เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

“โคโยตี้” ทางเลือกสุดท้ายของวัยรุ่นไทยแล้วหรือ


โคโยตี้  อาชีพที่หลายคนมองว่ากำลังทำลายขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีไทย  ปัจจุบันมีการจัดแสดงกันในยังสถานที่ที่ไม่เหมาะ  อย่างเช่น  สวนสาธารณะ   ริมถนนหนทาง  จนเลยเถิดไปถึงวัดวาอาราม   มิได้มองถึงสถานที่ และกาลเทศะ       แต่อีกแง่มุมหนึ่งยังมีคนมองว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่สุจริตสร้างรายได้สูง  เลี้ยงตัวเองจนเรียนจบได้   ดังนั้น  อาชีพ

โคโยตี้   เป็นอาชีพที่เหมาะสมหรือไม่สำหรับวัยรุ่นหญิงไทยที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในขณะนี้               

             ก่อนอื่นมาทำความรู้จักและที่มาของคำว่า  โคโยตี้  กันก่อน  คำว่า  โคโยตี้  ตามรายงานของคุณวิจิตรา  เนตรอุบล  คำนี้สื่อถึงลักษณะ หญิงสาวที่ประกอบอาชีพเต้นรำลักษณะคล้ายแดนเซอร์ แต่เน้นในแนวเซ็กซี่ ในการแต่งกายจะสวมชุดหวาบหวิวเต้นประกอบเพลงที่มีจังหวะเร้าใจ   มักนิยมเต้นกันในบาร์  หรือผับ  จากการสัณนิฐาน  คาดว่าน่าจะมีการเลียนแบบมาจากภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง  ชื่อเรื่องว่า  โคโยตี้ อั๊กลี่   Coyote Ugly   ชื่อเป็นไทยบ้านเรา    คือ  บาร์ห้าวสาวฮ็อต โดยมีการนำชื่อมาจากสถานบันเทิงชื่อว่า   ไคโยตีอักลีซาลูน (Coyote Ugly Saloon)  เป็นบาร์ชื่อดังแห่งหนึ่งในนครนิวยอร์ค  ประเทศสหรัฐอเมริกา   ที่นี่เค้าจะให้พนักงานหญิงขึ้นมาเต้นบนเคาน์เตอร์  แบบมันส์สุดเหวี่ยง  เพื่อให้ความบันเทิงแก่แขก   ลักษณะจะไม่เหมือนการเต้นอะโกโก้แถวพัทยาบ้านเพราะไม่ต้องเสาเป็นเครื่องประกอบ  มีคำสแลง ภาษาอังกฤษของคำว่า "coyote ugly" ( คายโย้ตีอั้กกลี ) คำนี้จะหมายถึง คนที่น่าเกลียดมาก คนต่างประเทศจะใช้ในเหตุการณ์ที่ผู้ชายหรือผู้หญิงตื่นขึ้นมาจากการร่วมหลับนอนกับคนที่เพิ่งพบกัน และสังเกตเห็นว่าคู่นอนหน้าตาน่าเกลียด  ไม่เหมือนกับตอนก่อนหลับนอน  และพยายามที่จะหนีแม้ว่าจะต้องตัดแขนตัวเองให้ขาด เปรียบเทียบกับ สุนัขไคโยตี เมื่อเวลาติดกับดักจะพยายามดึงขาตัวเองให้หลุดออกจากกับดัก แม้ว่าขาจะขาดก็ตาม        

            ข้อเท็จจริงแล้ว  โคโยตี้ คือคำที่ใช้เรียกหนุ่มสาวนักเต้นบนเคาท์เตอร์ตามผับ บาร์ คาราโอเกะ ท่ามกลางแสงไฟสารพัดสี นับเป็นอีกหนึ่งจุดขายที่เหมือนจะเป็นสิ่งดึงดูดลูกค้า อีกทั้งยังปฎิเสธไม่ได้ว่าในกลุ่มลูกค้านักเที่ยวกลางคืนมีนิสิต นักศึกษาที่มีอายุ ๒๐ ปีขึ้นไป เข้าไปท่องเที่ยวและใช้บริการ
             ดังนั้นเมื่อยุคนี้มีโคโยตี้เป็นตัวดึงดูดลูกค้า   โดยเฉพาะหนุ่ม ๆ  ทั้งหนุ่มน้อยและหนุ่มเหลือน้อยเต็มที   ที่เวลาเข้าไปดูก็ต้องถึงกับใช้ผ้าเช็ดหน้าซับน้ำลายที่มุมปาก ยามสายตาจับจ้องไปยังเรือนร่างอันอรชรอ้อนแอ้น ที่มีเพียงเสื้อตัวจิ๋ว กางเกงขาสั้นรัดรึงเรือนร่าง พร้อมๆ กับท่าเต้นที่ออกแนวเซ็กซี่ยั่วยวน    ขัดต่อภาพลักษณ์ของหญิงไทยในอดีต  ที่มีความอ่อนช้อย  งดงาม ของกิริยามารยาท  รวมถึงการแต่งกาย  ที่รู้จักของคนไปทั่วโลก  อย่างสิ้นเชิง

           ตามรายงานพบว่า  เมืองไทยเริ่มมีสาวโคโยตี้ครั้งแรกที่ ฟอร์เต้ บาร์แห่งหนึ่งในซอยสุขุมวิท ๒๔ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๕  จนถึงปัจจุบัน      สาวโคโยตี้เป็นอาชีพยอดฮิตของวัยรุ่นสาวที่รักการเต้น แม้จะถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ล่อแหลมไปในทางที่ไม่ดี โดยเฉพาะสายตาของผู้ใหญ่ แต่ก็ยังมีเด็กสาวกลุ่มหนึ่งที่ยังอยากจะเป็นนักเต้นโคโยตี้   เพราะนอกจากจะได้โชว์รูปร่าง หน้าตา พร้อมกับวาดลีลาการเต้นบนเวทีแล้ว ที่สำคัญมีผลตอบแทนเป็นรายได้จำนวนไม่น้อย ปัจจุบันสาวโคโยตี้ไม่ได้มีแค่ตามสถานเริงรมย์กลางคืนในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ความนิยมกระจายออกไปตามสถานเริงรมย์ในต่างจังหวัด หรือแม้แต่งานประชาสัมพันธ์กิจการ หรือสินค้าต่างๆ ก็นิยมให้สาวโคโยตี้มาเต้นโชว์  นุ่งน้อยห่มน้อย  เพื่อดึงดูดลูกค้า ที่น่าเป็นห่วงคือปัจจุบันมีนักเรียน นักศึกษา ไม่น้อยที่ยึดอาชีพนี้เลี้ยงตัว ควบคู่ไปกับการส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือ 

       จากการสำรวจพบว่า  หลายคนสามารถแบ่งเวลาในการเรียน  และการทำงานเพื่อหารายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนจนจบ แต่ก็มีอีกหลายรายที่เลือกมาประกอบอาชีพแทนการเรียนต่อ  สาวโคโยตี้บางรายทำงานส่งเสียตัวเองเรียนมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ระดับ ปวช. เป็นทั้งพนักงานเสิร์ฟ ได้วันละ ๗๐ บาท เปลี่ยนมาเป็นสาวเชียร์เบียร์ ได้วันละ ๑๕๐ บาท ไม่พอกับค่าใช้จ่ายที่ตกเดือนละ ๓,๐๐๐ ๔,๐๐๐ บาท กับค่าเล่าเรียนด้วย ส่วนใหญ่พอมีคนมาชวน และชอบการเต้นอยู่แล้วก็สมัครและเรียนรู้เพิ่ม คราวนี้จากรายได้ ๑๕๐ บาทต่อวัน มาเป็น ๒๕๐  บาท ซึ่งก็พอส่งตัวเองเรียนได้โดยไม่ต้องรบกวนที่บ้าน
         จากบทสัมภาษณ์ของสาวโคโยตี้  ได้คุยแบบเปิดอกว่า   "ยอมรับว่าที่บ้านอาจจะไม่เข้าใจ แต่ทำให้เขาเห็นว่า เราไม่ได้ทำอะไรเสื่อมเสียเลย สามารถดูแลตัวเองทั้งส่วนตัวและการเรียน ไม่เคยขอเงินทางบ้านเลยนะ ส่วนอุปสรรคต่อการเรียนนั้นมีบ้าง เพราะงานเรามันทำกลางคืน แต่พยายามปรับตัวให้เพื่อนปลุกไปเรียน โดยไม่ให้งานกระทบกับการเรียน"     

        สาวโคโยตี้บางรายฐานะทางบ้านก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่ที่มาเป็นสาวโคโยตี้ ก็เพราะความชอบส่วนตัว ชอบแต่งตัวสวยๆ แสดงความสามารถให้คนมอง
      ถ้าถามว่าอึดอัดกับการมองของคนอื่นที่มีต่ออาชีพโคโยตี้หรือไม่นั้น  คิดว่ามันขึ้นอยู่กับการทำตัว บางคนเขาทำตัวไม่ดีใช้อาชีพไปในทางเสื่อมเสีย เขาก็ต้องมองไม่ดี แต่สำหรับตัวเองและคนที่เขารักการเต้นจริงๆ เขารู้ดีว่าต้องทำตัวอย่างไร ซึ่งก็เหมือนอีกหลายคนที่เคยถูกถามตรงๆ ว่า "น้องไปกับพี่ไหม เสนอราคาให้ทำงานพิเศษ ตอบเขาอย่างเดียวเลยว่าไม่ได้รับงานอย่างอื่นนอกจากเป็นนักเต้น ส่วนมากก็พูดกันรู้เรื่อง อาจเป็นเพราะว่าเขาดูกิริยาเราออกว่า ทำอาชีพพิเศษหรือเปล่า  แต่ลึกๆ ในใจก็เสียใจที่มาถามแบบดูถูกอย่างนั้น ยังไงก็แล้วแต่ทุกวันนี้ก็มองหางานอื่นตลอด เพราะโคโยตี้เป็นงานที่ต้องอาศัยรูปร่าง หน้าตา หากอายุมากขึ้นก็ทำไม่ได้แล้ว ก็ต้องนึกถึงอนาคตให้มาก

        ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มนักเต้นอีกหลายกลุ่ม  เลือกที่จะไม่ขอเป็นนักเต้นโคโยตี้ ที่ว่ากันว่าคืนหนึ่งๆ รายได้จากทิป ลูกค้ามากกว่าหลักพันขึ้นไป อย่างแดนเซอร์กลุ่มหนึ่งที่จะหยิบบทการให้สัมภาษณ์  เกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อโคโยตี้  ดังนี้
       “โน้ต ชาคริยาแดนเซอร์สาวเพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยมาหมาดๆ ปัจจุบันโน้ตรับงานเต้นตาม งานเปิดตัวสินค้าต่างๆ       
       “ โน้ต รู้สึกว่าชอบงานที่ทำอยู่ตอนนี้นะค่ะ ไม่บังคับตัวเอง อิสระ รู้สึกว่างานตรงนี้ มันมีจุดมุ่งหมาย มันมีคอนเซ็ปต์ ที่จะต้องตรงกับความต้องการของลูกค้า และจะแตกต่างกับโคโยตี้ด้วย  คือโน้ตคิดว่าโคโยตี้ ก็คือคนกลางคืน ต้องโป๊ ต้องเซ็กซี่ ขายเอ็กซ์ และบางทีมันเลยเถิดไปถึงการเป็นเด็กดริงค์ ในความหมายของโน้ตก็คือการขายบริการ หลังจากเต้นโชว์เสร็จ
         “เติร์ด ภัทรกฤชนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  เล่าว่าเขาเลือกอาชีพแดนเซอร์ เพื่อหารายได้พิเศษ ส่งตัวเองเรียน
          “เป็นแดนเซอร์ ถ้าเราแบ่งเวลาได้ก็ไม่มีปัญหากับเรื่องเรียนหรอก
        นอกจากนี้เติร์ดยังอธิบายตามความคิดของเขาแล้วโคโยตี้สำหรับสังคมไทยแล้วคนละเรื่อง คนละเกรดกับแดนเซอร์เลย
       “โคโยตี้ส่วนใหญ่ก็ต้องถูกมองว่า คือพวกเด็กนั่งดริงค์ แต่ก็แล้วแต่คนครับว่า การทำตัวของเขาจะเป็นอย่างไร เพราะ บางคนที่ผมรู้จัก เต้นเสร็จก็กลับบ้าน แต่ภาพของสังคมไทยในปัจจุบันมองว่า โคโยตี้ จะต้องมีการนั่งกับแขก และไปกับแขกด้วย”       
       “ตี๋ ศุภกฤตนักศึกษาคณะศิลปะการแสดงชั้นปีที่ ๒ เป็นเพื่อนร่วมทีมกับเติร์ดเล่าว่า การที่ตัวเองเลือกทำงานหารายได้พิเศษด้วยการเป็นแดนเซอร์นั้น เพราะ ตัวเองเป็นคนชอบเต้นมาก       
       “ชอบเต้นก็หาทางทำให้มีประโยชน์ สร้างรายได้ให้กับตัวเอง ก็เป็นสิ่งที่ดีที่ เป็นการหารายได้พิเศษไปในตัว โดยส่วนตัวแล้วแดนเซอร์กับโคโยตี้ เท่าที่ผมรู้สึก ผมรู้สึกต่างกัน เพราะ ลักษณะงานไม่เหมือนกัน อย่าง รูปแบบการเต้นของเรากับโคโยตี้ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว”       
       “โคโยตี้ จะเต้นแบบออกแนวยั่วยวน ต้องหุ่นดี ส่วนการเต้นของแดนเซอร์อย่างเรามี คอนเซ็ปมากกว่า ค่าตัวก็ต่างกัน ของโคโยตี้จะได้มากกว่า แต่ยังไงๆ เราก็ไม่ขายภาพความเซ็กซี่ เราขายการเต้นที่ดูสวยงาม หรือถ้าจะมีเซ็กส์ซี่ ก็ต้องดูบรรยากาศของงาน ความเหมาะสมตามรูปแบบตามที่ลูกค้าต้องการ”       
       นอกจากกลุ่มแดนเซอร์ที่มองโคโยตี้ตามสถานบันเทิงยามค่ำคืนในแง่ลบแล้ว สำหรับนักเต้นอิสระ บาส ชนิตสิรีที่มีผลงานทั้งโฆษณา และมิวสิควีดีโอ เล่าว่านอกจากตัวเธอเองแล้ว พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมทั้งคนอื่นๆ ที่อยู่ในสังคมมักจะมองคนที่ทำงานเป็นโคโยตี้ที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก
       
       “บาสเอง ก็ชอบที่จะเต้น ชอบที่จะคิด รู้สึกว่าเวลาได้ทำงานเหมือนกับได้สนองความต้องการของตัวเอง แต่บาสไม่รับงานเต้นกลางคืนค่ะ ถ้าถามว่าทำไม คำตอบนั้นคือ พ่อแม่ไม่อนุญาต เพราะ ภาพลักษณ์ของการเต้นกลางคืน จะถูกมองไม่ดี
       
       จุดประสงค์ของโคโยตี้ที่เต้นในสถานบันเทิงตอนกลางคืนมันแตกต่างกับงานแดนเซอร์ที่บาสทำ แนวโคโยตี้ มันจะมีภาพของความเซ็กซี่ มากกว่าจะขายงานเต้นนั่นคือภาพที่สังคมไทยมองโคโยตี้ แต่จริงๆ แล้วสำหรับโคโยตี้ของต่างประเทศก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย
              บาสอธิบายว่าตั้งแต่เด็กเธอเรียนเต้นมาหลากหลายแนวมากทั้งแจ๊ส ป๊อป ฟังค์ บัลเล่ย์ และสิ่งที่เธอได้รู้ก็คือ ที่ต่างประเทศคนที่จะขึ้นไปยืนตรงจุดที่เรียกกันว่าโคโยตี้ได้ จะต้องเป็นคนที่เต้นได้สวยงามมากๆ
              “จุดขายของเมืองไทยมันไม่ใช่คนเข้าไปดูโคโยตี้  ของสังคมไทยไม่ได้มองว่าเต้นสวยหรือเต้นเก่ง แต่เข้าไปเพื่อดูว่ารูปร่างเป็นอย่างไรมากกว่า อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้บาสเข้าใจว่าสาเหตุที่ทำให้โคโยตี้ถูกมองในภาพลบก็เพราะ คำว่าโคโยตี้ถูกนำไปเรียกกลุ่มคนเต้นอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่เต้นเป็น แต่เต้นเพื่อให้คนที่ดู เห็นแล้วเกิดความรู้สึกอย่างอื่น
              ในขณะที่มุมมองของผู้ชายอย่างฮิม ดลสิทธ์ชายหนุ่มนักเต้นอิสระ ที่เคยมีผลงานละครและโฆษณามาก่อนกล่าวว่าตัวเขาเองก็ไม่รับงานเต้นกลางคืน เพราะ ถ้าไปรับงานลักษณะเต้นกลางคืนก็ดูเหมือนจะเป็นการลดเกรดตัวเองลง
              “โคโยตี้คืออาชีพ อาชีพหนึ่งที่ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่า พวกเขาจำเป็นต้องทำถึงขนาดไหน จุดประสงค์การเต้นของพวกเขามันคืออะไร เพราะในฐานะผมที่เป็นผู้ชาย เมื่อโคโยตี้ ขึ้นเต้นบนเวทีหรือบนบาร์ ก็ต้องอยากดู ว่ามันโป๊ไหม เซ็กซี่ไหม แค่นี้จุดประสงค์ของการดูมันก็ต่างจากดูแดนเซอร์ทั่วไปแล้ว
              บางคนขายการเต้นโชว์กลางคืนในแนวเซ็กซี่ เพื่อดึงดูดความสนใจผู้มาเที่ยว แต่ไม่ได้เลยเถิดไปถึงเรื่องอื่นนั้น สื่อมักจะเป็นตัวทำให้สังคมมองว่า เป็นเช่นเดียวกันไปซะหมด อย่างสถานบันเทิงทั่วไปมักจะเอาจุดตรงนี้ มาเป็นจุดขายว่า
       “ท่านจะได้พบกับ โคโยตี้สาวสุดเซ็กซี่ ลีลาเย้ายวนซึ่งก็พรรณนา ประชาสัมพันธ์ กันอย่างดึงดูดใจ ผมเลยมองว่าภาพโคโยตี้ในสังคมไทยเป็นเช่นนั้น พูดง่ายๆ เพราะสื่อต่างๆ เปรียบเทียบไว้ ภาพลักษณ์ของผับที่มีโคโยตี้ มันก็เลยเหมือนอาบอบนวดนั่นล่ะ
       “ยังไงโคโยตี้มันก็คืออาชีพสุจริต ขึ้นอยู่กับตัวของคนด้วยว่าทำตัวอย่างไร แล้วแต่คนจะมอง ว่าเป็นเช่นไร

 
การศึกษาสร้างโอกาสให้ทุกคน แต่การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน สาวโคโยตี้เป็นเพียงโอกาสหนึ่งของเด็ก   ที่สำคัญเป็นโอกาสที่ล่อแหลมต่อสิ่งยั่วยุให้หลงทางได้ การสร้างโอกาสให้เด็กไม่ต้องไปเผชิญกับภาวะเสี่ยงจึงเป็นภาระที่สำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์เปิดเสรีทางการศึกษา ตามแนวคิดทุนนิยมอย่างทุกวันนี้ ...ตราบใดที่สังคมไทยยังคงมอง โคโยตี้ไม่ใช่แค่การเต้น เราก็คงบอกได้เพียงไม่ห้ามไม่ให้เป็นโคโยตี้   แต่เราก็ไม่แนะนำให้เป็น  เพราะอาชีพโคโยตี้คงไม่ใช่ทางเลือกเดียวที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมาย  คือ....การได้ใบปริญญา                                                                                                                                 

อภินันท์   มุสิกะพงษ์   
นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ  
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร

 

หมายเลขบันทึก: 277044เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2009 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท