มาฝึกสร้างเครื่องมือวิจัยกันเถอะ


การสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ

           ถ้ามีท่านมีอาชีพเป็นครู   คงหลีกไม่พ้นที่จะต้องออกข้อสอบ  ท่านเคยวิเคราะห์ข้อสอบของท่านหรือไม่ว่า  มีความยากง่าย(Difficulty  :  P)แต่ละข้อเป็นอย่างไร  มีค่าอำนาจจำแนก(Discrimination  :  r  or  D)แต่ละข้อเหมาะสมหรือไม่อย่างไร  และมีค่าความเชื่อมั่น(Reliability)ของแบบทดสอบฉบับนั้น   มีค่าเท่าใด  สมควรนำมาใช้ทดสอบเด็กนักเรียนของท่านหรือไม่อย่างไร   เพื่อเราจะได้นำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น    มีมาตรฐานมากขึ้น  และเป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้น 

           บางท่านอาจบอกว่า  ไม่จำเป็นต้องรู้เอาไปจ้างเขาวิเคราะห์เลยง่ายดี  ครับถูกต้องง่ายดีแต่เสียเงินเสียทอง  ทั้งๆที่เราก็ทำเองได้  ได้ทั้งความรู้ด้วย  ได้ทั้งความภูมิใจด้วย  แต่ถ้าเรามาวิเคราะห์เองดู  จะเกิดภูมิใจมากกว่านะครับ  ว่านี้เป็นฝีมือของเรา  ไม่ต้องใช้โปรแกรมสำเร็จรูปหรอกครับ  ใช้เครื่องคิดเลขคำนวณสนุกกว่า  เครื่องคิดเลขไม่มี   ใช่โปรแกรมเอ็กเซล(EXEL)ช่วยได้

          บทที่  1  การคำนวณหาค่าความยากง่ายของแบบทดสอบ

          ความยากง่ายของข้อสอบ  คืออะไร  มีประโยชน์อย่างไร 

          ความยากง่ายของข้อสอบข้อหนึ่ง ๆ  หมายถึง   สัดส่วนของจำนวนคนที่ทำข้อสอบข้อนั้นถูกต่อคนที่เข้าสอบทั้งหมดนั่นเอง  (กระทรวงศึกษาธิการ , 2550 : 242)  โดยใช้สูตร

           P  =  R/N  หรือ  P  =  R/N X 100%

เมื่อ  P  แทน  ระดับความยากง่ายของข้อสอบ

       R  แทน  จำนวนนักเรียนที่ตอบข้อนั้นถูก

       N  แทน  จำนวนนักเรียนทั้งหมดที่เข้าสอบ

    มาลองทำแบบฝึกหัดกันเถอะ

      คุณครูนุรักษ์  นำแบบทดสอบกลางภาควิชา  การขับร้องประสานเสียงเบื้องต้น 1  (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1)  30  ข้อ  มาวิเคราะห์หาค่าความยากง่ายเป็นรายข้อ  สมมุติว่า 

          ข้อ 1  มีนักเรียนตอบถูก  70  คน จากนักเรียนที่เข้าสอบ  100  คน  จงหาค่าความยากง่ายของแบบทดสอบข้อ 1

     จากสูตร     P  =  R/N

      แทนค่าในสูตร  R   =    70

                          N   =  100  

     ดังนั้น             P    =  70/100  =   0.70

 แสดงว่า  แบบทดสอบวิชา  การขับร้องประสานเสียงเบื้องต้น 1 ข้อที่  1  มีค่าความยากง่ายเป็น  0.70 

             ข้อ 2  มีนักเรียนตอบถูก  10  คน จากนักเรียนที่เข้าสอบ  100  คน  จงหาค่าความยากง่ายของแบบทดสอบข้อ 2

     จากสูตร     P  =  R/N

      แทนค่าในสูตร  R   =    10

                          N   =  100  

     ดังนั้น             P    =  10/100  =   0.10

     แสดงว่า  แบบทดสอบวิชา  การขับร้องประสานเสียงเบื้องต้น 1 ข้อที่  2  มีค่าความยากง่ายเป็น  0.10 

     เมื่อทราบค่าความยากง่ายแล้ว  จะแปลผลอย่างไร

     ไม่ยากครับก็ดูค่า  P  ที่คำนวณได้นั่นเอง  มีหลักการแปลผลดังนี้ครับ

      1.  ถ้าค่า  P  มีค่า  0.00 - 0.19  แสดงว่า  ข้อสอบยากมาก

      2.  ถ้าค่า  P  มีค่า  0.20 - 0.39  แสดงว่า  ข้อสอบยาก

      3.  ถ้าค่า  P  มีค่า  0.40 - 0.49  แสดงว่า  ข้อสอบค่อนข้างยาก

      4. ถ้าค่า  P  มีค่า  0.50   แสดงว่า  ข้อสอบยากง่ายพอเหมาะ

      5.  ถ้าค่า  P  มีค่า  0.50 - 0.60  แสดงว่า  ข้อสอบค่อนข้างง่าย

      6.  ถ้าค่า  P  มีค่า  0.61 - 0.80  แสดงว่า  ข้อสอบง่าย

      7. ถ้าค่า  P  มีค่า  0.80 - 1.00  แสดงว่า  ข้อสอบง่ายมาก  

     ดังนั้นทางวงวิชาการด้านงานวิจัย  เขาจึงกำหนดเกณฑ์ไว้ว่า  แบบทดสอบที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการวิจัยนั้น  ต้องมีค่า P  =  .20 - .80   เท่านั้น 

      จากผลการคำนวณหาค่า  P  ของคุณครูนุรักษ์   แสดงว่า 

        แบบทดสอบข้อ 1  มีค่า  0.70  เป็นข้อสอบง่าย  แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้  สามารถนำไปใช้ในการวิจัยได้ 

        แบบทดสอบข้อ 2  มีค่า  0.10  เป็นข้อสอบยากมาก  ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้ในการวิจัย  ควรนำไปปรับปรุงหรือตัดทิ้งไป

      วันนี้ขอเสนอแนะ  ความรู้เกี่ยวกับการสร้างเครื่องมือวิจัยเพียงเรื่องเดียวก่อนคือ  การหาค่าความยากง่าย(Difficuty : P)ของแบบทดสอบ 

      หวังว่า  ความรู้เล็กๆ  น้อยๆ  คงเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจบ้างไม่มากก็น้อย  หากผู้รู้  ผู้เชี่ยวชาญท่านใดพบว่า   ข้อมูลที่นำเสนอยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักวิชาการ   กรุณาเสนอแนะด้วยนะครับ จะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ

      บทที่  2  การคำนวณหาค่าอำนาจจำแนก

       แบบทดสอบที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือวิจัย  นอกจากพิจารณาค่าความยากง่ายแล้ว  สิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วยคือ  อำนาจจำแนก

        อำนาจจำแนก(Discrimination : r  or  D)  หมายถึง  ความสามารถของเครื่องมือในการจำแนกกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มตามลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง  เช่น  จำแนกนักเรียนที่เรียนเก่งกับนักเรียนที่เรียนอ่อน  จำแนกกลุ่มที่มีเจตคติทางบวกกับกลุ่มที่มีเจตคติทางลบ  เป็นต้น(กระทรวงศึกษาธิการ,  2550 : 232)

        การหาค่าอำนาจจำแนกมีหลายสูตร  วันนี้ขอเสนอแนะสูตรง่าย ๆ อุ่นเครื่องก่อนนะครับ

        ข้อสอบปรนัย   จัดเป็นเครื่องมือในการวิจัยที่ตรวจให้คะแนนเป็นแบบให้ 1(เมื่อทำถูก)  และให้ 0 (เมื่อทำผิด)  ใช้สูตรในการคำนวณดังนี้ครับ

         D   =   Ru -  RL /  (N/2)

เมื่อ   D  แทน  อำนาจจำแนก

        Rแทน  จำนวนนักเรียนที่ทำถูกในกลุ่มเก่ง

        Rแทน  จำนวนที่ทำถูกในกลุ่มอ่อน

        N  แทน  จำนวนนักเรียนกลุ่มเก่งและกลุ่มอ่อนรวมกัน

      จากสูตรพบว่า  มีข้อความที่บอกว่า  "นักเรียนกลุ่มเก่ง"  "นักเรียนกลุ่มอ่อน"  มาเกี่ยวข้อง นักเรียนกลุ่มเก่งคือใคร  หาได้อย่างไร  นักเรียนกลุ่มอ่อนคือใคร  หาได้อย่างไร   ไม่ยากครับ   มีวิธีการดังนี้

        1.   ในการหาจำนวนนักเรียนกลุ่มเก่ง  และกลุ่มอ่อน    ต้องนำกระดาษคำตอบที่ตรวจให้คะแนนแล้วของนักเรียนที่เข้าสอบทั้งหมด  มาเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยก่อน

        2.  แล้วตัดเอาจำนวน  1/3  ของจำนวนทั้งหมด    เป็นกลุ่มเก่งและกลุ่มอ่อน (บางครั้งนิยมตัดแบบ 50% แบ่งครึ่งกลุ่มเก่ง 50%  และกลุ่มอ่อน 50%)

        ตัวอย่าง  สมมุติว่า    มีนักเรียนเข้าสอบ 10  คน  เข้าสอบวิชา  ทัศนศิลป์ 2   จำนวน  10  ข้อ  คะแนนเต็ม  10  คะแนน    เมื่อตรวจให้คะแนนแล้ว  นำกระดาษคำตอบมาเรียงลำดับจากคะแนนมากไปหาน้อย  ได้ดังนี้

คนที่
คะแนน
1
3
2
5
3
7
4
8
5
4
6
8
7
7
8
9
9
7
10
7
         จากตารางด้านบน  คะแนนยังไม่ได้เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย  ก่อนจะนำข้อมูลไปคำนวณต้องเอากระดาษคำตอบมาเรียงใหม่  แล้วสร้างตารางกรอกตัวเลข  ข้อใดถูกใส่เลข 1  ข้อใดผิดใส่เลข 0  ตามตัวอย่างข้างล่าง
 
ข้อ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 รวม
คน                      
1 1 1 1 1 1 1 1 0 1 1 9
2 1 1 1 1 1 0 1 0 1 1 8
3 1 1 1 1 1 0 1 0 1 1 8
4 1 1 1 0 1 1 0 1 1 1 8
5 1 1 1 1 0 0 0 1 1 1 7
6 1 1 1 0 1 0 1 1 0 1 7
7 1 1 1 0 1 1 1 1 0 0 7
8 1 0 0 0 1 0 1 0 1 1 5
9 1 1 0 0 1 0 0 1 0 0 4
10 0 0 0 1 1 0 1 0 0 0 3
รวม 9 8 7 5 9 3 7 5 6 7 66

       จะได้นักเรียนคนที่ 1-5  เป็นกลุ่มเก่ง(RU =5)  และนักเรียนคนที่  6-10  เป็นกลุ่มอ่อน(RL =5 )   แสดงว่า   กรณีนี้ใช้วิธีตัดแบบ 50% 

         ถ้าต้องการตัดหากลุ่มเก่ง  และกลุ่มอ่อน  แบบตัด 1/3     ก็จะได้  1/3x10=3.33(ตัดทศนิยมออก  เพราะฉะนั้น  กลุ่มเก่ง (RU =3)  :  นักเรียนคนที่ 1,2,3  นั่นเอง    ส่วนกลุ่มอ่อน(RL =3)  :   นักเรียนคนที่  8,9,10)

         ผมเลือกใช้วิธีแบบตัด  1/3  มาใช้ในการคำนวณ  ดำเนินการดังนี้ครับ

          1.  ตัด  3  คนแรกเป็นกลุ่มเก่ง(RU)  นำกระดาษคำตอบมาลงคะแนนรายข้อ

 

               ข้อ     1    2    3     4    5     6     7    8    9      10       รวม

              คนที่ 

                1      1    1    1    1      1     1     1    0   1       1         9

                2      1    1     1   1      1     0      1   0   1       1         8

                3      1    1     1   1      1     0      1   0    1      1         8

                รวม   3    3     3   3      3     1      3   0    3      3       25    

 

          2.  ตัด  3  คนสุดท้ายเป็นกลุ่มอ่อน(RL)   นำกระดาษคำตอบมาลงคะแนนรายข้อ

 

                ข้อ     1    2    3     4    5     6     7   8    9   10       รวม

              คนที่ 

                1      1    0    0    0     1     0     1    0    1     1         5

                2      1    1    0    0     1     0      0   1    0     0         4

                3      0    0    0    1     1     0      1   0    0     0         3

               รวม    2    1    0    1     3     0      2   1    1     1        12   

         จงหาค่าอำนาจจำแนกของข้อสอบ  ข้อ  1,2,5,8

         จากสูตร    D   =   Ru -  RL /  (N/2)

                         ตัวอย่างการคำนวณหาค่าอำนาจของข้อสอบ  ข้อที่ 1 จะคำนวณได้ดังนี้

                        (D1)     =   Ru -  RL /  (N/2)

                              Ru  =   3,   R=  2,  N  =  3+3=6

        แทนค่าในสูตร   D1  =   3-2/(6/2)

                                   =   1/3

                                   =  0.33

                   ตัวอย่างการคำนวณหาค่าอำนาจของข้อสอบ  ข้อที่ 2 จะคำนวณได้ดังนี้

                        (D2)     =   Ru -  RL /  (N/2)

                              Ru  =   3,   R=  1,  N  =  3+3=6

        แทนค่าในสูตร   D2  =   3-1/(6/2)

                                   =   2/3

                                   =  0.67

                        ตัวอย่างการค่าอำนาจของข้อสอบ  ข้อที่ 5   จะคำนวณได้ดังนี้

                        (D5)     =   Ru -  RL /  (N/2)

                              Ru  =   3,   R=  3,  N  =  3+3=6

        แทนค่าในสูตร   D5  =   3-3/(6/2)

                                   =   0/3                                  

                                   =   0

                     ตัวอย่างการคำนวณหาค่าอำนาจของข้อสอบ  ข้อที่ 8   จะคำนวณได้ดังนี้

                        (D8)     =   Ru -  RL /  (N/2)

                              Ru  =   0,   R=  1,  N  =  3+3=6

        แทนค่าในสูตร   D8  =   0-1/(6/2)

                                   =   -1/3

                                   =  - 0.33

                                 

      เมื่อคำนวณได้ค่า  D  แล้วก็นำมาแปลผล  ดังนี้ครับ

      1.  ถ้าค่า  D  เป็น  1.00 แสดงว่า  ข้อสอบสามารถจำแนกได้ดีเลิศ

      2.  ถ้าค่า  D  เป็น  0.80-0.99 แสดงว่า  ข้อสอบสามารถจำแนกได้ดีมาก

      3.  ถ้าค่า  D  เป็น  0.60-0.79 แสดงว่า  ข้อสอบสามารถจำแนกได้ดี

      4.  ถ้าค่า  D  เป็น  0.40-0.59 แสดงว่า  ข้อสอบสามารถจำแนกได้ปานกลาง

      5.   ถ้าค่า  D  เป็น  0.20-0.39 แสดงว่า  ข้อสอบสามารถจำแนกได้เล็กน้อย

      6.   ถ้าค่า  D  น้อยกว่าหรือเท่ากับ  0.19  แสดงว่า  ข้อสอบไม่สามารถจำแนกได้เลย

จากผลการคำนวณหาค่า D  ของข้อสอบวิชาทัศนศิลป์ 2  ของคุณครูนุรักษ์  พบว่า

     ข้อสอบข้อ  1  ค่า  D = 0.33  แสดงว่า  ข้อสอบสามารถจำแนกได้น้อย  แต่สามารถนำไปใช้ในการวิจัยได้(เพราะค่า D  อยู่ในเกณฑ์ที่วงวิชาการยอมรับได้)

     ข้อสอบข้อ  2  ค่า  D = 0.67  แสดงว่า  ข้อสอบสามารถจำแนกได้ดี  สามารถนำไปใช้ในการวิจัยได้(เพราะค่า D  อยู่ในเกณฑ์ที่วงวิชาการยอมรับได้)

     ข้อสอบข้อ  5  ค่า  D = 0.00  แสดงว่า  ข้อสอบไม่สามารถจำแนกได้เลย  สมควรตัดทิ้งหรือนำไปปรับปรุง  (เพราะค่า D  ต่ำกว่าเกณฑ์)

     ข้อสอบข้อ  8  ค่า  D = - 0.33  แสดงว่า  ข้อสอบไม่สามารถจำแนกได้เลย  สมควรตัดทิ้งหรือนำไปปรับปรุงใหม่(เพราะค่า D  ต่ำกว่าเกณฑ์)

      โดยทั่วไปแล้วก่อนนำแบบทดสอบไปใช้ในการวิจัยจริงๆ   จะต้องพิจารณาควบคู่กันไปทั้งค่าความยากง่าย(P)และค่าอำนาจจำแนก(D)  ของข้อสอบขั้อนั้นๆ  ข้อสอบที่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ในการวิจัยต้องผ่านเกณฑ์ยอมรับทั้ง  2  เกณฑ์  คือ  ค่าความยากง่าย(P)   ต้องอยู่ระหว่าง  .20 - .80   และค่าอำนาจจำแนก(D)   ต้องอยู่ระหว่าง  .20 - 1.00 

      สมมุติว่า  เราคำนวณค่า P  และ  ค่า  D   ของข้อสอบข้อ 1 แล้วได้ค่า  P=0.70  ,D=0.33     อยากทราบว่า   ข้อสอบข้อ 1  เป็นข้อสอบที่สามารถนำไปใช้ในการวิจัยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

     คำตอบคือ  นำไปใช้ได้  เพราะว่า  ทางวิชาการตั้งเกณฑ์ไว้ว่า ค่า  P  ควรอยู่ระหว่าง  0.20 - 0.80 และค่า  D  ควรอยู่ระหว่าง  0.20-1.00  (ผลการวิเคราะห์ข้อสอบข้อ 1 : P=0.70, D=0.33  แสดงว่า  ผ่านเกณฑ์ทั้ง  2  เกณฑ์ที่ทางวิชาการกำหนด  ดังนั้น  ข้อสอบข้อ 1  จีงเป็นข้อสอบที่สามารถนำไปใช้ในการวิจัยได้)

    ลองนำแบบทดสอบที่ท่านใช้    มาลองคำนวณดูนะครับ  ท่านจะได้เห็นว่า  ข้อสอบของท่านนั้น   บางข้อก็เจ๋งสุดๆ  (เช่น  กลุ่มเก่งทำถูก  กลุ่มอ่อนทำผิด  เป็นต้น)  แต่ข้อสอบบางข้อก็แย่อยู่เหมือนกัน  (เช่น  กลุ่มเก่งทำผิด  แต่กลุ่มอ่อนกลับทำถูก  เป็นต้น)  ค่อยๆ  ทำ  ค่อยๆ  คัด  แล้วท่านก็จะได้ข้อสอบที่ดี  มีคุณภาพที่น่าเชื่อถือไว้ใช้กับนักเรียนที่น่ารักน่าชังของท่านในรุ่นต่อ ๆ  ไป   ครับผม (ต้องการติดต่อครูนุรักษ์ มือถือ 089-7174088, 087-2485992)    ครั้งต่อไปจะนำเสนอวิธีการหาค่าความเชื่อมั่น(Reliability)ของแบบทดสอบทั้งฉบับ  สวัสดีครับ

หมายเลขบันทึก: 284359เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2009 20:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นบทความที่ดีมากค่ะกำลังหาค่าความยากง่ายของข้อสอบอยู่เลยค่ะขอบคุณนะคะ

สามารถศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือวิจัยทั่ว ๆ ไปได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท