ความสามารถในการอ่านเขียน


“เชื่อไหมว่าลูกน้อยฉลาดตั้งแต่ก่อนเกิดได้ด้วยหนังสือ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะมีงานวิจัยมากมายจากทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่า สมองของเด็กเริ่มพัฒนาตั้งแต่ยังอยู่ในท้อง
วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552

 

            ท่านผู้อ่านคงได้เห็นข่าวที่เป็นสิริมงคลยิ่งทางสื่อมวลชนว่าวันที่ 28 กรกฎาคม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานทุนให้แก่นักเรียน 152 คนจังหวัดละ 2 คน โดยมีพระราชดำรัสที่ล้ำค่ายิ่งว่า “บุคคลไม่ว่าจะจน ลำบากยากแค้น หรือรวย การศึกษาล้วนเป็นสิ่งสำคัญ การศึกษานั้นมีหลายแขนง ต้องศึกษาให้รู้จริง ให้รู้ถึงแก่นชัด และสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้ได้ตรงกับความสามารถ หรือนิสัยตลอดจนสิ่งที่ใจรัก ก็จะได้ประโยชน์ การศึกษาจะไปได้ดีจนมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง ส่วนรวม และประเทศชาติ เพราะคนที่มีการศึกษาสูง การศึกษาดี แต่ทัศนคตินิสัยไม่ดี จะทำให้ใช้ความรู้ที่ผิด ถือเป็นการทำลายสังคมและประเทศชาติ” ขอฝากให้ สพท. ร่วมสนองพระมหากรุณาธิคุณดูแลให้นักเรียนทุนได้มุ่งมั่นตั้งใจเรียนเพราะทุนเหล่านี้ต่อเนื่องถึงปริญญาตรี
            สัปดาห์นี้ ขอให้ความสำคัญแก่การส่งเสริมการอ่าน เพื่อให้สอดคล้องกับวันภาษาไทยที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง ปัญหาการใช้คำไทย ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2505
            ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  ได้มีการประชุมกรรมการส่งเสริมการอ่านซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และมีอนุกรรมการย่อย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพัฒนาคนไทยให้มีความสามารถในการอ่าน ซึ่งมีดิฉันเป็นประธาน กลุ่มพัฒนาคนไทยให้มีนิสัยรักการอ่าน ซึ่งมี ดร.เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ เป็นประธาน และกลุ่มสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการอ่านอย่างยั่งยืน ซึ่งมี รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ เป็นประธาน
            หลังจากการประชุม ท่านรัฐมนตรีฯ ได้สรุปว่าจะนำเข้า ค.ร.ม. ในเรื่องหลักๆ ดังนี้
            1. จะเสนอให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ
            2. ประกาศให้วันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “วันส่งเสริมการอ่าน”
            3. ประกาศ “ทศวรรษแห่งการอ่าน” ต่อเนื่อง 10 ปี จากปี พ.ศ. 2552-2565 (ทั้งนี้ เพราะทุกคนห่วงใยเกรงว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล การผลักดันเรื่องการอ่านจะหยุดชะงักไป ท่านรัฐมนตรีฯ ได้เตือนว่าถ้าอยู่ในสังคมประชาธิปไตย การเปลี่ยนรัฐมนตรีต้องถือเป็นเรื่องธรรมดา ที่สำคัญงานของเราจะต้องดี หากดีแล้วไม่ว่าใครจะมาก็จะต้องดำเนินต่อไป)
            4. ส่วนที่ว่าจะทำอะไรในทศวรรษแห่งการอ่านนั้น แต่ละกลุ่มยุทธศาสตร์จะต้องไปสรุปสาระสำคัญจากแผนที่เสนอต่อที่ประชุม ให้เห็นเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่รุงรังมากนัก ทั้งนี้โดยจะใช้งบประมาณปกติ งบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง และเงินบริจาคจากประชาคมที่จะต้องมีกลไกในการระดมกำลังและสร้างแรงจูงใจ
            ในกลุ่มยุทธศาสตร์พัฒนาคนไทยให้มีความสามารถในการอ่านนั้น ได้หารือกันหลายครั้ง เพื่อสรุปสภาวะการอ่าน จึงขอนำเรียนโดยละเอียดสักนิด เพราะหลังจากที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า 184 สพท. ทำงานแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็นการประเมินโดยเปรียบเทียบกับเป้าที่ตั้งไว้ที่ระบุว่า จะทำให้เด็กทุกคนอ่านออกเขียนได้ หนังสือพิมพ์ได้แปลความกันไปว่า สพท.ส่วนใหญ่มีเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จำนวนมาก
            เราได้จำแนกความสามารถในการอ่านเขียนเป็น 4 ระดับตามข้อเสนอของ ดร.สมพร จารุนัฏ อดีตผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ คือ
            ระดับอ่านออกเขียนได้ เป็นการอ่านที่รู้จักคำ อักขระ การผสมคำ หรือวลีได้
            ระดับอ่านคล่องเขียนคล่อง เป็นการอ่านออกเขียนได้ที่มีความรวดเร็วขึ้น คล่องขึ้น หรือที่เรียกว่า “อ่านแตก” และเขียนผิดน้อยลง
            ระดับอ่านเป็นเขียนเป็น เป็นระดับที่มีการใช้กระบวนการคิดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอาจกล่าวได้ว่า เริ่มเป็นการอ่านเขียนเชิงคิดวิเคราะห์
            ระดับอ่านเก่งเขียนเก่ง เป็นการอ่านเขียนเชิงคิดวิเคราะห์ที่มีความลึกซึ้ง หรือซับซ้อนขึ้น แต่ถ้าประเมินโดยเกณฑ์สากล การอ่านตามนิยามของ PISA (Programme for International Student Assessment) หมายถึง ความเข้าใจเรื่องราวและสาระที่ได้อ่าน ตีความหรือแปลความหมายของข้อความที่ได้อ่าน และประเมิน คิดวิเคราะห์ และสะท้อนออก รู้จุดมุ่งหมายของการเขียนได้ว่าต้องการส่งสารสาระอะไรให้ผู้อ่าน โดยแบ่งเกณฑ์การประเมินการอ่านออกเป็น 5 ระดับ คือ
            ระดับ 1 : สามารถจัดการกับการอ่านได้ในภารกิจอย่างง่าย ๆ เช่น อ่านแล้วรู้ว่า สิ่งที่อ่านนั้นเกี่ยวกับอะไร สามารถบอกหรือค้นสาระสำคัญได้เพียงอย่างเดียว สามารถเชื่อมโยงข้อเขียนที่ได้อ่านกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตนได้ต่ำ ไม่สามารถอ้างอิงหรือเปรียบเทียบได้ ถ้าต้องการคิดวิเคราะห์เพิ่มเติม
            ระดับ 2 : มีความชำนาญการอ่านในระดับพื้นฐาน กล่าวคือ สามารถอ่านและบอกสาระได้ต่อเมื่อข้อความที่อ่านค่อนข้างเด่นชัด ตรงไปตรงมา สามารถอ้างอิง หรือเปรียบเทียบ หรือเชื่อมโยงกับสิ่งที่เคยรู้ได้ในระดับต่ำ ประเมินและวิเคราะห์ได้ในระดับพื้นฐาน
            ระดับ 3 : สามารถอ่านเนื้อหาที่ค่อนข้างยาก กล่าวคือ สามารถบอกสาระสำคัญและตีความจากข้อความที่มีความซับซ้อนปานกลางที่มีจุดเน้นที่เด่นชัดหลายจุด และสามารถเชื่อมโยงความรู้เข้ากับเรื่องที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน สามารถประเมินและวิเคราะห์รูปแบบและสาระของสิ่งที่ได้อ่านในระดับปานกลาง
            ระดับ 4 : สามารถอ่านเข้าใจเนื้อเรื่องที่ยาก บอกตำแหน่งของสาระต่าง ๆ ในเรื่องที่ได้อ่าน สามารถตีความและแปลความจากข้อเขียนที่ค่อนข้างซับซ้อน สามารถประเมินและวิเคราะห์ทั้งเนื้อหาและรูปแบบของการเขียน แล้วสะท้อนออกมาเป็นปฏิกิริยาตอบสนอง หรือเป็นแนวคิดของตนเองโดยมีข้อเขียนที่อ่านเป็นหลัก
            ระดับ 5 : สามารถจัดการกับข้อเขียนที่ยากและซับซ้อน เช่น แสดงว่าสามารถอ่านข้อเขียนที่มีสาระยาก ๆ และที่ไม่ได้พบโดยทั่วไปในข้อเขียนอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าสามารถเข้าใจ แปลความ ตีความข้อเขียน สามารถอ้างอิง หรือเชื่อมโยงสาระที่อ่านกับวัตถุประสงค์หรือภารกิจของตน และสามารถวิเคราะห์และประเมินการเขียนอย่างวิพากษ์วิจารณ์ สามารถคาดการณ์ หรือสร้างสมมติฐานจากสิ่งที่ได้อ่าน และดึงเอาความรู้มาสร้างเป็นแนวคิดของตนได้ แม้สิ่งนั้น จะไม่คุ้นเคยหรือไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่คาดหวังก็ตาม
            จากข้อมูลที่มีอยู่แล้วพอสรุปได้ว่า
            คนไทยส่วนใหญ่อ่านออกเขียนได้แล้ว เพราะมีผู้ไม่รู้หนังสือประมาณ 3,387,530 คน หรือร้อยละ 7.36 ของจำนวนประชากร ส่วนใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไปหรือเป็นกลุ่มชนที่ไม่ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน
            แต่ยังมีคนที่อ่านเขียนไม่คล่องอยู่จำนวนหนึ่ง จากการประเมินสภาพการอ่านเขียนของนักเรียน ชั้น ป.3 พบว่ายังอ่านเขียนไม่คล่องอยู่ถึง 94,031 คน หรือร้อยละ 12.02 หรือ ป.6 ที่ NT ปี 2549 พบว่าภาษาไทยอยู่ในเกณฑ์ปรับปรุงอีกร้อยละ 38.98 หากเป็นผู้ใหญ่ สำนักงาน กศน. ได้ตามไปประเมินความสามารถในการอ่านเขียนในระดับที่ใช้การได้ในชีวิตประจำวันก็พบว่ายังอ่านเขียนต่ำกว่าเกณฑ์อีกเกือบ 2 แสนคน กลุ่มที่ยังอ่านเขียนไม่คล่องคาดว่าเป็นกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เกิดสภาวะลืมหนังสือ นักเรียนที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ สมาธิสั้น หรือชนต่างภาษาวัฒนธรรม
            หากประเมินโดยเกณฑ์ของ PISA จะพบว่าเยาวชนไทยอายุ 15 ปี กว่าร้อยละ 70 มีผลการอ่านระดับ 2 หรือต่ำกว่า มีเพียงร้อยละ 20 ที่สูงกว่า ระดับ 2 ดังที่เคยนำเสนอแล้วหลายครั้ง
            โดยสรุป จึงตั้งเป้าหมายว่าในช่วงทศวรรษแห่งการส่งเสริมการอ่าน ประชากรไทยทุกคนต้องอ่านคล่องเขียนคล่อง โดยมีเป้าหมายที่จะดูแลเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ กลุ่มชนต่างภาษาวัฒนธรรม และผู้อยู่นอกระบบโรงเรียนเป็นพิเศษ
            ประชากรในวัยเรียน และวัยแรงงานจะสามารถอ่านเก่งเขียนเก่งในระดับคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ได้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก ที่นักเรียนช่วงชั้นที่ 3 ขึ้นไป นักศึกษา ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน และประชากรวัยแรงงาน โดยมีกลยุทธ์หลักๆ ดังนี้
            กลยุทธ์ที่ 1 รณรงค์เพื่อการอ่านเขียนของคนไทย ซึ่งครอบคลุมมาตรการที่สำคัญ อาทิ  สร้างความตระหนักในเรื่องการรู้หนังสือ  กำหนดมาตรการให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสในการอ่านอย่างทั่วถึง รณรงค์การอ่านผ่านสื่อมวลชนทุกประเภท ส่งเสริมให้สถาบันครอบครัว ศาสนา ภูมิปัญญา และศิลปินพื้นบ้านมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการอ่านผ่านระบบการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติในสังคม รวมทั้งส่งเสริมการแข่งขันความสามารถด้านภาษาไทยสูความเป็นเลิศ
            กลยุทธ์ที่ 2 ปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทย ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน ซึ่งกำหนดมาตรการที่สำคัญไว้มากมาย อาทิ กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ที่เหมาะสมในทุกช่วงชั้น ประกันโอกาสให้เด็กทุกคนเรียนชั้นปฐมวัย ปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา กำหนดมาตรการดูแลนักเรียนช่วงชั้นที่ 3ให้มีทักษะการอ่านเขียนและสื่อสารเชิงคิดวิเคราะห์ ดูแลเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้ทวิภาษา ส่งเสริมการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านและใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องในการสื่อสารในที่สาธารณะ จัดให้มีสื่อที่หลากหลาย ผลิตหนังสือที่เหมาะสมกับผู้เรียน/ประชากรในแต่ละช่วงอายุ ประเมินและพัฒนาครูวิชาภาษาไทย สนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับพ่อแม่ ใช้สื่อการณ์ตูนในการส่งเสริมการอ่าน ฯลฯ
            กลยุทธ์ที่ 3 บริหารจัดการและสร้างภาคีเครือข่าย ซึ่งครอบคลุมมาตรการที่สำคัญ อาทิ จัดระบบสถิติข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการอ่านที่เป็นปัจจุบัน กำหนดมาตรการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นหน้าที่ในการจัดกิจกรรม ประกาศเกียรติคุณยกย่อง กำหนดมาตรการด้านภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันของภาคเครือข่ายทุกระดับ พัฒนาโปรแกรมแก้ไขคำผิดโดยอัตโนมัติและรณรงค์การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องทางเว็บบอร์ด
            จากกลยุทธ์ดังกล่าวข้างต้นที่ประชุมได้เสนอโครงการที่น่าสนใจหลายโครงการ เช่น การอ่านเพื่อชีวิต (ส่งเสริมให้นักเรียนอ่านสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชิวต เช่น ฉลากยา ตารางรถไฟ ฯลฯ)  Summer Readingจูงใจให้นักเรียนอ่านหนังสือตอนปิดเทอมโดยมีรางวัลให้ โครงการ Book Start ส่งเสริมให้พ่อแม่ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่แรกเกิด โครงการพัฒนาทักษะภาษาไทยสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถหรือสนใจภาษาไทยเป็นพิเศษ โครงการผลิตหนังสือส่งเสริมการอ่านที่พัฒนาเป็นชุดตามระดับความยากง่าย โครงการพัฒนาครูวิชาภาษาไทย  โครงการส่งเสริมและแก้ไขปัญหานักเรียนชั้น ป.3 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้และยกระดับผลสัมฤทธิ์การเรียนภาษาไทยเป็นรายบุคคล  โครงการจัดการศึกษาสำหรับพ่อแม่ เป็นต้น
            สำหรับกลุ่มยุทธศาสตร์อีก 2 กลุ่ม นั้นต่างก็ได้นำเสนอกลยุทธ์และแนวคิดที่น่าสนใจมากมาย ดังจะเห็นได้จาก กลุ่มยุทธศาสตร์พัฒนาคนไทยให้มีนิสัยรักการอ่านได้กำหนดกลยุทธ์ที่สำคัญ คือ ปลูกฝังและสร้างทัศนคติให้เห็นคุณค่าและประโยชน์ของการอ่านหนังสือและสื่อ ประชาสัมพันธ์ให้คนไทยเห็นคุณค่าของการอ่านหนังสือและสื่อ สร้างเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน กำหนดให้มีองค์กรบริหารโครงการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ โดยนำเสนอแนวทางดำเนินงาน เช่น ชมรมรักการอ่าน ชุมชนรักการอ่าน จัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมการอ่าน” จัดหาอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน เป็นต้น
            ส่วนกลุ่มสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการอ่านอย่างยั่งยืนกำหนดได้เป้าประสงค์ที่สำคัญ คือ ทำให้คนไทยเห็นความสำคัญของการอ่าน สร้างบรรยากาศและจัดสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการอ่าน แสวงหาภาคีเครือข่ายในการเสิรมสร้างให้เกิดบรรยากาศที่ดีสำหรับการอ่านและประชาสัมพันธ์โครงการ เพิ่มแหล่งเรียนรู้ พัฒนาแหล่งเรียนรู้และสื่ออุปกรณ์ที่มีอยู่เดิม และสร้างเครือข่ายการอ่าน  โดยนำเสนอแนวทางดำเนินงาน เช่น ผลิตสื่อโฆษณาเพื่อกระตุ้นความสนใจ จัดนิทรรศการส่งเสริมการอ่าน ประกวดออกแบบมุมอ่านหนังสือสร้างแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่สาธารณะหรือชุมชน สร้างมุมหนังสืออ่านที่บ้าน สนับสนุนการตั้งร้านหนังสือมือสองโครงการแบ่งปันหนังสือระหว่างชุมชน จัดตั้งสโมสรการอ่านในแต่ละตำบล พัฒนาครูทุกวิชาให้เป็นนักอ่าน
            จุดเด่นที่คิดว่าเป็นประโยชน์จริง คือ การสำรวจของดุสิตโพล ที่ รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ได้สำรวจในหัวข้อ “คนไทย” กับ “การอ่าน” ผลการสำรวจมีสาระที่น่าสนใจที่สามารถนำไปปรับใช้ได้หลายประการ เช่น การส่งเสริมการอ่านควรทำตั้งแต่เด็ก ครอบครัว/พ่อแม่ ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการอ่านและเป็นแบบอย่างที่ดีในการอ่าน ควรสอนให้เด็กฝึกหัดเขียน สะกดคำ และอ่านหนังสือทุกวัน ควรมีห้องสมุด/มุมหนังสือในทุกพื้นที่หรือทุกหน่วยงาน จัดห้องสมุดให้มีความหลากหลาย ควรจัดสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งภายในและภายนอกห้องสมุดเพื่อดึงดูดความสนใจในการอ่าน (คลิกดูตารางการสำรวจของดุสิตโพลที่นี่ http://www.obec.go.th/data_new/homchoo/files/Dusit%20poll.ppt#257,1,ภาพนิ่ง 1) ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และครอบครัวควรมีส่วนรับผิดชอบในการส่งเสริมการอ่าน 
มีหนังสือที่หลากหลายและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รณรงค์ให้คนไทยใช้เวลาว่างด้วยการอ่านหนังสือ เป็นต้น
            ต่อเนื่องจากการประชุมส่งเสริมการอ่าน ดิฉันได้ไปร่วมประชุมมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ซึ่งเป็นองค์กรที่เปิดประเด็น Book Start หรือหนังสือเล่มแรกสำหรับเด็ก ซึ่งคุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป ผู้จัดการมูลนิธิร้อยเรียงไว้อย่างงดงามในหนังสือ “สร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน” ความตอนหนึ่ง เสนอว่า
             “เชื่อไหมว่าลูกน้อยฉลาดตั้งแต่ก่อนเกิดได้ด้วยหนังสือ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะมีงานวิจัยมากมายจากทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่า สมองของเด็กเริ่มพัฒนาตั้งแต่ยังอยู่ในท้อง
            ขณะที่ท้อง เป็นช่วงเวลาที่แม่กับลูกใช้ลมหายใจเดียวกัน แม่จึงต้องดูแลรักษาใจไม่ให้ขุ่นมัว เพราะแม่รู้สึกอย่างไร ลูกก็รู้สึกอย่างนั้น การลูบท้องแล้วพูดคุยกับลูก ร้องเพลงกล่อม ฟังดนตรีเบาๆ สบายๆ อ่านหนังสือดีๆ ที่มีเนื้อหาชูใจ และรักษาศีล 5 นอกจากจะทำให้แม่สงบเย็นและเป็นสุขแล้ว จิตของลูกก็จะเยือกเย็น แจ่มใส และเบิกบานไปด้วยพร้อมๆ กัน... ถือเป็นอริยทรัพย์ของลูกที่สะสมไว้เป็นทุนชีวิตที่ดีมาตั้งแต่อยู่ในท้องและนำติดตัวไปใช้ได้ตลอดชีวิต อย่างนี้ลูกจะเป็นเด็กที่จิตไม่ขุ่นมัว อารมณ์ดี เลี้ยงง่าย พัฒนาและเรียนรู้ได้เร็วทุกเรื่อง... ลูกน้อยจึงฉลาดได้ตั้งแต่เป็นทารก
            นับแต่แรกเกิดถึง 6 ปี ถ้าพ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟังทุกวัน ลูกจะคุ้นเคยกับเสียงที่อ่าน และภาพที่เห็นจากหนังสือที่พ่อแม่พลิกให้ดู ยิ่งถ้าเป็นหนังสือที่เขียนอย่างมีท่วงทำนอง มีจังหวะคล้องจอง มีเสียงสัมผัส และมีความหมายสัมพันธ์กันด้วยแล้ว แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เพียงวันละ 5 นาที 10 นาที หรือ 15 นาที ที่ลูกน้อยได้ซุกตัวอยู่ในอ้อมอกของพ่อ อ้อมกอดของแม่ ขณะที่อ่านหนังสือให้ฟัง พร้อมกับลูบหัว ลูบหลังเบาๆ ด้วยความรัก นอกจากจะทำให้เกิดความสบายอกสบายใจแล้ว ยังสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้ลูกได้อย่างน่ามหัศจรรย์
            เรื่องราวที่สนุกสนาน ภาพที่มีสีสันสดสวย ตัวละครที่มีชีวิตชีวาทำให้ลูกเกิดความสนใจใคร่เรียนรู้ เมื่อรู้แล้วจึงค่อยๆ ซึมซับพฤติกรรมดีๆ ทีละน้อยๆ และเลิกพฤติกรรมที่ไม่ดีไปทีละอย่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังถูกสอน
            เสียงที่นุ่มนวลของพ่อ สำเนียงที่อบอุ่นของแม่ คือเมล็ดพันธุ์แห่งความอ่อนโยนที่พร้อมจะเจริญเติบโตงอกงามในใจลูก
            จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดที่จะเห็นลูกน้อยตั้งตาคอยพ่อ รอแม่มาอ่านหนังสือให้ฟัง ถ้าทำอย่างนี้เป็นประจำ ทำอย่างสม่ำเสมอ ทำทุกๆ วันตลอดในช่วง 6 ปีแรกของชีวิต ลูกจะอ่านหนังสือได้เร็วกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้อ่านหนังสือให้ฟังมาตั้งแต่เล็ก”
            ผลจากการติดตามพัฒนาการของเด็กที่เข้าโครงการต่อเนื่อง 6 ปีกับเด็กทั่วไป พบว่าเด็กที่เข้าโครงการจะมีพัฒนาการสูงกว่าในทุกด้าน ฉะนั้น ใครที่อยากให้ลูกหรือหลานหรือเหลนมีพัฒนาการที่ดีพึงศึกษาจากประสบการณ์ของโครงการหนังสือเล่มแรกนี้ ดูได้ที่เว็บไซต์ของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก http://www.thaibby.in.th/
            สนใจเรื่องส่งเสริมการอ่านอย่าลืมไปร่วมงานส่งเสริมการอ่านที่จัดพร้อมกันทั่วประเทศ
ในงาน รักการอ่าน มหกรรมนวัตกรรมการอ่านเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และสร้างเสริมนิสัยรักการอ่านในเด็กและเยาวชนไทย” ในวันที่ 14-16 สิงหาคม 2552 เวลา 10.00-20.00 น. ณ บางกอกคอนเวนชั่นฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว และที่ สพท. เขต 1 ใน 75 จังหวัด ซึ่งในงานจะมี 8 กิจกรรมหลักดังนี้ 1. นิทรรศการเทิดพระเกียรติ  2. นิทรรศการมีชีวิต “นวัตกรรมการอ่าน” 3. เวทีกลาง 4. เวทีเยาวชนรักการอ่าน (1)  5. แรลลี่อ่านเอาเรื่อง 6. ภาคีรักการอ่าน 7. หนังสือเพื่อความเป็นเลิศ 8. เวทีเยาวชนรักการอ่าน (2)
            นอกจากนี้ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2552 สพท.กทม.1 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์พัฒนากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย กทม. (ตั้งอยู่ที่โรงเรียนราชวินิต มัธยม) มูลนิธิศาสตราจารย์หม่อมหลวงจิรายุ-ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ และสมาคมคนรักภาษาไทย ได้จัดโครงการเรียนรู้ภาษาไทยด้วยสายใยครอบครัว เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็กไทย โดยการพัฒนา “แม่” ในด้านจิตวิทยาการถ่ายทอดความรู้ เทคนิควิธีการสอนภาษาที่ถูกต้อง เพื่อทำหน้าที่เป็น “ครูแม่สอนภาษา” ที่บ้านและทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับ “ครูที่โรงเรียน” ผ่าน “สมุดบันทึกลูกรัก” ซึ่งจะส่งผลทั้งด้านการเรียนการสอนภาษาไทย และความสัมพันธ์ที่อบอุ่นใกล้ชิดของครอบครัว โดยจะจัดการอบรมในช่วงเดือนกันยายนนี้ ผู้ปกครองที่สนใจสามารถติดต่อขอใบสมัครได้ที่ สพท.กทม.1 และศูนย์พัฒนากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย กทม. โทร. 0-2354-4960 และ 0-2354-4973 ทุกวันในเวลาราชการ
            และในช่วงสัปดาห์นี้ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีโอกาสรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสเสด็จเปิดอนุสาวรีย์ศรีปราชญ์ที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช และพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดนครศรีธรรมราช
            ดิฉันได้ไปรับเสด็จที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช และรู้สึกตื่นเต้นเมื่อทราบข้อมูลในประวัติศาสตร์ว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่ประหารศรีปราชญ์ และบ่อล้างดาบ
                         “ธรณีนี่นี้     เป็นพยาน  
เราก็ศิษย์อาจารย์     หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร     เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง     ดาบนี้คืนสนอง”
นับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพของประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช เล่ากันว่าไม่ว่านักเรียนโรงเรียนใดจะไปแข่งขันจะต้องมาบวงสรวงสักการะ ณ ที่นี้ ศิษย์เก่าและทางโรงเรียนจึงร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์ และศิษย์เก่าได้มาร่วมบวงสรวงด้วย
            สิ่งที่ต้องชื่นชมโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชเป็นพิเศษคือการจัดนิทรรศการ ทำได้กระทัดรัดตรงประเด็นมาก ประกอบด้วยแผ่นนิทรรศการประกอบ 15 แผ่น แต่ละแผ่นนำเสนอผลงานที่โดดเด่นของนักเรียน เช่น ยุวกวีศรีนาคร การประกวดร้องเพลง กีฬา ประกวดสวนถาด ภาษาอังกฤษ แข่งขันหุ่นยนต์ ฯลฯ มีนักเรียนยืนประจำหน้าแผ่นป้าย และกราบบังคมทูลสั้นๆ แต่ชัดเจน ไม่เยิ่นเย้อ ว่าผลงานคืออะไร เมื่อมีรับสั่งถามก็ตอบได้กระชับตรงประเด็น เป็นแบบอย่างสำหรับการนำเสนอผลงานเป็นที่สุด เพราะไม่ได้เสนอทุกอย่างที่มี แต่คัดสรรสิ่งที่น่าสนใจและเป็นผลงานโดดเด่น หวังว่าโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จะได้นำเสนอในเว็บไซต์ของโรงเรียน (http://www.kanlayanee.ac.th/) เพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับสถานศึกษาอื่นๆ
            ที่โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่มีโอกาสไปรับเสด็จเพราะต้องมารอการพิจารณาของกรรมาธิการงบประมาณ แต่ประทับใจในความแข็งขันของนักเรียน ที่มีผลงานวาดภาพ ผ้าบาติกจับจีบโต๊ะอาหาร ปักดอกไม้ ปลูกต้นไม้ ตลอดไปจนถึงการทำความสะอาดได้อย่างมืออาชีพ จนต้องชื่นชมว่าลูกๆ คงไม่มีวันตกงาน เพราะโรงเรียนได้ให้โอกาส และปลูกฝังนิสัยการทำงานแบบหนักเอาเบาสู้ได้เป็นอย่างดี 
            ท่านผู้อ่านหลายคนอาจไม่ทราบว่าวันที่ 1 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันสตรีไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้พระราชทานไว้ 7 ปีแล้ว และในปีนี้สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ได้เชิญชวนให้หน่วยงานต่างๆ จัดงานเพื่อรำลึกถึงและเสริมส่งบทบาทของสตรีไทย สพฐ. ดังที่ได้เคยนำเรียนไปแล้วได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ให้ความรู้แก่ครูสตรีเพื่อดูแลตนเองและเผยแพร่ความรู้ไปสู่เพื่อนครู ลูกศิษย์และประชาชนทั่วไป
            งานในส่วนกลางได้จัดที่โรงเรียนสตรีวิทยา โดยมีเพื่อนครูมาร่วมกว่า 300 คน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญมาเปิดงานด้วยตนเอง ในช่วงพิธีปิดได้มีการนำเสนอวิดิทัศน์ที่สร้างจากเรื่องจริงเพื่อเตือนใจให้ครูและผู้ที่รักครูตระหนักถึงภัยที่ใกล้ตัวนั่นคือโรคมะเร็งที่แต่ละปีคร่าชีวิตสตรีไทย เป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก (จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมปี 2549 มีจำนวน 14,820 คน มะเร็งปากมดลูก 12,300 คน มะเร็งทั้ง 2 ประเภทล้วนดูแลไม่ให้ถึงชีวิตได้) พร้อมขอร้องให้ครูให้เวลาดูแลตนเอง นับเป็นวิดิทัศน์ที่ทำได้ดียิ่ง หลายคนดูแล้วน้ำตาซึมรวมทั้งดิฉันด้วย สนใจดูได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=5iFFIabMqnQ
            หลังจากพิธีเปิดได้มีการให้ความรู้และฝึกปฏิบัติรวมทั้งบริการเมมโมแกรมที่ได้รับความสนใจเกินคาด ดิฉันตามไปดูและลองฝึกหัดด้วยตนเอง ปรากฏว่ายังมีเพื่อนครูอยู่คับคั่ง หลายเขตได้ประสานให้ทีมวิทยากรพร้อมด้วยรถเคลื่อนที่ไปบริการในเขตด้วย ท่านรองฯ ชายหลายท่านก็มาเมียงมองด้วยความสนใจและขอแผ่นพับกลับไปให้คนที่บ้าน หวังใจว่าการจัดการประชุมปฏิบัติการที่ สพท. จะได้ประโยชน์และช่วยให้ครูได้ดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคมะเร็ง ท้ายด้วยการแสดงความยินดีแก่โรงเรียนสุรนารีวิทยาที่ชนะเลิศการแข่งขันวงโยธวาทิตที่ ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีการแข่งขันทุก 4 ปี ปีนี้มีโรงเรียนของเราจากประเทศไทยไป 8 โรงส่วนใหญ่ได้รางวัลเหรียญทอง มีโรงเรียนไทย 3 โรงเรียน ได้คะแนนยอดเยี่ยมเกิน 90 คะแนน คือโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรีที่ได้ 93 คะแนน และโรงเรียนสุรนารีวิทยาได้ 95.5 สูงสุดจาก 200 กว่าทีมที่เข้าแข่งขัน และทราบว่าสูงสุดนับตั้งแต่มีการแข่งขันมา เนื่องจากเป็นวงโยธวาทิตหญิงล้วน ดิฉันกล่าวชมเชยว่าเป็นการประกาศเกียรติศักดิ์ของสตร
คำสำคัญ (Tags): #การอ่านเขียน
หมายเลขบันทึก: 283636เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 00:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ มาขอบคุณนะคะที่ไปให้กำลังใจน้องนกนะตะ

ขอบคุณนะคะ

ขอให้มีความสุขนะคะ

สวัสดีค่ะ

  • เรื่องการอ่านและเขียน  ช่างเป็นปัญหาระดับ classic มาช้านาน
  • อย่างไรเสียผู้ที่เกี่ยวข้องแบบเราๆท่านๆก็ต้องใส่ใจทุกู้ทุกคน
  • ขอบคุณค่ะกับข้อมูล ฝากความเคารพท่านผอ.ธวัชชัยด้วยนะคะ

 

ขอบคุณทุกท่านครับ
P ผอ.บวร

P เป็นกำลังใจให้น้องนกครับ

Pจะเรียให้ท่านทราบครับ(คุณครูคเก่ง)

สวัสดีค่ะ

ดิฉันเป็นคนที่เลี้ยงลูกและส่งเสริมการอ่านมาตั้งแต่เด็กเล็กๆ นิทาน

หนังสือภาพ การพาไปห้องสมุดที่โอกาสอำนวย

เลยทำให้รักการอ่าน อ่านแตกค่ะ...ขอบคุณสาระดีๆนะคะ

 

              

                              

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท