เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

การพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อ


                สื่อทุกวันนี้ ทั้งสื่อวิทยุโทรทัศน์  ภาพยนตร์  สื่อสิ่งพิมพ์  การ์ตูน  ตลอดจนสื่อสมัยใหม่  เกมคอมพิวเตอร์  อินเทอร์เน็ต  โทรศัพท์มือถือ  สื่อของเล่นสำหรับเด็ก  มีผลกระทบซึ่งสามารถสรุปได้ตามกฎหมายส่งเสริมความก้าวหน้าด้านการวิจัยเด็กกับสื่อของสหรัฐอเมริกา(เด็กไทยในสี่ปีสร้างของรัฐบาลใหม่  กระทรวงวัฒนธรรม  หน้า ๑๑)  ดังนี้

                                ๑.  ผลกระทบทางกายภาพ  อาทิ  ผลกระทบต่อนิสัยการกิน  การออกกำลังกาย  การนอน  การบริโภค  และการพัฒนาทางกายภาพด้านอื่นๆ  ซึ่งพบเห็นในปัจจุบันมากที่สุดคือโรคอ้วนในเด็กนั่นเองเพราะมัวแต่นั่งดูทีวีกินขนม  ไม่วิ่งเล่นออกกำลังกายตามช่วงวัย

                                ๒.  ผลกระทบทางการเรียนรู้  อาทิ  ผลกระทบต่อการพัฒนาทางภาษา  การมีสมาธิในการเรียนสั้น  การเรียนรู้ทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหา  การเรียนรู้ทักษะทางสายตา  การเคลื่อนไหวร่างกาย  การอ่าน  และทักษะการเรียนรู้อื่นๆ

                                ๓.  ผลกระทบด้านพฤติกรรมทางสังคม  อาทิ  ผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว  ความสัมพันธ์กับเพื่อน  พฤติกรรมทางเพศ  ก้าวร้าวรุนแรง  และด้านอื่นๆ

                                ซึ่งจากปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากสื่อต่างๆ  กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับสถาบันรามจิตติได้เสนอกรอบคิดสี่เส้าเพื่อการพัฒนาสื่อสำหรับเด็ก  ดังนี้

๑.       ระบบวิจัยสร้างองค์ความรู้เรื่องสื่อสำหรับเด็ก Media  research

๒.     นโยบายและกฎระเบียบเพื่อเสริมสื่อดี  สกัดสื่อเลว Medie  policy

๓.     กลไกเฝ้าระวังและส่งสัญญานเตือนเรื่องสื่อที่เป็นอันตรายกับเด็ก Medie watch

๔.     สื่อศึกษาเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ Medie literacy

การรู้เท่าทันสื่อ  คือ  การอ่านสื่อให้ออก เพื่อพัฒนาทักษะในการเข้าถึงสื่อ  การวิเคราะห์สื่อ  การตีความเนื้อหาของสื่อ  การประเมินค่าและเข้าใจผลกระทบของสื่อและสามารถใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ได้  ดังนั้น  การที่ผู้รับสารจะสามารถป้องกันตนเองจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดรับสื่อประเภทต่างๆได้  จึงต้องมีการพัฒนาการรู้เท่าทันสื่ออย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อ มีขั้นตอน  ดังนี้  (คู่มือการรู้เท่าทันสื่อ  ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก และคณะ ศูนย์การเรียนรู้เท่าทันสื่อในประเทศไทย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

. การกระตุ้นให้ตระหนักถึงผลกระทบของสื่อ (Awareness)  หมายถึง  การกระตุ้นหรือเปิดประเด็นให้เกิดแง่คิด  เกิดมุมมองในการอ่านสื่อที่พวกเขาไม่เคยคำนึงถึงมาก่อน ว่าการนำเสนอของสื่อแต่ละครั้งอาจส่งผลกระทบต่อผู้รับสื่อได้อย่างไรบ้าง  บางครั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้นอย่างที่เรานึกไม่ถึง  เช่น  พฤติกรรมการเลียนแบบจากสื่อของอเมริกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวัฒนธรรมบริโภคนิยมหรือการที่เยาวชนไทยมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนวัยอันควร  หรือการที่โฆษณาสินค้าบางประเภทมุ่งโฆษณาสินค้าจนเกินไป  โดยไม่คำนึงถึงการบริโภคที่ผิดหลักสุขอนามัย  เช่น  อาหารเสริม  หรือ  ครีมไวท์เทนนิ่ง(Whitening)  ที่อาจส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพได้แต่เมื่อผู้รับสื่อหลงเชื่อก็ใช้ตามที่โฆษณาชิ้นนั้นบอกโดยขาดความตระหนักรู้ต่างๆ

.  การวิเคราะห์ความเป็นจริงจากภาพที่สื่อสร้างขึ้น  (Analysis)

การวิเคราะห์สื่อหรือการอ่านสื่อ คือ การนำเนื้อหาของสื่อมาผ่านกระบวนการคิดอย่างเป็นขั้นตอนมีระเบียบแบบแผนเพื่อ แยกแยะองค์ประกอบในการนำเสนอของสื่อ  เช่น วัตถุประสงค์ของสื่อ กลุ่มเป้าหมายของสื่อ  ผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและการเมือง โดยอาศัย แนวทางคำถาม  ๕ คำถาม ต่อไปนี้ 

๒.๑  ใครเป็นผู้สร้างเนื้อหาสาระของสื่อขึ้นมา

                                เนื้อหาสื่อ เช่น ข่าวในหนังสือพิมพ์ รายการโทรทัศน์ มีส่วนประกอบที่ผู้ประกอบการสื่อสร้างขึ้น มีความหลากหลายตามลักษณะของสื่อประเภทต่างๆ เช่น ข่าวหนังสือพิมพ์ใช้คำที่มีขนาดและแบบตัวอักษร ภาพถ่าย สีสัน การจัดหน้าที่แตกต่างกัน รายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ใช้การตัดต่อ มุมกล้องและแสงสี ไปจนถึงเพลงประกอบและเสียงประกอบเข้ามาช่วยเล่าเรื่อง

                                ดังนั้นการวิเคราะห์สื่อในประเด็นนี้จึงควรการตอบคำถามว่า

-          ใครเป็นผู้สร้างสื่อนี้ขึ้นมา

-          มีผู้ที่เกี่ยวข้องกี่คน แต่ละคนมีบทบาทหน้าที่อย่างไร

 

           

                           ๒.๒  มีการใช้เทคนิคดึงดูดใจหรือไม่และมีในลักษณะอย่างไร

                                สื่อแต่ละแขนงไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ รายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ มีการใช้เทคนิคที่แตกต่างกันไป เช่น ภาพถ่ายระยะใกล้ๆจะโน้มน้าวใจให้รู้สึกถึงความใกล้ชิด (โทรทัศน์หรือภาพยนตร์) ตัวอักษรขนาดใหญ่ในพาดหัวข่าวเป็นสัญญาณบอกว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ จะเห็นได้ว่าภาษาภาพและเสียงนี้จะทำให้ผู้รับสื่อเข้าใจความหมายได้ลึกซึ้ง เห็นคุณค่าและความน่ารื่นรมย์ของสื่อมากขึ้น

                                ดังนั้นการวิเคราะห์สื่อในประเด็นนี้จึงควรการตอบคำถามว่า

-          มีการใช้สีสันและรูปลักษณ์อย่างไร

-          อุปกรณ์ประกอบฉาก การจัดฉาก เสื้อผ้า มีลักษณะอย่างไรสมจริงหรือไม่

-          มีการใช้สัญลักษณ์หรือไม่ และสัญลักษณ์นั้นสื่อถึงอะไร

-          มุมกล้องที่ใช้แตกต่างกันให้อารมณ์หรือความรู้สึกต่างกันหรือไม่อย่างไร

-          เสียงดนตรีประกอบ เพลงประกอบ บทสนทนา การเล่าเรื่อง ความเงียบ

-          มีการใช้เทคโนโลยีอะไรบ้างในการผลิต

-          มีอะไรขาดหายไปบ้าง

 

๒.๓  คนอื่นๆ ตีความเนื้อหาสาระของสื่อต่างจากเราอย่างไร 

ผู้เปิดรับสื่อเป็นผู้ตีความเนื้อหาสื่อ การตีความจึงแตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์ การดำเนินชีวิต อายุ เพศ การศึกษา วัฒนธรรม เช่น ผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 จะมีความรู้สึกร่วมกับภาพยนตร์เรื่อง คู่กรรม มากกว่าผู้ชมคนอื่นๆ ผู้ปกครองและบุตรหลานที่ชมรายการโทรทัศน์รายการเดียวกัน ก็จะมีมุมมองในการรายการดังกล่าวต่างกัน

                                ดังนั้นการวิเคราะห์สื่อในประเด็นนี้จึงควรการตอบคำถามว่า

-          เนื้อหาสาระของสื่อตรงกับประสบการณ์ของเราอย่างไร

-          เราเรียนรู้อะไรจากเนื้อหาสาระสื่อบ้าง

-          เราเรียนรู้อะไรบ้างจากการตอบคำถามของคนอื่นที่มีต่อเนื้อหาสาระของสื่อ

-          มีมุมมองอื่นใดอีกบ้างมีเหตุผลเท่ากับของเราที่ใช้ในการตีความแต่ละครั้ง

-          สาระของสื่อคืออะไร

-          ในการนำเสนอรูปแบบเดียวกันแต่ละรายการมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

๒.๔  สื่อได้นำเสนอวิถีชีวิต ค่านิยม และมุมมองอะไรบ้าง

                                สื่อเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ทำหน้าที่ในการเล่าเรื่อง องค์ประกอบต่างๆที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นสื่อต้องอาศัยการเตรียมการ การศึกษาค้นคว้า โดยกลุ่มผู้ผลิต เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของตนเองและผู้ชม เช่น การคัดเลือกตัวแสดง โครงเรื่อง การเดินเรื่อง จะต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต ทัศนคติ และพฤติกรรมทางสังคม โดยผ่านทางภาพ บทสนทนา คำพูด การเลือกใช้สถานที่ การแสดงฐานะ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีส่วนปลูกฝังค่านิยมให้กับผู้รับสื่อ

                                ดังนั้นการวิเคราะห์สื่อในประเด็นนี้จึงควรตอบคำถามว่า

-          เกิดคำถามอะไรขึ้นในใจเราบ้างขณะที่เรารับสื่อ

-          สื่อนำเสนอค่านิยมทางสังคม การเมือง หรือเศรษฐกิจอย่างไร

-          ความคิดเห็นที่เกิดขึ้นสะท้อนความสัมพันธ์ทางสังคมหรือส่วนบุคคลอย่างไร

-          บริบททางสังคมและวัฒนธรรมขณะนั้นเป็นอย่างไร

-          สื่อนำเสนอความคิดหรือค่านิยมใดบ้าง  สื่อสร้างบุคลิกลักษณะของตัวแสดงต่างๆอย่างไร

-          เป้าหมายของสื่อ คือกลุ่มใด  เมื่อรับสื่อแล้วน่าจะมีพฤติกรรมหรือผลสืบเนื่องอย่างไร

มีเรื่องใดบ้างในสื่อนั้นที่ไม่ได้นำเสนอออกมา (ทั้งๆที่ควรนำเสนอ)

๒.๕  ใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงจากการนำเสนอของสื่อ

                                สื่อถูกสร้างขึ้นด้วยเหตุผลหลายๆประการ ประการหนึ่งคือเพื่อธุรกิจ หนังสือพิมพ์และนิตยสารจัดหน้าด้วยโฆษณาเป็นอันดับแรกก่อนการจัดพื้นที่ข่าวหรือเนื้อหาสาระ ในทำนองเดียวกันโฆษณาก็เป็นส่วนหนึ่งของรายการโทรทัศน์ โดยมุ่งที่จะสร้างกลุ่มเป้าหมายของตนเองขึ้นหรือแม้แต่การขยายขนาดของกลุ่มเป้าหมายด้วย สถานีหรือผู้ตีพิมพ์นิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ สามารถขยายเวลาหรือพื้นที่ให้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีความต้องการทำการตลาดโดยการโฆษณาสินค้าของตน (โดยทั่วไปจะเรียกกันว่าผู้สนับสนุนรายการหรือสปอนเซอร์) ผู้สนับสนุนจะจ่ายค่าเวลาตามจำนวนคนซึ่งสถานีคาดว่ากำลังดูโทรทัศน์อยู่ในช่วงนั้น ซึ่งจะนำมากำหนดอัตราค่าโฆษณาที่สูงต่ำกันตามลำดับ

                                ดังนั้นการวิเคราะห์สื่อในประเด็นนี้จึงควรตอบคำถามว่า

-          ใครคือเจ้าของสื่ออย่างแท้จริง

-          สื่อกำลังขายอะไร

-          การนำเสนอของสื่อในครั้งนี้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ใดบ้าง

-          อะไรที่มีอิทธิพลต่อการสร้างหรือการนำเสนอของสื่อ

-          ใครได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง  บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือสาธารณชน ประชาชน

๓.  การไตร่ตรองเรื่องค่านิยม  มาตรฐานการดำรงชีวิต  หรือการยอมรับในสังคม  (Reflection)

เป็นการตอบคำถามต่อว่าเราคิดอย่างไรหรือจะทำอะไรเมื่อได้รับสื่อ  ผลกระทบของสื่อส่งผลต่อพื้นฐานแนวคิด ปรัชญา ศาสนา ประเพณี ศีลธรรม คุณธรรม  กระแสสังคม  ตลอดจนแนวทางการดำเนินชีวิตของผู้รับสารหรือไม่อย่างไร  เช่น การนำเสนอภาพโฆษณาเหล้าและบุหรี่เหมาะกับบรรทัดฐานสังคมไทยหรือไม่

                                ๔.  การกระทำใดๆ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคล หรือเพื่อรณรงค์หรือต่อต้าน กระแสสังคม (Action)  เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  หรือการโต้ตอบในประเด็น และกระแสสังคม อันเป็นผลจากการนำเสนอของสื่อ  หรือการสร้างกระแสสังคมเพื่อก่อให้เกิดการต่อต้านหรือยอมรับหลักการต่างๆ ที่มาจากการนำเสนอของสื่อ  เคยมีตัวอย่างความเคลื่อนไหวดังกล่าวมาแล้ว  เช่น  รายการเกมโชว์บางรายการที่ไม่เหมาะสมกับบรรทัดฐานสังคมไทย  เมื่อมีนักจัดรายการทีวีดังนำไปพูดคุย  วิเคราะห์ในรายการถึงความไม่เหมาะสมต่างๆ  ประกอบกับนักเขียนคอลัมน์นำไปเป็นประเด็นในการวิจารณ์ลงหนังสือพิมพ์  ทำให้รูปแบบรายการเปลี่ยนไปได้  เช่น  รายการเรียลิตี้โชว์  กำจัดจุดอ่อนและพรหมลิขิตหมายเลข 1  เป็นต้น

                                หากภาครัฐภายใต้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ นี้    ยังไม่สามารถคัดสรรกลั่นกรองหรือเซ็นเซอร์ให้มีเฉพาะรายการดีๆ หรือสื่อดีๆ ผ่านออกมาสู่ยังประชาชนรวมทั้งเด็กและเยาวชนผู้เป็นคนรับสาร  ดังนั้น  พวกเราผู้รับสารจึงต้องพัฒนาการรู้เท่าทันสื่ออย่างต่อเนื่อง  เพื่อที่จะอ่านสื่อให้ออก  วิเคราะห์สื่อเป็น  ตีความเนื้อหาของสื่อได้  ประเมินค่าและเข้าใจผลกระทบของสื่อรวมทั้งสามารถใช้สื่อให้เกิดประโยชน์  เพื่อป้องกันตนเองจากผลกระทบของสื่อที่จะเกิดขึ้น  ทั้งต่อตนเอง  ครอบครัว  ชุมชนและสังคมไทย  ไม่เช่นนั้น ทุกคนจะตกเป็นเหยื่อของสื่อต่อไป

รวบรวมและสรุป  โดย  สุรพันธ์  เจริญทรัพย์

ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร

หมายเลขบันทึก: 277020เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2009 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท