เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

พลังแห่งการสวดมนต์


ร่างกายเรามีความจำเป็นต้องได้รับการอาบน้ำ เพื่อชำระล้างเหงื่อไคลออกเป็นประจำ จิตใจก็เช่นเดียวกันต้องได้รับการชำระสิ่งมัวหมองเพื่อให้จิตใจบริสุทธิ์ ..

            ในการดำเนินชีวิตประจำวัน นับตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ร่างกายและจิตใจจะต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อม สภาวะต่าง ๆ มากมาย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตนเองและผู้อื่น ในส่วนของร่างกายเราพอที่จะบริหารปรับปรุง แก้ไข ให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ แต่กล่าวถึงจิตใจของมนุษย์ปุถุชนแล้วเป็นสิ่งที่ยากที่จะบริหารให้มีความสุข สงบ เบิกบานได้ทั้งวันหรือแม้เพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ  ทั้งนี้เนื่องจาก กิเลส ตัณหาต่าง ๆ ทยอยผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ตลอดเวลา เมื่อเกิดเหตุการณ์มากระทบในทางที่ไม่เป็นไปตามอารมณ์ หรือตามที่ใจปรารถนา และผู้นั้นไม่เคยฝึกบริหารจิตไว้ก่อน ก็จะเกิดความเดือดร้อน และความทุกข์ ก่อให้เกิดความเครียดทางจิตใจ ในบางขณะเมื่ออำนาจฝ่ายต่าง ๆ อันได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ได้ช่องทางเข้ามาครอบงำจิตใจก็จะแสดงออกทางกาย วาจา เกิดการเบียดเบียนทำร้ายตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นการเพิ่มทุกข์และโทษให้กับตนเอง เมื่อสะสมในจิตใจมากขึ้นจะส่งผลกระทบให้สุขภาพจิตเสีย และอาจเกิดความเจ็บป่วยทางร่างกายอันเนื่องจากความเครียดตามมา

          ร่างกายเรามีความจำเป็นต้องได้รับการอาบน้ำ เพื่อชำระล้างเหงื่อไคลออกเป็นประจำ จิตใจก็เช่นเดียวกันต้องได้รับการชำระสิ่งมัวหมองเพื่อให้จิตใจบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ด้วยวิธีง่าย ที่นิยมปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณ คือ การสวดมนต์ ภาวนาและการทำสมาธิ เพียงวันละครั้งก็เพียงพอแล้ว

          การสวดมนต์ไว้พระได้นิยมปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณกาล แม้ในศาสนาพราหมณ์ก็นิยมสวด ดังที่เรียกว่า สาธยายมนต์ หรือร่ายมนต์ และในศาสนาอื่น ก็มีบทสวดที่แตกต่างกันไป โดยมีจุดประสงค์เพื่อความทรงจำพระเวทบ้าง เพื่อความสิริมงคลบ้าง ในศาสนาพุทธก็จะมีการสวดมนต์เพื่อความทรงจำหลักคำสอนที่เป็นพุทธวจนะเท่านั้น เมื่อชาวบ้านได้ยินพระสงฆ์สวดมนต์ก็พากันอนุโมทนา และได้ถือว่าการที่ได้ยินหรือได้ฟังพระสงฆ์สวดมนต์เช่นนั้นเป็นสิริมงคล และสมัยก่อนยังไม่มีตำราที่จดจารึกเอาไว้ ต้องท่องจำด้วยวาจาเท่านั้น แต่เดิมเชื่อว่าการสวดมนต์นั้นจะทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคุ้มครอง ช่วยให้หายจากโรคที่เป็นอยู่ เสริมดวง บารมี ต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องอัศจรรย์หรือไสยศาสตร์

                การสวดมนต์เป็นการบริหารสุขภาพจิตที่ได้ผลอย่างสูงสุด เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้จิตมีสมาธิ เป็นการผ่อนคลายจากความหงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญใจในระหว่างวัน เป็นการฝึกปล่อยวางจากเรื่องของตัวเอง และทำให้จิตคลายจากความโกรธอ่อน ๆ ในสิ่งต่าง ๆ ทำให้มีความสุขสบายใจ เป็นผลให้จิตสงบเยือกเย็น มีความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น

          ประโยชน์ของการสวดมนต์นั้น ในสมัยก่อนคนทั่วไปเข้าใจกันว่า การสวดมนต์ ภาวนา และการทำสมาธิ ช่วยทำให้จิตใจแจ่มใส เบิกบาน มีผลต่อความจำ ทำให้งานผิดพลาดน้อยลง ทำงานเสร็จตามมุ่งหมาย คลายเครียด เป็นการเพิ่มพลังให้แก่จิต เป็นการสั่งสมความดีหรือบารมีให้กับตนเอง นอกจากนั้นยังมีความเชื่อว่า การได้สวดมนต์เป็นการเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิดอีกด้วย อีกทั้งการสวดมนต์ยังเป็นการบริหารร่างกายอย่างหนึ่ง เริ่มตั้งแต่การยกมือ การประนมมือ การก้มกราบ การเปล่งออกเสียง ทำให้ปอดขยาย ระบบทางเดินหายใจดี เป็นการสร้างภูมิคุมกันภัยให้แก่ร่างกายได้อีกทาง

          สำหรับอานิสงส์ของการสวดมนต์นั้นก็มีมากมายตามความเชื่อของแต่ละคน อาทิเช่น ผู้ที่สวดมนต์เป็นประจำจะไม่ประสบกับความวิบัติทั้งปวง เป็นที่รักของคนและเทวดาทั้งหลาย มีความสุขกายสบายใจ นอนหลับสบายไม่ฝันร้าย เป็นเกราะป้องกันภัยอันตรายต่าง   ซึ่งประโยชน์และอานิสงส์ของการสวดมนต์ ภาวนาและการทำสมาธินั้นจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการสวดมนต์ กล่าวคือ ถ้าสวดมนต์น้อย ก็ได้อานิสงส์น้อย ถ้าสวดนานก็จะได้อานิสงส์เยอะ ข้อสำคัญซึ่งจะก่อให้เกิดอานิสงส์มากน้อยขึ้นอยู่กับการตั้งใจสวด ถ้าตั้งใจสวดจริงก็จะได้อานิสงส์มาก ขอเพียงผู้สวดมีศรัทธามั่นคงมุ่งตรงต่อบุคคลหรือวัตถุที่เคารพนั้น ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ตั้งจิตให้สงบ ดำรงสมาธิให้มั่น แล้วจึงสวดมนต์ด้วยความเคารพ การสวดมนต์ที่ถูกต้องนั้น จะต้องสวดให้ได้ใจความ ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป เสียงดังพอประมาณ เพื่อให้เทพยดาทั้งหลายเป็นพยานว่าเราได้สวดมนต์ถวายเป็นพุทธบูชา นับว่าเป็นมหากุศลอันประณีตยิ่ง

          ในปัจจุบันการสวดมนต์ ภาวนา และการทำสมาธิ มีบทบาทในสังคมชาวพุทธอย่างมาก ทั้งนี้เป็นเพราะสภาพสังคมในปัจจุบันมีความสับสน วุ่นวาย และโรคภัยไข้เจ็บที่เข้ามาเบียดเบียนมนุษย์ก็มีความรุนแรงเช่นกัน ทำให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจรักษาสุขภาพของตนเองโดยการพึ่งพาธรรมชาติ วิถีชีวิตและความเชื่อแบบดั้งเดิมมากขึ้น ซึ่งก็รวมถึงการรักษาหรือการบำบัดทางจิตอีกด้วย โดยถือที่คติที่ว่า จิตใจที่แข็งแรงจะทำให้ร่างกายแข็งแรงด้วย

          นอกจากก็ได้มีงานวิจัยเกี่ยวกับการสวดมนต์ ภาวนา และการทำสมาธิ ทางด้านการแพทย์ ซึ่งพบว่ามีผลทำให้อัตราการหายใจลดลง ร่างกายใช้ออกซิเจนแล้วถ่ายเทคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้กระบวนการเมตาบอลิซึมในร่างกายลดลง ทำให้สงบ เป็นผลดีต่อปอดและหัวใจ คนที่นั่งสมาธิลึก   นาน   พบว่ามีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำ ปริมาณแล็คเตสในเลือดจะต่ำลง แสดงให้เห็นว่ามีความวิตกกังวลน้อยลง คลื่นสมองของผู้นั่งสมาธิก็จะมีความราบเรียบเหมือนกับคนที่หลับลึก ซึ่งจะได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ และได้มีการทดลองให้เด็กออทิส  ติค ซึ่งมีสมาธิสั้นทำอะไรได้ไม่นานมาสวดมนต์ พบว่า การสวดมนต์ทำให้สมาธิของเด็กออทิสติคกลุ่มนี้นานขึ้น

ในปี 1988 มีหมอชาวอเมริกันชื่อว่า Randolf Byrd,M.D. ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการสวดมนต์ว่ามีผลอย่างไรต่อคนไข้ที่ได้รับการสวดมนต์ ซึ่งคุณหมอได้ทำการศึกษาในคนไข้โรคหัวใจขาดเลือดในโรงพยาบาลซานฟรานซิสโก ได้ทดลองโดยแบ่งคนไข้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกมีการสวดภาวนาและสวดมนต์ให้ อีกกลุ่มไม่มีการสวดให้ ผลออกมาว่ากลุ่มแรกที่มีคนสวดมนต์ให้นั้นใช้ยาปฏิชีวนะน้อยกว่า 5 เท่า เกิดภาวะแทรกซ้อนน้ำท่วมปอดน้อยกว่า 3 เท่า ถูกใส่ท่อช่วยหายใจ น้อยกว่า 12 เท่า ในเมืองไทยก็มีการทำวิจัยเกี่ยวกับการสวดชินบัญชร พบว่าเสียงที่เปล่งออกมาจากการสวดนั้นมีความถี่มีผลต่อร่างกายและจิตใจได้

จากบทความของพระมหาประดิษฐ์ จิตตสวโร ที่เขียนในวารสาร Health Today ได้รวบรวมไว้ว่าในปัจจุบันได้มีการวิจัยมากมายเกี่ยวกับการสวดมนต์ และมีผลทำให้เกิดความสุข ความพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ เกิดสมาธิมีสติสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดี ในด้านอื่น เช่น การสวดมนต์มีผลต่อการเจริญเติบโตของเมล็ดพืช การทำให้แผลหายเร็วขึ้น การยับยั้งการเจริญของเชื้อรา สมาคมวิทยาศาสตร์พลังจิตในรัฐเท็กซัสได้เจาะเลือดอาสาสมัครแล้วแยกเอาเม็ดเลือดแดงใส่ในสารละลายที่ทำให้เม็ดเลือดบวมและแตก จากนั้นทดลองให้อาสาสมัครสวดมนต์ขอให้เม็ดเลือดแดงแตกน้อยลง ผลออกมาเม็ดเลือดนั้นแตกช้าลง

          ในอนาคตน่าจะมีการสนับสนุนให้เกิดโรงพยาบาลวิถีไทยวิถีพุทธ โดยจัดสถานที่ให้แก่ญาติผู้ป่วยและผู้ป่วยที่อยู่ในระยะพักฟื้นให้ทำสมาธิ สวดมนต์ ภาวนา เพื่อให้เกิดความสบายใจ คลายความวิตกกังวลแก่ผู้ป่วย ไม่แน่! ต่อไปแพทย์สมัยใหม่อาจเขียนในใบสั่งยาหรือใบออร์เดอร์ที่ใช้ในโรงพยาบาลว่า ให้สวดมนต์บท……. นาน 15 นาที 3 เวลาหลังอาหารและก่อนเข้านอนก็เป็นได้..

หมายเลขบันทึก: 279415เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2009 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 06:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แสดงว่า ไม่ได้อยู่วัด

ไม่ได้เขียนว่าเด็กวัด

แต่เขียนว่าเด็กวัฒฯ

เด็กวัฒนะ วัฒนา แน่ ๆ เลยค่ะ

แปลกดี อิอิ

อ่ะนะ เด็กวัฒนธรรมเจ้าค่ะ

มีรอง ผวจ.ท่านหนึ่ง บอกเล่าในที่ประชุมว่า "ผมเป็นคนมีวัฒนธรรมประจำบ้าน" และต่อมาเฉลยว่า ภรรยาของท่านทำงานอยู่ที่ สนง.วัฒนธรรมจังหวัด ครับ

เรื่องสวดมนต์นี้หากคนไทยทุกคนที่นับถือพุทธศาสนา ถือเป็นธุระที่ต้องทำทุก ๆ วันแล้ว สังคมไทยน่าจะมีสภาพต่าง ๆ ดีกว่าปัจจุบันใช่หรือไม่ ครับ ผู้ใดทำอย่างไร ย่อมได้รับผลอย่างนั้นกลับมาเสมอ

หากคนไทยทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม หากปฏิบัติตนไปในทางที่ถูกที่ควร

ดำรงชีวิตในทางสายกลาง ยึดมั่นในหลักแห่งความดีตามหลักคำสอนของศาสนาที่นับถือ

อยู่ สภาพสังคมของประเทศไทยจะมีความสมบูรณ์แบบฉบับของไทยสยามเมืองยิ้มค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท