งไม่มีความรู้ทางด้านการบริหาร แต่จะมีความรู้เฉพาะด้านงานวิชาการเทานั้น รัฐบาลควรมีการจัดอบรมการเป็นผู้บริหารขึ้นมาเหมือนกับข้าราชการสายอื่น

 

4. บัณฑิตที่จบการศึกษาออกมาบางส่วนไม่ได้คุณภาพ และมีปัญหาในด้านภาษาอังกฤษ สถาบันการศึกษาควรดึงผู้ประกอบการเข้าไปร่วมพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาบุคลากร และเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการตั้งแต่ยังเรียนอยู่ รวมถึงวิกฤติอุดมศึกษาไทยช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยราชภัฏ 300 แห่ง และเปิดหลักระดับปริญญาตรีและโท บางแห่งใช้กลยุทธ์ "จบง่าย" ในการดึงดูดผู้เรียน ขณะที่ผู้เรียนเข้ามาเรียนเพื่อหวังใบปริญญาตามสโลแกนจ่ายครบจบแน่ ซึ่งเป็นการทำลายคุณภาพอุดมศึกษาไทย และทำให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกมาไม่มีคุณภาพตามที่สังคมคาดหวังไว้

 

5. การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่เป็นการจัดตั้งด้วยเหตุผลทางการเมือง ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพและความพร้อมของการเป็นสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงไม่มีการจัดระบบความหลากหลายของสถาบันอุดมศึกษา ทำให้ทิศทางการส่งเสริมพัฒนาและกำกับมาตรฐานไม่ชัดเจนและไม่ต่อเนื่อง อีกทั้งสถาบันอุดมศึกษาไทยในปัจจุบัน  ส่วนมากมุ่งเข้าสู่ธุรกิจอุดมศึกษา มีการขายปริญญาบัตร เปิดหลักสูตรจำนวนมาก การถ่ายทอดความรู้แบบสำเร็จรูปตามแบบตะวันตก เนื่องจากมหาวิทยาลัยไทยก้าวเข้าสู่กับดักทางธุรกิจการศึกษา

 

6. รัฐบาลไม่มีการควบคุมการเปิดสาขาวิชาของแต่ละมหาวิทยาลัยให้ตรงตามความต้องการของประเทศและตลาดแรงงาน ดังนั้น ควรส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษากู้เงินเพื่อศึกษาในสาขาวิชาที่ตลาดแรงงานต้องการ เพื่อให้บัณฑิตที่จบออกมามีงานทำ

 

7. จาก พรบ. การศึกษา 15 ปีระหว่างปี พ.ศ. 2533-2547 ที่ผ่านมาได้มีการกำหนดสัดส่วนผู้เรียนสายวิทยาศาสตร์และสายสังคมที่ 50 : 50 และกำหนดให้แต่ละมหาวิทยาลัยมีสัดส่วนอาจารย์ที่จบปริญญาเอกปริญญาโท และปริญญาตรี อยู่ที่ 3:6:1ที่สำคัญต้องการให้ผู้เรียนรับภาระค่าเรียนเพิ่มขึ้นเมื่อสิ้นแผนฯสามารถดำเนินการตามเป้าหมายได้หลายเรื่อง แต่ที่ยังทำไม่ได้คือ สัดส่วนผู้เรียนสายวิทย์และสายสังคม 50:50 นั้นทำได้เฉพาะในมหาวิทยาลัยปิด สัดส่วนอาจารย์ที่จบปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี นั้น ทำได้เฉพาะในมหาวิทยาลัยรัฐเพียง 24 แห่งเท่านั้น

 

แนวทางในการพัฒนาการอุดมศึกษาของไทยในอนาคต

 

ผลการวิจัยของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เรื่อง ผลกระทบโลกาภิวัตน์ต่อการจัดการศึกษาไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า  ( เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ , 2550 )   ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัยได้คาดการณ์แนวโน้มสำคัญของสถาบันอุดมศึกษาไทยไว้หลายประการ

 

สถาบันอุดมศึกษาแสวงหาเอกลักษณ์ด้านคุณภาพและความแตกต่าง ผู้เรียนมีความต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และผู้เรียนมีโอกาสเลือกสถาบันอุดมศึกษาได้มากขึ้น ส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาต่างพยายามพัฒนาตนเองให้แข่งขันได้ ด้วยเหตุนี้สถาบันอุดมศึกษาจึงต้องค้นหาเอกลักษณ์เฉพาะที่ถนัด ทำได้ดี มีความเชี่ยวชาญ และมีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อทุ่มทรัพยากรในการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การวิจัย

 

สถาบันอุดมศึกษาจะเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย สภาพของความจำกัดทางทรัพยากร ส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาต่างมุ่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อเสริมจุดอ่อนจุดแข็งกันและกัน หรือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้      

 

สถาบันอุดมศึกษามุ่งจัดการศึกษาเฉพาะทาง มีแนวโน้มว่าจะมีบางมหาวิทยาลัยมุ่งจัดการศึกษาเฉพาะที่เป็นการลงลึกระดับเชี่ยวชาญ อันเป็นการพัฒนาการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพระดับสูง และเป็นการเพิ่มความสามารถแข่งขันให้มหาวิทยาลัย

 

สถาบันอุดมศึกษามุ่งผลิตผลงานวิจัย จากสภาพการแข่งขันของสถาบันอุดมศึกษาที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้มหาวิทยาลัยบางแห่งอาจปรับยุทธศาสตร์ไปสู่ทิศการมุ่งผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ โดยสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงการบุกเบิกการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จนเป็นที่รู้จักและยอมรับจากนักศึกษาทั่วโลก

 

สถาบันอุดมศึกษาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และการผลิตผู้เรียนให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน  อย่างไรก็ตาม ข้อพึงระวังในการจัดการศึกษารูปแบบนี้ คือ คุณภาพการจัดการศึกษา

 

สถาบันอุดมศึกษาที่ใช้หลักสูตรต้นแบบจากต่างประเทศ การขยายตัวด้านการลงทุนทางการศึกษาที่แข่งขันมากขึ้น สถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลกพยายามทำตลาดการศึกษาไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ในขณะที่คนในสังคมไทยต่างต้องการหลักสูตรการศึกษาที่มีคุณภาพที่มีความน่าเชื่อถือระดับสากล  หรืออาจเป็นการเปิดหลักสูตรร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศไทยกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ เป็นต้น

 

สถาบันอุดมศึกษาไทยยังไม่สามารถขยายตลาดการศึกษาไปยังต่างประเทศ  การเปิดเสรีทางการศึกษาของไทยยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ ความสามารถในการแข่งขันกับสถาบัน อุดมศึกษาจากต่างประเทศที่มีคุณภาพมากกว่า

 

สถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งเชิงพาณิชย์มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสถาบันอุดมศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องพึ่งตัวเองมากขึ้น โดยพัฒนาไปสู่การดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่ต้องหารายได้เลี้ยงตัวเองมากกว่าสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ดังจะเห็นได้จากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยหลายแห่งในปัจจุบัน ต่างหาช่องทางที่จะนำรายได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดทำโฆษณา การเปิดหลักสูตรปริญญาโท ปริญญาเอก

 

บทสรุปคุณภาพอุดมศึกษาของไทย

 

            การศึกษาในระดับอุดมศึกษาถือว่าเป็นการศึกษาในระดับที่สำคัญ เนื่องจากเป็นการศึกษาที่เตรียมบุคคลเข้าสู่อาชีพ โดยเฉพาะบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกมาจะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณลักษณะตามที่เจ้าของสถานที่ประกอบการและสังคมยอมรับ ทำให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะให้นิสิตนักศึกษาของตนมีคุณภาพ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าคุณภาพของอุดมศึกษาไทยมีทั้งจุดเด่นและจุดอ่อนในหลายประการด้วยกัน จุดเด่นที่สถาบันอุดมศึกษาควรรักษาไว้เป็นแบบอย่าง ประกอบด้วย การกระจายอำนาจที่มากขึ้นในสถาบันอุดมศึกษา สิ่งนี้สามารถมีส่วนช่วยเหลือในการเสริมประสิทธิภาพต่อการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกมา รวมถึงในปัจจุบันนั้น สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้น สามารถจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนได้ถึงร้อยละ 12.5 ในวัยเรียน ซึ่งใกล้เคียงกับร้อยละ 15 ซึ่งถือว่าเป็นระดับร้อยละที่อุดมศึกษาเข้าถึงสู่มวลชน ( Mass Education )

 

            แม้ว่าการพัฒนาคุณภาพของการอุดมศึกษาไทยมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันก็ยังพบว่าคุณภาพอุดมศึกษายังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควรและพบจุดอ่อนในหลายประเด็น ประกอบด้วย ปัญหานโยบายของรัฐบาลและสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งยังไม่มีความแน่นอนและเกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน  ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน องค์กรเอกชนและผู้ประกอบการในการพัฒนาคุณภาพอุดมศึกษา  หลักสูตรและการเรียนการสอนมีความล้าสมัย ไม่เป็นสากลและไม่เกิดบูรณาการ ไม่มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรตามกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลก  เกิดการขาดแคลนคณาจารย์ที่มีคุณภาพเนื่องจากวิกฤติศรัทธาต่ออาชีพอาจารย์ตกต่ำซึ่งไม่สามารถจูงใจคนเข้ามาเป็นอาจารย์ได้  รวมถึงการลงทุนของรัฐบาลในเรื่องการวิจัยเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก รัฐบาลจำเป็นต้องทุ่มเทการลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาให้แก่สถาบันอุดมศึกษาอย่างจริงจัง

 

            ดังนั้น แนวทางในการพัฒนาคุณภาพของการอุดมศึกษาที่สำคัญ สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องเปิดหลักสูตรให้ตรงกับสภาพความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างจุดแข็งและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ๆซึ่งกันและกัน  สถาบันการศึกษาต้องมุ่งจัดการศึกษาเฉพาะทางที่เป็นการลงลึกเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ อันเป็นการพัฒนาการอุดมศึกษาที่มีคุณภาพโดยสร้างความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆให้สามารถแข่งขันกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำอื่นๆทั่วโลกได้  ควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและสร้างรายได้เข้าสู่สถาบันด้วยตนเอง พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น การสร้างความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลกโดยอาจเป็นการเปิดหลักสูตรที่ทำการเรียนการสอนร่วมกันเพื่อนำความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรต้นแบบที่มีคุณภาพจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศและได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆมากขึ้น  สำหรับในเรื่องของการบริหารจัดการแล้ว สถาบันอุดมศึกษาควรลดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการ ควรเปิดโอกาสให้คนดีมีฝีมือเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารสถาบันอุดมศึกษา   ควรเน้นการกระจายอำนาจในการดำเนินงาน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้สถาบันอุดมศึกษามีความคล่องตัวสูงและมีโอกาสเจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆที่ยึดอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางเท่านั้น  นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น และมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของอุดมศึกษาไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

รายการอ้างอิง

 

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. ทิศทางการอุดมศึกษาไทย [ออนไลน์]. 2550. แหล่งที่มา: http://www.kriengsak.com/ index.php?components=content&id_content_category_main=21&id_content_topic_main=36&id _content_management_main=134

 

เทื้อน  ทองแก้ว. การบริหารเพื่อมุ่งคุณภาพอุดมศึกษาไทยในยุคเศรษฐกิจเสรี [ออนไลน์]. 2551. แหล่งที่มา: http://dusithost.dusit.ac.th/~ei/tuan/file21122005007.doc

 

มติชนออนไลน์. สมศ.เผยปัญหาอุดมศึกษาไทยมีเพียบ [ออนไลน์]. 2548. แหล่งที่มา: http://www. matichon.co.th

หมายเลขบันทึก: 285169เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2009 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

แนวทางการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาดังที่กล่าวเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าลืมว่า สถาบันอุดมศึกษาไทย ควรพัฒนาในทิศทางของตนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยราชภัฎที่มีบทบาทเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น น่าจะมีการพัฒนาในทิศทางที่สร้างเอกลักษณ์ของตน และพัฒนาให้มีคุณภาพมากขึ้น

บนพื้นฐานแนวคิดการพัฒนาอุดมศึกษาตั้งอยู่บนหลักการอุดมศึกษาซึ่งต้องการความเป็นเลิศทางวิชาการ ความเป็นอิสระในการดำเนินการ และความมีเสรีภาพทางวิชาการ ควรให้ความสำคัญการพัฒนาให้สอดคล้องกับภารกิจหลัก 4 ประการ โดยเฉพาะด้านการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นอัตลักษณ์ตามบริบทของอุดมศึกษาไทย

ควรเน้นระบบการบริหารจัดการที่ดี เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินงาน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน เครื่องมือเทคโนโลยี และระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อทำงานได้สำเร็จรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งให้การสนับสนุนงบประมาณ ตลอดจนการนำข้อเสนอนี้ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย และหน่วยงาน/องค์กรจำนวนมาก การสร้างความตระหนักถึงปัจจัยดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดการเตรียมพร้อมและเตรียมรับ เพื่อป้องกันปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนามหาวิทยาลัย

จากการปฏิรูปการศึกษาไทยปี 2542 เป็นการปรับโครงสร้างระบบการศึกษามากกว่าการปรับคุณภาพการศึกษาในห้องเรียนซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในการพัฒนาการศึกษา ฉะนั้นการอุดมศึกษาไทย ณ ปัจจุบัน ที่มีการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกจาก(สมศ.)เพื่อเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุล ถ้าจะว่าไปก็คือการทำให้การศึกษามีคุณภาพนั้นเอง แต่จะมีผลอย่างไรถ้าการตรวจประเมินทำได้แต่ในเอกสารเท่านั้น ถ้าคุณภาพการศึกษาจะดีได้ต้องเริ่มจากความเข้าใจของ ผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ในเรื่องที่ว่าด้วยการสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์

การสร้างเครือข่ายของบัณฑิตที่จะออกไปภายใต้ concept Social networking จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถติดตามผลการดำเนินงานภายหลังจากจบการศึกษาของบัณฑิต เพื่อเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จที่เกิดจากการผลิตบัณฑิตว่าตรงกับสาขาวิชาที่เรียนไปหรือไม่ อาจจเป็นอีกวิธีในการพัฒนาระบบอุดมศึกษาไทยให้สมบูรณ์ครบถ้วนตามระบบ PDCA ทางการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท