การทำงานต้องปลอดภัยเอาไว้ก่อน


อุบัติเหตุในสถานประกอบการ เป็นอุบัติเหตุอีกประเภทหนึ่งที่คร่าชีวิตผู้คนที่ทำงานและทำให้เกิดการบาดเจ็บ พิการ และทุพลภาพในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

การทำงานต้องปลอดภัยเอาไว้ก่อน 

ดิฉันได้อ่านบทความ เรื่อง  ใครจะช่วยลดอุบัติเหตุในสถานประกอบการ  จากคอลัมน์ในอินเตอร์เน็ต   แล้วเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับ

เพื่อน ๆ และพี่น้องนักบริหารทุกท่าน  จึงได้สรุปเนื้อหาสาระมานำเสนอให้ได้ศึกษากัน ดังนี้

อุบัติเหตุในสถานประกอบการ เป็นอุบัติเหตุอีกประเภทหนึ่งที่คร่าชีวิตผู้คนที่ทำงานและทำให้เกิดการบาดเจ็บ พิการ และทุพลภาพในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก อุบัติเหตุเหล่านี้ เป็นอุบัติเหตุที่เกิดในสถานประกอบกิจการของนายจ้างซึ่งป้องกันได้   แต่มีใครบ้างล่ะที่จะช่วยป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นในสถานประกอบกิจการ เป็นคำถามที่น่าจะนำมาวิเคราะห์ได้โดยไม่ยากนัก คำสอนของพระพุทธเจ้าทรงสอนว่าทุกข์เกิดที่ใดก็ให้ดับที่นั่น สามารถนำมาใช้กับกรณีการเกิดอุบัติเหตุในสถานประกอบการได้เป็นอย่างดี เมื่ออุบัติเหตุเกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการของนายจ้าง คนที่จะป้องกันหรือลดอุบัติเหตุลง ควรจะต้องเป็นคนที่อยู่ในสถานประกอบกิจการของนายจ้างทุกคนนั่นเอง    ถ้าลำดับมาตั้งแต่ นายจ้างก็จะเป็นระดับผู้บริหาร ผู้จัดการ หัวหน้างาน เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จนกระทั่งถึงตัวลูกจ้าง คนงาน ผู้ปฏิบัติงาน ทุกคนที่กล่าวมาทั้งหมด มีหน้าที่ในการจัดทำ และดูแลสถานที่ทำงาน เครื่องมือ เครื่องจักร สภาพแวดล้อมในการทำงานให้อยู่ในสภาพที่ดี มีความปลอดภัย หากทุกคนไม่ละเลย คิดว่าไม่ใช่หน้าที่ หรือไม่มีจิตสำนึกในการดูแลเรื่องความปลอดภัย ก็ยากที่จะลดอุบัติเหตุลงได้ ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ในการที่จะชี้นำให้ทุกคนในองค์กรของตนตระหนักถึงการทำงานด้วยความปลอดภัยและมีหน้าที่ที่จะต้องจัดทำตามที่กำหนดในบทบาทของ แต่ละบุคคล และจัดทำให้สม่ำเสมอ จนเป็นวัฒนธรรมในเรื่องความปลอดภัยขององค์กร ที่จะนำเอาเรื่องของการทำงานอย่างปลอดภัย มาเข้าสู่จิตสำนึกของทุกคนในสถานประกอบกิจการ  เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน เป็นบุคคลที่มีความสำคัญอีกคนหนึ่งในการที่มีบทบาท อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ชี้ชะตาของคนทำงานที่จะเกิดอุบัติเหตุหรือจะทำงานด้วยความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานจะต้องเป็นบุคคลที่ตระหนักเสมอว่าการทำงานของพนักงานลูกจ้างจะต้องมีความปลอดภัย โดยจะต้องมีความรู้ถึงอันตรายทั้งที่เห็นชัดและอันตรายแอบแฝงที่มีอยู่ในสถานประกอบกิจการของตนที่ดูแลอยู่ ซึ่งจะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ในหลายแขนงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัย และสุขภาพอนามัย ความรู้ทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม เพื่อดูแลสภาพแวดล้อมการทำงานให้เกิดความปลอดภัย ความรู้ทางการแพทย์ ให้รู้ว่าอันตรายอย่างไรจะเกิดกับสภาพตรงไหนของร่างกายในขณะทำงาน ตลอดจนมีความรู้ทางด้านวิศวกรรม เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงแก้ไข ให้เกิดความปลอดภัย ทั้งในแง่อาคารสถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ โดยสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น  ตัวลูกจ้างผู้ปฏิบัติงานเองก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่จะต้องรู้จักป้องกันตัวเอง  รู้ว่างานที่ทำอยู่มีอันตรายอย่างไร  ไม่ละเลยการทำงานตามกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนด  ทำสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่ทำงานขณะร่างกายอ่อนเพลีย ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ   ทำได้แค่นี้ก็จะทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและสถานประกอบกิจการที่ทำงานอยู่ ที่นี้ลองมากแยกแยะดูว่าใครจะทำอย่างไรบ้าง   ที่เป็นรูปธรรมในหน้าที่ที่จะช่วยป้องกันหรือลดภาวะการเกิดอุบัติเหตุ ในแต่ละตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง 

 

นายจ้างหรือผู้บริหาร    มีหน้าที่ดังนี้

 

1.  สนับสนุนให้ทุกคนในสถานประกอบกิจการดำเนินการด้านความปลอดภัยในการทำงาน

2.  นายหรือผู้บริหารต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการเป็นผู้นำ เช่น เมื่อเข้าไปในบริเวณที่ต้องสวมหมวกนิรภัย    ก็ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ จะถือว่ามาแค่ช่วงสั้น ๆ และเป็นผู้บริหารไม่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ไม่ได้

3.  จัดทำนโยบายที่เด่นชัดในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน และมีงบประมาณในการดำเนินงาน

4.  กระตุ้นให้ทุกคนในองค์กรตระหนักในเรื่องการดูแลความปลอดภัย   และถือเป็นวัฒนธรรมขององค์กร   ที่จะต้องปฏิบัติ

5.  ให้มีการสอบสวนวิเคราะห์ หาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ และโรคจากทำงานทุกครั้ง เพื่อการแก้ไข และป้องกัน

6.  กำหนดให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการและของสถานประกอบการเอง

 

หัวหน้างาน     มีหน้าที่ดังนี้

 

1.  ดูแลหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบคำสั่งหรือมาตรการด้านความปลอดภัย

2.  สอนการทำงานที่ถูกต้องแก่ลูกจ้างในหน่วยงานเพื่อให้ปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย

3.  มีการตรวจสอบสภาพการทำงาน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ให้มีสภาพที่ปลอดภัยก่อนทำงานประจำวันทุกวัน

4.  ตรวจสอบหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน

 

 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน      มีหน้าที่ดังนี้

 

1. มีความรู้เรื่องกฎหมายและกฎระเบียบด้านความปลอดภัยอย่างแม่นยำ สามารถเสนอแนะนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมาย

2. จัดทำแผนงานด้านความปลอดภัย และดำเนินงานให้เป็นไปตามแผน

3.  ตรวจสอบสถานประกอบการและประเมินความเสี่ยง

4.  สอนและอบรมลูกจ้าง ให้รู้เรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน

5.  ดูแลให้ลูกจ้างหรือผู้ปฏิบัติงาน ทำตามกฎระเบียบ หรือมาตรการความปลอดภัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด

6.  วิเคราะห์ ข้อมูล สถิติ เสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ  และการเจ็บป่วย

คณะกรรมการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

 

คณะกรรมการความปลอดภัยฯ ในสถานประกอบกิจการ เป็นอีกหนึ่งคณะบุคคลที่มีอยู่ ที่จะช่วยดูแล    ความปลอดภัย โดยความร่วมมือกันระหว่าง นายจ้าง ฝ่ายบริหาร และลูกจ้างผู้ปฏิบัติงาน มาทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งจะถือว่ามีผู้แทนของทุกฝ่ายมาร่วมแสดงความคิดเห็นออกข้อกำหนด กฎระเบียบต่าง ๆ และใช้ร่วมกัน คณะกรรมการความปลอดภัยจะต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ กรรมการทุกคนจะต้องร่วมมือดำเนินการดังนี้

1.  ดูแล สำรวจ สภาพแวดล้อมของสถานประกอบกิจการเพื่อการแก้ไขป้องกัน สภาพอันตรายที่จะเกิด

2.  ต้องรายงานเสนอแนะมาตรการ  และปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย

3.   กำหนด กฎ ระเบียบ เพื่อให้เป็นมาตรฐานสำหรับสถานประกอบกิจการ

4.  จัดทำนโยบาย โครงการ แผนงาน กิจกรรม ความปลอดภัย

5.  ทำโครงการหรือแผนการอบรมให้ทุกคนมีความรู้และทราบบทบาท ความรับผิดชอบในเรื่องของ

ความปลอดภัย

6. ต้องติดตามผลความคืบหน้าของการปฏิบัติงาน

 

 ลูกจ้างหรือพนักงาน      มีหน้าที่ดังนี้

 

1.  จะต้องดูแลตนเองและงานที่ทำอยู่ให้เกิดความปลอดภัย

2.   ปฏิบัติงานตามคู่มือ หรือตามมาตรฐานที่กำหนด

3.  หมั่นศึกษาหาความรู้ เรื่องอันตรายในงานของตนเพื่อรู้หนทางป้องกันให้ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือโรคจากการทำงาน

4.   รีบรายงานหัวหน้างานทันที เมื่อพบความไม่ปลอดภัยของานที่ทำอยู่ 

 

หากทุกคนที่มีหน้าที่ช่วยกันทำหน้าที่ของตนเองอย่างจริงจังครบถ้วน โอกาสที่จะเกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุจากการทำงานก็คงจะลดลง การปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายและระบบการจัดการที่ดี คือแนวทางในการป้องกันและลดปัญหาของงานด้านนี้ อย่าลืมว่างานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นหน้าที่ของทุกๆคน และทุกๆระดับ

 

            ดิฉันมีความคิดเห็นว่าทุกหน่วยงาน  และทุกองค์การต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยให้มาก  เพราะสิ่งนี้เป็นตัวชี้วัดว่าองค์การเห็นคุณค่าความสำคัญของชีวิต และสวัสดิภาพของสมาชิกในองค์การมากน้อยเพียงใด   เราต้องระลึกไว้เสมอว่า ในโลกนี้ทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด คือ ทรัพยากรมนุษย์  ดิฉันขอฝากบทกลอนข้อคิดเตือนใจในการทำงานไว้ให้เพื่อนนักบริหารทุกท่านได้ลองพิจารณา  หรืออาจนำไปเป็นแนวปฏิบัติ  ดังนี้

 

ความปลอดภัยในการทำงาน

 

การทำงานต้องปลอดภัยเอาไว้ก่อน

ทุกขั้นตอนตรวจดูให้รู้แน่

อุปกรณ์ครบครันหมั่นดูแล

อย่าเชือนแชเห็นชำรุดหยุดซ่อมพลัน

เป็นเจ้าของกิจการควรขานรับ

เร่งฝึกคนไว้สำหรับยามคับขัน

รู้หน้าที่มีวินัยแก้ไขทัน

ซักซ้อมกันให้เข้าใจก่อนภัยมา

เป็นหัวหน้าต้องขยันหมั่นสอดส่อง

รู้จักมองการณ์ไกลไร้ปัญหา

ต้องละเอียดเรื่องใหญ่น้อยคอยตรวจตรา

อย่าคิดว่าไม่เป็นไรภัยจะเยือน

เป็นลูกน้องต้องทำตามคำสั่ง

งานทุกครั้งเอาใจใส่ไม่คลาดเคลื่อน

เป็นผู้ตามที่ดีมิบิดเบือน

อย่าลืมเลือนอันตรายใช้ปัญญา

เป็นผู้ใช้แรงงานหมั่นรอบคอบ

รับผิดชอบงานใดให้ศึกษา

แม้นประมาทอาจตายได้ทุกครา

ชีวิตคนมีค่าอย่าดูดาย

การทำงานต้องปลอดภัยเอาไว้ก่อน

โปรดระวังสังวรก่อนจะสาย

อย่ามองข้ามความสำคัญอันตราย

ถ้าไม่ตายอาจพิการหมั่นตรองเอย

 

                          ...ประเทือง   สุขแสวง...   

หมายเลขบันทึก: 277464เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2009 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ก็ดี..หน้าที่ใครก็หน้าที่มันทำ....หน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด

กลอนความปลอดภัยในการทำงานแต่งเองหรือเปล่าค่ะ เยี่ยมมากเลยค่ะ                  

                                      

ขอบคุณพี่แอ๊ว น้องนางบ้านนา และน้องตุ๊ก มากค่ะที่แวะมาเยี่ยมชม กลอนความปลอดภัยในการทำงาน พี่แต่งเองค่ะน้องนางบ้านนา ได้รับรางวัลชนะเลิศจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ตั้งแต่ปี 2540

สวัสดีครับ

แวะมาเรียนรู้ ครับ

ไม่ประมาทในการทำงานและในการใช้ชีวิต ครับ

ขอบคุณคะหรับบทความที่ดี และมีประโยชน์

ขอบคุณค่ะ ท่าน ผศ.เพชรากร และคุณตัวเล็ก ที่แวะมาเยี่ยมชมและร่วมแสดงความคิดเห็น

สวัสดีค่ะอาจารย์ประเทือง มดเองค่ะ อรวรรณ โฉมชูกอง ศิษย์จาก ร.ร.มาบตาพุดพันพิทยาคารค่ะ อาจารย์สบายดีนะคะระลึกถึงอาจารย์อยู่เสมอค่ะ เพราะมดก็ชอบอ่านกลอน,แต่งกลอน เคยอ่านหนังสือที่อาจารย์แต่งด้วยค่ะ โรงเรียนมาบตาพุดโดนยุบไปเลยไม่มีการจัดชุมนุมศิษย์เก่ามดเลยติดต่อใครไม่ได้เลยค่ะ มดขอเข้ามาคุยเท่านี้นะคะ อีเมลมดค่ะ [email protected]

สวัสดีค่ะอาจารย์

ส.ต.ดิลก เย็นสถิตย์

ขอส่งวัฒนธรรมความปลอดภัยฯ 97ปีบ้างครับ

อย่าล้อเล่นขณะปฎิบัติงาน

อย่ารำคาญเมื่อต้องปฎิบัติตามกฎ"ความปลอดภัยฯ"

ต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุตตล

หากสับสนให้ปรึกษาผู้บังคับบัญชา

เครื่องมือมีปัญหาอย่านำมาใช้

ปัญหาเรื่อง"ไฟ"ต้องระวัง

อย่าคาดหวังว่า"ไม่เป็นไร"ใครๆเขาก็ทำ

หากมีกิจกรรมต้องหมั่นเข้าร่วม

และร่วมกันสร้าง"วัฒนธรรมความปลอดภัยฯ"

ขอขอบพระคุณ ดร.กระจ่าง..เจ้าของบทกลอน

ส.ต.ดิลก เย็นสถิตย์

ขอส่งวัฒนธรรมความปลอดภัยฯ 97ปีบ้างครับ

อย่าล้อเล่นขณะปฎิบัติงาน

อย่ารำคาญเมื่อต้องปฎิบัติตามกฎ"ความปลอดภัยฯ"

ต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุตตล

หากสับสนให้ปรึกษาผู้บังคับบัญชา

เครื่องมือมีปัญหาอย่านำมาใช้

ปัญหาเรื่อง"ไฟ"ต้องระวัง

อย่าคาดหวังว่า"ไม่เป็นไร"ใครๆเขาก็ทำ

หากมีกิจกรรมต้องหมั่นเข้าร่วม

และร่วมกันสร้าง"วัฒนธรรมความปลอดภัยฯ"

ขอขอบพระคุณ ดร.กระจ่าง..เจ้าของบทกลอน

ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขอบคุณสำหรับความดิดดี ๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท