CBNA ฉบับที่ 35 : รอบก้อนเส้า


ผมเชื่อว่าความหวังของทุกคน คงจะคือการกลับไปใช้เตาไฟอันเก่าในบ้านที่จากมา แต่ถ้ามันยังเป็นไปไม่ได้แล้วละก็ ผู้ลี้ภัย..คนอพยพทุกคน ก็พร้อมที่จะสร้างเตาไฟใหม่ขึ้นมาอีกได้ ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม

ฉบับที่ 35 (2 กรกฎาคม 2552)

รอบก้อนเส้า

สุวรรณ โกไลหิรัญย์

 

            2 กรกฎาคม 2552 ครบรอบ 1 เดือนแล้ว ที่เสียงกระสุนนัดแรกของการปะทะระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงสองฝ่ายเริ่มดังขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเมย แต่ล่าสุดราว 5 วันก่อน ข่าวคราวการประทะยังคงมีให้ได้ยินอยู่ประปราย แม้สถานการณ์ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเมยจะคลี่คลายไปมากโข สังเกตได้จากการมาตรการการควบคุมเส้นทางแยกเข้า-ออกหมู่บ้านที่ติดริมน้ำที่คลายความเข้มงวดลง...

            เรามุ่งหน้าสู่อุสุท่า มาหาผู้ลี้ภัยที่ได้หนีข้ามน้ำมาตั้งแต่เมื่อเดือนก่อน พวกเขามาพักกระจายกันอยู่ 3 จุดใหญ่ คือ บริเวณถ้ำแม่อุสุ บ้านหนองบัว และหมู่บ้านท่าสองยาง จังหวัดตาก ประเทศไทย  

            อุสุท่า ที่พักผู้ลี้ภัยแห่งนี้อยู่ห่างจากถนนใหญ่ ใช้เวลาเดินเท้าประมาณหนึ่งช่วงบุหรี่หมดมวน ตามคำบอกของเพื่อนที่เคยเดินทางไปมาก่อนหน้านี้ เราข้ามคลองสายน้อย ลัดเลาะผ่านช่องเขาลาดชัน ที่ผมซึ่งเดินตัวเปล่ายังไม่สามารถเร่งฝีเท้าบนโคลนลื่นได้ทันคนอื่น ภาพแรกที่เห็นหลังจากที่ข้ามคลอง ไต่ผา ฝ่าป่าดิบชื้นแฉะมา ก็คือเพิงพักมุงด้วยผ้าใบติดตราองค์กรระหว่างประเทศเรียงแถวเป็นหย่อม ๆ รอบไร่ข้าวและข้าวโพดที่ซ่อนตัวอยู่ระหว่างหน้าผา

            ผมเดินสำรวจสถานที่ เห็นก้อนหินสามก้อนที่ถูกวางตัวเรียงกันเป็นสามเส้าฝังอยู่ในกระบะดินเหนียวแฉะ ๆ ใบตองที่ใช้รองดินยังคงสดเขียวไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน กระบะดินนี้ถูกยกให้สูงพ้นจากพื้นดินที่เปียกชื้น มันคือเตาไฟแบบปกาเกอะญอ ที่ใช้ทั้งประกอบอาหารและให้ไออุ่นกับคนที่นั่งล้อมรอบในยามค่ำคืน

ตอนผมยังเด็ก ผมและญาติพี่น้องจะรวมกลุ่มเล่นกันอยู่รอบเตาไฟแบบนี้ คอยปะเหลาะ ให้ผู้ใหญ่เล่านิทานเรื่องช้างน้อยลูกกำพร้าให้ฟัง แต่สำหรับที่นี่ ในสถานการณ์ที่พ่อแม่ต้องกระเตงลูกพลัดมาไกล เตาไฟใหม่เพิ่งจะได้วางลง ผมจึงยังไม่รู้ว่าหลังจากที่มันถูกใช้งานแล้ว เด็ก ๆของที่นี่จะได้มานั่งรับฟังเรื่องราวอะไรค่ำคืนนี้บ้าง

มันอาจจะเป็นเรื่องราวของช้างน้อยลูกกำพร้า หรือจะเป็นเรื่องราวเรื่องเดียวกันกับที่ผมได้ฟังจากปากพ่อแม่ของเขา ก็ยังไม่แน่

            ... เรื่องราวจากหญิงกลางคนสามคน ที่ยังตกใจไม่สร่างกับการที่เพียงไปหาผักหาปลาในลำห้วย แล้วกลับมาพบกับหมู่บ้านว่างเปล่าเพราะคนอื่นหอบข้าวของหนีไปหมด เมื่อได้ข่าวว่ากองทหารเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้  หลาย  ๆ คนที่อาศัยอยู่ในพิงใกล้  ๆ กันต่างก็หอบลูกจูงหลานหนีมาแบบนี้ และความกังวลของทุกคนดูจะไม่ต่างกัน คือไม่รู้ว่าจะอยู่ที่นี่ได้อีกถึงเมื่อไหร่ อย่างไร เพราะแม้ว่าอยากจะกลับไปทำมาหากินอยู่ที่บ้านตัวเต็มทน แต่ก็ยังกลับไม่ได้

            หรืออาจจะเป็นเรื่องเล่าของชายคนหนึ่งที่ว่า

ตอนนี้นโยบายไทยบีบคั้นเรามากเหลือเกิน...

คงจะจริง ผมพบว่าจำนวนผู้ลี้ภัยที่อยู่รวมกันน้อยลงกว่าเมื่อวันแรก ๆ ส่วนหนึ่งพยายามไปนอนตามบ้านของคนรู้จักที่เคยเข้ามารับจ้างทำไร่ก่อนหน้าจะมีการสู้รบ แต่อีกส่วนหนึ่งถูกส่งตัวกลับ ล่าสุดกลุ่มคนกว่า 30 คนถูกส่งกลับทางเรือ ทิ้งไว้ริมฝั่งแล้วปล่อยให้เดินเท้ากลับบ้านเป็นระยะทางถึง 3 กิโลเมตร

ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันความปลอดภัยในชีวิตเราเลย

            หรือจะเป็นเรื่องของครูดีนะ

ครูคนหนึ่งที่นั่งมองโรงเรียนตัวเองจากทางฝั่งไทย เห็นโรงเรียนกลายเป็นค่ายทหาร เห็นสนามฟุตบอลของเด็ก ๆ กลายเป็นพื้นที่สร้างอาคารที่ไม่รู้ว่าจะถูกใช้เพื่อการใด ป่าหญ้าที่เคยเป็นแหล่งที่เด็ดยอดตำลึงสำหรับต้มแกง บัดนี้ถูกถางเตียนปักขวากทำรั้วไว้อย่างแน่นหนา

มองแล้วมองอีก ไม่อยากเชื่อ ก็ต้องเชื่อ ว่าแล้ววันนี้ก็มาถึงจนได้

            ผมไม่รู้ว่าเตาไฟใหม่นี้จะมีโอกาสได้รับใช้คนสร้างจนใบตองที่รองดินเหนียวจะเปลี่ยนสีไปไหม 

ผมเชื่อว่าความหวังของทุกคน คงจะคือการกลับไปใช้เตาไฟอันเก่าในบ้านที่จากมา แต่ถ้ามันยังเป็นไปไม่ได้แล้วละก็  ผู้ลี้ภัย..คนอพยพทุกคน ก็พร้อมที่จะสร้างเตาไฟใหม่ขึ้นมาอีกได้ ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม

 

-----------------------------

 

 

หมายเลขบันทึก: 276805เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2009 18:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท