2548-08-กิตติกรรมประกาศ


อันเนื่องจาก อ.แหววเตือนว่า ควร back up งานเขียนในอดีต จึง copy มันมาแปะไว้ ณ blog นี้.. กิตติกรรมประกาศ ในวิทยานิพนธ์ "สิทธิในเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลในรัฐไทย" คณะนิิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2548

ระหว่างทาง 80 กิโลเมตรจากตัวอำเภอเมือง จังหวัดตากมุ่งหน้าเข้าสู่อำเภอแม่สอดนั้นมีด่านตรวจอยู่ 4 จุด ผู้โดยสารบนรถทัวร์จะถูกปลุกให้ตื่น ซึ่งเป็นเวลาประมาณตี 4 หรือตี 5 เพื่อตรวจ บัตร มันเป็นประสบการณ์แรกที่ทำให้คนกรุงเทพฯ โดยกำเนิดบางคนเริ่มรู้สึกถึงความสำคัญของเอกสารแสดงตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางขากลับจากอำเภอแม่สอดที่มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ภาพชายหนุ่ม-หญิงสาวบ้าง คนชราหรือเด็กบ้างถูกเรียกให้ลงจากรถ เป็นภาพชินตาของผู้โดยสารขาประจำ เพียงแต่หากว่าใครจะเคยพยายามร้องขอและต่อรองกับชะตากรรม คงจะเข้าใจดีว่า ไม่ว่าจะเป็นความเรียบเฉยหรือการร้องขอความเห็นใจที่ปรากฎในแววตาหลายคู่นั้น ต่างก็คือความหมายของความพยายามที่จะต่อสู้เพื่อรักษา โอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า-ดีกว่าวันเดือนปีที่ผ่านๆ มา-ก่อนหน้าการเดินเท้าข้ามเส้นพรมแดนรัฐพม่าเข้ามาไทย

 

เป็นระยะเวลาร่วมปีหรือในระหว่างการทำงานให้องค์กรพัฒนาเอกชนพม่าแห่งหนึ่งในพื้นที่แม่สอด-ที่ต้องรับรู้ถึงภาพดังกล่าว แต่นั่นก็มิใช่เหตุผลการเริ่มต้นของวิทยานิพนธ์หัวข้อนี้ หากแต่เป็นแรงกระตุ้นและแรงผลักดัน ผ่านคำถามในประเด็น สถานะบุคคลตามกฎหมาย (Personal Legal Status) ที่ท้าทายให้ขบคิด-หาคำตอบทั้งในเชิงข้อกฎหมายและความที่ควรจะเป็นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง รวมถึงความเมตตา จากรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กา­ญจนะจิตรา สายสุนทร แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากโอกาสที่ได้ร่วมงานในฐานะอนุกรรมการในอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ที่นับจากปี 2544-ปัจจุบัน การเดินทางไปทางไปในหลายพื้นที่ของรัฐไทย เป็นโอกาสให้พบเจอและรับรู้ปัญหาสถานะบุคคลของคนจำนวนเป็นหมื่นแสน

 

อย่างไรก็ดี หัวข้อวิทยานิพนธ์นี้ ค่อนข้างสร้างความรู้สึกขัดแย้งในตอนแรก มนุษย์เราเกิดมาก็มีตัวตนในทางข้อเท็จจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทำไมต้องมีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลหรือเอกสารแสดงตนมารับรอง ยืนยัน  แต่ก็อีกนั้นแหละ ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติได้ให้บทเรียนว่า ในหลายสถานการณ์ที่เมื่อขาดเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลแล้ว ตัวตนในทางข้อเท็จจริงในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แทบจะไม่มีความหมาย สภาพบุคคลตามกฎหมายที่ได้รับการยอมรับจากรัฐประชาชาติ ผ่านบัตรสักใบ ต่างหากที่จำเป็นและสำคัญจนน่าแปลกใจ

 

นอกเหนือไปจากการพยายามหาคำตอบให้โจทย์วิจัยที่กำหนดไว้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ยังหมายถึงความพยายามของคนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่อยากแสวงหาวิธีการเรียนรู้ วิธีคิด การค้นคว้าอย่างเป็นระบบระเบียบ รวมถึงการทำความรู้จักกับมุมมองอื่นๆ และกว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นเป็นเล่มวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มันได้นำไปสู่การทำความรู้จักและความข้องเกี่ยวกับบุคคลมากมาย-ที่จำเป็นต้องเอ่ยนามถึง ด้วยความระลึกถึงและขอบคุณ

 

ขอบคุณ-คุณวิลาสินี แปลงลักขณาและครอบครัว สำหรับบ้าน และการดูแลตลอดระยะเวลาร่วมหนึ่งปีในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  ขอบคุณ วินัย และอีกหลายชีวิตในกองกำลังเคเอ็นยู สำหรับความเป็นเพื่อนและการแนะนำให้ได้รู้จักชีวิตและเรื่องราวการต่อสู้ที่น่านับถือ

 

ขอบคุณ-คุณวินิจ ล้ำเหลือ  สิทธิศักดิ์ สามสี  กานต์ เสริมชัยวงศ์  ชัยศักดิ์ งามโฉม สอและ กูมุกดา และพี่-เพื่อนท่านอื่นๆ ในอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ รวมถึงพี่-น้อง-เพื่อนในสำนักงานสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอขอบคุณ ปรีดา ทองชุมนุม และสุรพงษ์ กองจันทึก สำหรับข้อมูล ความรู้ ความคิดเห็น การดูแลฉันท์พี่-น้องในระหว่างการปฏิบัติงาน ในฐานะอนุกรรมการฯ และที่สำคัญคุณสมชาย หอมลออ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ สำหรับการหยิบยื่นโอกาสให้ได้ทำงานร่วมกับสภาทนายความ

 

ขอบคุณ-สำหรับข้อมูล ความรู้ บทสนทนาและประสบการณ์การเดินทางบนเส้นทางใหม่ๆ ร่วมกับ จีรวรรณ บรรเทาทุกข์ ดร.นฤมล อรุโณทัย พลาเดช ณ ป้อมเพชร  แห่งทีมงานโครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ณัฐพล สิงห์เถื่อน และทีมงานมูลนิธิกระจกเงา, ชุติ งามอุรุเลิศและสริยา กิจประยูร,  ทีมงานอาจารย์วรรทนี รุ่งเรืองสภากุล มหาวิทยาลัยพายัพ, คุณมนตรี จงพูนผล, เพื่อนทุกคนใน IRC Thailand, อดิศร เกิดมงคล คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.),วันดี สันติวุฒิเมธี สาละวินโพสต์, คุณประยงค์ ดอกลำใย คุณสุริยันต์ ทองหนูเอียด สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ (สกน.) รวมถึงคุณวิวัฒน์ ตามี, อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ ภาณุเดช เกิดมะลิ  ปัทมวรรณ ทองช่วยและทีมงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร, สันติพงษ์ มูลฟองและทีมงานเครือข่ายเด็กและชุมชน, เอกชัย ปิ่นแก้ว, ฯลฯ และอีกหลายบุคคลและหลายองค์กรที่ไม่ได้เอ่ยนามไว้ ณ ที่นี้

 

ขอบคุณ-น้องสาวที่น่ารัก ชลฤทัย แก้วรุ่งเรืองและรุ่งรัตน์ ธนบดีธาดา สำหรับความช่วยเหลือในทุกขั้นตอนของการจัดทำวิทยานิพนธ์ รวมถึงขอขอบพระคุณ ศ.คนึง ฦาไชย และกองทุนคนึง ฦาไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับเวทีแห่งโอกาสการนำเสนอความคิดเห็นและการได้รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างน่าสนใจ

 

ขอบคุณ-รุ่นพี่และเจ้านายงานประจำ-สุรชัย ตรงงาม, ส.รัตนมณี พลกล้า เพื่อนและเพื่อนร่วมงานในโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม สำหรับความเข้าใจและการสนับสนุนการทำงานด้านสถานะบุคคลตลอดระยะเวลา 2 ปีเศษของชีวิตงานประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายละเอียดหลายอย่างทั้งในงานประจำและวิทยานิพนธ์ จะขาดตกบกพร่องมากไปกว่านี้ หากไม่มีสุภาภรณ์ มาลัยลอย

 

ขอบคุณ-เพื่อน-พี่-น้องทนายความในสำนักงานกฎหมายมีสิทธิ์และการบัญชีทุกคน สำหรับความเอื้อเฟื้อฉันท์มิตรร่วมชายคา รวมถึงเพื่อนพ้องน้องพี่แห่งองค์กรเพื่อนบ้านอย่าง FORUM-ASIA และคุณไพโรจน์ พลเพชร แห่งสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

ขอบคุณ-วัชรี ทองโพธิ์  วาสนา เก้านพรัตน์  นุสรา-ฉัตรชัย เครือคล้าย สุจรรยา เชาว์ปรีชา สุกัญญา เจริญ­วัฒนสุข พิทักษ์ แสงสายัณห์ วรดุลย์ ตุลารักษ์ วสันต์ สินรา นพพร พวงสมบัติ กมลทิพย์ จ่างกมล รสนา ศรีอรุณ จินตนา โตสิกตระกูล และเพื่อนพ้องพี่น้องแห่งกลุ่มนิติธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึง สมพัฒน์ ศรีเมฆารัตน์ สำหรับความห่วงใยและกำลังใจผ่านการไถ่ถามถึงความคืบหน้าในการทำวิทยานิพนธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงวุฒิ จารขจรกุล และอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล สำหรับความคิดเห็น ข้อถกเถียง รถโตโยต้าสำหรับการเก็บข้อมูลในพื้นที่ และความช่วยเหลืออื่นๆ

 

ที่สำคัญ ความยุ่งยากหลายอย่างในรายละเอียดของชีวิตที่เป็นอุปสรรคต่อการเขียนวิทยานิพนธ์ ย่อมไม่สามารถบรรเทาเบาบางลงได้เลย หากปราศจากกำลังใจและความเข้าใจในความอ่อนแอของเพื่อน-จากเพื่อนอย่างจริยาภรณ์ กระบวนแสงและเยาวมาลย์ จันทเขต

 

ขอบคุณ-ชายหนุ่มผู้เป็นแรงบันดาลใจ


ขอบคุณ-โซบี ซูฮาบาล
, จอบิ-พอวา และลูกๆ, ชาวบ้านบ้านคลิตี้ล่าง อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี, กิตติพงษ์ และครอบครัวศิลปพงษ์เจริญ­, ยิบซีที่หยุดเร่ร่อน หรือชาวเลมอแกน, ตี๋ (ณ เชียงใหม่), ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านทิบาเก บ้านแม่จันทะ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก, บ้านร้องพระเจ้า อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย, อดีตนักศึกษาพม่า (ที่คงจะไม่มีโอกาสได้เจอกันอีกแล้ว), ผู้อพยพในแค้มป์ตลอดแนวชายแดนรัฐไทย-พม่า ฯลฯ ซึ่งบุคคลและกลุ่มบุคคลเหล่านี้เป็นเสมือนหน้าต่างที่เปิดไปสู่องค์ความรู้ใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ ในรัฐไทย

 

ขอขอบพระคุณ-ท่านอาจารย์จรัล ภักดีธนากุล เลขาธิการสำนักประธานศาลฎีกา  ศ.คนึง ฦาไชย  รศ. ณรงค์ ใจหาญ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และท่านจิราพร บุนนาค รองเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่กรุณาสละเวลาเพื่อให้ข้อคิดเห็นทั้งในทางข้อกฎหมายและทางสังคม คำชี้แนะต่อจุดอ่อนต่างๆ ทั้งของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้  และที่สำคัญขอบพระคุณ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร สำหรับการท้าทายทางความคิด ข้อมูลและองค์ความรู้ที่ไม่เคยหวงแหน โอกาสในการได้ลงพื้นที่และการเข้าร่วมเวทีต่างๆ ที่เปิดโลกทัศน์และมุมมอง รวมถึงอิสระในการแสดงความคิดเห็น

 

สุดท้าย ขอบคุณพี่สาว-น้องสาว-น้องชาย-แม่ สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต โดยเฉพาะพี่สาว-ที่ยอมรับภาระงานบ้านไว้เพียงลำพัง แล้วยังเป็นธุระเรื่องอาหารการกินตลอดร่วม 2 เดือนสุดท้ายของการเขียนวิทยานิพนธ์ และน้องสาวที่เป็นธุระในการจัดทำรูปเล่ม ที่สำคัญที่สุด ป๊า-ผู้ผลักดันให้เรียนรู้จากชีวิตและโลกที่อยู่ตรงหน้า

----------------------------------------------------

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=194&d_id=194

หมายเลขบันทึก: 278900เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2009 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท