ท่านจงวิตถารให้เราแจ้ง


อ้างอิง ท่อนประโยคจากเนื้อความที่น่าสนใจ ถึงคำตอบบางประการในแต่ละสิ่งแต่ละอย่าง นอกเหนือจากมุมมองความงามทางภาษา ยังมีมุมมองบางประการในการพิจารณาผู้คนที่น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะเนื้อความใน ตอนที่ 16 โจโฉคิดกำจัดอ้วนเสี้ยวกับลิโป้ อ้างอิงจาก สามก๊ก ฉบับพิมพ์ หอพระสมุด ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งสำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2545 พิมพ์จำหน่าย พุทธศักราช 2551 หน้าที่ 248 เล่มที่ 1 ในจำนวน 3 เล่ม

ท่านจงวิตถารให้เราแจ้ง

 

อ้างอิง - ภาพ Kati1789

บทหนึ่ง

ของวรรณกรรม

สามก๊ก ตอนที่ 16

 

กล่าวถึงเรื่องราวที่น่าสนใจ ระหว่างประโยคสนทนาของ โจโฉ กับ กุยแก ที่ปรึกษาของตน เมื่อจะทำศึกกับ อ้วนเสี้ยว ผู้ครองกิจิ๋ว ที่กำลังคิดจะตีเมืองฮูโต๋ ซึ่งตนครองอยู่ บทหนึ่งในท่อนสนทนา คือการของเหตุผลในการยกไปทำการศึก ซึ่งโจโฉหวั่นเกรงกองกำลังที่มากมายของอ้วนเสี้ยว

โดยมีสิ่งที่น่าสนใจในแต่ละท่อนสนทนา

ที่เกี่ยวเนื่องกับการพิจารณาคน

หรือทำความเข้าใจคน

 

โดยเฉพาะการชี้แจง แยกแยะ และหาอุปนิสัยใจคอ ที่ปัจจุบันอาจพิจารณาถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส หรือศักยภาพ ที่แต่ละฝ่ายจะหยิบยก นำมาเทียบเคียง เปรียบเทียบและหาจุดที่เหมาะสมลงตัว ก่อนที่จะทำการศึก หรือเริ่มต้นเปิดศึกกับใครต่อใคร

ในบท ตอนที่ 16

ในเนื้อความที่ โจโฉ

คิดกำจัดอ้วนเสี้ยวกับลิโป้

 

จึงมีท่อนพิจารณาจิตใจ และเทียบเคียงวิธีคิด วิถีปฏิบัติของโจโฉ กับ อ้วนเสี้ยว ให้เราได้ทำความเข้าใจผู้นำนายทัพ ว่าคิดแตกต่างมากน้อยกันเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการทำความเข้าใจจุดอ่อนและปมในใจ ที่แอบซ่อนให้เราได้ทำการศึกษา

กุยแก กำลังจะอธิบายความประโยค

ถึงเหตุแลผลสิบประการ

อันจะเกิดชัยชนะ

 

กระทั่ง โจโฉ ร้อนรนใจ ถามประโยคที่น่าสนใจ โดยกล่าวว่า ท่านจงวิตถารให้เราแจ้ง กุยแกจึงว่าท่านจะชนะสิบประการนั้น คือ ท่านมิได้ถือตัว ถ้าจะทำการสิ่งใดถึงผู้น้อยจะขัดท่านว่าผิดแลชอบ ท่านก็เห็นด้วย ประการหนึ่ง น้ำใจท่านโอบอ้อมอารีคนทั้งปวง แล้วจะทำการสิ่งใด ก็ถือเอารับสั่งพระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นประมาณ คนทั้งหลายก็ยินดีด้วย

ประการหนึ่ง

ท่านจะว่ากล่าวสิ่งใด

ก็สิทธิ์ขาดมีสง่า คนทั้งปวงยำเกรงท่านเป็นอันมาก

 

ประการหนึ่ง ใจท่านสัตย์ซื่อ เลี้ยงทหารโดยยุติธรรม ถึงญาติพี่น้องก็ว่ากล่าวมิเข้าด้วยผู้ผิด ประการหนึ่ง ท่านจะคิดทำการสิ่งใดเห็นเป็นความชอบก็ตั้งใจทำไปจนสำเร็จ ประการหนึ่ง ท่านจะรักผู้ใดก็รักโดยสุจริตมิได้ล่อลวง ประการหนึ่ง ท่านเลี้ยงคนซึ่งอยู่ใกล้กับอยู่ไกล ถ้าดีแล้วเลี้ยงเสมอกัน ประการหนึ่ง ท่านคิดทำการหนักหน่วงให้แน่นอนแล้วจึงทำการ

ประการหนึ่ง  ท่านจะทำการสิ่งใด

ก็ทำตามขนบธรรมเนียมโบราณ

ประการหนึ่ง

 

ท่านชำนาญในกลสงคราม ถึงกำลังข้าศึกมากกว่าท่าน ท่านก็คิดเอาชัยชนะได้ เป็นสิบประการ ฝ่ายอ้วนเสี้ยวจะแพ้ท่านสิบประการนั้น คือ อ้วนเสี้ยวเป็นคนถืออิสริยยศ มิได้เอาความคิดผู้ใด ประการหนึ่ง อ้วนเสี้ยวเป็นคนหยาบช้า ทำการโดยโวหาร

ประการหนึ่ง

อ้วนเสี้ยวจะว่ากิจการสิ่งใด มิได้สิทธิ์ขาด

ประการหนึ่ง อ้วนเสี้ยวเห็นแก่ญาติพี่น้องของตัว

 

มิได้ว่ากล่าวตามผิดแลชอบ ประการหนึ่ง อ้วนเสี้ยวจะคิดการสิ่งใด มักกลับเอาดีเป็นร้ายเอาร้ายเป็นดี มิได้เชื่อใจของตัว ประการหนึ่ง อ้วนเสี้ยวจะเลี้ยงผู้ใดมิได้ปรกติ ต่อหน้าว่ารัก ลับหลังว่าชัง ประการหนึ่ง อ้วนเสี้ยวมักรักคนชิดซึ่งประสมประสาน ผู้ใดห่างเหินถึงซื่อสัตย์ก็มีใจชัง ประการหนึ่ง อ้วนเสี้ยวกระทำความผิดต่างๆ เพราะฟังคำคนยุยง

 

 

ประการหนึ่ง อ้วนเสี้ยวจะทำการสิ่งใด เอาแต่อำเภอใจ

มิได้ทำตามอย่างธรรมเนียมโบราณ

ประการหนึ่ง

 

อ้วนเสี้ยวมิได้รู้ในกลศึก แต่มักพอใจทำการศึกล่อลวง จะชนะก็ไม่รู้จะแพ้ก็ไม่รู้ เป็นสิบประการ ข้าพเจ้าจึงว่าท่านจะชนะสิบประการ อ้วนเสี้ยวจะแพ้สิบประการดังนี้ โจโฉได้ฟังดังนั้นก็หัวเราะ แล้วจึงว่าซึ่งท่านว่าทั้งนี้ เราก็แจ้งอยู่แล้ว แต่เกรงอยู่ว่า เราทำการรบบัดนี้จะไม่เหมือนคำของท่านว่า

หลังจากนั้น

คำกล่าวถกเถียงสนทนา

และตอบโต้หารือระหว่างกุนซือกับนายทัพ

 

จึงเป็นบทเรียนหนึ่งที่น่าสนใจ ในช่วงต้นของท้องเรื่องวรรณกรรม สามก๊ก สำหรับความหมายและแนวทางที่แต่ละฝ่าย จะใคร่ครวญทำความเข้าใจ สำหรับเนื้อความที่น่าสนใจเหล่านี้ กับ ประโยคคำถามที่ โจโฉ ถามต่อ กุยแก นั้น ล้วนมีเรื่องราวที่ชวนถกเถียง

ถึงความหมายสำคัญ

แท้จริงของคำว่า

วิตถาร

 

ว่ามีเนื้อความท่อนใด หรือ ความหมายเชื่อมโยงใด ที่หลุดพ้นจากกรอบความเข้าใจในการใช้คำของผู้คนในปัจจุบัน กระทั่งมุมมองที่น่าสนใจว่า คำไทยนั้น น่าจะเป็นคำเป็นอยู่ในปัจจุบัน ในความหมายที่คำมีรูปแบบการใช้งาน และขยายเปลี่ยนแปลความเข้าใจออกไป

ยิ่งในห้วงเวลา

ของวันภาษาไทย

เรายิ่งได้มีโอกาสพิจารณา

 

ถึงจุดแข็งของคำไทย ภาษาไทย และการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนแปลไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากความหมายที่คนไทย คนต่างบ้านท้าวต่างเมือง และคนทั่วไปในปัจจุบันที่ใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ว่ามีความสนใจหรือคิดถึงเหตุผลในเบื้องหลังคำไทยเช่นไร

นอกเหนือจากสิ่งสำคัญเบื้องลึก

ในเนื้อความวรรณกรรม

ที่ซ่อนความรู้

 

หรือบอกสอนให้เราเข้าใจ ในหัวใจของผู้นำ ที่เราต้องคอยแยกแยะ คอยเรียบเรียง และคอยเทียบเคียง ว่าหัวใจของผู้นำแต่ละฝักแต่ละฝ่ายนั้นเป็นเช่นไร ใครกระทำตนต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ ด้วยความจงรักภักดี ใครกระทำต่อแผ่นดินและราชบัลลังค์ ด้วยความซื่อสัตย์หมั่นเพียร

นอกจากนั้นแล้ว

ล้วนเป็นเรื่องของสติล้วนๆ

สำหรับการบอกสอนเตือนใจ

แลเตือนตนของเราเอง

 

หมายเหตุ : ท่อนประโยคจากเนื้อความ ตอนที่ 16 โจโฉคิดกำจัดอ้วนเสี้ยวกับลิโป้ อ้างอิงจาก สามก๊ก ฉบับพิมพ์ หอพระสมุด ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งสำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2545 พิมพ์จำหน่าย พุทธศักราช 2551 หน้าที่ 248 เล่มที่ 1 ในจำนวน 3 เล่ม

 

หมายเลขบันทึก: 281558เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2009 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดี ครับ

อ่านแล้ว ขอชื่นชม ในการนำเอาวรรณกรรม classic

มาถ่ายทอด ได้อย่างน่าสนใจ

ขอบพระคุณ ครับ

 

 

อ่านไปยังต้องมาแปลไทยอีก คือเรียบเรียงความรู้สึกใหม่  หรือจะเป็นเพราะเราอ่านแต่นิยาย ไม่ค่อนอ่านวรรณกรรม ที่แฝงด้วยความนัย

ตัวหนังสือเปลี่ยนเป็นตัวใหญ่ ไม่ได้หรือคะ  เพราะถ้าเขียนยาวเป็นพรืด กว่าจะถ่างตา  ตามจริงมันก็มีวิธีอ่านได้ ทางขวามือมีขยาย แต่อยากให้เปิดอ่านปุ๊บก็ไหลรื่นไปเลย สามารถเข้าใจอะไรได้ง่ายขึ้น

 

ตัวหนังสือพิมพ์ ฟร้อนอังสนา ที่ 22 จาก  word คลุมดำลอกมาใส่บันทึกจะดีกว่า  ก่อนดึงมาก็ตรวจทานด้วย จะได้แก้ไข เล่นสลับสีเกรงหลงบรรทัดด้วย

 

 สว.(สูงวัย)จะได้อ่านง่ายๆอย่าให้แต่วัยรุ่นอ่านมากนัก แล้วจะเข้ามาเยี่ยมอีกนะคะ เปลี่ยนตัวหนังสือด้วย

 

นี่หละตัวอย่างตัวหนังสือ  ถ้าใหญ่ก็ลดลงคะ

ไปเยี่ยมอ่านบล็คอคดิฉันแล้วจะเห็นตัวหนังสือ  ยามดึกมาก็พออ่านได้

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท