เล่าเรื่องเมืองหงสา: การปลูกข้าวแบบกล้าต้นเดียวที่หงสา


ระบบกะเสดสุม (ดำนาแบบก้ากีบเดียว)”

เดินชมทุ่งที่เมืองหงสาเวลานี้ พบเห็นแปลงปลูกข้าว ระบบกะเสดสุม (ดำนาแบบก้ากีบเดียว) ให้ผมเฝ้าติดตามอยู่หลายแปลง ไม่ว่าที่ทุ่งนามัน ทุ่งนาธาตุ ทุ่งหนองหอย หรือทุ่งอีเฒ่า ได้ความว่าได้รับการสนับสนุนจาก โครงการชลประทานขนาดหน้อยประชาชนคุ้มครอง โดยเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

การปลูกข้าวด้วยวิธีนี้บ้านเราเรียก การปลูกข้าวระบบประณีต ภาษาสากลเขาเรียก (System of Rice Intensification, SRI) ได้รับการพัฒนาขึ้นครั้งแรกที่ประเทศมาดากัสการ์เมื่อ ๒๕ ปีก่อน ต่อมาได้แพร่ขยายไปมากกว่า ๒๐ ประเทศ โดยท่านได้โฆษณาไว้ว่า ให้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ ๑๒๐๐ กิโลกรัม (๗.๕ ตัน/เฮกตาร์) นอกจากนั้นยังมีข้อดีตรงที่ประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าวมากกว่าได้ ๖เท่า และประหยัดการใช้น้ำได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำที่ใช้ปกติ (แต่เขาลืมบอกไปว่าทำให้นาข้าวมีอภิมหาวัชพืชมากกว่าปกติหลายเท่า)

วิธีการปลูกข้าวแบบนี้ ท่านให้เพาะกล้าใส้กระบุงไม้ไผ่ไว้ พอกล้าอายุได้ ๑๔วัน ก็ย้ายลงปลูกในแปลงนาที่ได้คาดไถไว้เรียบร้อย ระยะการปลูก ๓๐ X ๓๐ ซม. โดยการปลูกใช้ต้นกล้าเพียงหนึ่งต้นเท่านั้น สำหรับการให้น้ำท่านให้ใส่น้ำพอท่วมแปลง คือสูงกว่าพื้น ๐.๕ ซม. สลับกับการปล่อยน้ำออกอย่างละ ๕ วันในช่วง ๓ สัปดาห์แรก จากนั้นให้ขังน้ำสลับกับปล่อยน้ำทุกๆ ๑๐ วัน และหยุดให้น้ำสองสัปดาห์ก่อนการเก็บเกี่ยว

วิเคราะห์ดูข้อดีของการปลูกข้าวด้วยวิธีนี้ นอกจากจะทำให้ได้ผลผลิตสูงตามที่ได้มีรายงานการทดลองมาแล้ว ยังช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์ ช่วยประหยัดน้ำอีกด้วย ในเรื่องสภาวะโลกร้อนที่ชาวนาไทยกำลังตกเป็นจำเลยของชาวโลก ว่าการทำนาแบบขังน้ำนั้นทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าชที่ทำให้เกิดโลกร้อนมากมาย (ประเทศไทยถูกจัดอันดับที่ ๘ ของโลกเรื่องการปลดปล่อยก๊าซโลกร้อน) ซึ่งกลไกของการเกิดก๊าซจากการทำนาจะเป็นอย่างไรนั้นผู้เขียนก็ได้คืนความรู้ให้ท่านอาจารย์สุพจน์หลังจากสอบวิชา “submerge soil (ดินขังน้ำ) ไปเมื่อยี่สิบห้าปีก่อนโน้นเรียบร้อยแล้ว แต่ก็คิดว่าการปล่อยน้ำสลับกับการขังน้ำเพียงเล็กน้อยเช่นนี้จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเจ้าปัญหานี้ได้

แต่ข้อจำกัดของการปลูกข้าวแบบประณีตที่ผมเห็นก็มีหลายประการที่ต้องแก้ไข เช่น ปัญหาด้านวัชพืชในแปลงนา ปัญหาข้าวถูกหอยและปูกัดทำลายเพราะต้นกล้าขนาดเล็กมากแถมยังมีเพียงต้นเดียว นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดที่ว่าสภาพที่นาต้องมีน้ำอุดมสมบูรณ์พร้อมที่จะระบายน้ำออก และขังน้ำได้ทุกเมื่อได้มีโอกาสได้อ่านรายงานการทดลองในบางประเทศ พบว่าการปลูกข้าวโดยวิธีนี้ได้ผลผลิตสูงกว่าการทำนาแบบธรรดาอยู่บ้าง แต่ก็ต้องขึ้นกับปัจจัยหลายๆอย่าง การทดลองในเมืองไทยของกรมการข้าวรายงานว่าได้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกข้าวแบบทั่วไป ๑๒% ผลการทดลองในศรีลังการายงานว่าการปลูกข้าวแบบประณีตได้ผลผลิตสูงกว่าการทำนาหว่าน ๒๐% ส่วนรายงานผลการทดลองในประเทศลาวซึ่งทำแปลงทดลองอยู่ ๕ แห่ง พบว่ามีเพียง ๒ แห่งที่ได้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกข้าวแบบธรรมดา เนื่องจาก ดินไม่อุดมสมบูรณ์ และต้นข้าวถูกทำลายโดยหอยและปู

ส่วนผลการปลูกข้าวแบบ กะเสดสุม ที่เมืองหงสาจะเป็นอย่างไรนั้น ไว้ปลายปีผมจะนำมารายงานครับ

 

หมายเลขบันทึก: 280085เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2009 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ

ไม่เจอกันนานมากแล้ว

มีความสุขสบายดีบ่

ยังได้นำเรื่องที่ไม่เคยรู้มาให้รู้อีก

ขอบคุณค่ะ

เมื่อไหร่จะกลับเมืองไทย

สวัสดีครับพี่

ในภาพทำไมดำนาคนเดี่ยวครับ ปกติจะลงแขกกัน

วันนี้ ยังคุยกับพ่อครูบาฯ ที่สวนป่าอยู่เลยว่าคิดถึงพี่มาก...
และนั่น ยังรวมถึง ความชื่นชมในศักยภาพ ด้วยนะครับ

แล้วผมจะส่งหนังสือไปให้ที่ไหนดีล่ะ..ทีนี้

สวัสดีค่ะ

  • ที่โรงเรียนป้าคิม..เด็ก ๆ ก็ทดลองปลูกข้าวต้นเดียวค่ะ
  • เคยคุยกับน้องเอก..พูดชื่นชมน้าเปลี่ยนค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์เปลี่ยน (ผมอ่านภาษาอังกฤษว่าปาลียอน เหมือนภาษาฝรั่งเศสจัง)

ผมสนใจเรื่องนาก้ากีบเดียวมากครับ เคยดูในทีวีของลาว สนใจอยากลองทำที่บ้าน แปลงเล็ก ๆ กะว่าทดลองดูก่อน นอกฤดูปกติ เป็นนาแซง (นาแล้ง ตามภาษาลาว หรือนาปรังในภาษาไทย ที่จริงคำว่าปรัง เป็นภาษาเขมร แปลว่าแล้ง เหมือนกัน)

อาจารย์มีข้อมูลเรื่องพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมในการทำนาก้ากีบเดียว ที่เหมาะสำหรับนาปรังบ้างไหมครับ ผมปรับที่ยังไม่เสร็จ กะว่าจะได้เริ่มเพาะกล้าประมาณเดือนมีนา

อาจารย์ช่วยตอบทางอีเมล์ด้วยนะครับ ขอเบอร์โทรด้วยก็ดี ตอนนี้ผมอยู่มุกดาหาร ใกล้ลาวมาก แต่ยังไม่เคยไปดูนาก้ากีบเดียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท