ทำอย่างไรเมื่อลูกน้องขัดแย้งกันเอง


“หากท่านเป็นหัวหน้างานที่จะต้องปกครองดูแลลูกน้องที่ไม่ถูกกัน ชอบทะเลากัน ขัดแย้งกันเองอยู่เสมอ ท่านจะทำอย่างไร”

"ทำอย่างไรเมื่อลูกน้องขัดแย้งกันเอง"           

 ดิฉันมีโอกาสได้อ่านข้อเขียน เรื่อง ทำอย่างไรเมื่อลูกน้องขัดแย้งกัน   จาก  www.hrcenter.or.th    เห็นว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ  เพราะปัญหาความขัดแย้งย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา และหากความขัดแย้งเกิดขึ้น โดยไม่รีบแก้ไข ปัญหาอาจจะเรื้อรังนำไปสู่ผลกระทบอื่นตามมา ในการทำงานก็เช่นเดียวกัน ความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นได้

ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง   ระหว่างหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน   รวมถึงระหว่าง

ลูกน้องด้วยกันเอง  จึงขอยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งให้เพื่อน ๆ นักบริหารได้ลองขบคิดดู
           “หากท่านเป็นหัวหน้างานที่จะต้องปกครองดูแลลูกน้องที่ไม่ถูกกัน ชอบทะเลากัน  ขัดแย้งกันเองอยู่เสมอ ท่านจะทำอย่างไร”  คำถามนี้เป็นของหัวหน้างานคนหนึ่งที่ต้องดูแลลูกน้องที่อายุงานมากกว่า ปัญหาก็คือลูกน้องคนนี้ไม่ถูกกับ

เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่เพิ่งจะโอนย้ายงานมาจากหน่วยงานอื่นที่มีอายุไล่เลี่ยกัน  และจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้

หัวหน้างานหนักอกหนักใจ ไม่รู้จะหาทางแก้ไขอย่างไรดี
           ในมุมมองของผู้เขียนคิดว่า หากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ส่งผลต่องานก็แล้วกันไป แต่หากส่งผลกระทบต่อการ

ทำงานย่อมไม่ดีแน่นอน  จากกรณีความขัดแย้งของลูกน้องที่กล่าวถึงนั้น หัวหน้างานคนนั้นเล่าให้ฟังว่า ปัญหาเกิดขึ้น

กับงานอย่างแน่นอน พวกเขาไม่พูดคุยกัน ไม่ช่วยเหลือกัน อย่างเช่น เมื่อคนหนึ่งไม่มาทำงาน เพื่อนร่วมงานอีกคนไม่สนใจที่จะทำงานแทน ไม่สนใจที่จะรับสายโทรศัพท์ที่ดังขึ้นมาจากโต๊ะของเพื่อนคนนั้น เวลามีลูกค้ามาติดต่อแทนที่จะรับเรื่องจากลูกค้า กลับตอบลูกค้าไปว่าวันนี้เค้าไม่มา ให้มาติดต่อใหม่ในวันพรุ่งนี้ก็แล้วกัน
           สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นสัญญาณบอกเหตุว่า  ผลงานของหัวหน้างานและของหน่วยงานย่อมไม่ดีขึ้น   เพราะงาน

ที่มอบหมายให้ไม่มีความคืบหน้า   แถมลูกค้าที่มาติดต่อด้วยก็เกิดความ  ไม่พอใจเสียอีก  และหากปล่อยไว้ นานเข้าบรรยากาศการทำงานจะไม่ดี และอาจเกิดการแบ่งพรรค แบ่งพวก ขึ้นมาก็ได้
           สิ่งที่หัวหน้างานพึงตระหนักเป็นอย่างมากในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ก็คือ หลีกเลี่ยงการพูดชมหรือตำหนิเรื่องของ

คนหนึ่งให้อีกคนฟัง   เพราะหากพวกเขาเอาไปพูดต่อ หัวหน้างานนั่นแหละจะพลอยได้รับความเสียหายด้วยอีกคน
           แนวทางแก้ไขอยู่ที่หัวหน้างานว่าจะใช้วิธีการใด   และมีเทคนิควิธีการในการจัดการกับสถานการณ์ความขัดแย้งของลูกน้องอย่างไร  ท่านในฐานะหัวหน้างานจะต้องหาวิธีการให้ลูกน้องทั้งสองคนมีความเข้าใจกัน ทำงานร่วมกันเป็นทีม

เกิดความสมานสามัคคีกัน ด้วยการจัดกิจกรรมที่จะต้องทำร่วมกัน เช่น การเข้าร่วมกิจกรรม Team Building ในลักษณะ

 Walk Rally   หรือการจัดประชุมพูดคุยกันแบบไม่เป็นทางการ เพื่อร่วมกันหาวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ

หน่วยงานให้ดีขึ้น เป็นต้น
           นอกจากนี้หัวหน้างานควรจะหาแนวทางให้ลูกน้องทั้งสองคนมีเป้าหมายการทำงานร่วมกัน ด้วยการกำหนดตัวชี้วัดผลงานร่วม เป็นผลงานของหน่วยงานซึ่งต้องร่วมกันทำงานอันนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงาน โดยหัวหน้างานเองควรจะส่งเสริม สนับสนุน และกระตุ้นจูงใจให้ลูกน้องในหน่วยงานตระหนักถึงการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัดร่วมที่กำหนดขึ้นนี้  ซึ่งหัวหน้างานเองควรจะให้เวลาและพูดคุยกับลูกน้องบ่อยขึ้น  ไม่ควรกล่าวโทษใครหากว่าเป้าหมายร่วมที่กำหนดขึ้นไม่เป็นไปตามความคาดหวัง  ในทางกลับกันหัวหน้างานควรถือโอกาสนี้ปลูกจิตสำนึกให้ลูกน้องในหน่วยงานตระหนักถึงข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา หากเป้าหมายของหน่วยงานไม่เป็นไปตามที่กำหนด
           ดังนั้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างลูกน้องด้วยกันเองจึงไม่ใช่เรื่องหนักใจที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ปัญหานี้มีคำตอบ ขึ้นอยู่กับว่าหัวหน้างานจะใส่ใจ และให้เวลากับลูกน้องในการหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้หรือไม่   การปล่อยปะละเลยเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของลูกน้อง ย่อมไม่เกิดผลดี โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อเรื่องงานอย่างในกรณีนี้

                เป็นอย่างไรบ้างคะ  ถ้าเป็นท่านจะเลือกวิธีการใดมาใช้แก้ปัญหา   แต่สำหรับดิฉันแล้วคงต้องใช้วิธีผสมผสาน  เพราะใช้วิธีเดียวคงจะสำเร็จยาก  เนื่องจากคนเรามักมีมิจฉาทิฐิอยู่ในตนเอง  ยิ่งเป็นผู้มีอาวุโสด้วยยิ่งแล้วใหญ่  เพราะเขามักจะกลัวเสียหน้า  กลัวเสียศักดิ์ศรี เรื่องที่จะยอมลงให้กันง่าย ๆ นั้นเห็นจะยาก   การแก้ปัญหาโดยจัดให้มีกิจกรรมที่สนุกสนานและจำเป็นต้องทำร่วมกัน  ต้องพูดคุยปรึกษาหารือกัน  รับผิดชอบร่วมกัน  น่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสม  แต่ในขณะเดียวกัน    ผู้เป็นหัวหน้าต้องมีความยุติธรรม  ไม่โน้มเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ให้ความสำคัญกับบุคคลทั้งคู่เท่า ๆ กัน  ประกอบกับใช้วาทศิลป์ และจิตวิทยาในการครองใจคนอีกนิดหน่อย  การทำหน้าที่เป็นกาวใจในครั้งนี้ก็น่าจะประสบผลสำเร็จ

 

หมายเลขบันทึก: 277466เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2009 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ดีเหมือนกันเอาผู้เฒ่าไป....ละเลงพฤติกรรมเสียบ้าง กลับมา...จะได้รักกันๆๆๆๆๆๆๆ

เคยได้ยินไหมค่ะว่าโรงเรียนหนึ่งมี ครูอยู่ 4 คน แต่แบ่งออกเป็นก๊กเป็นกลุ่มตั้ง 5 กล่มแน่ะ สงสัยใช่ไหมค่ะว่าอีกกลุ่มมาจากไหน? อ้อ ! ลืมบอกไปว่าโรงเรียนนี้นักการอีก 1 คน ค่ะ ฮ้า ฮ้า ฮ้า

                              

ขอบคุณมากค่ะ เป็นเรื่องท้าทายของหัวหน้ามากๆค่ะ

ผมแบ่งความขัดแย้งเป็นสองอย่างครับ

   -   ขัดแย้งที่วิธีการ  

   -   ขัดแย้งที่เป้าหมาย

       ขัดแย้งที่วิธีการ   แก้ได้ไม่ยากครับ   

       แต่ถ้าขัดแย้งที่เป้าหมาย   แก้ยากมากครับ จนถึงอาจจะแก้ไม่ได้เลย หากจะแก้จริงๆ ก็คงต้องนำข้อมูลมาว่ากันครับ

ปัญหาความขัดแย้งนี้ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่แก้ได้ค่อนข้างยาก และท้าทายความสามารถของผู้บริหารมาก ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมและร่วมแสดงความคิดเห็น

บางครั้งคนเราก็ต้องยอมกันบ้างเพื่อสันติและความสงบสุข.....

อยากให้ทุกคนคิดอย่างพี่แจ๋นค่ะ ประเทศชาติของเราคงจะได้สงบสุขเสียที

ถ้าผมเป็นคนกลางและต้องเจอปัญหาของเพื่อนร่วมงานแบบนี้ผมควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องอึมครึมแบบนี้หรือรอให้เวลาปรับเขาเอง  การทำงานในที่ใดๆ เวลาที่จะทำความเข้าใจกับเพื่อนร่วมงานควรเป็นเท่าไหร่ครับ

ค่ะต่างคนก็ต่างวิธีการ ต่างความคิดเห็น แล้วแต่สถานการณ์ และประสบการณ์ของแต่ละคน เวลาที่จะทำความเข้าใจกับเพื่อนร่วมงาน คงกำหนดแน่นอนไม่ได้ แล้วแต่โอกาส แต่ก็ควรจะเร็วที่สุด ทิ้งไว้นานสนิมเกาะกินใจ กลายเป็นบาดทะยักได้นะคะ

แสดงว่าบทความของอาจารย์ดี ดีทั้งนั้นเลยมีคนสนใจเยอะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท