โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (5) นคร แก้วพิลา


...มีคนถามว่า ทำไม...ทำนามาตั้งแต่ผมดำจนผมหงอกจะต้องให้เขามาสอนทำนา ก็ไม่สนใจ...

5 สุขภาวะนักเรียนชาวนา : นคร แก้วพิลา

         ในพื้นที่อำเภอเมือง ใคร่กล่าวถึงโรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์ นักเรียนชาวนาคนเก่งคนหนึ่งซึ่งมีผลงานโด่งดังและโดดเด่นเป็นยิ่งนัก จะเป็นใครไปเสียมิได้ ต้องกล่าวถึงคุณนคร แก้วพิลา นักเรียนชาวนาวัย ๕๘ ปี

         คุณนครจะเล่าเรื่องราวของตนเองให้เราๆท่านๆได้รู้จัก เรื่องราวจากเรื่องเล่าให้ข้อคิดแก่ใครหลายคนได้ดีเลยทีเดียว

ภาพที่ ๓๔ คุณนคร แก้วพิลา กำลังเรียนเรื่องการผสมพันธุ์ข้าว ในหลักสูตที่ ๓ ของโรงเรียนชาวนา

      "พอจำความได้ อายุ ๗ – ๘ ขวบ (ประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๗ – ๒๔๙๘) ก็ไปนากับพ่อแม่แล้ว ไถนายังไม่เป็นก็เป็นคนไล่วัวไล่ควายไปให้ตั้งแต่ตอนเช้ามืด แล้วก็กลับเพื่อจะไปโรงเรียน มีนาข้าว ๔๕ ไร่ ควาย ๘ ตัว ได้ข้าวเปลือกไร่ละ ๓๐ – ๔๐ ถัง

           นามี ๓ ระดับ คือ นาข้าวเบา นาข้าวกลาง นาข้าวหนัก ข้าวเบาข้าวจะมีอายุราวๆ ๔ – ๕ เดือน ได้แก่ ข้าวนางมน ข้าวเจ๊กเชย ส่วนข้าวกลางจะมีอายุ ๕ เดือน ได้แก่ ข้าวปิ่นแก้ว ข้าวก้อนแก้ว ซึ่งทั้งสองพันธุ์นี้จะมีอายุไร่เรี่ยกันทิ้งระยะกันประมาณครึ่งเดือนหรือร่วมเดือน ข้าวหนักจะมีอายุ ๕ เดือนกว่า ได้แก่ ข้าวลำไย ข้าวพวงเงิน ซึ่งจะทิ้งช่วงเวลาเป็นระยะๆจากข้าวกลาง เวลาเกี่ยวก็จะเกี่ยวข้าวเบาจนเสร็จก่อน พอดีกับจังหวะที่ทันไปเกี่ยวข้าวกลาง และพอดีที่ได้ระยะไปเกี่ยวข้าวหนัก เป็นระยะๆได้จังหวะพอดีกันเลย

           ชาวนาจะต้องมีลำดับว่าจะเอาข้าวเบาปลูกตรงไหน ข้าวกลางข้าวหนักปลูกตรงไหน แต่เฉพาะที่บ้านนี้จะนิยมข้าวนางมน ข้าวยุ้งเบา ข้าวเจ๊กเชย ซึ่งเป็นประเภทข้าวเบาที่รอเกี่ยวก่อน ถัดไปก็จะเป็นข้าวสามรวง ข้าวเหลืองอ่อน ข้าวปิ่นแก้ว ถัดจากนี้ก็พันธุ์ก้อนแก้ว และถัดจากนี้ไปจะเป็นข้าวหนัก ข้าวพวงเงิน ข้าวพวงทอง ข้าวลำไย

           สมัยก่อน เวลาทำเทือก ไถนา ดำนา จะหว่านแขกกัน มาเอาแรงกัน หว่านแขกไถนานี้เริ่มตั้งแต่เช้ามืด ยิ่งนาอยู่ไกลก็จะต้องออกกันตั้งแต่ตี ๔ ตี ๕ ไปกัน

            พออายุประมาณ ๒๕ – ๒๖ ปี (ประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๕ – ๒๕๑๖) ทางบ้านแถวนี้เริ่มใช้รถไถกัน รถไถยันม่า คูบูต้า บ้านพ่อแม่บ้านป้าซื้อใช้กันแล้ว ราคา ๒๗,๐๐ บาท ซื้อที่ตัวจังหวัด ซื้อด้วยเงินสด ชาวนานิยมใช้รถไถกัน รถไถกับทำนาปรัง แต่บางทีก็ใช้ควายไถกันอยู่บ้าง ครั้งแรกคิดว่านาปีนาปรังทำเหมือนกัน

             นา ๑๗ ไร่ ใส่ปุ๋ย (ปุ๋ยยูเรียผสมปุ๋ยสูตร) กว่า ๑๕ ถุง นาปีได้ข้าวเปลือก ๔ เกวียน ๕๐ ถัง พอทำนาปรังได้ข้าวเปลือกถึง ๗ ถึง ๘ เกวียน ซึ่งไม่เคยได้มากขนาดนี้มาก่อน ตอนนั้นคิดว่าถ้าอย่างนี้ชีวิตน่าจะไปรอดแล้ว ที่คิดๆไว้ว่าจะต่อต้านก็ลืมๆไปหน่อย

            ช่วงเดียวกันนี้ เรื่องยาฆ่าหญ้า ทำนาปีก็ใช้ยาฉีดแห้วนา โสนนา สมัยนั้นยากระปุกเดียวฉีดทีเดียวหญ้าอะไรก็ตายหมดเลย ซึ่งไม่เหมือนสมัยนี้ หญ้าดอกขาวต้องใช้ยายี่ห้อหนึ่ง หญ้าหนวดแมวก็ต้องใช้ยาอีกยี่ห้อหนึ่ง แต่ละหญ้าต้องใช้ยาแต่ละยี่ห้อ

            ยาฆ่าหญ้า...นี่กระทบต่อสุขภาพมากที่สุด เมื่อก่อนสะพายฉีด...ปี๊บสองปี๊บ น้ำยาที่ฉีดไปจะถูกมือ แล้วนึกไม่ถึงว่ายาตัวนี้จะแรง จะดูดซึม ซึ่งเวลาฉีดก็ไม่ได้ใส่ถุงมือ แต่จะเริ่มแพ้ยาตอนที่อายุ ๔๐ กว่าปี เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาพล่า ตอนที่ไปฉีดก็จะเป็นเลย จะรู้สึกเย็นตามตัว แล้วตาก็จะพล่า เป็นอย่างนี้ก็เริ่มกลัว เลยจะต้องหาผ้ามาปิดปาก แต่ใช้ถุงมือก็รู้สึกว่าไม่ถนัด...ก็ปล่อย เรื่องป่วยเพราะยาฆ่าหญ้าเป็นถึง ๒ – ๓ เที่ยว ถ้าไปฉีดตอนแดดร้อนจัดๆ มีอยู่วันหนึ่งรีบฉีด แล้วกลับบ้านไม่ได้อาบน้ำ รีบไปธุระต่อ พอกลับมาอาบน้ำแล้วนอนสักพักหนึ่ง ก็รู้สึกคลื่นไส้ คิดเลยว่าเพราะยาฆ่าหญ้าแน่นอน

           ครั้งหนึ่ง เคยเอายาฆ่าแมลงซ่อนไว้ที่นา เป็นยาขนาดขวดลิตร ซึ่งปิดฝาไม่สนิท สงสัยว่าหนูไปชนขวดยาล้ม เกลียวปิดจึงหลุด น้ำยาก็ไหลไปตามร่องน้ำ ปลาจะตายตามร่องน้ำเลย พูดกับแม่บ้านว่ายานี้แรงมาก น้ำไหลไปตรงไหนปลาก็ตายเป็นทางเป็นแถว ...ถามว่ารู้ไหม ...ก็รู้ แต่ด้วยความเคยชิน...ก็ใช้ยาฉีดต่อไป

         พออายุ ๔๓ ปี (ประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๓) ได้เริ่มทำปุ๋ยหมัก หมักหอยเชอรี่ หมักปลา เพราะมาจากฟังวิทยุ ต่อมาได้ยินมาว่ามีเรื่องสมุนไพร ก็สนใจอีก

         ครั้นทางมูลนิธิข้าวขวัญให้อนามัยมาตรวจเลือด ก็จัดอยู่ในกลุ่มไม่ปลอดภัย ไม่รู้ว่าสารเคมีจะตกค้างในร่างกายเราอย่างไร แม้ว่าไม่ได้ฉีดยาเองมา ๔ ปีแล้ว เพราะระยะหลังๆ พอรู้สึกตัวว่าไปเองไม่ไหวก็จ้างเขาฉีดยา ไม่ว่าจะเป็นยาคุมหรือยาฆ่าแมลง แต่สุขภาพร่างกายรู้สึกว่าดีขึ้น

          เรื่องหมักฟาง ก่อนหน้าที่จะมาเรียนในโรงเรียนชาวนาก็พอรู้มาบ้าง เพราะฟังจากวิทยุบ้าง ดูจากเอกสารบ้าง จริงๆแล้ว ถ้าน้ำขึ้นไว ไม่ทันจะได้เก็บ ฟางก็ไม่ได้เผา ธรรมชาติสอนไปในตัว แต่ถ้าปีไหนที่รีบก็จะต้องจุดไฟเผา หลังจากที่มาเรียนแล้ว จึงมาเน้นเรื่องหมักฟาง ไม่เผาแล้ว ใช้จุลินทรีในการย่อยหมักฟาง เคยหมักนานครึ่งเดือน ให้ดินได้พักบ้าง ปรากฏว่าได้ผล...ดินดีดินนุ่ม

           เป็นนักเรียนชาวนา ก็มีคนกระแนะกระแหนมาก มีคนถามว่า ทำไม...ทำนามาตั้งแต่ผมดำจนผมหงอกจะต้องให้เขามาสอนทำนา ก็ไม่สนใจ...คิดแต่ว่ามุ่งเรียนเอาให้จงได้

ภาพที่ ๓๕ ผลสำเร็จจากการฝึกทักษะการผสมพันธุ์ข้าว

             ตอนนี้เรียนเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าว สนใจ แล้วใจมุ่งมาทางนี้ ชอบเรื่องนี้ บวกกับจังหวะว่าง วิถีชีวิต....เกิดการเปลี่ยนไปเยอะเลยนะ สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้ สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น สมัยก่อนนั้นไม่ได้รู้อะไรมากเลย ตอนนี้กลับมาได้ความรู้เยอะมาก ก็เกือบจะสายไปแล้ว...เกือบจะ ๖๐ แล้วนะ (หัวเราะ)

            

    ภาพที่ ๓๖ – ๓๗ แสดงผลงานที่ประสบความสำเร็จจากการผสมพันธุ์ข้าว

หมายเลขบันทึก: 27924เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2006 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีมากจ้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท