มุ่ยฮวง
นาง ศันสนีย์ เกษตรสินสมบัติ

บทสรุปการวิจัยเชิงปฏิบัติการในระดับไร่นา


การพัฒนาและยึดแนวปฏิบัติตามหลักหลักเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืน

วันนี้ผู้เขียนนำผลจากการทำเวทีที่ 2 มาเล่าต่อจากเรื่องเล่าที่ผ่านมา 3 ตอนจากครั้งที่ผ่านๆ มาค่ะ และครั้งนี้ก็เป็นเวทีที่สรุปและหาแนวทางพัฒนาการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงบ้านคลองอ้อม อำเภอปราณบุรี จังวัดประจวบคีรีขันธ์ จากการระดมสมองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับสมาชิกวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกผักบ้านคลองอ้อม สรุปได้ดังนี้

          การดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงบ้านคลองอ้อมนี้ ได้มีการพัฒนาและยึดแนวปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่ประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมคุ้มกันที่ดีในตัว โดยประกอบด้วย 2 เงื่อนไขในการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรม ได้แก่ เงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม ดังนี้

          1. ความพอประมาณ  ศูนย์เรียนรู้ฯ ได้ใช้หลักของการตั้งอยู่บนความพอประมาณ พึ่งพาตนเอง ดังจะเห็นได้จาก การควบคุมพื้นที่ปลูกพืชให้เหมาะสมกับจำนวนแรงงานในครอบครัว ไม่ต้องจ้างวานแรงงานจากภายนอก  การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และสารสมุนไพรไล่แมลง ไว้ใช้เองทำให้ลดค่าใช้จ่าย

          2. ความมีเหตุผล  ศูนย์เรียนรู้ฯ มีการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างมีเหตุผลและรอบคอบ ดังเช่น มีการรวมกลุ่มเพื่อรับความรู้จากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกภายในกลุ่มและเครือข่ายกลุ่มอื่นๆ เพื่อปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ มีการศึกษาระบบนิเวศและปัจจัยธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อการผลิต คำนึงถึงความต้องการของตลาด และมีการปฏิบัติตามระบบการผลิตพืชผักที่ถูกต้องและเหมาะสม GAP เป็นต้น

           3.  การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ศูนย์เรียนรู้ฯ มีการเตรียมพร้อมรับผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ดังนี้ แต่เดิมกลุ่มฯ มีการรวมตัวกันแบบธรรมชาติก็ได้มารวมตัวกันขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อรองรับนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการเรียนรู้และการพัฒนาของกลุ่มฯ การนำประสบการณ์มาปรับใช้โดยกลุ่มจะงดการปลูกผักในพื้นที่ลุ่มหรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นประจำในระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ของทุกปีเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกเสียหาย อีกทั้งมีการวางแผนการผลิตของกลุ่ม ให้มีการผลิตผักหลากหลายชนิดและมีการหมุนเวียนชนิดผักเพื่อไม่ให้ผลผลิตออกสู่ท้องตลาดพร้อมกันในปริมาณมากเกินความต้องการของตลาด ซึ่งจะมีผลต่อสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ รวมทั้งเป็นการป้องกันการเกิดโรค/แมลงระบาดในแปลงผลิตได้อีกด้วย

                ส่วนเงื่อนไขในการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงบ้านคลองอ้อมได้ใช้เงื่อนไขในการดำเนินการ ดังนี้

           1.  เงื่อนไขความรู้ ศูนย์เรียนรู้ฯ ได้มีการรับความรู้จากเจ้าหน้าที่ ศึกษาเรียนรู้ด้วนตนเอง โดยมีการนำหลักวิชาการผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสถานการณ์ รวมทั้งมีการประยุกต์หรือดัดแปลงอุปกรณ์เครื่องใช้ให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

           2.  เงื่อนไขคุณธรรม  ศูนย์เรียนรู้ฯ ใช้หลักคุณธรรมมาเสริมสร้างประกอบการตัดสินใจ ดังจะเห็นได้จาก ความมุ่งมั่น พากเพียร อุตสาหะในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพโดยไม่ย่อท้อและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของสมาชิกในกลุ่ม ตลอดจนการแบ่งปันความรู้เป็นวิทยาทานแก่ผู้ที่เข้ามาเรียนรู้และศึกษาดูงานในศูนย์เรียนรู้ฯ อย่างไม่ปิดบัง

           ส่วนแนวทางการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงที่มีประสิทธิภาพ มี 3 ประเด็นสำคัญในการพัฒนา ดังนี้

           1.  การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สมาชิกกลุ่มฯ ต้องรักษามาตรฐานการผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษพร้อมกับการพัฒนาศักยภาพการผลิต ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต รวมทั้งการใช้อุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วย

           2.  การพัฒนาด้านการตลาด โดยกลุ่มฯ ยังควรรักษาตลาดเดิมไว้และควรเปิดตลาดใหม่เพื่อโดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพ ซึ่งต้องมีการวางแผนการผลิต โดยเป้าหมายยังคงพื้นที่ปลูกเท่าเดิมแต่เพิ่มชนิดผักให้มีความหลากหลาย ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และมีการทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตหมุนเวียนตลอดทั้งปี อีกทั้งการรับรองคุณภาพโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค

           3. การพัฒนาสู่การเป็น ศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงต้นแบบ โดยสร้างทีมงานประจำศูนย์เรียนรู้ฯ โดยแบ่งบทบาทหน้าที่แก่สมาชิกให้เหมาะสม และปรับปรุงจุดเรียนรู้ที่กลุ่มมีอยู่ให้เป็นฐานเรียนรู้ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเริ่มจาก การจัดทำป้ายประจำฐานเรียนรู้ มีวิทยากรประจำฐาน และมีกิจกรรมประจำฐานที่พร้อมถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ ซึ่งศูนย์เรียนรู้ฯ ได้กำหนดฐานเรียนรู้ไว้ 5 ฐาน ได้แก่  ฐานปุ๋ยหมัก  ฐานน้ำหมักชีวภาพ และสารสมุนไพรไล่แมลง ฐานน้ำส้มควันไม้ฐานการผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษ และฐานหมูหลุม 

            นอกจากนี้ ศูนย์เรียนรู้ฯ ยังกำหนดจัดให้มีการประเมินผล โดยใช้แบบสอบถามประเมินความพึงพอใจของผู้เข้ามาเรียนรู้ที่ศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงบ้านคลองอ้อม เพื่อนำผลการประเมินมาใช้พัฒนาและปรับปรุงตามข้อเสนอแนะ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

           และทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่ได้จากการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมที่เกษตรกรมีส่วนสำคัญในการให้ข้อมูล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาตนเอง

หมายเลขบันทึก: 279349เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2009 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แนะนำปุ๋ยน้ำชีวภาพเพิ่มให้ สูตรกล้วยน้ำว้า ผักบุ้ง ทำง่ายไม่สกปรก และใช้แบบบูรณาการ

P

ขอบคุณมากค่ะ คุณเหรียญชัย สำหรับปุ๋ยน้ำสูตรใหม่ที่แนะนำ วัสดุหาง่าย มีมากมายในท้องถิ่น  จะนำความรู้นี้ไปขยายต่อค่ะ

  • สวัสดีครับ
  • ตามอ่านจนครบกระบวนการ
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท