กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้วยระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบมีส่วนร่วม


ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบมีส่วนร่วม

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้วยระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบมีส่วนร่วม

โรงเรียนวัดดอนมะปราง

 

กิจกรรมแนะแนว  :  การให้การปรึกษา

 

ความเป็นมา

                                จากการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน  ในส่วนของการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล  โดยการสังเกต  การสัมภาษณ์  การเยี่ยมบ้าน  และจากระเบียนสะสม  แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์คัดกรอง/จัดกลุ่มนักเรียน  เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริม  พัฒนา  ป้องกัน  แก้ไข  พบว่า  นักเรียนทุกกลุ่ม มาจากครอบครัวที่ยากจน  ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง  ได้รับการศึกษาน้อย  ไม่มีเวลาให้กับนักเรียนเท่าที่ควร  ขาดทักษะในการให้คำแนะนำแก่นักเรียน

                                โรงเรียนวัดดอนมะปราง  เห็นว่าการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน :  กิจกรรมแนะแนวด้วยระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบมีส่วนร่วม  โดยการให้การปรึกษา  จะทำให้การดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริม  พัฒนา  ป้องกัน  แก้ไข  ประสบความสำเร็จสามารถดูแลช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                       

จุดประสงค์         

                                1. เพื่อให้การจัดกิจกรรมส่งเสริม  พัฒนา  ป้องกัน  แก้ไข  เป็นไปตามความต้องการของนักเรียน

2. เพื่อให้การดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

3. เพื่อจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน :  กิจกรรมแนะแนว  ด้วยระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบมีส่วนร่วม 

 

ขั้นตอนการจัดกิจกรรม

 

                ขั้นที่  1 การสร้างสัมพันธภาพ

                                ผู้ให้การปรึกษาต้องทำให้ผู้รับการปรึกษาเกิดความอบอุ่น  สบายใจ  และไว้วางใจ  ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้บุคคลที่มาพบค่อยๆ  รู้สึกสมัครใจอย่างเต็มที่  และเกิดความตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการให้คำปรึกษา  ผู้ให้การปรึกษาควรจะเงียบแสดงความเป็นมิตร  ให้ความอบอุ่น  ใส่ใจด้วยท่าทางกิริยาและใช้คำพูดที่ให้กำลังใจแก่ผู้รับคำปรึกษา

                                ในเวลาเดียวกัน  ผู้ให้การปรึกษาจะต้องตั้งใจอยู่ในบทบาทของตนเอง  แสดงความสนใจ  และใส่ใจต่อความต้องการของผู้รับการปรึกษา  และพยายามส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน  สิ่งที่ควรปฏิบัติ  คือ

                                1. การต้อนรับอย่างจริงใจและอบอุ่น

                                2. การแสดงท่าทางเป็นมิตร

                                3. สื่อความตั้งใจที่จะช่วยเหลือ

                                4. รับฟังสิ่งที่ผู้รับการปรึกษาเล่า

                                5. สังเกตสิ่งที่ผู้รับการปรึกษาแสดงออกทั้งคำพูดและกิริยาท่าทาง

                                6. สังเกตสิ่งที่ผู้รับการปรึกษายังไม่พร้อมที่จะเล่า

                                7. ยอมรับผู้รับการปรึกษาโดยไม่มีเงื่อนไข

                                8. ถามคำถามที่เอื้อให้ผู้รับการปรึกษาสามารถเล่าเรื่องของตนเอง

 

                ขั้นที่  2 การสำรวจปัญหา

                                การที่คนเราจะแก้ปัญหาของตนเองได้  ก็ต้องเข้าใจในสิ่งที่เป็นปัญหาอย่างชัดเจน  บทบาทของผู้ให้การปรึกษา  คือ  ช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเกิดความเข้าใจในปัญหา  โดยผู้ให้การปรึกษาจะต้องปฏิบัติตนเหมือนเป็นผู้ร่วมการเดินทางของผู้รับการปรึกษาในช่วงระยะหนึ่ง  เพื่อช่วยให้เขาสามารถพิจารณาตนเอง  มองประสบการณ์ที่ผ่านมาและความรู้สึกต่างๆ  ทำให้เข้าใจถึงสิ่งที่เป็นเหตุหรือเป็นผล  บทบาทของผู้ให้การปรึกษาไม่ได้อยู่ที่การวินิจฉัยปัญหานานาชนิดของผู้รับการปรึกษา  หรือวิเคราะห์สติปัญญา  บุคลิกและนิสัยของเขา  แต่อยู่ที่เอื้ออำนวยให้ผู้รับการปรึกษาใช้ความพยายามในการพิจารณาชีวิตและปัญหาที่เกิดขึ้น

                                ผู้ให้การปรึกษา  ไม่ควรรีบให้คำแนะนำหรือแก้ปัญหาแทน  จะต้องเป็นผู้ที่ไวต่อความรู้สึกของผู้ที่มาปรึกษา  และสามารถรับรู้ได้ในระดับที่ลึกกว่าที่เขาเล่าออกมา  โดยการสังเกตพฤติกรรมต่างๆ  ของเขา  บางครั้งผู้รับการปรึกษาอาจจะมองไม่เห็นสิ่งที่เป็นสาเหตุของปัญหา  หรืออาจจะสับสน  เนื่องจากเขาอยู่ใกล้กับสิ่งที่เป็นปัญหามากเกินไป  จึงจำเป็นที่จะต้องมีบุคคลที่สามารถไว้วางใจ  ช่วยสะท้อนถึงความรู้สึกของเขา  และอธิบายให้เขาเข้าใจอย่างกระจ่างมากขึ้น 

                                ปัญหาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเรื่องสัมพันธภาพ  การขัดแย้งระหว่างมนุษย์เป็นปัญหาที่แก้ไขยากที่สุด  สิ่งสำคัญในการรับฟังปัญหา  คือ  การที่จะไม่เข้าข้างฝ่ายใด  แม้ว่าผู้รับการปรึกษาจะเป็นฝ่ายที่มีความผิดบ้าง  เขาจะต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งจนกระทั่งมองเห็นและยอมรับตนเอง  โดยเฉพาะในสิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบ  ในขั้นตอนนี้ผู้ให้การปรึกษาควรปฏิบัติ  ดังนี้ 

                                1. รับฟังและอดทน

                                2. ยอมรับและไม่ตัดสิน

                                3. ตั้งคำถามที่เหมาะสมและเลือกใช้ในเวลาอันสมควร

                                4. เน้นที่ความรู้สึกของผู้รับการปรึกษา

                                5. วางตนเป็นกลาง  พยายามมองสภาพความเป็นจริง

 

                ขั้นที่  3 การเข้าใจปัญหา สาเหตุ  และความต้องการ

                                ในระหว่างที่ผู้รับการปรึกษาพิจารณาปัญหาและความรู้สึกของตนเอง  เขาจะค่อยๆ  เข้าใจสาเหตุของปัญหานั้นอยู่ที่ไหน  และเริ่มมองเห็นว่าตนเองต้องการเป็นคนแบบไหน  สามารถยอมรับในสิ่งที่ตนเองจะต้องรับผิดชอบ  มองเห็นพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุของปัญหา  และเข้าใจว่า  การแก้ปัญหานั้นอยู่ที่ตัวเขาเองและเกิดแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหา

                                โดยปกติแล้ว  การที่จะเข้าใจถึงปัญหาของตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องที่เกิดโดยทันที  แต่เป็นกระบวนการที่อาศัยระยะเวลา  มักจะเริ่มต้นในขั้นที่ 2  ของกระบวนการให้การปรึกษา  และพัฒนาขึ้นจนกระทั่งเกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนในสิ่งที่เป็นปัญหา  แม้ว่าในบางครั้งก็อาจเป็นไปได้ที่เกิดความเข้าใจขึ้นมาในทันทีเหมือนแสงสว่างวูบขึ้นในใจ  แต่โดยทั่วไปแล้วก็มักจะเป็นเรื่องที่อาศัยเวลา  และค่อยๆ  เกิดขึ้นตามลำดับ  ในบางกรณีก็อาจจะต้องมีการปรึกษาหลายๆ ครั้ง  จึงจะเกิดความเข้าใจในปัญหาของตนเองอย่างเต็มที่  และก็มีหลายกรณีที่อาจเกิดความเข้าใจขึ้นมาในจังหวะหรือสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงนองช่วงเวลาของการปรึกษา

                                การสรุปสิ่งที่ผู้รับการปรึกษาได้เข้าใจจะช่วยให้เกิดพลังขึ้นในใจเขา  เป็นการส่งเสริมและช่วยให้เขาสามารถเข้าสู่ขั้นที่ 4 เพื่อวางแผน แก้ปัญหา และการสรุปความเข้าใจในปัญหา  ทั้งยังเป็นการแสดงการร่วมรับรู้และเข้าใจของผู้ให้การปรึกษาที่ได้ผล 

                                บทบาทของผู้ให้การปรึกษา มีดังนี้

                                1. สรุปสิ่งที่ผู้รับการปรึกษาได้เล่าและได้เข้าใจสิ่งที่เป็นปัญหา

                                2. ช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเข้าใจว่า  การแก้ปัญหานั้นขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง

                                3. ให้กำลังใจที่จะยอมรับบางสิ่งบางอย่างที่อาจทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดหรือเสียใจ

                                4. ช่วยให้ผู้รับการปรึกษาได้ตั้งเป้าหมายที่เหมาะสมและเป็นไปได้

 

                ขั้นที่  4 การวางแผนแก้ปัญหา

                                ในขั้นตอนนี้  ผู้รับการปรึกษาจะต้องกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ต้องการ  กำหนดทางเลือกและกลวิธีต่างๆ  และเรียนรู้ที่จะเลือกและตัดสินใจ  บทบาทของผู้ให้การปรึกษา  คือ  ให้โอกาสผู้รับการปรึกษาเพื่อพิจารณาข้อดีและข้อเสียของแต่ละวิธีการ  และเลือกกำหนดวิธีการที่จะทำให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องการ  โดยผู้ให้การปรึกษาอาจจะให้ข้อมูลหรือข้อเสนอแนะ  แต่จะต้องมั่นใจว่าการตัดสินใจและการเลือกวิธีการต่างๆ  นั้น  เป็นทางเลือกของผู้รับการปรึกษาเอง  ในขั้นตอนนี้มีประเด็นที่ควรคำนึงถึง  ต่อไปนี้

                                หาทางเลือกไว้หลายๆ  ทาง  บ่อยครั้งที่ผู้ให้การปรึกษาอาจจะเสนอทางเลือกที่ผู้รับการปรึกษาอาจนึกไม่ถึง  เพราะในการแก้ปัญหาอาจจะมีวิธีการมากมายเกินกว่าที่ผู้รับการปรึกษาจะนึกได้ทั้งหมด

                                พิจารณาเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของทางเลือก  การพิจารณาข้อดีและข้อเสียของทางเลือกต่างๆ  นั้น  เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก  และใช้เวลานานพอสมควร  ผู้ให้การปรึกษาจะต้องช่วยให้ผู้รับการปรึกษาได้เริ่มคิดและพิจารณาดูว่า  เขามีปฏิกิริยาต่อทางเลือกต่างๆ  อย่างไรบ้าง  ผู้รับการปรึกษาบางคนอาจจะคิดเองได้  แต่บางคนก็อาจจะต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น

                                การคัดเลือกวิธีการแก้ปัญหา  ผู้ให้การปรึกษาจะต้องระมัดระวังที่จะไม่ทำให้ผู้รับการปรึกษาด่วนตัดสินใจทิ้งทางเลือกใดไป  แต่ถ้าทางเลือกใดพิจารณาแล้วไม่เหมาะสมก็ควรตัดออกไปโดยไม่ต้องเสียเวลา  โดยทั่วไปแล้วถ้าทางเลือกนี้มีน้อยก็อาจทำให้การพิจารณาและการเลือกเป็นไปได้ง่ายขึ้น

                                การตัดสินใจในระหว่างที่ผู้ให้การปรึกษารับฟัง  และสังเกตพฤติกรรมของผู้รับการปรึกษาคงจะได้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่ช่วยให้รู้ว่าวิธีการหรือทางเลือกใดที่เหมาะสมกับผู้รับการปรึกษา  อาศัยการสังเกตเหล่านี้  และความเข้าใจในปัญหาของผู้รับการปรึกษาคงสามารถช่วยให้มีการตัดสินใจที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ  แต่ควรจะคำนึงถึงอยู่เสมอว่า  การตัดสินใจควรเป็นเรื่องของผู้รับการปรึกษา  ไม่ใช่ผู้ให้การปรึกษาและไม่ควรรีบร้อนให้มีการตัดสินใจ

 

                ขั้นที่  5 การยุติการปรึกษา

                                ในการให้การปรึกษา  ซึ่งอาจเป็นการปรึกษาเพียงครั้งเดียวหรือการปรึกษาหลายครั้งอย่างต่อเนื่องและผู้รับการปรึกษาสามารถค้นหาวิธีการแก้ปัญหาและพัฒนาความมั่นใจที่จะเลือกวิธีที่ดีที่สุด  และตัดสินใจปฏิบัติ  ปัญหาของผู้รับการปรึกษาก็คลี่คลาย  และมักจะมองเห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น  ถึงจุดที่ผู้รับการปรึกษามีความตั้งใจที่จะลงมือปฏิบัติตามที่ได้ตัดสินใจ

                                ผู้ให้การปรึกษาเป็นผู้ตัดสินใจยุติการปรึกษาแต่ละครั้ง  หรือในครั้งสุดท้าย  โดยมีขั้นตอนปฏิบัติ ดังนี้

1. ให้สัญญานให้ผู้รับการปรึกษารู้ว่าใกล้จะหมดเวลาการปรึกษาแล้ว

                                2. ให้ผู้รับการปรึกษาทบทวนการตัดสินใจของตนเอง  และสรุปสิ่งที่ได้เข้าใจในระหว่างการปรึกษา  ซึ่งจะช่วยเสริมแรงให้ผู้รับการปรึกษารับไปปฏิบัติต่อไป  บางครั้งผู้ให้การปรึกษาอาจจะช่วยสรุปให้  ทักษะการใช้ คือ การทวนซ้ำและการสรุป

 

                                3. ส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเอง  ไม่ว่าผู้รับการปรึกษาจะสามารถแก้ไขปัญหาได้เรียบร้อยหรือไม่ก็ตาม  หรือบางครั้งอาจจะใช้เวลาไปหลายชั่วโมง  หรือการปรึกษายังไม่ถึงจุดที่จะตัดสินใจ  แต่ถึงเวลาที่ต้องยุติการปรึกษา  ผู้ให้การปรึกษาจะต้องช่วยให้การยุติการปรึกษาเป็นไปด้วยความสบายใจทั้งสองฝ่าย  และช่วยให้ผู้รับการปรึกษามีความรู้สึกที่ดีขึ้น  การชมเชยผู้รับการปรึกษาเมื่อเขาพยายามสำรวจตนเองและทำความเข้าใจในสิ่งที่เป็นปัญหา  จะทำให้เขารูสึกดีๆ  กับตัวเองและมองโลกในแง่ดี  ทักษะที่ใช้ คือ การให้กำลังใจ

                                4. พิจารณาวิธีนำไปปฏิบัติ  บางครั้งผู้ให้การปรึกษาอาจจะเสนอวิธีต่างๆ  เพื่อให้ผู้รับการปรึกษานำไปปฏิบัติ  ซึ่งควรจะเสนอสิ่งเล็กๆ  น้อยๆ  ไม่ควรเสนอสิ่งที่หนักเกินไป  โดยใช้ทักษะการให้กำลังใจเพื่อเสริมความมั่นใจในตนเอง

                                5. การนัดหมายครั้งต่อไป  ผู้ให้การปรึกษาควรให้โอกาสผู้รับการปรึกษาเลือกว่าจะมาพบครั้งต่อไปหรือไม่  บางครั้งการพูดคุยเพียงครั้งเดียวก็ช่วยแก้ปัญหาได้  บางครั้งอาจจะต้องมีการนัดต่อ  ในกรณีนี้จะต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจนถึงวันและเวลาที่พบ  ในกรณีที่ผู้รับการปรึกษาไม่ต้องการพบต่อ  ผู้ให้การปรึกษาจะต้องให้เขารู้ว่ายินดีเสมอที่จะให้ความช่วยเหลือ  ถ้าต้องการการปรึกษา  ทักษะที่ใช้ คือ การยอมรับและการให้กำลังใจ

               

ผลที่ได้รับจากการจัดกิจกรรม

                                1. นักเรียนได้รับการดูแลช่วยเหลือตามสถานะภาพของตนเอง

2. การดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นไปตามมาตรฐานการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

3. การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน :  กิจกรรมแนะแนว  เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 

                                                                                                                                  

เงื่อนไขและข้อกำหนดของการจัดกิจกรรม

                ความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยา  ที่ครูผู้ให้การปรึกษาควรทราบ

                                1. ธรรมชาติของมนุษย์ 

                                2. ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์                 

หมายเลขบันทึก: 279641เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2009 08:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะเข้ามาเรียนรู้ด้วยเป็นครูที่ทำงานเดียวกัน ขอชื่นชมที่ทำเรื่องดีๆให้เด็กๆ เชิญร่วมแลกเปลี่ยนกับคณะครูก่อการดีลำปางนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท