หนังสือ Revolutionary Wealth ของ Alvin Toffler (2)


ขอบคุณ "วิธีการทางวิทยาศาสตร์" ที่ช่วยให้การตรวจสอบความจริง ดำเนินไปอย่างเป็นระบบ .....แต่ วิทยาศาสตร์กำลังตกอยู่ในอันตราย !!!!!

ต่อ ตอนที่ 2 ขอบคุณคุณ house สำหรับรีวิวดีดีค่ะ

จากข้อมูลดิบจำนวนมหาศาลบนโลก อะไรคือความจริง?
เรารู้ได้อย่างไรว่า คนๆนั้นไม่ได้พูดโกหก? เรารู้ได้อย่างไรว่า ฟอร์เวิร์ดเมล์นั้นเป็นความจริง?

ทอฟเลอร์บอกว่า คนทั่วๆไปใช้เกณฑ์ หกข้อต่อไปนี้ ในการตัดสินความจริง

1. มติข้างมาก(Consensus)
เอาล่ะ ถ้าทุกคนคิดว่า มันถูก มันก็ควรจะถูก เกณฑ์ง่ายๆ ที่ทอฟเลอร์เย้ยหยันว่า เป็นสปิริตแบบตัวเล็มมิ่ง(คือเดินตามๆกันไปตกเหว) ที่คนทั่วๆไปทำกันเต็มไปหมด
ข้อดี? คุณไม่ดูเป็นตัวหน้าโง่เวลาผิด ก็ในเมื่อทุกคนผิดเหมือนกัน ก็ไม่มีใครว่าอะไรใครได้ เราเห็นนักลงทุนแห่ซื้อหุ้นราคาสูงเพราะใครๆก็ซื้อกันทั้งนั้นแหละ แล้วเวลามันตกก็...(ตายหมู่) เราเห็นธุรกิจการเงินแห่กันออกซัพไพรม์ เพราะ "ใครๆเขาก็ทำกัน" แล้วดูสิ ว่าทุกวันนี้มันเป็นยังไง

2. สอดคล้อง(Consistency)
ถ้าหลักฐานชิ้นหนึ่งมันเข้ากันได้กับอีกชิ้นหนึ่ง มันก็น่าจะเป็นความจริง แต่ถ้ามันขัดแย้งกัน ก็น่าจะมีจุดผิด นี่เป็นกระบวนการปกติของการตรวจสอบบัญชี และ ระบบศาลทีเดียว
แน่นอน ความผิดพลาดอาจมีได้ เพราะถ้ามันผิดทั้งกระบิ เราก็จะหาจุดผิดไม่เจอ

3. ผู้นำทางความคิด(Authority)
ตัวอย่างคลาสสิคคือ ศาสนา ในยุคกลาง,สันตะปาปา ถูกเสมอสำหรับชาวคริสต์ อิสลามคนไหนจะกล้าเถียงอิหม่าม? แล้วเราก็เห็นความผิดพลาดของบุคคลเหล่านั้นในประวัติศาสตร์แบบมหาศาล
วันนี้? เยอะแยะไปหมด ใครกล้าเถียง แจ็ค เวลล์ หรือ วอเรนต์ บัฟเฟตในโลกธุรกิจ?
ทั้ง ดร. โกร่ง ,สนธิ , ทักษิณ, อ. นิธิ ต่างมีคนฟังของตัวเอง แบบเหนียวแน่นด้วย
ถ้าเขาถูก เราก็ถูก ถ้าเขาผิด เราก็ผิดด้วย เพราะเราเดินตามเขานี่

4. ประสบการณ์ทางวิญญาณ(Revelation)
เอาล่ะ ผมคงพูดอะไรไม่ได้มากกว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" อ่านเรื่องของหมอแมว เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น

5. ความยั่งยืน(Durability)
ถ้ามันเคยถูก วันนี้มันก็ต้องถูก เคยเถียงผู้ใหญ่ที่บอกว่า "สมัยก่อนเขาก็ทำกันแบบนี้" หรือเปล่า?
นั่นล่ะ เขาใช้เกณฑ์ข้อนี้อยู่

6. วิทยาศาสตร์(Science)
เกณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันน้อยที่สุด มีผลกระทบต่อความมั่งคั่งสูงสุด และใกล้เคียงต่อการสูญพันธ์มากที่สุด 
  • หลักการทางวิทยาศาสตร์ตั้งอยู่บนคำว่า ต้องผิดพลาดได้(Falsifiable) นั่นคือทุกสมมติฐานต้องทดสอบได้ว่าถูกหรือผิด โยนทิ้งได้ 
  • ไม่มีอะไรเป็นความจริงสัมบูรณ์ในทัศนะของวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของความจริง ที่อาจมีการค้นพบใหม่ ล้มทิ้งได้ทุกเมื่อ

คุณสมบัติข้อนี้นำมาซึ่งเอกลักษณ์ในบรรดาตัวกรองทั้งหมด นั่นคือ

1. วิทยาศาสตร์ ต่อต้านความคลั่งทุกรูปแบบ คุณไม่เจอนักวิทยาศาสตร์ยืนยันหัวชนฝาว่าทฤษฏีของเขาถูกหากการทดลองคัดค้านผลการทำนายทฤษฏีนั้นๆ เขาอาจเอาทฤษฏีกลับไปปรับปรุงใหม่ หรือขอให้ทดลองซ้ำอีกครั้ง แต่การโวยวายแบบหัวชนฝานั้นไม่มี
2. เป็นเกณฑ์เดียวที่ปรับปรุงตัวเอง(Self Correction) หากพบว่าผิด วิทยาศาสตร์ยอมรับความจริงใหม่ได้อย่างเต็มใจ หลายทฤษฏีในปัจจุบันล้วนผ่านการปรับปรุงมาหลายสิบหลายร้อยรอบแล้วทั้งสิ้น

โจเซฟ นีดแฮม นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งเดียวที่ทำให้ยุโรปที่ล้าหลังจีนมหาศาลในช่วงโบราณ กลับมาแซงหน้าได้ คือการค้นพบระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ หรือ วิธีการค้นหาความรู้ ที่ดีที่สุด ในศตวรรษที่ 16-17 

หลังจากนั้นหลายสิบปี วิทยาศาสตร์ค่อยๆ ทดแทนเกณฑ์อื่นๆ มันตรวจสอบคำอ้างมากมาย เชื่อมโยงศาสตร์ ต่างๆเข้าด้วยกัน และสร้างโลกในทุกวันนี้

แต่ตอนนี้วิทยาศาสตร์กำลังอยู่ในอันตราย!
จะอันตรายอย่างไร....โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ ^^
หมายเลขบันทึก: 278333เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2009 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท