เล่าเรื่องตลาดนัดไทย-ลาว VS ตลาดนัดความรู้ นครพนม


เพราะใช้วิธี KM งานจึงพัฒนาแบบก้าวกระโดด

วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๙

ดิฉันตื่นนอนตั้งแต่ ๐๔.๐๐ น. เปิดคอมพิวเตอร์ทบทวนไฟล์ PowerPoint ที่จะใช้ในวันนี้ อ่านเอกสารเพิ่มความเข้าใจ พยายามนึกภาพจัดลำดับการดำเนินกิจกรรมในตลาดนัดวันแรก สร้างความมั่นใจให้กับตนเองว่าเราทำได้ ประมาณ ๐๕.๓๐ น. มีเสียงกลองดังมาจากวัดข้างๆ ไก่ขันเป็นระยะ ได้เวลาสำหรับกิจวัตรต่างๆ ยามเช้า

เกือบ ๐๖.๐๐ น. ออกมานอกห้อง เห็นเรือหลายลำกำลังมุ่งหน้าจากฝั่งลาวเข้ามาฝั่งไทย รถพ่อค้าแม่ขายชาวไทยทยอยมุ่งหน้ามาที่ “ตลาดลาว” บางคันติดป้ายทะเบียนจังหวัดมุกดาหารก็มี แม่ค้าพ่อค้าท้องถิ่นมาด้วยรถเข็นบ้างรถเครื่องบ้าง บรรยากาศดูคึกคักทีเดียว ดิฉันออกเดินเรียบไปตามถนนริมฝั่งแม่น้ำโขง แม่ค้าพ่อค้าวางสินค้าเรียงรายเป็นสองแถวอยู่บนทางเท้า บางรายก็วางบนพื้นถนน ผักที่วางขายดูสดมาก ที่มีเยอะคล้ายยอดฟักทอง มะละกอดิบก็มีเยอะ (รู้ทีหลังว่ามาจากดำเนินสะดวก) เห็ดเผาะ แมลงที่ไม่รู้จักชื่อ ปลา หอย ที่คงมาจากแม่น้ำโขง ผลไม้มีทั้งทุเรียน มะม่วง กะท้อน ฯลฯ ไม่กล้าถ่ายรูปไว้ เกรงพ่อค้าแม่ค้าจะสงสัย

๐๗.๐๐ น.คุณเอนกมาพร้อมกับน้องหงา ทั้งสองคนรีบเดินไปซื้อของสดที่ตลาดเพื่อเอาไปทำอาหารพิเศษให้เราได้รับประทานกันตอนมื้อกลางวัน ดิฉันไม่ทันได้เห็นว่าซื้ออะไรกันมาบ้าง หลังจากทุกคนรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว เราออกเดินทางไปที่ รพร.ธาตุพนม ก่อนขึ้นบันไดไปห้องประชุมชั้น ๒ สะดุดตากับป้ายต้อนรับผู้เข้าประชุม

เรานัด “คุณอำนวย” และ “คุณลิขิต” เพื่อคุยเรื่องบทบาทหน้าที่กันตอน ๐๘.๐๐ น. ทุกคนค่อยๆ ทยอยกันมา ไม่ครบสักที เราจึงคุยกันไปก่อน คุณหมอประกาศิต จิรัปปภา เข้ามาเพิ่มเติมในฐานะที่เคยเป็นคุณอำนวยมาก่อน บอกด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสให้กำลังใจว่า “ไม่มีอะไรเลย ไม่ต้องกังวล” ดิฉันสังเกตสีหน้าท่าทางโดยเฉพาะของผู้ที่จะทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” บางคน ยังเห็นเครื่องหมายคำถามอยู่เลย คิดในใจว่าตัวเองจะต้องไปพัฒนาทักษะในการเตรียมคุณอำนวยคุณลิขิตให้ดีกว่านี้ คิดถึง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช จริงๆ ถ้าทุกคนได้ฟังคำแนะนำจากปากของท่าน คงจินตนาการเห็นภาพไปแล้ว

ผู้เข้าประชุมทยอยมากันเรื่อยๆ ทำให้ทีมงานใจชื้นขึ้นเป็นลำดับ ตรวจสอบขั้นสุดท้ายมีผู้เข้าประชุม ๔๓ คน เป็นแพทย์ ๖ คน เภสัชกร ๓ คน นักกายภาพ ๑ คน พยาบาล ๓๓ คน ผู้ที่แจ้งชื่อแล้วไม่ได้มาหรือมาไม่ได้มี ๖ คน เป็นแพทย์ ๔ คน พยาบาล ๒ คน มีมาร่วมผู้สังเกตการณ์อีก ๑๐ คน ทีมจัดงานครั้งนี้นอกจากจะมีทีมของดิฉันและทีมของ รพร.ธาตุพนมแล้ว ยังมีคุณสุพัฒน์ สมจิตรสกุล (คุณน้อย) หัวหน้ากลุ่มการพยาบาล รพ.ปลาปาก ที่เคยเข้าตลาดความรู้ครั้งแรกของเรา มาช่วยงานด้วย

เราจะเริ่มเปิดตลาดตอน ๐๙.๐๐ น. นพ.มนู ชัยวงศ์โรจน์ ผอ.รพร.ธาตุพนม บอกว่า นพ.เด่นชัย ศรกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มาเปิดงานไม่ได้แล้ว ทีมจาก สสจ.ที่จะมาร่วมสังเกตการณ์ก็ไม่ได้มา ถึงเวลา ๐๙.๑๐ น.คุณหมอมนูกล่าวเปิดงานเอง แบบสั้นๆ ตรงไปตรงมา ต่อจากนั้นเป็นหน้าที่ของคุณอาฬสาและคุณสุภาพรรณเริ่มกิจกรรม “เปิดตัว เปิดใจ” โดยให้ผู้เข้าประชุมทุกคนมาหยิบป้ายชื่อชาวตลาดนัดที่รวมกันอยู่ในตะกร้ากลางห้อง ใครนำไปสวมให้กันได้ถูกคนก่อนจะได้รับรางวัล (คือหนังสือการจัดการความรู้ มือใหม่หัดขับของอาจารย์ ดร.ประพนธ์) กิจกรรมนี้นำไปสู่การแนะนำตนเองแนะนำเพื่อนให้ได้รู้จักกัน กิจกรรมเสร็จเร็วกว่าเวลาที่คาดไว้ เราสังเกตเห็นว่าผู้เข้าประชุมยังไม่ค่อยสนุกสนานกันนัก ดิฉันจึงให้เปิด CD การออกกำลังกายแบบชาวอีสาน ให้ทุกคนได้ร่วมออกกำลัง ๘ ท่า หลายคนยิ้มออก บ้างก็หัวเราะ ฉากนี้น่าประทับใจมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นแพทย์ เภสัชกร พยาบาล หรือนักกายภาพบำบัด ต่างก็พร้อมใจกันวาดลวดลายอย่างเต็มที่ มีแต่ดิฉันเท่านั้นที่พยายามเท่าไหร่ก็ไม่เข้าจังหวะ

ต่อจากนั้นดิฉันจึงทำหน้าที่ เริ่มตั้งแต่การบอกให้รู้ถึงกำหนดการและกิจกรรมต่างๆ ในวันนี้ ตามด้วยการแนะนำให้รู้จักเครือข่ายเบาหวานของเรา บอกให้รู้ว่าเราเป็นใคร มีความเป็นมาอย่างไร เราทำอะไรกันบ้าง ผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรม แล้วนำเข้าสู่ส่วนของ “Introduction to KM” ซึ่งเน้นการจัดการ “ความรู้ปฏิบัติ” พยายามอธิบายวิธีการเล่าเรื่อง วิธีการฟังด้วยใจและภาษากาย ที่จะต้องใช้ในการทำกิจกรรมกลุ่มของเรา ก่อนให้โจทย์ข้อที่หนึ่งคือหาหัวใจของ “ตัวเดินเรื่อง” แบ่งกลุ่มย่อย ๖ กลุ่มๆ ละ ๖-๘ คน ผลัดกันเล่า success story และช่วยกันตีความค้นหา “ขุมความรู้” แม้จะยังงงๆ กันอยู่บ้าง แต่ผู้เข้าประชุมทุกคนก็มีความตั้งอกตั้งใจผลัดกันเล่าเรื่องความสำเร็จของตนเอง บางคนพกมาหลายเรื่องต้องมี “ตัวช่วย” มาช่วย “คุณอำนวย” ให้นำผ่านไปสู่เรื่องของคนอื่นๆ บ้าง แรกๆ “คุณลิขิต” ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยขยับไปเขียน flip chart กันนัก ใช้วิธีนั่งจดบันทึก มีเพียงกลุ่มเดียวที่เขียน flip chart ตั้งแต่ต้น ทีมงานที่คอยอำนวยความสะดวกจึงช่วยกระตุ้น ช่วยทำเป็นตัวอย่าง ไม่นานนักทุกกลุ่มก็ทำได้ สมาชิกกลุ่มบางคนมีความตั้งใจสูงจดทุกสิ่งที่เพื่อนเล่าลงสมุดบันทึกเลย  เนื่องจากกลุ่มไม่ใหญ่มาก เวลาที่จัดไว้ชั่วโมงกว่าๆ ก็เพียงพอ เสร็จกิจกรรมแรกในเวลาพักเที่ยงพอดี

อาหารกลางวัน มีรายการที่ชาว รพร.ธาตุพนม จัดให้ดิฉันและทีมงานเป็นพิเศษ คือก้อยหรือยำไข่มด แม่เป้งทอด (แมลงที่เป็นแม่ของมด) แกงเห็ดเผาะ แกงหอยขม ต้มไก่บ้านใส่มด (จริงๆ นะ) ส้มตำแบบลาว เป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้กินแม่เป้งทอด ก่อนกินถามคุณหมอมนูว่าเป็นอย่างไร ท่านบอกอร่อยดี กรอบ มัน ได้ลองแล้วก็เป็นจริงตามนั้น  ส่วนไข่มดเคยกินมา ๒ ครั้งแล้ว แต่กินที่เอามาทอดกับไข่และใส่แกง คุณหมอประกาศิตซึ่งติดผ่าตัดไม่ได้มารับประทานอาหารกลางวันกับเรา รู้เรื่องนี้ทีหลังเลยเสนอว่าคราวหน้าที่ดิฉันมาธาตุพนมให้จัดเมนูแมลงให้เลย

ช่วงบ่ายเริ่มต้นจากการให้แต่ละกลุ่มมานำเสนอขุมความรู้ที่ได้ บางกลุ่มคนนำเสนอมาเดี่ยว บางกลุ่มก็มาคู่ ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงกว่าๆ ก็เรียบร้อย ต่อจากนั้นแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนกลุ่มละ ๒ คนไปทำหน้าที่สังเคราะห์ขุมความรู้เป็นแก่นความรู้ โดยใช้วิธีจัดกลุ่ม card ที่เขียนขุมความรู้ไว้แล้ว ทีมงานช่วยกันเขียนบน flip chart ๑ คน พิมพ์ลงคอมพิวเตอร์ ๑ คน เย็บ card รวมเป็นชุดๆ ๑ คน เมื่อจัดกลุ่มเสร็จก็พร้อมสำหรับการนำเสนอต่อที่ประชุมได้เลย แก่นความรู้ที่ได้ครั้งนี้ เราแยกเป็นแก่นความรู้ย่อยๆ ให้เข้าใจง่ายๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียเวลาถกเถียงกันนานว่าอะไรจะอยู่หมวดไหน เพราะเป็นการทำเพื่อให้รู้กระบวนการ มีทั้งหมด ๑๐ แก่นความรู้ ซึ่งคุณเอนกคงจะนำขึ้นบล็อกต่อไป เราไม่มีโปรแกรม Mind manager ใช้ แต่คุณสุภาพรรณก็สามารถคิดค้นวิธีการใช้ PowerPoint ธรรมดาๆ แทนได้และรวดเร็วเหมือนกัน

ผู้ที่อยู่ในห้องประชุมก็ฟังคุณหมอประกาศิตเล่าเรื่อง “ตามรอยเท้าเบาหวาน” ซึ่งเป็นอีกความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของ รพร.ธาตุพนม คุณหมอมนูเคยบอกว่าเพราะใช้วิธี KM งานจึงพัฒนาแบบก้าวกระโดด ภายในเวลาไม่กี่เดือน ทำให้ รพร.ธาตุพนมผ่านการรับรอง HPH มาได้ ดิฉันไม่ได้อยู่ฟังคุณหมอประกาศิต ส่วนนี้ต้องขอให้คุณเอนกช่วยเล่าต่อด้วย

หลังพักรับประทานอาหารว่างภาคบ่าย เราเริ่มกิจกรรมนำเสนอ “แก่นความรู้” ที่ได้ อธิบายว่ามาจากการจัดหมวดหมู่อย่างไร ดิฉันไม่ลืมที่จะบอกว่าสิ่งที่ได้เป็นเพียงผลงานเบื้องต้น เมื่อเครือข่ายเบาหวานนครพนมจะเอาไปใช้งานจริง อาจต้องมาทบทวนและจัดหมวดหมู่ให้เหมาะสมอีกครั้ง

เวลาของการประชุมยังมีเหลืออยู่อีก ถ้าจำไม่ผิดคือประมาณ ๓๐-๔๐ นาที ที่ประชุมจึงตกลงจะสร้างเกณฑ์ระดับความสำเร็จกันเลย มี ๔ กลุ่มที่ทำกลุ่มละ ๒ แก่นความรู้ อีก ๒ กลุ่มทำเพียง ๑ แก่นความรู้ กิจกรรมช่วงนี้มีการอภิปรายถกเถียงกันมากขึ้น บางกลุ่มแก้แล้วแก้อีก ไม่พอใจสักที ระหว่างนี้เกิดฝนตกหนัก มีทั้งฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ไฟดับ แต่ไม่มีใครถอย จนถึง ๑๖.๐๐ น. เราต้องเตือนว่าให้มาทำต่อพรุ่งนี้ เพราะเป็นห่วงผู้ที่ต้องเดินทางกลับบ้านไกลๆ

ทีมงานใช้เวลาหลังจากเสร็จการประชุมวันแรกทำ AAR ที่ประชุมเราไม่มีใครต่อว่าใคร ดิฉันดีใจที่ทีมงานทุกคนมีความตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะทำหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบให้ดีกว่าเดิม เป็นบรรยากาศการทำงานร่วมกันเป็นทีมที่ดีจริงๆ เย็นนี้เราไปรับประทานอาหารเย็นที่แพแห่งหนึ่ง คุณวรณี ณ หนองคาย หัวหน้ากลุ่มการพยาบาล รพร.ธาตุพนม แม่งานใหญ่ บอกว่าถ้าคนไหนไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ จะเดินกลับขึ้นจากแพไม่ไหวเพราะฝั่งสูง จริงทีเดียวเพราะกว่าจะป่ายปีนมาถึงถนนได้เล่นเอาหอบหน่อยๆ  ดิฉันสังเกตว่าน้องๆ พากันรีบเดินขึ้นมาก่อนให้คุณหมอประกาศิตขึ้นทีหลัง เพราะเกรงว่าถ้าคุณหมอประกาศิตเกิดพลาดตกบันได พวกเราจะพากันกลิ้งตกทั้งหมด (ฮา)

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙

   

 ป้ายหน้าเวที

 หาหัวใจของเพื่อน

 

 ออกกำลังกายเพิ่มแรง

 ผลัดกันเล่าเรื่อง หาขุมความรู้

 

 สองหมอหนุ่มช่วยกันนำเสนอขุมความรู้

 สังเคราะห์แก่นความรู้


หมายเลขบันทึก: 27947เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2006 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท