ดูงานมูลนิธิฉือจี้ : 4. วันที่สี่ – เฝ้าดูจิตสงบนิ่ง ที่ธรรมาศรม


วันนี้ถือเป็นสุดยอดของการเดินทางมาดูงาน คือการได้เข้าพบท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ได้เห็นวิธีการเผยแผ่ธรรมะของท่าน เรามี ๔ กิจกรรม คือ (๑) กิจกรรมที่ธรรมาศรม (๒) นั่งรถไฟกลับไทเป (๓) ชมกิจกรรมและรับเลี้ยงอาหารเย็นโดย Songsan District Tsu Chi Commission และ (๔) ไปดูตลาดคืนวันเสาร์ หลังจากเข้าโรงแรม สานหว่าง (San Want) แล้ว
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ในวันนี้ได้แก่
1. พลังขององค์กร เคออร์ดิค (Chaordic Organization) อย่างฉือจี้ และวิธีขับเคลื่อนองค์กรโดยใช้กิจกรรม social marketing ทางสื่อ ตอกย้ำ ทำให้ชัด และขยายความ purpose ขององค์กรฉือจี้ พลังยิ่งทวีคูณจากคุณค่าของการทำเพื่อผู้อื่น สร้างระบบและกติกาเพื่อป้องกันการทำเพื่อตนเอง ทำให้กิจกรรมของฉือจี้เป็น “ของจริง” ที่ผ่านการพิสูจน์มานานถึง ๔๐ ปี สมควรแก่การเฉลิมฉลอง
2. ได้เห็นสถานที่ ความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ไม่หรูหรา ประหยัด กลมกลืนกับธรรมชาติ ในทุกๆ ด้าน
3. ได้เห็นหน้าตาท่าทางของท่าน ธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนที่สงบ น่าศรัทธายิ่ง
4. ได้เห็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการขับเคลื่อนพลังธรรมะ แม้จะอยู่อย่างเรียบง่าย ก็ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการทำงาน ท่านอาจารย์เจิ้งเหยียนอายุ ๗๐ ปี บวชตั้งแต่อายุ ๒๓ ไม่เคยไปต่างประเทศ เคยขึ้นเครื่องบินครั้งเดียว คือไปไทเป แต่ใช้สถานีโทรทัศน์ต้าอ้ายในการเผยแผ่ศาสนาอย่างช่ำชอง และมียุทธศาสตร์ ท่านใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก และพีดีเอ ด้วยตนเอง
5. ได้เห็น “ของจริง” ของการใช้ KM และเครื่องมือ KM ในการทำงานในทุกส่วนของฉือจี้ เราขอเรียนรู้อะไร เขามีคนมาเล่าเรื่องได้เสมอ เขาจะไม่นำเสนอแบบเสนอระบบหรือความรู้ที่ผ่านการตีความแล้ว แต่จะนำเสนอความรู้ที่ผูกกันเป็นเรื่องเล่า เป็นการเล่าเรื่องที่ตนได้ทำมาจริงๆ
6. ได้เห็น การมี “หัวปลา” ที่ชัดเจน คือทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เพื่อขัดเกลาตนเอง จึงเป็นการปฏิบัติธรรมแบบที่ง่าย คือลงมือช่วยเหลือผู้อื่นทันทีเดี๋ยวนั้น ช่วยแบบประณีตและเต็มไปด้วยความถ่อมตนโดยมีความรู้สึกขอบคุณผู้ที่เราช่วยเหลือ ว่าเขาช่วยให้เราได้ทำความดี เป็น “ตัวปลา” ที่ง่ายอีกเช่นกัน ตัวปลา คือ sharing ในที่นี้เป็นการแลกเปลี่ยนการทำความดีต่อกัน ฉือจี้เน้น “หางปลา” ยิ่งนัก มีการจดบันทึก เซ็นชื่อรับเงินหรือของช่วยเหลือ มีการถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน และมีการติดตามผล ชื่นชมยินดีต่อการทำความดี อย่างกรณีผู้รับบริจาคไขกระดูกและผู้บริจาคไขกระดูก ผมได้เรียนรู้ว่า Knowledge Assets ไม่ใช่มีอยู่ในรูปของบันทึกในกระดาษเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการจัดพิธีพบปะของผู้คนอีกด้วย เพราะนั่นคือ Spiritual Knowledge Assets
7. ได้เห็นการสร้างพลังของปณิธานร่วม (Common Purpose หรือ Shared Vision) โดยการนำความสำเร็จหรือความประทับใจเล็กๆ ของคนเล็กคนน้อย เอามาเล่าเรื่อง และตอกย้ำ หรือแสดงความชื่นชมซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน
8. ผมได้เรียนรู้ พลังของความต่อเนื่อง การทำความดีต้องทำต่อเนื่อง ความช่วยเหลือต้องต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการทำ KM ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

มุทิตา พานิช ถ่ายหน้า สมาธิยาคาร (ผมแปล Adobe of Still Thoughts ว่าสมาธิยาคาร)

ภายในบริเวณวัดสะอาดแต่เรียบง่าย ภายในบริเวณวัด

เครื่องทำถุงมือในพิพิธภัณฑ์ ภิกษุณีหารายได้ยังชีพโดยการทำถุงมือขาย

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ฉือจี้ สร้างอย่างเรียบง่าย

โรงงานทำเทียน ภิกษุณีทำเทียนขายเป็นแหล่งรายได้เลี้ยงชีพ เงินบริจาคจะไม่ถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อการยังชีพของภิกษุณีเลย

ภิกษุณีทำเทียนขาย หารายได้ยังชีพ - No work, no meal.

ดื่มน้ำชา แกล้มเนยแข็งแห้งทำเป็นริ้ว และฟังเรื่องเล่า รอพบท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน

คุณสตีฟ หวาง ซีอีโอ เบอร์ ๑ ชองฉือจี้ เป็นคนจีนโพ้นทะเล บ้านอยู่ที่ ลอส แองเจลีส ละจากธุรกิจมาทำงานอาสาสมัครแก่ฉือจี้เต็มเวลา

ท่านธรรมาจารย์ เจิ้งเหยียน กับคุณสตีฟ หวาง ซีอีโอ เบอร์ ๑ ของมูลนิธิฉือจี้

บริเวณสงบงามด้วยศิลปะเณรน้อยหลากอิริยาบถ และธรรมชาติ

เณรน้อยกับสาว (ไม่) น้อย

ระหว่างเดินกลับมาขึ้นรถ ผมหันไปถ่ายภาพวัดจากด้านข้าง ถนนสู่สมาธิยาคาร

วิจารณ์ พานิช
๗ พค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 27825เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2006 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2016 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท