Dr.aon
ดร. อรนรินทร์ ขจรวงศ์วัฒนา

เรื่องที่ชวนสงสัย..ในงานวิจัย


รู้หลักการ..ผ่านได้..

ขั้นตอนและกระบวนการวิจัย มักทำดังนี้.....

กำหนดปัญหาการวิจัย

  คำถามหรือปัญหาในการวิจัยหมายถึง ข้อสงสัยที่ต้องการคำตอบที่ถูกต้องซึ่งได้มาโดยกระบวนการทำวิจัย การกำหนดคำถามหรือปัญหาวิจัยให้แน่นอนและเด่นชัด จะเป็นเครื่องชี้แนวทางในการวิจัยได้ 

ตั้งชื่องานวิจัย

หลักสำคัญคือชื่อเรื่องควรมีความสัมพันธ์กับปัญหาและวัตถุประสงค์ ควรตั้งชื่อให้เฉพาะเจาะจง  ระบุขอบเขตของปัญหาให้ชัดเจน ใช้ภาษาที่เป็นวิชาการ กะทัดรัดรวมทั้งใช้คำที่ถูกต้อง

ทบทวนวรรณกรรม   

·       เพื่อหลีกเลี่ยงการทำวิจัยซ้ำซ้อนกับเรื่องที่มีผู้เคยดำเนินงานวิจัยแล้วในอดีต

·       เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความกว้างไกลในการมองปัญหาของผู้วิจัย

·       เพื่อนำปัญหาอุปสรรคที่ผู้วิจัยในอดีตพบ มาเป็นแนวทางป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำรอยเดิม

·       เพื่อให้การกำหนดขอบเขตการวิจัยมีความชัดเจนเหมาะสม

·       เพื่อใช้ประโยชน์ในการอภิปรายผลการวิจัย

ขั้นตอนการทบทวนวรรณกรรมโดยสรุป

 ·       กำหนดจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนของการทบทวนวรรณกรรม

 ·       กำหนดลักษณะและประเภทของวรรณกรรมที่ต้องศึกษาค้นคว้าและแหล่งวรรณกรรม

  ·    สำรวจวรรณกรรมจากแหล่งต่างๆ

ตั้งวัตถุประสงค์ 

มีข้อพิจารณา คือ วัตถุประสงค์ต้องมีความเป็นไปได้ในการหาคำตอบ  ในการวิจัยแต่ละครั้ง/ ต้องรองรับและสอดคล้องกับเรื่องที่ต้องการศึกษา/ มีความชัดเจน สัมพันธ์กับขอบเขตของปัญหาหรือคำถามการวิจัย/ ต้องเป็นประโยคบอกเล่า/ การจัดเรียงควรเรียงตามลำดับความสำคัญของการวิจัย

การตั้งสมมุติฐาน

สมมุติฐานเป็นข้อความที่เขียนขึ้นโดยคาดหวังคำตอบจากการวิจัย โดยอาศัยหลักเหตุผล ความรู้ ทฤษฎี ผลวิจัยประสบการณ์ หรือสามัญสำนึกมาเป็นคำตอบที่คาดหวัง

 ประโยชน์ ของการตั้งสมมุติฐาน คือ  ช่วยให้ผู้วิจัยกำหนดคำถามและปัญหาการวิจัยได้แคบและชัดเจน/ ช่วยกำหนดแนวทางหรือทิศทางที่ถูกต้องในการดำเนินการวิจัยและ ทำให้ผู้วิจัยสามารถวางแผนและออกแบบการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวางแผนรวบรวมข้อมูล การสร้างเครื่องมือวิจัย และวิเคราะห์ข้อมูลได้ถูกต้อง เหมาะสมและประหยัด

สมมุติฐาน มี 2 ประเภท

สมมุติฐานทางการวิจัย  เป็นการคาดคะเนคำตอบอย่างมีทิศทาง มักเป็นข้อความที่อยู่ในลักษณะคำบรรยาย ถึงความสัมพันธ์ของตัวแปร 2 ตัวขึ้นไป มีความสัมพันธ์ระหว่างคำถามหรือปัญหาการวิจัยและสมมุติฐานการวิจัย กล่าวคือ ปัญหาการวิจัยเป็นลักษณะเป็นคำถาม สมมุติฐานการวิจัยมีลักษณะเป็นคำตอบที่คาดหวัง อาจเป็นจริงหรือไม่ก็ได้

สมมุติฐานทางสถิติ เป็นการตั้งสมมุติฐานเพื่อการคำนวณ ต้องทดสอบได้ สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

สมมุติฐานเป็นกลาง (null hypothesis) เป็นข้อความที่ไม่แสดงความสัมพันธ์ หรือความแตกต่างของตัวแปรมักใช้คำว่าเท่ากับ ไม่แตกต่างกับ..  

มมุติฐานทางเลือก( alternative hypothesis) เป็นข้อความที่แสดงความขัดแย้ง กับสมมุติฐานกลาง มีไว้เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้วิจัยในกรณีทดสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าสมมุติฐานเป็นกลางไม่เป็นจริง และจำเป็นต้องปฏิเสธ โดยปกติสมมุติฐานทางเลือกจะเป็นข้อความที่แสดงความสัมพันธ์หรือความแตกต่างของตัวแปร ซึ่งได้มาจากสมมุติฐานการวิจัย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือประเภทไม่บอกทิศทางและประเภทบอกทิศทาง ประเภทไม่บอกทิศทาง เป็นข้อความที่แสดงเพียงความสัมพันธ์หรือความแตกต่างของตัวแปรส่วนประเภทบอกทิศทาง เป็นข้อความที่แสดงถึงความแตกต่างของตัวแปรในลักษณะมากกว่าหรือน้อยกว่า

สร้างกรอบแนวคิดในการวิจัย ( conceptual framework )

หมายถึงแบบจำลองที่นักวิจัยสร้างขึ้น โดยใช้ทฤษฎีและผลการวิจัย ในอดีตเพื่อแทนการความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในธรรมชาติ และนำไปตรวจสอบว่ามีความสอดคล้อง กับข้อมูลเชิงประจักษ์หรือไม่ เพียงใด  ในรายงานการวิจัยนักวิจัยนิยมเสนอกรอบแนวคิดในรูปโมเดล หรือแผนภาพ แสดงโครงสร้างความสัมพันธ์ ของตัวแปรทั้งหมด ที่ใช้ในการวิจัย

การออกแบบการวิจัย (research design )

เป็นเรื่องของการวางแผนเกี่ยวกับสิ่งที่จะต้องทำในการวิจัย  แผนนั้นนอกจากจะบอกให้ทราบว่าจะต้องทำอะไร  อย่างไรแล้ว ยังช่วยกำหนดว่ากิจกรรมการวิจัยจะคลี่คลายจากจุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดสุดท้ายอย่างไร  กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการจัดส่วนประกอบและรายละเอียดต่างๆที่จะต้องทำการวิจัยเข้าด้วยกัน เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายของการวิจัยที่วางเอาไว้ (Maxwell,1996) การออกแบบการวิจัยเป็นผลของกระบวนทัศน์และแนวคิดทฤษฎีบวกกับตรรกะของวิธีการที่นักวิจัยจะต้องเลือกมาใช้ให้เหมาะสมกับบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์ที่จะทำการวิจัย


^^เหตุผลในการนำเอาหลักการเล็กๆน้อยๆนี้มาเพราะ..มีรุ่นน้องจะสอบวิจัยน่ะค่ะ..ต้องการความรู้เชิงหลักการโดยด่วน จัดมาให้แล้ว..จะใช้ประโยชน์ได้หรือไม่..ลองอ่านดูก่อนนะคะ  รู้หลักการ  ผ่านแน่นอน..^^

 

หมายเลขบันทึก: 280852เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2009 00:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มารับความรู้ในเช้าวันอังคารครับผม ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณอาจารย์บวรค่ะ..ที่มาเป็นกำลังใจ

อันนี้ต้องมาแบบแนวให้เอาไปใช้ได้เลย

อ้อนจึงไม่ได้ใส่คำพูดตัวเองให้สนุกสนาน

คราวหน้าไม่พลาคค่ะ..^^

แวะมาหาอาหารสมองขอรับ..

รู้คนละอย่างเมื่อแลกเปลี่ยนกันโลกจึงน่าอยู่ว่าไหม..

ผมสนใจการวิจัยนะ แต่ยังไม่ได้ทำสักที ให้กำลังใจครับ คิดว่าคุณคงชอบและสนุกกับมันครับ

สวัสดีค่ะ อ.น้องอ้อน

พี่กะปุ๋มขอบคุณมากนะคะ สำหรับบันทึกที่มีความเข้าใจง่ายๆ ในการเรียนรู้เรื่องวิจัย พี่กะปุ๋มใช้เป็นโอกาสให้เครือข่าย R2R ได้เรียนรู้...จากที่นี่ด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ..พี่ ดร. กระปุ๋ม..

มีภาพปายมาฝากด้วย...

เส้นทางยาวไกลจังค่ะ!..

แต่อ้อนก็รู้ว่า..พี่มีความสุข..ใจ..

สวัสดีครับ

แวะมาเยี่ยม มาให้กำลังใจ ครับ

คำถาม ปัญหา สร้างโลก

วิธีการ การทดลอง การตรวจสอบ ช่วยตอบปัญหาและสร้างโลก

องค์ความรู้มีอยู่มากมาย หาให้เจอ ไปให้ถึง

ไม่ทำ ไม่รู้ ไม่ดู ไม่เห็น นักวิจัย... สู้ๆ ครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ต้อม (ขออนุญาตนะคะ..เรียกชื่อเล่น)

ขอบคุณสำหรับกำลังใจค่ะ

อ้อนจะมุ่งมั่นต่อไป..^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท