2547-10-16 ข้อสังเกตระหว่างทาง (๒)


อันเนื่องจาก อ.แหววเตือนว่า ควร back up งานเขียนในอดีต จึง copy มันมาแปะไว้ ณ blog นี้..


๒. การมีตัวตนในทางข้อเท็จจริงกับการมีตัวตนในทางกฎหมาย

คนเมืองส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของบัตรประจำตัวประชาชนหรือทะเบียนบ้าน คนส่วนใหญ่จะใช้มันก็ต่อเมื่อสมัครงาน สมัครบัตรเครดิต ทำสัญญากู้ยืมเงิน ฯลฯ แต่สำหรับ บางคน บางกลุ่ม บัตรประจำตัวหรือเอกสารสักใบที่ยืนยันว่าเขาเป็นใครสักคน-กลับมีความสำคัญมาก

 

เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลส่วนใหญ่จะบรรจุข้อมูลส่วนบุคคล (Identity) ได้แก่ ชื่อ นามสกุล สัญชาติ ภูมิลำเนาฯลฯ และแสดงความสัมพันธ์หรือจุดเกาะเกี่ยวระหว่างบุคคลดังกล่าวกับรัฐ ซึ่งเป็นการสะท้อนหรือยืนยันถึงสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Personal Legal Status) ของบุคคลดังกล่าว โดยเอกสารบางประเภทอาจแสดงถึงสิทธิและหน้าที่ของแต่ละบุคคลด้วย ตัวอย่างของเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ได้แก่ ใบเกิดหรือสูติบัตร (Birth Certification) ทะเบียนราษฎร (House Registration) บัตรประจำตัวประชาชน (Identification Card) ฯลฯ ที่แสดงถึงข้อมูลส่วนบุคคล และแสดงถึงจุดเกาะเกี่ยวระหว่างบุคคลกับรัฐไทยในลักษณะต่างๆ

 

กล่าวคือ หากเป็นผู้มีสัญชาติไทย สูติบัตรจะเป็นประเภท ๑ หรือทะเบียนราษฎรจะเป็นประเภท ๑๔ (ท.ร.๑๔) และบัตรประจำตัวประชาชนก็จะเป็นไปตามบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสัญชาติไทย ตามลักษณะที่พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.๒๕๐๖ กำหนดไว้  หรือแม้แต่หนังสือหนังสือเดินทาง (Passport) ฯลฯ นอกจากนี้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลดังกล่าวยังแสดงถึงสิทธิในฐานะที่บุคคลเป็นพลเมือง (Citizenship) หรือคนชาติ (National) อีกด้วย ฯลฯ

 

ขณะที่บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลจะมีลักษณะที่แตกต่างไป กล่าวคือ สูติบัตรจะเป็นประเภท ๓ หรือ ท.ร.๓ หรือเป็นเพียงใบรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑)  ทะเบียนราษฎรก็จะเป็นประเภท ๑๓ (ท.ร.๑๓) และบัตรประจำตัวก็อาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามที่กฎหมายหรือนโยบายกำหนด เช่น บัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง บัตรประจำตัวพม่าพลัดถิ่น ฯลฯ

 

การตกเป็นคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลนั้นอาจส่งผลกระทบต่อบุคคลดังกล่าวใน ๔ ลักษณะ คือ

 

หนึ่ง-คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลอาจมีข้อจำกัด อุปสรรค และ/หรือไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งสิทธิฯ ดังกล่าวได้แก่ สิทธิในการศึกษา สิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณสุข สิทธิที่ในการจดทะเบียนสมรส ฯลฯ [1][1]

 

สอง-คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลอาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิและ/หรือไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประการอื่นๆ ที่ได้รับรองไว้ในกฎหมายฉบับต่างๆ เช่น สิทธิในการเลือกตั้งตามมาตรา ๖๘ แห่งรัฐธรรมนูญ, สิทธิในการก่อตั้งมูลนิธิ, สิทธิในการถือครองที่ดิน, สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับรัฐ ฯลฯ

 

สาม-คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิ และ/หรือไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการมีสถานะบุคคลตามกฎหมายกลุ่มต่างๆ ที่รัฐไทยได้รับรองสิทธิและคุ้มครองสิทธิลักษณะต่างๆ ไว้ และ

 

สี่-การต้องเผชิญ หรือหวาดกลัวว่าจะถูกจับและส่งออกนอกดินแดนของรัฐไทย เนื่องจากคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลจะตกอยู่ภายใต้ข้อสันนิษฐานว่าเป็นคนเข้าเมือง[2][2] มา และเมื่อการเข้าเมืองนั้นปราศจากพยานเอกสารคือหนังสือเดินทาง (Passport) หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง [3][3]  บุคคลดังกล่าวย่อมมีสถานะทางบุคคลตามกฎหมายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย [4][4] (Illegal Alien) และผลที่ตามมาก็คือ จะต้องถูกส่งตัวกลับออกไปนอกดินแดนรัฐไทย [5][5]

 

เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลจึงเป็นกระดาษที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะมันได้กลายเป็นพยานหลักฐานที่แสดงถึงข้อมูลส่วนบุคคล และแสดงถึงความสัมพันธ์หรือจุดเกาะเกี่ยวระหว่างบุคคลกับรัฐ ที่จำเป็นต้องใช้เป็นพยานหลักฐานเมื่อต้องการเข้าถึงสิทธิ หรือใช้สิทธิต่างๆ ตามที่กฎหมายภายในแห่งรัฐไทยรับรอง รวมถึงเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกละเมิดสิทธิด้วย หรืออาจกล่าวได้อีกแบบว่า

 

แม้ว่ามนุษย์คนหนึ่งนั้นจะมีตัวตนอยู่จริงในทางข้อเท็จจริง ก็ใช่ว่ามนุษย์แต่ละคนในดินแดนแห่งรัฐจะสามารถเข้าถึงสิทธิหรือใช้สิทธิต่างๆ ที่กฎหมายภายในแห่งรัฐได้รับรองไว้โดยเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพลเมือง (Civil Rights) หรือสิทธิมนุษยชน (Human Rights) หากแต่ความสามารถในการเข้าถึงสิทธิ การใช้สิทธิดังกล่าว รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกละเมิดสิทธินั้น กลับขึ้นอยู่กับสถานะทางกฎหมายของบุคคล [6][6]  ของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ  ซึ่งการกล่าวอ้างตนว่ามีสถานะบุคคลตามกฎหมายลักษณะใด นั้น เรียกร้องว่า ต้องมีพยานหลักฐานมายืนยัน

 

ดังนั้น ระหว่างทางของพัฒนาการการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของรัฐสมัยใหม่ (Nation-State) แต่ละรัฐ โดยเฉพาะรัฐไทย เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลได้กลายเป็นพยานหลักฐานประเภทหนึ่งที่มีความหมายและมีความสำคัญต่อการมีอยู่ (Existence) ของมนุษย์คนหนึ่ง



 [1] แม้จะมีข้อโต้แย้งว่าสิทธิดังกล่าวได้รับการคุ้มครองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแห่งการเป็นมนุษย์ตามนัยของมาตรา ๔ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีความหมายว่าการเข้าถึงสิทธิในการศึกษา บริการสาธารณสุขหรือจดทะเบียนสมรส ฯลฯ นั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการมีหรือไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล เช่น บัตรประชาชน หรือทะเบียนบ้าน แต่อย่างใด หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลดังกล่าวมีสัญชาติใด แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเรียนถึงสิทธิทางการศึกษาได้, ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้, หรือไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ ฯลฯ หรือการเข้าถึงสิทธิดังกล่าวนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคหรือข้อจำกัด

 

 [2] มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒  คนเข้าเมือง หมายความว่า คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร

            มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ คนต่างด้าวด้าวหมายความว่า ผู้ที่มิได้มีสัญชาติไทย

 

 [3] มาตรา ๑๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

            มาตรา ๑๒  ห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เข้ามาในราชอาณาจักร

            (๑) ไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้องและยังสมบูรณ์อยู่ หรือมีแต่ไม่ได้รับการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเช่นว่านั้นจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ หรือจากกระทรวงการต่างประเทศ เว้นแต่กรณีที่ไม่ต้องมีการตรวจลงตราสำหรับคนต่างด้าวบางประเภทเป็นกรณีพิเศษ

 

 [4] มาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

คนต่างด้าวผู้ใดไม่มีหลักฐานการเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามมาตรา ๑๒ (๑) หรือไม่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามพระราชบัญญัตินี้ และทั้งไม่มีใบสำคัญประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนต่างด้าวผู้นั้นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้

 

 [5] มาตรา ๕๔ วรรค ๑ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการอนุญาตนั้นสิ้นสุด หรือถูกเพิกถอนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งตัวคนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้ …”

 

 [6] หมายถึง สภาพอันทำให้บุคคลมีความสามารถที่จะมี และใช้สิทธิ  ตลอดจนหน้าที่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง หรือในอีกนัยหนึ่งหมายถึง คุณสมบัติทางนิตินัยของบุคคลหนึ่งอันมีต่อรัฐและบุคคลอื่น หรือเงื่อนไขที่กำกับหน้าที่ สิทธิ การใช้สิทธิ และความรับผิดของบุคคล ดู รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, สถานภาพในทางกฎหมายของชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย, รายงานวิจัยหมายเลข ๑ ในชุดโครงการวิจัยประเมินสถานภาพองค์ความรู้ เรื่อง สถานภาพและการดำรงชีวิตของชาวเขาและชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย, สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มิถุนายน ๒๕๔๑, หน้า ๔.

 

หมายเลขบันทึก: 278885เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2009 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท