เทคนิคเชิงบวกเพื่อสร้างความสนใจในการเรียนรู้


เทคนิคเชิงบวกเพื่อสร้างความสนใจในการเรียนรู้

เทคนิคเชิงบวกเพื่อสร้างความสนใจในการเรียนรู้(ตอนที่ 1)

            การจูงใจหรือการกระตุ้นให้ผู้เรียนใฝ่รู้ใฝ่เรียนมีหลายวิธี แต่การจะนำไปใช้ให้เกิดผลดีครูผู้สอนควรทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า  ผู้สอนมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อผู้เรียนทุกคนด้วยความหวังที่จะทำให้ผู้เรียน “เสร็จสิ้นการเรียนอย่างสมบูรณ์” การเสร็จสิ้นการเรียนอย่างสมบูรณ์โดยผู้เรียนบรรลุความสำเร็จ (successfuiiy  complete) มีความแตกต่างจากการเสร็จสิ้นการเรียนอย่างสมบูรณ์โดยผู้เรียนบรรลุความพึงพอใจ (satisfactorily  complete)เพราะการที่ผู้เรียนพึงพอใจรายวิชาใดหมายถึงการที่ผู้เรียนสามารถทำคะแนนสอบผ่านเกณฑ์ตามที่สถานศึกษากำหนด แต่การทำให้ผู้เรียนบรรลุความสำเร็จหมายรวมถึงการที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่เรียนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีพและการประกอบอาชีพตามที่ตนได้วางเป้าหมายไว้ การที่ผู้เรียนจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ผู้เรียนจะต้องเกิดการเรียนรู้แบบลึก (deep learning) สิ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียนอีกอย่างหนึ่งคือ การกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์(creativity) ซึ่งความคิดสร้างสรรค์นี้หมายถึง ความสามารถในการเชื่อมโยงค้นพบความสัมพันธ์ใหม่ๆ ความสามรถในการมองสิ่งต่างๆโดยใช้มุมมองใหม่ๆ ความสามารถสร้างมโนทัศน์ใหม่จากการรวมมโนทัศน์ที่มีอยู่พร้อมแล้วในสมองตั้งแต่ 2 หรือ 3 อย่างขึ้นไป (Evans ,1995)

          การกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์มีหลายเทคนิค ดังนี้

          1. การทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ (Understand learning process)

          เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ ผู้สอนจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจเป็นอันดับแรกว่าสมองมีการเรียนรู้ได้อย่างไร กระบวนการทำงานของสมองเป็นอย่างไร และมีปัจจัยอะไรบ้างที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของสมอง รวมทั้งศึกษาตัวการที่ทำให้สมองมีความสามารถในการเก็บข้อมูลต่างๆไว้ในธนาคารความจำ(memory bank)และสามารถเรียกข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ได้ทันทีที่ต้องการ ผู้สอนต้องนำความรู้เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน เช่น ในการประเมินความรู้ของผู้เรียน ผู้สอนไม่ควรวัดแต่ความจำเพียงอย่างเดียวควรให้ผู้เรียนได้เขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากรายวิชานั้นๆในภาพกว้างตามความเข้าใจของตนเองด้วย หรือในการตั้งคำถามเพื่อให้ผู้เรียนตอบ ควรขึ้นต้นคำถามว่า อะไร? ทำไม? อย่างไร? เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดแบบลึก(deep thinking)เกี่ยวกับบริบทของประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทำให้บุคลิกภาพและสติปัญญาของผู้เรียนได้พัฒนาขึ้น

          2. การทำความรู้จักกับผู้เรียน (Know your Students)

          การทำความรู้จักกับผู้เรียนที่ง่ายและสะดวกที่สุดคือเมื่อเริ่มต้นภาคเรียนให้ใช้แบบสอบถามให้ผู้เรียนกรอกข้อมูลตามที่ผู้สอนต้องการ เช่น ชื่อ – สกุล, หมายเลขโทรศัพท์, ที่อยู่, รายวิชาที่ชอบ-ไม่ชอบ, ความคิดเห็นเกี่ยวกับรายวิชานี้, ประสบการณ์เกี่ยวกับรายวิชานี้, การวางแผนในการเรียน, การบริหารเวลาและการใช้ความพยายามในการเรียน เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ผู้สอนติดต่อกับผู้เรียนและสามารถวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จับคู่ผู้เรียนที่มีพื้นฐานความรู้และทักษะไม่เท่ากันโดยให้เรียนร่วม  ให้ผู้ที่เก่งกว่าช่วยเหลือผู้ที่มีพื้นฐานความรู้ด้อยกว่า หรือให้ผู้ที่มีพื้นฐานความรู้ใกล้เคียงกันมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน วิธีการเหล่านี้จะช่วยสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ที่ดีในห้องเรียนอีกด้วย

          3. การเรียนรู้ถึงสิ่งที่ผู้เรียนให้ความสนใจ (Know  what  your Students’ care about)

           การที่ผู้สอนรู้ว่าผู้เรียนมีความชอบหรือให้ความสนใจต่อรายวิชาต่างๆในแง่มุมใดและด้วยเหตุผลใดทำให้ผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตรงกับความต้องการของผุเรียนมากขึ้น ดังนั้นในสัปดาห์แรกที่เข้าสอนผู้สอนอาจจะให้ผู้เรียนเขียนสิ่งที่ตนสนใจเกี่ยวกับรายวิชาที่กำลังเรียนพร้อมกับบอกเหตุผลประกอบ เช่น อาจเริ่มด้วยข้อความว่า “ในรายวิชา...........นักเรียนให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องใด?

                    1)วัตถุประสงค์การเรียนรู้ เพราะ......................................

                    2)ผลที่ได้รับจากการเรียน เพราะ......................................

                    3)การไดรับการพัฒนาสติปัญญาของตนเอง เพราะ......................................

                    4)การไดรับการพัฒนาบุคลิกภาพของตนเองจากการมีประสบการณ์ในห้องเรียน

                      เพราะ........

                    5)คะแนนหรือเกรด เพราะ...................................

                    ฯลฯ

หากข้อมูลที่รวบรวมได้มาพบว่าผู้เรียนยังขาดความเข้าใจในเรื่องใด ผู้สอนสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้เพื่อจัดระบบความคิดของผู้เรียนเสียใหม่ให้ถูกต้อง โดยแปลงจากสิ่งที่นักเรียนให้ความสนใจ เป็น สิ่งที่นักเรียนควรจะให้ความสนใจ เช่น ถ้าผู้เรียนตอบว่า “ให้ความสนใจกับคะแนนหรือเกรด เพราะถ้าได้คะแนนมากหรือเกรดสูงจะทำให้สอบเข้าเรียนต่อได้ง่ายขึ้น” กรณีเช่นนี้ผู้สอนต้องอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความสำคัญของบริบทในการเรียนรู้ในภาพกว้างโดยอาจจะอธิบายว่า คะแนนหรือเกรดอาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงความสำเร็จในการเรียนได้ในช่วงเวลาหนึ่งแต่ไม่ใช่ตัวบงชี้ถึงความสำเร็จในระยะยาว เพราะเป้าหมายในการเรียนรู้ที่แท้จริงคือการพัฒนาผู้เรียนให้มีความเจริญในด้านสติปัญญา บุคลิกภาพ คุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้ผู้เรียนนำประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนไปใช้ในการพัฒนาตนเองตลอดชีวิต  ประเด็นสำคัญในการใช้เทคนิคนี้คือ การที่ผู้สอนสามารถเปลี่ยนแรงกระตุ้นในการเรียนรู้ของผู้เรียนจาก แรงจูงใจภายนอก(การเห็นความสำคัญของคะแนนหรือค่าตอบแทนสูง)มาเป็นแรง จูงใจภายใน(การเห็นความสำคัญของประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้) 

         4. การทำความรู้จักกับชื่อและประสบการณ์ของผู้เรียน(Know your Students by name and their experiences)

          มนุษย์มีธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่งคืออยากให้คนอื่นเห็นความสำคัญของตนเอง ดังนั้นผู้สอนที่จำชื่อของผู้เรียนได้จึงช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญและได้รับการยอมรับ ผู้สอนสามารถทำความรู้จักกับชื่อของผู้เรียนได้โดยให้ผู้เรียนแนะนำตนเองในชั่วโมงแรกที่เข้าสอนและศึกษาประสบการณ์ของผู้เรียนจากแบบสอบถามที่กล่าวแล้วในข้อ 2.  การจดจำชื่อผู้เรียนให้ครบทุกคนอาจเป็นเรื่องยากโดยเฉพาะครูผู้สอนที่สอนนักเรียนหลายๆห้อง ดังนั้นจึงควรหมั่นเรียกชื่อของผู้เรียนบ่อยๆและทุกครั้งที่มีโอกาส เช่น เวลาให้ตอบคำถามหรือให้ทำกิจกรรม เวลาตรวจงานก็ควรดูชื่อผู้เรียนด้วย

          5. การแสดงให้ผู้เรียนเห็นว่าครูมีความใส่ใจกับความสำเร็จของพวกเขา(Show  Students your care about  their success)

          การสร้างความสัมพันธ์กับผู้เรียนเป็นเรื่องที่สำคัญ ผลจากการวิจัยพบว่า นักเรียนจะสนใจเรียนถ้าครูกับนักเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (Soloway, 1996) คำว่า “ความสัมพันธ์ (relationship)” ในที่นี้หมายถึง ข้อตกลงของผู้สอนกับผู้เรียนเพื่อให้การเรียนในรายวิชานั้นๆเสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามข้อกำหนดขั้นต่ำสุดด้วยผลที่น่าพึงพอใจ ไม่ได้หมายถึงความสัมพันธ์ในเชิงมนุษยสัมพันธ์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป

          การแสดงความใสใจต่อความสำเร็จของผู้เรียนสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

                    1)บอกให้ผู้เรียนรู้ว่า ผู้สอนต้องการให้พวกบรรลุผลสำเร็จในการเรียนที่น่าพอใจและต้องการให้นำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิต

                    2)บอกให้ผู้เรียนรู้ว่า ผู้สอนจะอยู่กับพวกเขา และจะสนับสนุนพวกเขาตลอดเวลาในฐานะผู้อำนวยความสะดวก(facilitator)

                    3)บอกให้ผู้เรียนรู้ว่า การขโมยหรือคัดลอกผลงานของคนอื่นเป็นสิ่งที่ผิด(Born, 2003)และจะมีผลกระทบต่อความสำเร็จในการเรียนด้วย

                    4)หมั่นเตือนผู้เรียนให้ตระหนักถึงเป้าหมายของการศึกษา(educational goal)ให้รู้จักยุทธวิธีต่างๆในการประเมินผล(evaluation strategies) ให้เข้าใจผลลัพธ์ของการเรียนรู้(learning outcomes)รวมทั้งวิธีประเมินผลเป็นรายวิชา(assessment of a course)

                    5)กระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักตั้งคำถามเพื่อจะได้เข้าใจในรายวิชาต่างๆได้ลึกซึ้งมากขึ้น

              6. การเตือนให้ผู้เรียนตระหนักถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต(Remind students of life-long learning)

              การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นทักษะหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานในศตวรรษที่ 21(Brandau, 2007) การเรียนรู้ตลอดชีวิต หมายถึง การประยุกต์ความรู้ความเข้าใจและทักษะต่างๆที่ผู้เรียนได้รับจากประสบการณ์การเรียนรู้ในชั้นเรียนไปใช้กับการทำงานและการดำรงชีวิตให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น ความสามารถในการคิดริเริ่ม การปรับตัว การใช้เทคโนโลยี การบริหารเวลา ฯลฯ ผู้สองจึงต้องมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้เรียนให้พัฒนาความสามารถและทักษะต่างๆเหล่านี้ด้วยการบูรณาการความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพและการทำงานเข้าไปในการจัดกิจกรรมในชั้นเรียน หรืออาจใช้การแสดงบทบาทสมมุติ(role-playing)ในการสอนก็ได้ ผลที่ได้จากการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีดังกล่าวจะทำให้ผู้เรียนกลายเป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้มากขึ้นและเรียนด้วยความเต็มใจ

         7. การเป็นนักเล่านิทาน(Be a storyteller)

          นิทาน หมายถึงเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมา หรือมีผู้แต่งขึ้น เพื่อสนองความต้องการมนการดำรงชีวิตและเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินผู้สอนที่เป็นนักเล่านิทานจะสามารถนำเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นจริงในการทำงานและการดำรงชีวิตมาเล่าให้ผู้เรียนฟังเพื่อเป็นประสบการณ์ได้อย่างดี เรื่องราวบางอย่างอาจนำมาจากหนังสือวรรณคดีก็ได้ การเล่านิทานเป็นเทคนิคที่ผู้สอนทุกคนสามารถหาความรู้และฝึกฝนให้เกิดความชำนาญได้ แต่ควรนำมาใช้เมื่อต้องการจะเปลี่ยนบรรยากาศภายในชั้นเรียนหรือเมื่อต้องการนำเข้าสู่บทเรียนหรือเพื่อประกอบเนื้อหาในชั้นเรียน การสอนโดยการเล่านิทานมีประโยชน์คือ

                   1)กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้

                   2)ช่วยให้ผู้เรียนประยุกต์ความรู้และทักษะต่างๆจากนิทานไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง

                   3)ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็นและมีส่วนร่วมในการเรียน

                   4)ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน

          8. การนำนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียนเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์(Engage students in class activities to promote creativity)

          ดร.อลัน เลสโกลด์ (Alan Lesgold)ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาและระบบเชาวน์ปัญญา กล่าวว่า “การเรียนรู้ต้องการการคิดและกุญแจที่นำการสอนไปสู่ความสำเร็จได้แก่การกระตุ้นให้ผู้เรียนไดมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ได้ทดสอบ และท้าทายความรู้ของตนเองเนื่องจากการเรียนรู้มีความหมายมากกว่าการสอบผ่านตามเกณฑ์ แต่ยังหมายความรวมไปถึงการที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากการฝึกปฏิบัติในชั้นเรียนไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้” ผู้สอนจึงต้องพยายามนำผู้เรียนให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆเพื่อส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เช่น

                   1)ให้ผู้เรียนจัดทำเอกสารรายงาน(term paper) ตามหัวข้อที่ผู้สอนกำหนดให้ วีธีนี้มีข้อดีคือเป็นการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักค้นหาความรู้และนำเสนอในรูปแบบของรายงานทำให้เกิดความชำนาญและมีความสนใจในเรื่องที่ตนค้นคว้ามากขึ้น

                   2)ให้ฝึกทำรายกรณี(case)โดยผู้สอนนำภาพเหตุการณ์จำลองจากชีวิตจริงมาให้ผู้เรียนฝึกวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดโดยสมมติว่าผู้เรียนเป็นบุคคลในภาพเหตุการณ์นั้น วิธีนี้มีข้อดีคือช่วยกระตุ้นให้เกิดทักษะการคิดแบบมีวิจารณญาณ(critical thinking skill)และการมีส่วนร่วมในการอภิปราย

                   3)ให้ทำโครงงาน(project)การสอนแบบโครงงานเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งตามความสนใจของผู้เรียนอย่างลุ่มลึกโดยผ่านกระบวนการหลัก คือกระบวนการแก้ปัญหา ผู้เรียนจะลงมือปฏิบัติเพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเองทำให้มีประสบการณ์ตรงจากแหล่งเรียนรู้ ส่วนใหญ่ผู้สอนจะกำหนดให้ทำโครงการช่วงปลายภาคเรียนโดยผู้เรียนรวมกลุ่มกันทำงาน ข้อดีของการให้ผู้เรียนทำโครงงาน คือ ทำให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ในการทำงานเป็นทีม ทำให้สมาชิกของกลุ่มมีการแบ่งปันทักษะและความเชี่ยวชาญซึ่งกันและกัน ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์รวมทั้งได้เรียนรู้แนวทางต่างๆในการแก้ปัญหา ผู้เรียนได้แสดงความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี มีการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นและทำตามมติของกลุ่ม นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความมั่นใจ สร้างทักษะและความรู้ รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ผู้เรียนโดยผ่านการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน(Problem-based learning) จุดประสงค์หลักของการเรียนรู้แบบโครงงานคือการปล่อยให้ผู้เรียนได้มองเห็นสาขาวิชาที่ตนเลือกเรียนในภาพกว้างเพื่อเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ในโลกของความเป็นจริง(Lim, 2002)

ติดตามอ่านตอนที่2ต่อนะคะ 

          

 

 

คำสำคัญ (Tags): #การจูงใจ
หมายเลขบันทึก: 277640เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท