Learning Environments: First step to goal


หากมองไปให้ลึกแล้ว จะพบว่ารูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้สอนมิได้เป็นเพียงผู้ส่งสาร เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หากแต่ยังต้องรับหน้าที่เป็นผู้รับสารจากผู้เรียนในอีกทางหนึ่งด้วย

Learning Environments: First step to goal

สภาพแวดล้อมทางการเรียนปฐมบทแห่งความสำเร็จ

การเรียนรู้ นั้นเกิดจากกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวคน กับสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา หรือจะเรียกว่าสภาพแวดล้อม โดยมีผู้สอน (ครู) ซึ่งแต่เดิมอาจทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาร (ความรู้) ไปสู่ผู้เรียน ซึ่งจะนำสารที่รับไปสร้างสรรค์เป็นความรู้ ส่งต่อ นำไปใช้ หรือไปช่วยในการตัดสินใจในชีวิตประจำวันต่อไป ซึ่งการเรียนรู้จะประสบผลสำเร็จหรือไม่นั้น สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น สภาพแวดล้อมทางกายภาพ จิตภาพ และสังคม นับว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดการยอมรับซึ่งข่าวสารที่ถูกส่งมา ไม่ว่าจะโดยผู้สอนหรือผู้เรียน เพราะในรูปแบบการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้สอนย่อมต้องรับข่าวสารที่ถูกส่งกลับมาจากผู้เรียนอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์การเรียนทั้งรูปแบบของ Bloom และ Gagne

การจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียน

การจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียน แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะด้วยกันคือ

   1.สภาพแวดล้อมทางด้านกายภาพ เป็นสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ อาคารสถานที่ โต๊ะ เก้าอี้ สื่อ อุปกรณ์การสอนต่างๆ รวมทั้งสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ตามธรรมชาติได้แก่ ต้นไม้ พืช ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ เป็นต้น สภาพแวดล้อมทางการเรียนด้านกายภาพ จะส่งผลต่อการเรียนการสอน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน แบ่งออกเป็น 

                        1.1 สภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน ประกอบด้วยห้องเรียนและอุปกรณ์การเรียนต่างๆ แสงสว่าง สี เสียง อุณหภูมิ เหล่านี้เป็นต้น

            1.2 สภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน ได้แก่ แหล่งความรู้ต่างๆ เช่น แหล่งวิทยบริการ ห้องปฏิบัติการ ห้องทดลอง โรงฝึกงาน ห้องสมุด ศูนย์วัฒนธรรม ต่างๆ

   2. สภาพแวดล้อมทางด้านจิตภาพ ได้แก่สภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อ ความรู้สึกจิตใจ เจตคติของนักเรียน ที่มีต่อการเรียนการสอน แบ่งออกเป็นองค์ประกอบสำคัญใหญ่ ๆ 2 องค์ประกอบคือ

            2.1 องค์ประกอบด้านนักเรียน

        2.1.1 บุคลิกภาพและพฤติกรรมของนักเรียน จะมีความสัมพันธ์และอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

         2.1.2 ระดับสติปัญญา ระดับสติปัญญาของนักเรียนมีความสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

         2.1.3 สถานภาพทางครอบครัว

 

           2.2 องค์ประกอบด้านผู้สอน

          2.2.1 บุคลิกภาพและพฤติกรรมของครูผู้สอนบุคลิกภาพและพฤติกรรมของผู้สอนมีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียน

              2.2.2 ความรู้และประสบการณ์ มีความสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

              2.2.3 เทคนิคการสอน

 

    3. สภาพแวดล้อมทางด้านสังคม ได้แก่สภาพแวดล้อมที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล องค์ประกอบของ สภาพแวดล้อมทางการเรียนด้านสังคม เช่น

       3.1 การสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน

       3.2 การสร้างแรงจูงใจ

       3.3 ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน (ไพฑูรย์ ศรีฟ้า) 

แบบจำลองการสื่อสาร

เบอร์โล (Berlo) เป็นผู้คิดค้นกระบวนการของการติดต่อสื่อสารไว้ในลักษณะรูปแบบจำลอง S M C R Model ซึ่งประกอบด้วย

1.ผู้ส่ง (Source) ต้องเป็นผู้ที่มีทักษะความชำนาญในการสื่อสาร โดยมีความสามารถในการเข้ารหัส (encode) เนื้อหาข่าวสาร มีเจตคติที่ดีต่อผู้รับเพื่อผลในการสื่อสาร มีความรู้อย่างดีเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่จะส่ง และควรจะมีความสามารถในการปรับระดับของข้อมูลนั้นให้เหมาะสมและง่ายต่อระดับความรู้ของผู้รับตลอดจนพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับผู้รับด้วย

2.ข้อมูลข่าวสาร (Message) เกี่ยวข้องทางด้านเนื้อหา สัญลักษณ์ และวิธีการส่งข่าวสาร

3.ช่องทางในการส่ง (Channel) หมายถึงการที่จะส่งข่าวสารโดยการให้ผู้รับได้รับข่าวสารข้อมูลโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 หรือเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง คือ การได้ยิน การดู การสัมผัส การลิ้มรส หรือการได้กลิ่น

4.ผู้รับ (Receiver) ต้องเป็นผู้มีทักษะความชำนาญในการสื่อสารโดยมีความสามารถในการถอดรหัสสาร” (decode) เป็นผู้ที่มีเจตคติ ระดับความรู้ และพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรม เช่นเดียวหรือคล้ายคลึงกันกับผู้ส่งสารจึงจะทำให้การสื่อความหมายหรือการสื่อสารนั้นได้ผล

SMCR Model

 

ตามลักษณะของ S M C R Model นี้ มีปัจจัยหลักที่มีความสำคัญต่อขีดความสามารถของผู้ส่งและผู้รับ ที่จะทำให้การสื่อความหมายนั้นได้ผลสำเร็จหรือไม่เพียงใดได้แก่

   1. ทักษะในการสื่อสาร (Communication Skills) หมายถึง ทักษะซึ่งทั้งผู้ส่งและผู้รับควรจะมีความชำนาญในการส่งและการรับสาร เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันได้อย่างถูกต้อง

   2. เจตคติ (Attitudes) เป็นเจตคติของผู้ส่งและผู้รับซึ่งมีผลต่อการสื่อสาร ถ้าผู้ส่งและผู้รับมีเจตคติที่ดีต่อกัน ก็จะทำให้การสื่อสารได้ผลดี

  3. ระดับความรู้ (Knowledge Levels) ถ้าผู้ส่งและผู้รับมีระดับความรู้ที่เท่าเทียมกัน ก็จะทำให้การสื่อสารนั้นลุล่วงไปด้วยดีแต่ถ้าหากความรู้ของผู้ส่งและผู้รับมีรับดับที่แตกต่างกันย่อมจะต้องมีการปรับความยากง่ายของข้อมูลที่จะส่ง

   4. ระบบสังคมและวัฒนธรรม (Socio - Culture System) ในแต่ละชาติเป็นสิ่งที่มีส่วนกำหนดพฤติกรรมของประชาชนในชาตินั้น ซึ่งเกี่ยวข้องไปถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติ สังคมและวัฒนธรรมในแต่ละชาติย่อมมีความแตกต่างกันไป (กิดานันท์ มะลิทอง)

การเรียนรู้ตามทฤษฎีของ Bloom (Bloom Taxonomy)

Bloom ได้แบ่งการเรียนรู้เป็น 6 ระดับ

       - ความรู้ที่เกิดจากความจำ (Knowledge) ซึ่งเป็นระดับล่างสุด

       - ความเข้าใจ (Comprehend)

       - การประยุกต์ (Application)

       - การวิเคราะห์ (Analysis) สามารถแก้ปัญหา ตรวจสอบได้

    - การสังเคราะห์ (Synthesis) สามารถนำส่วนต่างๆ มาประกอบเป็นรูปแบบใหม่ได้ให้แตกต่างจากรูปแบบเดิม เน้นโครงสร้างใหม่ (Generalization Phase)

- การแสดงออกพฤติกรรมที่เรียนรู้ (Performance Phase)

- การแสดงผลการเรียนรู้กลับไปยังผู้เรียน (Feedback Phase) ผู้เรียนได้รับทราบผลเร็วจะทำให้มีผลดีและประสิทธิภาพสูง (Rattanasiri)

       ดังนั้นเราจะพบว่านักการศึกษาต่างยอมรับว่าสภาพแวดล้อมทางการเรียนส่งผลต่อความสำเร็จในการเรียนของผู้เรียนแต่ละคน แต่

การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนให้ได้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคนนั้น ในบางครั้งเป็นการยากสำหรับผู้สอนแต่ละคน เนื่องจากว่าผู้เรียนจะเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมของสังคม

จากการศึกษากว่า 2005 เรื่อง เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ เราอาจจำแนกได้ว่าครู (ผู้สอน) ทำหน้าที่

- ส่งข่าวสารความรู้

นักศึกษา (ผู้เรียน) ทำหน้าที่

- สร้างสรรค์ความรู้

- การนำความรู้มาใช้

- ส่งต่อความรู้

- นำความรู้ไปใช้ในกระบวนการผลิต-การตัดสินใจ (Kerry O'Regan)

ในการจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียน ที่จะไปสู่ความสำเร็จในกระบวนการเรียนการสอน ในแต่ละรายวิชา ผู้สอนจึงควรมองถึงสภาพแวดล้อมทางการเรียน ให้ครบทั้ง 3 ด้าน แล้วนำรูปแบบการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและสาระในการเรียน ซึ่งนอกจาก 2 ส่วนนี้แล้ว ควรจะคำนึงถึงรูปแบบการเรียนรู้หรือผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดกับผู้เรียนว่าต้องการให้เกิดการเรียนรู้ในรูปแบบใด

การเรียนรู้นั้นอาจมองได้เป็น 3 ระดับ คือ (1.) รู้จำ คือเป็นการรู้จำ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้แก่การเรียนรู้ตามตัวบท ตามตัวหนังสือ หรือตามคำสอน (2.) รู้จริง น่าจะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษา เพราะการเรียนรู้ระดับนี้จะเน้นที่ความเข้าใจเป็นหลัก เป็นการเรียนรู้ที่ต้องอาศัยข้อมูล อาศัยการวิเคราะห์ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องเหตุเรื่องผล และ (3.) รู้แจ้ง อันหมายถึงการเรียนรู้ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของความจำ แต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจผ่านการกระทำ ผ่านความรู้สึก เป็นเรื่องของสามัญสำนึก และจิตวิญญาณ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตและการมองโลก (ประพนธ์ ผาสุกยืด)

ซึ่งในปัจจุบันมีการพูดถึงการเรียนรู้ในแบบที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เราอาจทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนนี้ได้ว่า  การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หมายถึงกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นความต้องการของผู้เรียนเพื่อให้เกิดความสุข และสามารถบูรณาการความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ไปสู่การประกอบอาชีพเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างผสมกลมกลืนโดยมีพื้นฐานของระเบียบวินัยคุณธรรม จริยธรรม และความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณอย่างมีคุณค่าเป็นองค์ประกอบหลัก (สุทธิพงศ์ ปานเพ็ชร์)

และหากมองไปให้ลึกแล้ว จะพบว่ารูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้สอนมิได้เป็นเพียงผู้ส่งสาร เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หากแต่ยังต้องรับหน้าที่เป็นผู้รับสารจากผู้เรียนในอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อนำข่าวสารที่ได้รับกลับมาไปประยุกต์ใช้ในการจัดสภาพแวดล้อมการเรียน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียนอีกด้วย

ผู้สอน (ครู) แต่ละคน ควรมีความรู้ความสามารถในวิชาชีพของตนเองอย่างแท้จริง มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนการดูแลฝึกฝนให้ผู้เรียนในความดูแลของตน ผ่านมาตรฐานการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี สามารถสอดแทรกกระบวนการคิดวิเคราะห์ กระบวนการแก้ปัญหา และคุณธรรม จริยธรรมไว้โดยตลอด การฝึกให้ผู้เรียน เป็นคนช่างสังเกต คิดวิเคราะห์ และเรียนรู้โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า (สมใจ เอื้อรุ่งเรือง)

      การเรียนรู้นั้นเกิดจากกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวคน กับสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา หรือจะเรียกว่าสภาพแวดล้อมก็ได้ เด็กที่เกิดมาใหม่ๆ มีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมแคบๆ ก็ย่อมเรียนรู้ได้น้อยกว่าเด็กโตที่มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมได้มากกว่า เพราะฉะนั้นการให้เด็กหรือผู้เรียนมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวมากเท่าไร โอกาสที่เขาจะเรียนรู้ก็ย่อมมีมากขึ้น ถ้าหากเราจัดสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อการเรียนรู้  มากเท่าไร โอกาสที่เด็กหรือผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้ก็ย่อมมากขึ้น เพราะฉะนั้น การเรียนรู้แบบค้นพบ (ด้วยตนเอง) จึงต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้นี้อาจมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติหรือจะเป็นการจัดขึ้นก็ได้ (อุทัย ดุลยเกษม)

หากค่อย ๆ พิจารณาตามสภาพแวดล้อมการเรียนทั้ง 3 ด้าน จากนั้นนำมาใช้ให้เหมาะกับรูปแบบการสื่อสาร อย่างสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ ไม่ว่าจะในรูปแบบของ Bloom หรือ Gagne อย่างใส่ใจและอดทนแล้ว การจัดสภาพแวดล้อมในการเรียน เพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียน รูปแบบการเรียนอาจไม่ใช้เรื่องยากสำหรับผู้สอนอีกต่อไป

เพราะเมื่อผู้สอน (ครู) ซึ่งเป็นผู้เข้าใจทั้งในสภาพแวดล้อมการเรียนมากกว่าผู้เรียนแล้ว ยังเป็นผู้เข้าใจในข่าวสารที่จะส่งมากว่าผู้เรียนอีก เมื่อใส่ใจที่จะสังเกต และเลือกจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนให้เหมาะสม สอดคล้องตามการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนแล้ว การจัดการเรียนรู้ย่อมประสบผลสัมฤทธ์ตรงตามวัตุประสงค์อย่างแน่นอน

สภาพแวดล้อมทางการเรียนจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่ควรเพิกเฉยละเลยเพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของผู้เรียนแต่ละคน (ไพฑูรย์ ศรีฟ้า) อันจะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในที่สุด

บรรณานุกรม

กิดานันท์  มลิทอง 2536.เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาร่วมสมัย. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประพนธ์ ผาสุกยืด. 2544. ความรู้ ปัญญา และการเรียนรู้. http://www.kmi.or.th /document/K_wisdom.doc

               . ทฤษฎีการเรียนรู้. ttp://learners.in.th/file/nissareen/New+Microsoft+Word+

Document.doc

ไพฑูรย์  ศรีฟ้า [Online]. การจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียน. Available URL: http://srithai.hypermart.net/environment.html

สุทธิพงศ์ ปานเพ็ชร์. อดีตกับการเรียนรู้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.http://lss.dpu.ac.th /upload/อดีตกับการเรียนรู้เน้นผู้เรียนเป็นศูยน์กลาง.doc

สมใจ  เอื้อรุ่งเรือง. เปิดสำรับการเรียนรู้. ฉบับแดจังกึม .www.takesa1.go.th /~nitess/learning somjai2.doc

อุทัย ดุลยเกษม. 2548. Discovery Learning. http://pirun.ku.ac.th/~g4786027/download/

content/content1/content12/content121/content121.2/content/121.2.8/content121.2.8.3.doc

Kerry O'Regan, June 2007. Learning Environments. www.adelaide.edu.au /clpd/resources/stp/modules/download/stp03_learningEnvironments_overview.doc The University of Adelaide

Karen O’Rourke and Norman Powell. Effective Environments for Enquiry- Based Learning. http://www.aishe.org/ events/2005-2006/conf2006/proceed - ings/paper-15.doc. The University of Manchester, UK

            . Virtual Learning Environments for Evaluation. http://edweb.sdsu.edu/ courses/edtec700/global/doc/List_VirtualLearnEnvirons.doc

Rattanasiri. การเรียนรู้. www.sahaunion.com/hrm5/Webboard/

images_upload/20068221431361.doc

Sven Aake Bjorke. June 2003. How web learning environments supports the process of teaching and learning at a distance. http://www.gvu.unu.edu/docs /How_web_learning_environments_supports_the_process_of_teaching_and_learning_at_a_distance.doc Arendal

Velda McCune. 2004. The Enhancing Teaching-Learning Environments in Undergraduate Courses (ETL) Project. http://www.seda.ac.uk/ed_devs /vol4/41Lead.doc. University of Edinburgh

 

หมายเลขบันทึก: 281400เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2009 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท