การเชื่อมโยงความรู้สู่ท้องถิ่น


การเชื่อมโยงความรู้

การเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่ท้องถิ่น   :   กรณีโรงเรียนวัดโคกทราง

นพดลย์  เพชระ

 

ความนำ

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  2550 ระบุไว้ในมาตรา ๘๐  ว่า  รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการศึกษา สนับสนุนการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษา ปฐมวัย ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของสถาบัน ครอบครัวและชุมชน...พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ กฎหมาย เพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ก้าวหน้า ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก รวมทั้งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกของความเป็นไทย มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข...ส่งเสริมและสนับสนุนการกระจายอำนาจเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   ชุมชน    องค์การทางศาสนา และเอกชน   จัดและมีส่วนร่วม    ในการ    

จัดการศึกษาเพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพ การศึกษาให้เท่าเทียมและสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ..ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยในศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ และเผยแพร่ข้อมูล ผลการศึกษาวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยจากรัฐ..ส่งเสริมและสนับสนุนความรู้รักสามัคคีและการเรียนรู้ ปลูกจิตสำนึก และเผยแพร่ ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ตลอดจนค่านิยมอันดีงามและภูมิปัญญาท้องถิ่น(http://th.wikisource.org/wiki /) 

           พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.  2542  และที่แก้ไขเพิ่มเติม  (ฉบับที่  2)  พ.ศ.  2545  (2547 : 5-25)  มาตรา  7  ระบุว่า  ในกระบวนการเรียนรู้  ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมือง  การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ  หน้าที่   เสรีภาพ  ความเคารพกฎหมาย  ความเสมอภาค  และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย  รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม  และของประเทศชาติ  รวมทั้งส่งเสริมศาสนา  ศิลปะ   วัฒนธรรมของชาติ  การกีฬา  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากล ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มีความสามารถประกอบอาชีพ  รู้จักพึ่งตนเอง  มีความริเริ่มสร้างสรรค์  ใฝ่รู้  และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง

 มาตรา  27  ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษา             ขั้นพื้นฐาน  เพื่อความเป็นไทย  ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ  การดำรงชีวิต  และการประกอบอาชีพตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ

ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคมภูมิปัญญาท้องถิ่น  คุณลักษณะอันพึงประสงค์  เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว  ชุมชน  สังคม  และประเทศชาติ

มาตรา 39 ให้กระทรวงกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาทั้งด้านวิชาการ                 งบประมาณ  การบริหารงานบุคคล  และการบริหารงานทั่วไป  ไปยังคณะกรรมการ  และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  และสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง

พระราชบัญญัติ  ระเบียบบริหารราชการ  กระทรวงศึกษาธิการ  พ.ศ.  2546 ( 2546: 22) มาตรา  35  ระบุไว้ว่า  สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเฉพาะที่เป็นโรงเรียน  มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมาตรา  37  ให้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อทำหน้าที่ในการดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ  และให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา  ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  และมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

(1)   อำนาจหน้าที่ในการบริหารและจัดการศึกษาและพัฒนาสาระของหลักสูตรการศึกษา  ให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

(2)     อำนาจหน้าที่ในการพัฒนางานด้านวิชาการและจัดให้มีระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาร่วมกันกับสถานศึกษา

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ  ว่าด้วยคณะกรรมการการบริหารหลักสูตรและงานวิชาการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานพ.ศ.2544 ข้อ5ระบุว่าให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการบริหารหลักสูตรและงานวิชาการสถานศึกษา  อยู่ภายใต้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  และข้อ  6   ให้คณะกรรมการมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) วางแผนการดำเนินงานวิชาการ กำหนดสาระรายละเอียดของหลักสูตรระดับสถานศึกษา  และแนวการจัดสัดส่วนสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสภาพเศรษฐกิจ  สังคม  ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาของท้องถิ่น

                จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ  และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา นอกจากจะต้องจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดความรู้คู่คุณธรรมแล้ว  ยังจะต้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพของท้องกถิ่น  เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ชีวิตจริงของตนเองในท้องถิ่น  เรียนรู้สภาพภูมิศาสตร์  ประวัติความเป็นมา  สภาพเศรษฐกิจ  สังคม  การดำรงชีวิต  ภูมิปัญญา  ศิลปะ  วัฒนธรรม  ตลอดจนให้มีความรักความผูกพัน  และมีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง  รวมทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตในสังคม   สถานศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  จึงต้องตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวนี้  รวมทั้งจะต้องดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้ครูผู้สอนสามารถนำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเกิดสัมฤทธิ์ผลบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง

 

แนวทางการดำเนินงานจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น

                การกำหนดเนื้อหาสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น  เพื่อให้สถานศึกษานำไปใช้ในการจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเอง  ทั้งในด้านความสำคัญ  ประวัติความเป็นมา  สภาพภูมิประเทศ  ภูมิอากาศ สภาพเศรษฐกิจ  สังคม  วิถีการดำรงชีวิต  ศิลปะ วัฒนธรรม

ประเพณี  ภูมิปัญญาฯลฯ  ตลอดจนสภาพปัญหาในชุมชนและสังคมนั้นๆ อันจะทำให้ผู้เรียนเกิดความรัก  ความผูกพัน  มีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน  ยินดีที่จะร่วมสืบสานพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นนั้น  มีการดำเนินงานดังนี้ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2549  :  4-5)

                การดำเนินงานของส่วนกลาง   ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดจุดมุ่งหมายไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.  2544   เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นโดยกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้ผู้เรียนรักประเทศชาติ  รักท้องถิ่น  มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามให้สังคม  มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ภาษาไทย  ศิลปะ  วัฒนธรรม  ประเพณี  กีฬา  ภูมิปัญญาไทย  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กระทรวงศึกษาธิการ, 2545  :  4)

                การดำเนินงานของเขตพื้นที่การศึกษา  โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานคศรีธรรมราช เขต 3  จัดทำกรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น  ไว้ว่า  นักเรียนต้องเรียนรู้ภาษถิ่นใต้  บทร้องเล่นในท้องถิ่น  การรวบรวมข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น  สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น  ระบบนิเวศ  ประวัติความเป็นมาของท้องถิ่น  บุคคลสำคัญ  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  บรรทัดฐานวัฒนธรรมท้องถิ่นใต้  ขนบธรรมเนียมประเพณี   

วัฒนธรรม  ศิลปะพื้นบ้าน  การแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างท้องถิ่น  ปัญหาและผลกระทบของสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น  ปัจจัยในการตั้งถิ่นฐานและการอพยพย้ายถิ่นของคนในท้องถิ่น การอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่น  ภูมิปัญญาไทย  การพักผ่อนและท่องเที่ยวในท้องถิ่น  ศิลปะพื้นเมือง  ดนตรีพื้นบ้าน  นาฏศิลป์พื้นเมือง  การประดิษฐ์ของเล่น  ของใช้  ของประดับตกแต่งจากเศษวัสดุ  การปรุงอาหารพื้นบ้านปักษ์ใต้  การถนอมอาหารปักษ์ใต้  การประดิษฐ์ของใช้  งานสาน  ออกแบบชิ้นงานใช้ในท้องถิ่น ( สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3, มปป.: 99)

               

ในฐานะที่เป็นผู้บริหารควรจะดำเนินงานอย่างไรในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น

 

                สถานศึกษาเป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติการที่จะต้องนำกรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้จัดทำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม  เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเอง  เกิดความรัก  ความผูกพัน  และมีความภาคภูมิใจในท้องถิ่น  สถานศึกษาจึงต้องนำกรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น  มาจัดทำรายละเอียดของเนื้อหาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับท้องถิ่นให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาและสภาพของชุมชนดังนี้

                1)  ดำเนินงานในรูปคณะกรรมการระดับสถานศึกษา    ซึ่งประกอบด้วยครู  ผู้บริหาร  ผู้นำทางศาสนา  ผู้นำชุมชน  และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์หลากหลาย  เพื่อจะได้ร่วมกันพิจารณาจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาและสภาพของชุมชนตามกรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำหนดไว้

                2)  วิเคราะห์กรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำหนดไว้  เพื่อจะได้ทราบถึงขอบข่ายในการกำหนดรายละเอียดของเนื้อหาองค์ความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นของสถานศึกษา  ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้กำหนดไว้

3)    วิเคราะห์หลักสูตรสถานศึกษา   เพื่อจะได้ทราบถึงจุดเน้นหรือประเด็นที่สถานศึกษาให้ความสำคัญ  และแนวทางการจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นนี้ว่าควรจะอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ใด  ชั้นปีใด  เป็นรายวิชาพื้นฐาน  หรือรายวิชาที่ต้องการเรียนเพิ่มเติม  และควรจะมีเนื้อหามากน้อยอย่างไร  ตามที่ หลักสูตรสถานศึกษากำหนดไว้

4)    ศึกษา / วิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศของสถานศึกษาและชุมชน   เพื่อนำมาเป็นข้อมูลจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นของสถานศึกษาให้สมบูรณ์ขึ้น 

5)    จัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นของสถานศึกษา   เมื่อคณะกรรมการได้วิเคราะห์ / สังเคราะห์กรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น / ข้อมูลสารสนเทศของสถานศึกษา / ชุมชนและ

วิเคราะห์หลักสูตรสถานศึกษาทราบแล้วว่าในกลุ่มสาระการเรียนรู้ใด  ชั้นปีใดบ้างที่จะต้องจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น  และจะจัดทำเป็นรายวิชาพื้นฐานหรือรายวิชาเพิ่มเติม  จากนั้นจึงร่วมกันพิจารณากำหนดเนื้อหาองค์ความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นอย่างเหมาะสมให้สอดคล้องกับบริบทและจุดเน้นของสถานศึกษาและสภาพของชุมชน  ซึ่งอาจจัดทำรายละเอียดสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นของสถานศึกษา  จำแนกตามกลุ่มสาระการเรียนรู้  และจัดทำเป็นช่วงชั้นหรือเป็นชั้นปีก็ได้

                การนำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นไปจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนนั้น  สถานศึกษาหรือครู          ผู้สอนสามารถนำรายละเอียดสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นไปวางแผนจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้          เกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเองในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ  ให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้  ตามโครงสร้างของหลักสูตรที่สถานศึกษากำหนด  โดยครูผู้สอนสามารถดำเนินการไว้หลายลักษณะ  เช่น

·  จัดทำรายวิชาเพิ่มเติม    ซึ่งครูผู้สอนอาจจัดทำรายวิชาที่เป็นสาระการเรียนรู้พื้นฐาน  หรือรายวิชาที่เป็นสาระการเรียนรู้เพิ่มเติมของสถานศึกษานั้น ๆ  ก็ได้  ในการจัดทำ  ครูผู้สอนอาจปรับปรุงพัฒนารายวิชาที่มีอยู่เดิม  หรือจัดเป็นรายวิชาใหม่  เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพบรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้และระดับชั้นนั้น 

·  ปรับกิจกรรมการเรียนการสอนหรือจัดกิจกรรมเสริมหรือบูรณาการ ในรายวิชาต่าง ๆ  เพื่อให้ผู้เรียนมีประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเองตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้และระดับชั้นนั้น    ทั้งนี้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ครูผู้สอนอาจเชิญวิทยากร / ภูมิปัญญาท้องถิ่น  หรือพานักเรียนออกไปเรียนรู้สภาพจริงในท้องถิ่นก็จะทำให้การเรียนรู้มีความหมายต่อผู้เรียนมากยิ่งขึ้น(กระทรวงศึกษาธิการ,2549 :10-12)

 

การเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่ท้องถิ่นของโรงเรียนวัดโคกทราง

            การเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่ท้องถิ่นของโรงเรียนวัดโคกทราง เป็นลักษณะปรับกิจกรรมการเรียนการสอนหรือจัดกิจกรรมเสริมหรือบูรณาการ ในรายวิชาต่าง ๆ  เพื่อให้ผู้เรียนมีประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเองตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้และระดับชั้นนั้น    ทั้งนี้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้   อาจเชิญวิทยากร / ภูมิปัญญาท้องถิ่น  หรือพานักเรียนออกไปเรียนรู้สภาพจริงในท้องถิ่น ซึ่งบางส่วนได้เสนอไว้ในแผนปฏิบัติการประจำปี  2552    ดังนี้  (โรงเรียนวัดโคกทราง ,2552) 

                1.  โครงการเรียนรู้บูรณาการจากขนมพื้นบ้าน  เป็นโครงการที่จะก่อให้เกิดกระบวนการศึกษาตลอดชีวิตในชุมชน  ต้องการให้ผู้เรียนได้นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่ละบุคคลให้ดีขึ้น 

วัตถุประสงค์ 

1.  เพื่อให้ผู้เรียนภูมิใจในความเป็นไทย  เห็นคุณค่าภูมิปัญญาไทย  นิยมไทยและดำรงไว้ซึ่งความเป็นไทย

2.   เพื่อสนับสนุนให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

3.  เพื่อนำแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการเรียนการสอน

4.  เพื่อสืบสานและสร้างสรรค์วัฒนธรรม  ประเพณีและภูมิปัญญาไทย

                ลักษณะกิจกรรม   เชิญวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ความรู้และสาธิตการทำขนมพื้นบ้านต่างๆ  เช่น  ขนมลูกตาล  ขนมครก  ขนมจาก  ขนมโค  เป็นต้น

                ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1.       โรงเรียนเป็นแหล่งเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเรียนรู้

2.       โรงเรียนและชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดี

3.       ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

2.  โครงการจัดการเรียนรู้วิชาชีพท้องถิ่น  เป็นโครงการส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมใน

การพัฒนาหลักสูตรของตนเอง  เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้จากท้องถิ่นของตนเอง  เป็นการเชื่อมโยงการเรียนกับชีวิตจริงและการทำงาน  รวมทั้งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรักและผูกพันกับท้องถิ่นของตน 

 

หมายเลขบันทึก: 282200เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2009 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท